เจาะลึกการทำแผน IEP สำหรับเด็ก LD ครูการศึกษาพิเศษห้ามพลาด!
เจาะลึกการทำแผน IEP สำหรับเด็ก LD
ครูการศึกษาพิเศษห้ามพลาด!
![ภาพปกบทความเรื่อง Education 4.0 กับความสำคัญที่ 'ทักษะต้องมาก่อน'](/storage/upload/images/%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99IEP-1200x630.jpg)
แผน IEP ที่คุณครูการศึกษาพิเศษ หรือคุณครูที่สอนเด็ก LD จำเป็นต้องใช้
เป็นแผนที่ออกแบบมาเฉพาะเป็นรายบุคคล เพื่อให้เหมาะสมกับเด็ก LD ที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ซึ่งปัจจุบันแผน IEP ได้นำมาปรับกับการใช้สอนเด็ก LD ทั้งในไทย และอีกหลายประเทศ อย่างในอเมริกาที่ภาครัฐให้ความสำคัญกับเด็กกลุ่มนี้ และได้ออกกฎหมาย Individuals with Disabilities Education ACT : IDEA (PL101-476) เพื่อจัดการศึกษาพิเศษให้กับเด็ก LD ทุกคน ให้เป็นการศึกษาภาคบังคับ โดยที่ผู้ปกครองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
สำหรับประเทศไทยเองก็ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาของเด็ก LD โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์ และวิธีการจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล หรือแผน IEP ให้เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานเมื่อพ.ศ. 2552 ซึ่งได้กำหนดจุดประสงค์ การวางแผนการสอน และการติดตามความก้าวหน้า เพื่อช่วยเหลือ และพัฒนาเด็ก LD ได้อย่างตรงจุด
ทำความรู้จัก แผน IEP
แผน IEP (Individualized Education Plan) เป็นแผน หรือโปรแกรมระยะยาว 1 ปี ที่กำหนดแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กLD ให้ได้รับการพัฒนาตามเป้าหมายที่เหมาะสม ตรงจุด เน้นการพัฒนาทางด้านวิชาการ ครอบคลุมถึงพัฒนาการด้านสังคม และความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการพัฒนาร่วมกับครู โรงเรียน และผู้ปกครอง รวมถึงเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ตามความเหมาะสม ในแผน IEP จะมีการกำหนดสื่อ สิ่งอำนวยความสะดวก บริการ และความช่วยเหลือทางการศึกษา ที่สอดคล้องเหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็ก ๆ เหล่านี้โดยเฉพาะ
แผน IEP สำหรับเด็ก LD ควรมีอะไรบ้าง
1. ข้อมูลทั่วไป
2. ข้อมูลด้านการแพทย์ หรือด้านสุขภาพ
3. ข้อมูลอื่น ๆ ที่จำเป็น เช่น สิ่งแวดล้อม และสังคมรอบตัวเด็ก ความเป็นอยู่ของครอบครัวเด็ก
4. มีการกำหนดแนวทางการศึกษา และการวางแผน IEP
5. สิ่งอำนวยความสะดวก เทคโนโลยี สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา
6. คณะกรรมการการจัดทำแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล ความคิดเห็นของคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง หรือผู้เรียน
7. ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญที่คุณครูจะนำมาประเมิน วิเคราะห์ และวางแผนการสอนให้กับเด็ก LD ได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
6 ขั้นตอนจัดแผน IEP ที่ดีต่อใจเด็ก LD
1.ขั้นเตรียมการ
รวบรวมข้อมูลเบื้องต้น เช่น ข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลสุขภาพ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การสัมภาษณ์ สอบถาม สังเกต หรือตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเด็กแต่ละคน
2.ขั้นเตรียมแผนการสอน
ประเมินความสามารถพื้นฐานด้านการอ่าน เขียนและคำนวณ ด้วยแบบทดสอบ หรือแบบฝึกก่อนเรียน หลังจากนั้นค่อยกำหนดแนวทางการศึกษา และวางแผนการจัดการศึกษาพิเศษ ด้วยการนำผลตรวจ หรือผลการประเมินมากำหนดเป็นแผนระยะยาว 1 ปี
3.ขั้นสอน และนำไปใช้
ครูเริ่มสอนตามขั้นตอนในแผน IEP โดยเริ่มจากขั้นนำ กระตุ้นให้เด็กมีความสนใจกับการเรียนการสอน ก่อนเข้าสู่เนื้อหา ฝึกปฏิบัติ และทบทวนความเข้าใจ
**ทั้งนี้การนำแผน IEP มาใช้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
4.ขั้นประเมินผลการเรียนรู้
บันทึกผลการสอน และการจัดกิจกรรม ด้วยการประเมินโดยใช้เครื่องมือ และเกณฑ์ที่กำหนด ว่าเป็นไปตามที่วางแผนไว้หรือไม่ ถ้าไม่เป็นไปตามแผน ควรวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุ และปรับแผนการสอนต่อไป
5. ขั้นสรุป และรายงานผล
สรุปตามแผน IEP โดยการนำผลมาเทียบกับเกณฑ์การประเมิน หลังจากนั้นรายงานประเมินความก้าวหน้าให้กับผู้ปกครองรับทราบ
6. ขั้นส่งต่อ
ขั้นนี้เป็นการส่งต่อเด็กที่จบการศึกษา หรือย้ายโรงเรียน ต้องนำแผน IEP เพื่อใช้เป็นข้อมูลต่อไป
แล้วแผน IIP คืออะไร? เหมือน หรือแตกต่างกับ แผน IEP?
สำหรับแผน IIP (Individual Implementation Plan: IIP) เป็นแผนการสอนแบบรายเดือนอิงตามโครงสร้างแผนใหญ่ (IEP) ซึ่งจะลงรายละเอียดว่าจะสอนเนื้อหาเด็ก LD อย่างไร สอนด้วยเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือกิจกรรมอะไรบ้าง และมีการวัดประเมินพวกเขาอย่างไร และต้องบันทึกพัฒนาการเรียนรู้ของพวกเขาเป็นรายวันไว้ด้วย หลักสำคัญของการสอนโดยใช้แผน IIP
- อย่างแรก คือ กำหนดทักษะที่จะสอนซึ่งต้องดูเป็นรายบุคคลว่าเด็ก LD คนนี้ควรสนับสนุนทักษะอะไรเพิ่มเติม
- เมื่อเราทราบแล้วว่าเด็กคนนี้ขาดทักษะด้านไหน ว่าก็เริ่มวาง Plan เป็นภาพรวมไว้ว่าจะสอนเด็กอย่างไรบ้าง
- วางแผน IIP ว่าจะต้องใช้เนื้อหา กิจกรรม หรือสื่ออุปกรณ์ และวิธีการสอนแบบไหนบ้างมาวางแผน IIP ต่อไป
หลังจากใช้แผน IIP แล้วต้องทำอย่างไร?
เมื่อสอนตามแผน IEP และ IIP แล้วสิ่งที่ควรทำหลังจากนั้น คือ การวัดประเมินผล โดยประเมินความก้าวหน้าของเด็กแต่ละคนเป็นรายบุคคลตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ในแผน IEP และ IIP อาจจะเป็นการประเมินเป็นรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน ซึ่งการวัด และประเมินในแต่ละครั้งเราสามารถนำมาวิเคราะห์ว่าเด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น หรือมีพัฒนาการที่ช้ากว่าเดิม สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราเตรียมวางแผนการสอนในครั้งต่อไปได้อย่างตรงจุดมากขึ้น
ทำอย่างไร ถึงจะขอรับสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อบริการ และความช่วยเหลือใดทางการศึกษา หรือคูปอง สำหรับเด็ก LD 2,000 บาท
การขอรับสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อบริการ และความช่วยเหลือใดทางการศึกษา หรือคูปอง สำหรับเด็ก LD 2,000 บาทนั่น สถานศึกษาที่เป็นโรงเรียนรวม หรือโรงเรียนร่วมจะได้รับการอุดหนุนตามระบบคูปองการศึกษาให้กับเด็ก LD ไม่เกินคนละ 2,000 บาท ซึ่งจะมีวิธีการขอรับคูปอง สำหรับเด็ก LD ดังนี้
1.ครูผู้สอนขึ้นทะเบียน
หากเป็นโรงเรียนรวม หรือโรงเรียนร่วม ครูที่ดูแลเด็ก ๆ สามารถขึ้นทะเบียนเพื่อเป็นผู้ให้บริการกับศูนย์การศึกษาพิเศษได้
2.สำรวจ และคัดกรองเด็ก
เด็กที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อภาวะความบกพร่องทางการเรียนรู้ทั้ง 3 ด้าน (อ่าน เขียน คำนวณ) หากตรวจพบ และมีการวินิจฉัยจากคุณหมอแล้ว ครูสามารถขอรับเงินอุดหนุนตามระบบคูปองการศึกษาสำหรับเด็กได้คนละ 2,000 บาท
2.1. กรอกข้อมูล และส่งแผน IEP ในระบบ IEP Online
การวิเคราะห์ และประเมินความบกพร่องทางการเรียนรู้ของเด็กแต่ละด้าน และวางแผน IEP อย่างมีคุณภาพ จะช่วยให้เลือกรายการสื่อของรหัสรายการบัญชี ก ข และค ได้ตรงตามความต้องการพิเศษของเด็ก ๆ เป็นรายบุคคล ตามวงเงินของคูปองการศึกษา 2,000 บาท รายละเอียดประเมิน วิเคราะห์ และวางแผน IEP ได้ง่ายกว่าด้วยโปรแกรม IEP Smart
3.นำคูปองไปเลือกซื้อสื่อฯ
ครูเริ่มสอนตามขั้นตอนในครูสามารถนำคูปองไปที่ร้านค้าที่ผ่านการประเมินให้เป็นหน่วยบริการในการขอรับเงินอุดหนุนทางการศึกษา ไปดำเนินการสั่งซื้อสื่อช่วยแก้ปัญหาทางการเรียนรู้ของเด็ก LD แต่ละคนได้
แผน IEP ดีต่อใจทุกคนอย่างไร?
*มุมครูผู้สอน
คุณครูจะมีข้อมูลในการวางแผน IEP จัดกิจกรรม และวัดผล ประเมินผล จัดสิ่งอำนวยความสะดวก และบริการที่เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้
*มุมผู้ปกครอง
การพัฒนาของเด็กกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่องจำเป็นต้องฝึกฝน และช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องทั้งที่โรงเรียน และที่บ้าน ดังนั้นผู้ปกครองจะมีส่วนช่วยในการร่วมวางแผนการเรียนการสอนให้กับเด็ก ๆ รับรู้ว่าตอนนี้พวกเขาอยู่ในระดับไหน แล้วต้องช่วยส่งเสริมไปพร้อมกับครูผู้สอนได้อย่างไร
*มุมสถานศึกษา
สามารถนำข้อมูลจากแผน IEP ไปจัดการศึกษาของเด็กในรูปแบบที่เป็นระบบ และในระดับที่เหมาะสม ข้อมูลเหล่านี้สามารถกำหนดงบประมาณ ทิศทาง และแนวทางการจัดการเรียนการสอน สู่การส่งต่อเด็กกลุ่มนี้ไปสู่หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้อง
*มุมสหวิชาชีพ
ข้อมูลจากแผน IEP จะช่วยในการวิเคราะห์ วางแผน ประเมิน ร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อพัฒนาเด็ก ๆ ได้อย่างตรงจุด การทำแผน IEP เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของครูการศึกษาพิเศษ ที่ต้องอาศัยความใส่ใจ ความทุ่มเทในการดูแล และทุ่มเทเรียนรู้ และเข้าใจการทำแผน IEP เพื่อให้เด็ก LD มีชีวิตที่ดีขึ้นตั้งแต่พื้นฐานการเรียน จนสามารถพัฒนาตัวเอง และช่วยเหลือให้พวกเขามีความสุขกับการเรียนรู้ และการอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
ขอบคุณข้อมูลจาก
บทความที่เกี่ยวข้อง