สรุปให้รู้ตามทันโลกการศึกษา ep.32 ยกศักยภาพการศึกษา พัฒนาครูให้ก้าวทันโลก

 

 

  

สรุปให้รู้ตามทันโลก อนาคตการศึกษา  ep.32

ยกศักยภาพการศึกษา พัฒนาครูให้ก้าวทันโลก

 

                      ประชากรโลกกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงของผู้สูงอายุตลอดมา มีการคาดการณ์ว่าในปี 2030 ทั่วโลกจะมีประชากรอายุ 60 ปีจำนวนกว่า 1,400 ล้านคนและในอนาคตอาจมีเพิ่มขึ้นเป็น 2,100 ล้านคนในปี 2050[1] มากกว่าอัตราของผู้มีอายุ 10-24 ปีเสียอีก ปัญหาของผู้สูงอายุที่นอกจากเรื่องของสุขภาพ การเรียนรู้ก็เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่ไม่ควรถูกมองข้ามไปเพราะช่วงเวลาของการเรียนรู้ถูกขยายกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ จากข้อมูลของศูนย์สถิติการศึกษาแห่งชาติ (NCES) ในปี 2021 พบว่าชาวอเมริกันวัย 50 ปีขึ้นไปกว่า 550,000 คนลงทะเบียนเรียนในหลักสูตรระดับอุดมศึกษาเนื่องจากต้องการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ต้องการความก้าวหน้าทางอาชีพของตนเองไปจนถึงเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต

 

ข้อสังเกตที่น่าสนใจของข้อมูลนี้คือผู้สูงอายุส่วนมากมักเกษียณจากการทำงานในช่วง 55-60 ปี แต่ทำไมชาวอเมริกันวัย 50 ปีขึ้นไปเหล่านี้ยังคงเข้าเรียนเพื่อพัฒนาอาชีพของตน

 

จากข้อมูลของ OECD[2] พบการเปลี่ยนแปลงของอายุแรงงานที่น่าตกใจคือตลาดแรงงานทั่วโลกกำลังค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงตัวเลขของผู้เกษียณอายุเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการสำรวจพบว่ามีหลายประเทศที่ได้เริ่มขยับช่วงอายุเกษียณงานแล้ว เช่น สหราชอาณาจักร เดิมทีให้เกษียณอายุในช่วง 60-65 ปี คือผู้หญิง 60 ปีและผู้ชาย 65 ปี แต่ตอนนี้ขยับเป็นทั้งสองเพศเกษียณอายุ 66 ปีเท่ากันโดยใช้ความเท่าเทียมทางเพศเป็นบรรทัดฐาน นอกจากนี้ยังพบอีกว่าในกลุ่มประเทศ 7G (แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐ) จะมีการเพิ่มขึ้นของแรงงานที่อายุมากกว่า 55 ปี กว่า 25% ในอีก 7 ปีข้างหน้า ซึ่งสูงกว่าสถิติเดิมจากปี 2011 เกือบ 10% ในกรณีตัวอย่างที่เห็นภาพชัดคือญี่ปุ่นที่ถูกคาดการณ์ว่าแรงงานอายุมากกว่า 55 ปีจะเพิ่มขึ้น 40% ของกำลังแรงงานทั้งหมดของประเทศในปี 2031

 

Ad Astra ข้อมูลที่พูดถึงในบทความนี้กำลังบอกอะไรกับคุณครู?

               ข้อมูลเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณครูบางส่วนกำลังจะมีช่วงเวลาในการเกษียณอายุที่ถูกขยับเพิ่มขึ้นในอนาคต จากสถิติการเกษียณอายุราชการของครูไทย[3] พบว่าทุกปีมีครูเกษียณอายุมากกว่า 2 หมื่นคนแต่จำนวนจ้างครูทุกปีมีไม่เท่ากับจำนวนของครูที่ออกไป มีการคาดการณ์ว่าในปี 2070 จำนวนครูบรรจุใหม่อาจไม่ถึงหนึ่งหมื่นคน นั่นหมายความว่าการขาดแคลนครูกำลังเกิดขึ้นและขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต ทำให้ครูที่ยังคงทำงานอยู่ในโรงเรียนต้องรับบทบาทหนักในการสอนนักเรียนพร้อมต้องปรับตัวเองให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและโลกที่หมุนอย่างรวดเร็ว

         

รูปข้อมูลสถิติการจ้างครู (แหล่งที่มา : ThaiPBS)

 

 

              จากข้อมูลในปัจจุบันพบว่ามีโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนประถมเป็นโรงเรียนที่คุณครูไม่เพียงพอมากที่สุด อาจเพราะมหาวิทยาลัยไม่ค่อยมีเอกการสอนสำหรับครูประถมมากนัก นักศึกษาที่อยากเป็นคุณครูส่วนใหญ่จึงเลือกเรียนวิชาเอกอย่างวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสังคมศึกษาฯ มากกว่าและเมื่อจบไปจึงเลือกสอนในระดับมัธยม[4] ทำให้ครูประถมไม่เพียงพอแม้ว่าจะเปิดบรรจุมากแต่ครูที่ผ่านคัดเลือกกลับมีน้อยทำให้ภาระงานของครูหนึ่งคนมากเกินไปเพราะการเป็นครูไม่ใช่แค่การสอนเด็กอย่างเดียวยังมีงานด้านต่าง ๆ ที่ต้องดูแล

             

  

แล้วการพัฒนาครูด้านทักษะต่าง ๆ มีข้อดีกับโรงเรียนและตัวครูยังไงบ้าง?

               ในเชิงโครงสร้างการพัฒนาบุคลากรที่มีอยู่แล้วโดยเพิ่มศักยภาพทางทักษะบางอย่างที่เป็นที่ต้องการเพิ่มเข้าไป เป็นการยกระดับมาตรฐานครูและเพิ่มขีดความสามารถให้สถานศึกษาด้วยต้นทุนที่ควบคุมได้อาจดีกว่าเมื่อเทียบกับการแทนที่บุคลากรใหม่เข้ามาในงบประมาณที่อาจสูงกว่า นอกจากนี้การพัฒนาทักษะและทักษะใหม่เป็นเครื่องมือเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญซึ่งจำเป็นต่อบุคลากรด้านการสอน เป็นการมอบโอกาสในการก้าวหน้าทางอาชีพและเพิ่มทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน ซึ่งมันสามารถต่อยอดไปยังวิธีคิดในการใช้ชีวิตประจำวันได้

 

ครูยังต้องพัฒนาอะไรเพิ่มเติมเพื่อไปสอนเด็ก?

 

อุสาหกรรมการศึกษามีการพัฒนาด้วยการวิจัย ทฤษฎีการสอน และวิธีการทำงานใหม่ ๆ อยู่ตลอดโดยเฉพาะเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามามีบทบาทอย่างมาก หัวข้อของทักษะดิจิทัลจึงเป็นการเรื่องหลักที่ครูต้องนำมายกระดับศักยภาพของตนเอง ให้คุ้นเคยกับเทคโนโลยีที่คนยุคใหม่ใช้และนำมันมาประยุกต์กับการทำงานและกระบวนการสอนของตนเองให้ได้เพื่อสร้างความยืดหยุ่นและปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลก นอกจากเรื่องของเทคโนโลยีแล้วหากอ้างอิง VASK หลักการด้านการศึกษาสมัยใหม่[5]

  • V มาจาก Values คือ ค่านิยม เป็นการสร้างแนวคิดให้เด็กอยากประสบความสำเร็จในชีวิต
  • A มาจาก Attitude คือ เจตคติ หรือทัศนคติ เป็นการสร้างวิธีคิด เจตคติเชิงบวก และเชิงลบ
  • S มาจาก Skills คือ ทักษะ เป็นการฝึกฝนให้เกิดเทคนิควิธีการ ที่จะนำไปต่อยอดอาชีพ และดำรงชีวิตต่อไปในอนาคตได้
  • K มาจาก Knowledge คือ ความรู้ ที่ได้รับมาจากการเรียน และประสบการณ์

ที่เป็นหลักการเพื่อพัฒนาการศึกษาใหม่ให้เด็ก ๆ คงจะนำมาปรับใช้กับคุณครูได้เช่นกันเพราะว่าคุณครูก็ต้องมีทักษะเหล่านี้เพื่อเป็นต้นแบบในการชี้แนะอนาคตของชาติ ซึ่ง 3 ตัวสำคัญที่เหมาะกับการนำไปปรับใช้ ได้แก่

 

  • ความรู้ (Knowledge)  การพัฒนาความรู้ของตนเองเพื่อยกศักยภาพกระบวนการสอน
     
  • ทักษะ (Skills)
    ทักษะการคาดการณ์อนาคตเพื่อวิเคราะห์ทิศทางของการศึกษาและเทรนใหม่ ๆ และนำมาประยุกต์ใช้กับห้องเรียน
    ทักษะการสื่อสารเพื่อการสอนให้เด็กเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายและชัดเจน

     
  • ทัศนคติ (Attitude) เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพสูงขึ้นหรือต่ำลงได้ เพราะหากคุณครูไม่มีทัศนคติในการสอนที่ดีก็จะถ่ายทอดความรู้ออกมาได้ไม่เต็มที่ การสร้างทัศนคติในการสอนที่ดีให้กับตนเองจึงเป็นเรื่องสำคัญพอ ๆ กับการพัฒนาด้านความรู้เลยทีเดียว

    การฝึกอบรมครูไม่ใช่สิ่งที่ต้องทำเป็นครั้งคราวในช่วงแรก ๆ ของการสั่งสมประสบการณ์เท่านั้น แต่ควรทำอยู่ตลอดแม้ว่าจะไม่มีประเด็นการขยายช่วงเกษียณอายุที่มากขึ้นนี้ เพราะการถ่ายถอดความรู้อย่างอาชีพครูจำเป็นต้องเพิ่มพูนทักษะ ขยายความรู้และประสบการณ์ของตัวเองให้ก้าวทันโลกอยู่เสมอเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการชี้แนะเด็กรุ่นใหม่และสร้างสังคมคุณภาพในอนาคต

               

            หลังจากอ่านบทความนี้คุณครูคิดว่าการพัฒนาทักษะของตนเองสำคัญหรือไม่

ตัวเรายังคงขาดอะไรไป และมีความคิดเห็นยังไงหากต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ พูดคุยแลกเปลี่ยนไปกับอัตนัยครับ

      

 

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท. Active Learning อื่น ๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่น ๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

 
 

 

 

 

 

แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง