สรุปให้รู้ตามทันโลก อนาคตการศึกษา EP.17 สรุปประวัติศาสตร์แห่งทฤษฎีการเรียนรู้ Part 1/2

 

สรุปให้รู้ ตามทันโลกการศึกษา EP.17

15 Most Influential Learning Theories

สรุปประวัติศาสตร์แห่งทฤษฎีการเรียนรู้ Part 1/2

 
 

 

ในด้านวิทยาศาสตร์ทำให้เราทราบว่าการเรียนรู้มีอยู่ในธรรมชาติของมนุษย์มาตั้งแต่ในครรภ์ คือการรับรู้จากสิ่งเร้าภายนอกผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ส่งผลไปยังสมองส่วนที่ทำหน้าที่แปรสัมผัส (Sensation) และส่งต่อไปยังระบบประสาท (Nervous System) เพื่อรับรู้ และเรียนรู้ถึงสิ่งนั้น เช่น การเห็นเปลวไฟด้วยตา และสัมผัสได้ถึงความร้อนผ่านมือ เกิดเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ว่า เปลวไฟให้ความร้อน และแสงสว่าง[1] แต่ในทางด้านปรัชญา “ทฤษฎีการเรียนรู้” ถูกตั้งข้อสังเกตมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ จากแนวคิดของเพลโต (Plato)[2]  นักปรัชญาชาวกรีกผู้มีอิทธิพลอย่างมากต่อแนวคิดตะวันตก และก่อตั้งสำนักวิชาในกรุงเอเธนส์ กับคำถามที่ว่า

 

“How does an individual learn something new if the subject itself is new to them”

— คนเราจะเรียนรู้สิ่งใหม่ได้อย่างไร? หากเรื่องนั้นเป็นเรื่องใหม่สำหรับพวกเขา

จนนำไปสู่แนวคิดใหม่ ๆ ของนักปรัชญา และนักจิตวิทยาในการวิเคราะห์รูปแบบการปกครอง สิ่งแวดล้อมกับผลพันธุกรรม สติปัญญา อุปนิสัยของมนุษย์ ธรรมชาติและการเลี้ยงดู มนุษย์วิวัฒนาการไปไกลเกินกว่าจะมาเรียนรู้ทุกสิ่งได้ด้วยตนเอง ตั้งแต่เด็กเราถูกสอนให้พัฒนาการเรียนรู้ผ่านการศึกษา และการฝึกฝน ทำให้เกิดต้นแบบ ทฤษฎี และกระบวนการเรียนรู้มากมายถึง 15 รูปแบบตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

 

ทฤษฎีการเรียนรู้ 3 หลัก

 การเรียนรู้ทั้ง 15 รูปแบบอยู่ภายใต้แนวคิด 3 แบบ ดังนี้

 

โมเดลทฤษฎีการเรียนรู้ 3 หลัก

 

พฤติกรรมนิยม (Behaviourism)

              อยู่บนแนวคิดของการเรียนรู้จากการเชื่อมโยงสิ่งเร้า และการตอบสนองจนเกิดเป็นพฤติกรรม มีงานวิจัยหนึ่งที่สามารถนำมาอ้างอิงถึงหลักคิดนี้ คือการวิจัยเกี่ยวกับปฏิกิริยาตอบสนองแบบมีเงื่อนไข[3] ในปีคศ. 1895 ของ อีวาน พาฟลอฟ (Ivan Pavlov) ได้ทำการทดลองสังเกตปฏิกิริยาจากสุนัข และพฤติกรรมของมันที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้า โดยการกดกระดิ่งทุกครั้งก่อนให้อาหาร และทำซ้ำ ๆ

              จากการทดลองพบว่าสุนัขจะเริ่มน้ำลายไหลเมื่อได้ยินเสียงกระดิ่งแม้ว่ามันจะยังไม่เห็นอาหารก็ตาม เพราะมันเกิดการเรียนรู้ว่าเสียงกระดิ่งคือสัณญาณของการให้อาหาร จึงกล่าวได้ว่า พฤติกรรมนิยมเกี่ยวข้องกับการกระทำซ้ำ ๆ การเสริมแรงด้วยวาจาหรือสิ่งเร้า และแรงจูงใจให้มีส่วนร่วม

 

ความรู้ความเข้าใจ (Cognitivism)

               หลักคิดนี้จะเป็นเรื่องของภายใน ที่ให้นักเรียนประมวลผลข้อมูลที่ได้รับ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลใหม่ หรือการดัดแปลงข้อมูลเดิม ตอบสนองผ่านทางการคิด วิเคราะห์ และจัดระเบียบข้อมูลที่ได้รับจนเกิดเป็นการเรียนรู้ เป็นแนวคิดที่ถูกพัฒนามาจากงานวิจัยเรื่องหลักจิตวิทยาเกสตัลต์ ของนักปรัชญา 3 คนคือ Max Wertheimer (1880–1943), Kurt Koffka (1886–1941) และ Wolfgang Köhler (1887–1967) มีการวิเคราะห์จากพื้นฐานที่ว่าธรรมชาติของมนุษย์มีแนวโน้มจะเข้าใจวัตถุในฐานะโครงสร้างทั้งหมดมากกว่าผลรวมของส่วนต่าง ๆ ที่ยกตัวอย่างได้เห็นภาพชัดกับการเรียนรู้ คือ ในปีคศ. 1890 Wertheimer ได้นำแนวคิดจิตวิทยาเกสตัลต์ ไปใช้กับปรัชญาและจิตวิทยา โดยการตั้งข้อสังเกตว่าประสบการณ์การรับรู้ เช่น การรับรู้ทำนอง หรือรูปร่าง เป็นมากกว่าผลรวมของส่วนประกอบทางประสาทสัมผัส นอกจากองค์ประกอบทางประสาทสัมผัสของการรับรู้แล้ว ยังมีบางสิ่งที่พิเศษกว่านั้น ตัวอย่างเช่น เมื่อคนหนึ่งได้ยินทำนอง เราจะได้ยินตัวโน้ต และบางอย่างนอกเหนือจากนั้นที่รวมเข้าด้วยกัน [4]

                จึงกล่าวได้ว่า ความรู้ความเข้าใจก่อให้เกิดการเรียนรู้ได้จากประมวลผลข้อมูลผ่านการรับรู้ของเด็ก และนำไปจัดระเบียบข้อมูลใหม่ภายในตามความไตร่ตรองของตนเอง เป็นหลักคิดของการเรียนรู้แบบเชื่อมโยง

 

คอนสตรัคติวิสต์ (Constructivism)

               เป็นการเรียนรู้แนวคิดใหม่ ๆ ผ่านความรู้เก่า หรือประสบการณ์เดิม โดยจำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้มาก่อนถึงจะใช้แนวคิดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทฤษฎีที่เห็นแนวคิดนี้ได้ชัดคือ โมเดลจากหลักสูตร Spiral ของ เจโรม บรูเนอร์ (Jerome Bruner) ที่แบ่งการเรียนรู้ผ่านการจำเป็นลำดับ ทบทวนหัวข้อเดิม ๆ แต่ลงลึก และเพิ่มความซ้ำซ้อนขึ้นไปเรื่อย ๆ เมื่อปัญญาเติบโตขึ้นตามอายุ การกลับมาคิดเรื่องเดิมก็จะมีแนวคิด และความรู้ใหม่เชื่อมโยงมากขึ้น เปรียบเหมือนกับการที่ทำโจทย์เลขการคูณ 1 ข้อยากมากในตอนเด็ก แต่พอเติบโตขึ้นกลับมาทำโจทย์เลขข้อเดิมแต่อาจใช้แม่สูตรคูณแทนการคำนวณแบบตรง ๆ เพราะมุมมองความเข้าใจของเราก็เปลี่ยนไปแล้ว และได้เชื่อมโยงกับความรู้แบบใหม่ ๆ มากขึ้น

               จึงกล่าวได้ว่าแนวคิดแบบคอนสตรัคติวิสต์ เป็นแนวคิดที่ต้องมีพื้นฐานประสบการณ์ และความรู้เดิม เพื่อเชื่อมโยง และสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่จากพื้นฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

                  3 หลักการที่กล่าวไปข้างต้นนี้มีนักปรัชญา และนักจิตวิทยามากมายที่ศึกษา นำมาต่อยอดเป็นทฤษฎีการเรียนรู้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีมากถึง 15 ทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับ[5] วันนี้จะพาไปทำความรู้จักกับ 7 ทฤษฎีการเรียนรู้ในครึ่งแรกกับสรุปให้รู้ตามทันโลกการศึกษา EP.17 ครับ
 

1. ทฤษฎีการพัฒนาความรู้ความเข้าใจของเพียเจต์ (Piaget’s Theory of Cognitive Development)[6]

                ทฤษฎีนี้มีความน่าสนใจตรงที่เขาใช้หลักคิดพื้นฐานว่าการพัฒนาการมาก่อนการเรียนรู้ เน้นใช้กับเด็กเป็นหลัก และต้องเรียงลำดับการเรียนรู้ตามอายุ โดยเพียเจต์ได้สรุปแนวคิดของเขาออกมาเป็น 3 องค์ประกอบหลัก คือ

  • รวมแนวคิดของเขาเข้ากับทฤษฎีสคีมา (Schema)[7] เป็นเรื่องของการจัดการกับความจำในสมองของคนเรา คือ การจัดหมวดหมู่ของข้อมูลที่จัดเก็บไว้ในหน่วยความจำระยะยาว ประกอบไปด้วยกลุ่มของความทรงจำ แนวคิด หรือคำที่เชื่อมโยงกัน ทำหน้าที่เป็นทางลัดทางปัญญา ทำให้การจัดเก็บข้อมูล และเรียกค้นได้รวดเร็วมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น หากนึกถึง "รถ" ภาพและคำต่าง ๆ จะเข้ามาอยู่ในหัวของคุณอย่างรวดเร็ว อาจประกอบไปด้วย ล้อ ที่นั่ง ถนน การเดินทาง ประกันภัย หรือพวงมาลัย เป็นต้น
  • กระบวนการปรับตัวเพื่อให้เกิดความสมดุล สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้เรียนเปลี่ยนจากขั้นหนึ่งไปสู่อีกขั้นหนึ่งได้ เขาเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า ดุลยภาพ การผสมกลมกลืน และการอยู่ร่วมกัน โดยต้องปรับให้เด็กมีทฤษฎีสคีมาที่มากพอจะรับข้อมูลความรู้ และเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ จนต่อยอดได้ 
  • ขั้นตอนของการพัฒนาความรู้ความเข้าใจ ทั้งหมด 4 ขั้นแบ่งตามอายุ
    •  Sensorimotor Stage (อายุ 0 ถึง 2 ปี) คือการรับรู้ถึงสิ่งรอบตัวทันทีผ่านประสาทสัมผัส ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ ประสาทสัมผัสทางการได้ยิน การได้กลิ่น การมองเห็น การสัมผัส และการรับรส และสำรวจโลกผ่านการเคลื่อนไหวของร่างกาย เป็นขั้นตอนที่พวกเขาค้นพบพื้นผิว รู้จักผู้คน วัตถุ สถานที่ ได้เรียนรู้อารมณ์ และนำทฤษฎีสคีมา (Schema) เข้ามาจัดกลุ่มข้อมูลใหม่ที่ได้เรียนรู้มา
    • Preoperational Srage (อายุ 2-7 ปี) ในระยะนี้จะเป็นขั้นตอนของทฤษฎีการเรียนรู้ ได้แก่ การพัฒนาทักษะทางภาษา และการคิดเชิงนามธรรม สิ่งนี้ทำได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การเลียนแบบ การวาดภาพ จินตนาการ (จินตภาพ) และการแสดงออกทางวาจาของความคิด (การปลุกระดม) เด็กจะพัฒนาแบบแผน และความสามารถในการคิดเชิงสัญลักษณ์มากขึ้น สิ่งสำคัญของช่วงนี้คือการสังเกตว่าเด็กดำเนินการจากมุมมองที่หลงคิดว่าตนเองเป็นใหญ่หรือไม่ (Egocentric Perspective)
    • Concrete Operational Stage (อายุ 7-11 ปี) คือ ขั้นปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรม ในขั้นตอนนี้ต้องเน้นไปที่การลดความหลงคิดว่าตนเองเป็นใหญ่ (Egocentric Perspective) ในด้านความรู้ความเข้าใจของเด็กให้น้อยลง เพื่อให้เด็กมีความคิดที่เป็นรูปธรรม และมีเหตุผลมากขึ้น พวกเขาต้องสามารถเข้าใจแง่มุมต่างๆ เช่น การอนุรักษ์ หรือเข้าใจในเรื่องของการแปรสภาพวัตถุว่าสามารถคงสภาพเดิมได้แม้ว่าจะเปลี่ยนรูปร่าง เช่น ขนาด ความสูง หรือปริมาตร (ตัวอย่างของวัตถุ เช่น น้ำ เป็นต้น)
    • Formal Operational Stage ขั้นปฏิบัติการ (11 ปีถึงวัยผู้ใหญ่) เป็นขั้นตอนที่เด็กจะสร้างทักษะการเรียนรู้ทางปัญญาขั้นสุดท้าย รวมถึงการค้นหาวิธีแก้ไขปัญหา ใช้เหตุผลเชิงตรรกะ และสามารถเข้าใจแนวคิดที่เป็นนามธรรมได้ ตอนนี้พวกเขาจะสามารถใช้เหตุผลแบบนิรนัยเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และสภาพแวดล้อมในแง่มุมอื่น ๆ หาทางออกที่เป็นไปได้ และสร้างทฤษฎีใหม่ตามความรู้เดิม

 

2. ทฤษฎีการเรียนรู้ของเลฟ วีกอตสกี้ (Vygotsky’s Theory of Learning)[8]

               มาจากพื้นฐานแนวคิดที่ว่า “การเรียนรู้ทางสังคมเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาทางปัญญาและเป็นวัฒนธรรม ไม่ใช่ระยะพัฒนาการที่สนับสนุนการพัฒนาทางปัญญา” แตกต่างกับแนวคิดของเพียเจต์ที่ว่าการพัฒนามาก่อนการเรียนรู้

Vygotsky ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับ Zone of Proximal Development (ZPD) สื่อแทนขอบเขตความรู้ที่นอกเหนือจากความรู้เดิมในตัวเด็ก ลองนึกภาพว่ารอบตัวเด็กมีสิ่งที่เขายังไม่รู้อีกมากมาย แต่พวกเขาสามารถเข้าใจมันได้ โดยการมีผู้ชี้แนะ สิ่งนี้เรียกว่าแนวคิด The More Knowledgeable Other (MKO) คือการเรียนรู้จากผู้อื่นที่มีความรู้มากกว่า มาสร้างความเข้าใจในบางสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถเข้าใจด้วยตนเองได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนของ MKO ก็คือพ่อแม่ คนในครอบครัว หรือคุณครู โดยไม่จำกัดว่าคนที่ให้ความรู้ต้องเป็นผู้ใหญ่เท่านั้น หากเพื่อน หรือคนอายุน้อยกว่าที่มีความรู้ หรือประสบการณ์มากกว่ามาชี้แนะก็คือ MKO ได้เช่นกัน

เมื่อ MKO ทำงานจะช่วยขยายความเข้าใจของพวกเขาให้เกินกว่าความรู้เดิมที่มีโดยผ่านการสอน และชี้แนะ จะทำให้ ZPD ของเด็กใหญ่ขึ้น และเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น เรียกกระบวนการนี้ว่า Scaffolding[9] คือการแบ่งการเรียนรู้ออกเป็นชิ้น ๆ เพื่อให้เด็กจัดการกับเนื้อหาที่ซับซ้อนมากขึ้น และ MKO มีส่วนสำคัญในการสร้างกรอบนี้เพื่อให้เด็กเข้าใจ ความรู้ที่ไม่จำเป็นจะถูกลบออกไปเมื่อเด็กได้รับความมั่นใจในข้อมูลแล้ว Vygotsky ได้เปรียบว่ามันคือนั่งร้านที่เมื่ออาคารสร้างเสร็จนั่งร้านก็จะถูกถอดออกนั่นเอง และมองว่าสภาพแวดล้อมทางสังคมวัฒนธรรมที่สมบูรณ์จะทำให้ ZPD ของเด็กขยายขึ้นอีกด้วย

               เขามีแนวคิดที่เชื่อว่าสังคม วัฒนธรรม และภาษา มีผลต่อการเรียนรู้ ในช่วงเริ่มต้น เด็ก ๆ จะ “คิดออกมาดัง ๆ” โดยใช้ภาษาพูดเพื่อสื่อให้เข้าใจแนวคิด และเหตุผลแต่สิ่งนี้จะกลายเป็นกระบวนการภายในมากขึ้นเรื่อยๆ (จิตสำนึก) ท้ายที่สุดจะนำไปสู่กระบวนการรับรู้ตามความนึกคิดส่วนตัว ที่ไม่คล้ายคลึงกับภาษาพูด หรือเขียนอีกต่อไป สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ และการมีปฏิสัมพันธ์คือสิ่งที่ส่งผลให้เกิดการพัฒนาทางปัญญา

 

3. โดเมนแห่งการเรียนรู้ของบลูม (Bloom’s Domains of Learning)[10]

เป็นแนวคิดที่เชื่อในพื้นฐานที่ว่ามนุษย์จะเกิดการเรียนรู้ใน 3 ด้านคือ ด้านสติปัญญา ด้านจิตใจ และด้านร่างกาย และนำหลักการมาจำแนกเป็นจุดมุ่งหมายทางการศึกษาเรียกว่า Taxonomy of Educational objectives[11]

The Cognitive Domain (ด้านสติปัญญา)

               ถูกเสนอขึ้นในปีคศ. 1956 มุ่งเน้นไปที่แนวคิดที่ว่าวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้สามารถแบ่งออกเป็นส่วนย่อย และจัดลำดับตามความยากในการรู้คิดได้ ทั้งหมด 6 ขั้น คือ Knowledge (ความรู้) Comprehension (ความเข้าใจ) Application (การประยุกต์) Analysis (วิเคราะห์) Synthesis (สังเคราะห์) และ Evaluation (ประเมินผล)

แต่ในปีคศ. 2000-2001 ได้ปรับปรุงใหม่ตามแนวคิดของ Anderson and Krathwohl โดยเปลี่ยนจากคำนามเป็นคำกริยาเพื่อให้ง่ายต่อการออกแบบและวางแผนหลักสูตร[12] และสลับบทบาทใน 2 ขั้นสุดท้าย คือ การสังเคราะห์ (ขั้นที่สามารถนำส่วนต่าง ๆ มาสร้างเป็นรูปแบบใหม่ให้ต่างจากเดิม) เป็นชื่อว่า Create (การสร้างสรรค์) เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น และมองว่าการประเมินผลควรจะเกิดขึ้นก่อน จนออกมาเป็นรูปแบบที่การศึกษาทั่วโลกรู้จักกันในชื่อของ Bloom’s Taxonomy

  • Remembering (ความจำ)
  • Understanding (ความเข้าใจ)
  • Applying (การประยุกต์ใช้)
  • Analysing (การวิเคราะห์)
  • Evaluating (การประเมินผล)
  • Create (การสร้างสรรค์)

 

เปรียบเทียบโมเดล Bloom’s Taxonomy ฉบับเดิม และฉบับปรับปรุงใหม่
ภาพจาก: growthengineering.co.uk

The Affective Domain (พฤติกรรมสติปัญญา)

               ถูกเสนอโดย Krathwohl และ Bloom ในปีคศ. 1964 เป็นโดเมนที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกและอารมณ์ เหมาะกับวิชาที่มักใช้ด้านอารมณ์เป็นหลัก เช่นศิลปะ ดนตรี และภาษา หรือการเตรียมสภาพแวดล้อมการสอนที่ดีก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยให้พฤติกรรมทางด้านจิตใจของเด็กส่งผลดีต่อการเรียนรู้ได้ แบ่งวัตถุประสงค์ออกเป็นประเภทย่อยตามลำดับชั้น 5 ขั้น ดังนี้

  • การรับรู้ (Receiving) : การรู้ถึงสิ่งกระตุ้นภายนอก เช่น ความรู้สึก ประสาทสัมผัส อารมณ์ และประสบการณ์
  • การตอบสนอง (Responding) : การสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก เช่น ความพอใจ ความเพลิดเพลิน และการมีส่วนร่วม
  • ประเมินค่า (Valuing) : ความเชื่อของนักเรียนหรือการจัดสรรคุณค่า เช่นการแสดงความชอบ หรือความเคารพ
  • การจัดระบบ (Organization) : การกำหนดแนวคิด และการจัดระเบียบค่านิยม เช่น ตรวจสอบ ชี้แจง และบูรณาการ
  • บุคลิกภาพ (Characterization) : ความสามารถในการฝึกฝน และปฏิบัติตามค่านิยมของตน เช่น ทบทวน สรุป หรือตัดสิน

 

The Psychomotor Domain (พฤติกรรมด้านร่างกาย)

               เป็นโดเมนที่ต้องการให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านทางร่างกายในการเคลื่อนไหวเพื่อนำมาตีความ และนำทางร่างกายให้เกิดความคล่องแคล่วชำนาญผ่านการคิดอย่างรอบคอบ เป็นเคลื่อนไหวที่เกิดจากการเรียนรู้ทางปัญญา ไม่ใช่สัญชาตญาณของจิตใต้สำนึก โดยแนวคิดนี้มาจาก แอนิตา แฮร์โรว์ (Anita Harrow)[13] ได้จำแนกประเภทของการเรียนรู้ในโดเมนนี้ออกมา 6 แบบ ดังนี้

  • Reflex movements คือ การเคลื่อนไหวที่เรามีตั้งแต่แรกเกิด และตอบสนองโดยอัตโนมัติ เช่น การหายใจ การเปิดและปิดรูม่านตาของเรา หรือตัวสั่นเมื่ออากาศเย็น
  • Fundamental movements การเคลื่อนไหวพื้นฐาน เช่น การวิ่ง การกระโดด หรือการเดิน ถูกทำให้ซับซ้อนมากขึ้น ผ่านการชี้แนะ และฝึกฝน เช่น การเล่นกีฬา
  • Perceptual abilities คือ ความสามารถในการรับรู้โลกรอบตัว และประสานการเคลื่อนไหวของเราเพื่อโต้ตอบกับสภาพแวดล้อมในรูปแบบต่าง ๆ ได้ เช่น ได้ยินเสียง เกิดการสนทนาตอบกลับ
  • Physical abilities คือความสามารถทางกายภาพ เกิดจากการฝึกฝน หรือเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นความแข็งแกร่ง ความอดทน ความคล่องแคล่ว และความยืดหยุ่น เป็นต้น
  • Skilled movements เป็นการเคลื่อนไหวที่มีวัตถุประสงค์กำหนดไว้ เช่นการเคลื่อนไหวเพื่อเรียนรู้การเล่นกีฬา การเต้นรำ หรือการเล่นเครื่องดนตรี จนเกิด “ความจำของกล้ามเนื้อ”
  • Non-discursive communication การเคลื่อนไหวที่สื่อสารออกไปเป็นอย่างธรรมชาติในการใช้สื่อความหมาย เช่น การแสดงสีหน้า ท่าทาง และกิริยาท่าทาง

 

หลักสูตร Spiral ของบรูเนอร์

              ทฤษฎี Spiral[14] มีหลายแนวคิดแต่รูปแบบของเจโรม บรูเนอร์ เกิดขึ้นในปีคศ. 1960 เขาเป็นนักทฤษฎีการเรียนรู้ด้านพุทธิปัญญา แนวคิดของเขาเริ่มต้นด้วยสมมติฐานที่ว่าวิชาใด ๆ สามารถสอนแก่เด็กคนใดก็ได้ในทุกช่วงของการพัฒนา หมายความว่าแม้จะเป็นหัวข้อที่ซับซ้อนมากก็สามารถสอนให้กับเด็กเล็กได้หากจัดโครงสร้าง และนำเสนอด้วยวิธีที่ถูกต้อง เรียงลำดับจากยากไปง่าย ในลักษณะบันไดวน หรือเกลียวสว่าน (Spiral) ตามพัฒนาการ และอายุของเด็ก โดยแนวคิดของเขามาจากพื้นฐาน 3 ประการคือ

 1. นักเรียนทบทวนหัวข้อเดียวกันหลายครั้งในการเรียน เพื่อช่วยให้จดจำได้มากขึ้นทุกครั้งที่กลับไปเรียนเรื่องเดิม

2. ความซับซ้อนของหัวข้อจะเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่นักเรียนทบทวน เพื่อความก้าวหน้าของเนื้อหา และตรงกับความสามารถทางปัญญาของเด็กที่พัฒนาขึ้นตามอายุ

3. สามารถเชื่อมโยงเนื้อหาเดิมกับแนวคิดใหม่ที่พวกเขาได้เรียนรู้มาก่อนหน้านี้ได้ จะช่วยให้เข้าใจองค์ประกอบที่ยากขึ้นของหัวข้อได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

และผสานกับแนวคิดในการเก็บความรู้ไว้ในหน่วยความจำโหมดต่าง ๆ ทั้ง 3 ระยะตามอายุ ดังนี้

  • Enactive (อายุ 0-1 ปี) การแสดงความรู้ผ่านการกระทำทางกายภาพ
  • Iconic (อายุ 1-6 ปี) การแสดงภาพความรู้ที่เก็บไว้ผ่านภาพ
  • Symbolic (อายุ 7+ ปี). การใช้คำ และสัญลักษณ์เพื่ออธิบายประสบการณ์

 

5. ลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of Needs)

          แนวคิดพื้นฐานของมาสโลว์ คือลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์ 5 ลำดับ [15] เริ่มจาก Physiological (อาหาร และเครื่องนุ่งห่ม) Safety (ความมั่นคง และความปลอดภัย) Love and belonging needs (สังคม หรือมิตรภาพ) Esteem (อำนาจ ความเคารพนับถือ) และ Self-actualization (การตระหนักรู้ในตนเอง) และเมื่อมนุษย์มีพร้อมในขั้นแรกถึงจะเลื่อนไปขั้นต่อไปตามลำดับ

            ทฤษฎีนี้ถูกนำมาปรับใช้กับหลากหลายหลักการไม่ใช่เฉพาะเรื่องของการศึกษาเท่านั้น แต่หากมองในมุมการศึกษาแล้วพบว่า มนุษย์จะเกิดการเรียนรู้ได้เมื่อพวกเขาสบายใจ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่พร้อมจะเรียนรู้ และมีความมั่นใจที่จะถูกผลักดัน ทฤษฎีของมาสโลว์ให้ความสำคัญกับการสร้างสัมพันธ์ระหว่างนักเรียน และครูมากกว่าบทเรียน หรือโครงสร้างหลักสูตร การทำให้แน่ใจว่านักเรียนรู้สึกปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถึงแม้ว่าจะมีแผนการสอนที่ดีที่สุดในโลก แต่นักเรียนอาจจะไม่สามารถตอบสนองการเรียนรู้นั้นได้

 

โมเดลลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์

 

6. หลักการของปีเตอร์ (The Peter Principle)

 หลักการของปีเตอร์[16] เป็นหนังสือที่เขียนโดย ลอเรนซ์ ปีเตอร์ นักทฤษฎีการศึกษาร่วมกับ เรย์มอนด์ ฮัลล์ โดยทำการศึกษา และตั้งข้อสังเกตว่าผู้คนในลำดับชั้นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มระดับ “ความสามารถ” ของพวกเขาไปจนถึงระดับที่ไร้ความสามารถ ยกตัวอย่างให้เห็นชัดคือ ทุกคนจะเติบโตได้เรื่อย ๆ ตราบเท่าที่มีความสามารถที่เหมาะสม หากทำได้ดีก็มีโอกาส ก้าวหน้าต่อไป แต่น้อยคนที่จะทำได้ เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่ง ถ้าเราไม่สามารถเรียนรู้พัฒนาตนเองต่อได้ เราก็จะหยุดและถดถอยลง จนกลายไปไร้ความสามารถเมื่อเราหมุนตามโลกไม่ทัน

โดยพูดถึงความสามารถ 4 ระดับ ดังนี้

  1. Unconscious Incompetence คือ ไร้ความสามารถโดยไม่รู้ตัว โดยที่ตนเองไม่รู้วิธีการทำงาน และไม่ทราบว่าตนขาดความสามารถในการทำงานนี้
  2. Conscious Incompetence คือ ไร้ความสามารถอย่างมีสติ ไม่รู้วิธีการทำงาน แต่ตอนนี้ทราบแล้ว และตระหนักถึงช่องว่างในความรู้ของตนเอง
  3. Conscious Competence คือ ความสามารถที่ต้องการสติ มีความสามารถแต่ต้องใช้สมาธิอย่างสูง
  4. Unconscious Competence คือ ความสามารถโดยไม่รู้ตัว สามารถทำงานได้อย่างง่ายดาย สิ่งนี้เกิดจากการทำได้โดยการฝึกฝนซ้ำ ๆ

            แนวคิดของเขาไม่ได้พูดถึงทฤษฎีการเรียนรู้ที่เคร่งครัด แต่พูดถึงกรอบของความสามารถที่เป็นข้อเท็จจริงผ่านมุมมองการทำงานในองค์กรที่สามารถทำมาเป็นกรอบการวางแผนกลยุทธ์การสอนระยะยาวแก่ครู ในการใช้ติดตามความก้าวหน้าของนักเรียนได้

 

7. ทฤษฎีมนุษยนิยมของโรเจอร์ส (Rogers’ Humanist Theory)

                เป็นแนวคิดในเชิงของจิตวิทยาที่ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เป็นแนวคิดแบบมนุษนิยมที่มีความเชื่อว่าผู้คนมีความปรารถนาโดยธรรมชาติที่จะเรียนรู้เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จในตนเองซึ่งอ้างอิงสอดคล้องกับทฤษฎีความต้องการของมาสโลว์ ผลลัพธ์ไม่ใช่ส่วนสำคัญที่สุดของการศึกษาแต่เป็นกระบวนการของการเรียนรู้ และนักเรียนควบคุมการเรียนรู้ของตนเอง บรรลุผลได้จากการสังเกต และการสำรวจ โดยมีครูเป็นแบบอย่างที่ให้กำลังใจ กระตุ้น ชี้แนะ และสนับสนุน

               นอกจากนี้เขายังมองว่าครูเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ (facilitator)[17] มากกว่าเป็นเพียงผู้ถ่ายทอดความรู้ และความสำเร็จของครูอยู่ที่ความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกกับนักเรียน โดยเขาได้เสนอคุณลักษณะด้านทัศนคติให้คุณครู 3 ดังนี้

  • Realness คือ ความสมจริง ครูควรเป็นตัวของตัวเอง และใช้บุคลิกภาพของตนเองในการสอน เพราะส่งผลให้เกิดความไว้วางใจระหว่างนักเรียนกับครู และถ่ายทอดความรู้สึกไปถึงได้มากกว่า
  • Prizing, Accepting and Trusting คือ การให้รางวัล การยอมรับ และความไว้วางใจ ครูควรเอาใจใส่นักเรียน และยอมรับความรู้สึกของพวกเขา แม้ว่าพวกเขาจะตั้งใจเรียนหรือไม่ก็ตาม
  • Empathy คือ ความเห็นอกเห็นใจ จะทำให้สร้างความไว้วางใจ และความเคารพที่ลึกซึ้งได้

 

                   ทฤษฎีการเรียนรู้ทั้ง 7 ตัว ที่นำมาให้อ่านกันมีหลากหลายตัวที่ยังเป็นที่นิยม และใช้ประกอบกับหลักสูตรของเราในปัจจุบัน เช่น Bloom’s Taxonomy ทฤษฎีความต้องการของ Maslow หรือ พหุปัญญาของ Howard Gardner เป็นต้น คุณคิดว่าทั้ง 7 ทฤษฎีนี้ล้าหลังไปแล้วหรือยัง ในยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงไปมากมาย การเรียนรู้ควรไปในทิศทางไหน ทฤษฎีไหนสามารถนำมาปรับหลักแนวคิดใหม่ เพื่อเข้ากับการเรียนรู้ในปัจจุบันได้บ้าง ลองคิด และหาคำตอบไปกับอัตนัย แล้วพบกับอีก 8 ทฤษฎีได้ในบทความสรุปให้รู้ตามทันโลกการศึกษา EP.18 ฉบับหน้าครับ

 


อ้างอิง

แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง