สรุปให้รู้ตามทันโลกการศึกษา ep.35 ถอยเพื่อก้าวได้อย่างรอบด้านในยุคการศึกษาดิจิทัล

 

 

  

สรุปให้รู้ตามทันโลก อนาคตการศึกษา  ep.35

ถอยเพื่อก้าวได้อย่างรอบด้านในยุคการศึกษาดิจิทัล

 

                      โลกของเราและการศึกษายุคใหม่ต่างมุ่งไปข้างหน้า เพื่อปรับตัวและนำเทคโนโลยีมาใช้ให้มากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันทักษะบางอย่างก็ไม่อาจใช้เทคโนโลยีเข้ามาเติมเต็มได้ เช่นเรื่องพื้นฐานของการเขียน การสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม หรือทักษะการสื่อสาร เป็นต้น

 

นอกจากนี้ยังมีมุมมองด้านอื่น ๆ ที่ออกมาสะท้อนผลกระทบต่อการใช้งานเทคโนโลยีในห้องเรียน เช่นเรื่องของเวลาหน้าจอ การกลั่นแกล้งบนโลกโซเชียล และผลกระทบด้านความสัมพันธ์จากการใช้โทรศัพท์ในห้องเรียนของเด็ก ๆ

 

จากรายงานของ The Times[1] กล่าวว่าก่อนที่จะมีการห้ามใช้โทรศัพท์ในโรงเรียนในสหรัฐอเมริกา นักเรียนแทบจะไม่เงยหน้าจากอุปกรณ์เหล่านั้นขณะเดินไปตามทางเดินของโรงเรียน นักเรียนบางคนแอบถ่ายวิดีโอเพื่อนร่วมชั้นเพื่อเผยแพร่วิดีโอผ่านแอปอย่าง Snapchat และหลายครั้งนำไปสู่การกลั่นแกล้งกันบนโลกโซเชียล

 

นอกจากสหรัฐอเมริกาแล้วยังมีอีกหลายประเทศที่มองว่าการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีของเด็กเป็นสิ่งอันตราย เช่น “เนเธอร์แลนด์” ในช่วงเดือนกันยายน ปี 2024 รัฐบาลเนเธอร์แลนด์มีคำสั่งห้ามนักเรียนใช้โทรศัพท์มือถือ นาฬิกาสมาร์ตวอทช์ และแท็บเล็ตในโรงเรียนประถมและมัธยมทุกระดับชั้น เนื่องจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์มองว่าเป็นสิ่งรบกวนที่ทำให้เด็กมีสมาธิลดลง ส่งผลต่อการเรียนรู้ และทำให้ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของนักเรียนลดลง แต่ก็ไม่ใช่การสั่งห้ามเด็ดขาดซะทีเดียวเพราะโรงเรียนสามารถตัดสินใจอนุญาตหรือไม่อนุญาตเป็นรายบุคคลหรือเฉพาะกรณีได้หากจำเป็น

 

ด้วยเหตุผลที่คล้ายกัน โรงเรียนทุกแห่งของนิวซีแลนด์ ห้ามไม่ให้นักเรียนเข้าถึงหรือใช้โทรศัพท์มือถือในขณะเข้าเรียน แต่มีความยืดหยุ่นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของโรงเรียน ความต้องการของผู้เรียนและครอบครัว โดยโรงเรียนอนุญาตให้นักเรียนใช้หรือเข้าถึงโทรศัพท์ได้หากจำเป็นและเกี่ยวข้องกับการศึกษา เช่น คุณครูกำหนดให้เด็กนักเรียนใช้โทรศัพท์เพื่องานหรือวัตถุประสงค์ทางการศึกษาที่มอบหมายให้ทำในชั้นเรียน เป็นต้น

 

นอกจากเหตุผลด้านเวลาหน้าจอ ผลการเรียน และทักษะด้านการสื่อสารสร้างปฏิสัมพันธ์แล้ว ยังมีมุมมองด้านของทักษะการเขียนที่ถูกหยิบขึ้นมาพูดถึง เพราะดูเหมือนว่าการเขียนตัวอักษรจะไม่ค่อยเป็นที่คุ้นเคยสำหรับเด็ก Gen Alpha ในยุคใหม่อีกแล้ว

 

ในเดือนมกราคมปี 2024 รัฐ California ได้บังคับใช้กฎหมาย Assembly Bill 446 กำหนดให้โรงเรียนระดับประถมศึกษาต้องสอนคัดลายมือแบบตัวเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักเรียนเกรด 1-เกรด 6

 

Leslie Zoroya ผู้อำนวยการโครงการด้านการอ่าน สำนักงานการศึกษา Los Angeles กล่าวว่า เมื่อเด็กๆ เขียนด้วยลายมือแทนการพิมพ์ โครงข่ายประสาทต่างๆ ของเด็กจะถูกใช้งานต่างกัน การคัดลายมือมีส่วนช่วยสร้างการเชื่อมโยงในสมองรวมถึงระบบความจำ เพราะเวลาที่เด็ก ๆ ลงมือเขียน พวกเขาจะนึกถึงลักษณะและเสียงของตัวอักษร อีกทั้งยังสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตาและมือมากขึ้น

 

นอกจากนี้เรื่องความปลอดภัยของการใช้งานก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องระมัดระวังกับนักเรียนที่อาจจะยังขาดวิจารณญาณที่มากพอ จนตกเหยื่อของปัญญาประดิษฐ์ (AI) จากเหล่ามิจฉาชีพ งานวิจัย[2] พบว่าพฤติกรรมของมนุษย์เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการละเมิดข้อมูลถึง 74% และเครื่องมือ AI ยังสามารถสร้างการหลอกลวงได้ง่าย ๆ เพียงรู้ข้อมูลของเราไม่กี่อย่าง การให้ความรู้และการศึกษากับนักเรียนจึงเป็นขั้นสำคัญที่ครูควรให้เสริม เช่น

1. ส่งเสริมการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) โดยฝึกให้คิดวิเคราะห์และตั้งคำถามกับข้อมูลที่ได้รับ เช่น "ข้อมูลนี้มีความน่าเชื่อถือไหม?" หรือ "แหล่งที่มาของข้อมูลคืออะไร?" การคิดเชิงวิพากษ์ช่วยให้เด็กตระหนักถึงความเสี่ยงจากการหลอกลวงผ่านเทคโนโลยี

2. สอนวิธีการตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้และเรียนรู้วิธีการใช้เครื่องมือออนไลน์ เช่น การตรวจสอบข้อเท็จจริง และการมองหาสัญญาณของการหลอกลวงในโลกดิจิทัล

3. ฝึกฝนทักษะทางอารมณ์ สอนวิธีการจัดการอารมณ์และไม่ตกเป็นเหยื่อของอารมณ์ชั่วคราว ในกรณีที่นักเรียนพบข้อมูลที่อาจจะทำให้ตกใจหรือรู้สึกไม่ปลอดภัย โดยไม่รีบตัดสินใจและการขอคำแนะนำจากผู้ใหญ่หรือคนที่ไว้วางใจ เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม หากสังเกตจะพบว่า แม้ตัวอย่างที่ยกตัวอย่างมาจะพูดถึงการห้ามใช้เป็นหลักแต่ก็ยังอนุญาตและให้ใช้ได้ในกรณีของเหตุจำเป็นและการเรียนรู้ ทำให้อนุมานได้ว่าการใช้โทรศัพท์ในโรงเรียนหรือการทำเทคโนโลยีมาใช้กับการเรียนการสอนไม่ได้ให้ผลเสียเพียงอย่างเดียว อาจส่งผลดีต่อการเรียนรู้มากกว่าข้อเสียที่กล่าวมาหากคุณครูรู้จักการจัดระเบียบห้องเรียนให้สมดุลและพยายามแสดงให้เด็ก ๆ เห็นถึงวิธีใช้อินเทอร์เน็ต และเครื่องมือดิจิทัลต่าง ๆ ในโรงเรียนอย่างปลอดภัยและชาญฉลาด

              

  

แนวทางการจัดห้องเรียนให้สมดุล[2]

  •  กำหนดเป้าหมายของห้องเรียน
    ก่อนที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ในห้องเรียน คุณครูต้องรู้ก่อนว่าอยากได้อะไรจากการใช้เทคโนโลยีนั้น วัตถุประสงค์ของการเรียนรู้คืออะไร นำเทคโนโลยีมาช่วยให้การสอนของคุณดีขึ้นได้อย่างไร และวัดผลการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของนักเรียนได้อย่างไร เพราะการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนจะช่วยให้คุณครูเลือกเครื่องมือเทคโนโลยีที่เหมาะสมและใช้ได้ผลดีที่สุด
     
  • เลือกคุณภาพมากกว่าปริมาณ
    เทคโนโลยีในปัจจุบันมีเครื่องมือและแพลตฟอร์มหลายตัวที่ทำขึ้นเพื่อการศึกษาให้เลือกใช้ แต่คุณครูไม่จำเป็นต้องใช้ทั้งหมด เพราะการใช้เครื่องมือหรือแพลตฟอร์มเทคโนโลยีมากเกินไปอาจส่งผลเสียทำให้เกิดความสับสนและเป็นภาระทางปัญญาที่มากเกินไปสำหรับคุณครูและนักเรียน แนะนำให้เลือกเครื่องมือที่ดีและเชื่อถือได้ ที่จะช่วยให้คุณครูบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ ใช้งานง่าย และเหมาะสมกับนักเรียนทุกคน
     
  • รักษาสมดุลเวลาหน้าจอและเวลาสร้างสังคม
    สมดุลเวลาหน้าจอ คือปัญหาหลัก ๆ ของการงดใช้โทรศัพท์ในโรงเรียนของหลาย ๆ ประเทศเหมือนที่อ้างอิงข้อมูลไว้ข้างต้น การใช้เทคโนโลยีมากเกินไปอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพและการเรียนรู้ ดังนั้นควรกำหนดเวลาที่เหมาะสมสำหรับการใช้เทคโนโลยีในห้องเรียน ให้เวลาแก่นักเรียนในการทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น การโต้ตอบ การทำงานกลุ่ม หรือกิจกรรมทางกาย ที่ไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างสมดุลระหว่างเวลาหน้าจอและกิจกรรมสร้างปฏิสัมพันธ์

     
  • สอนความรู้ด้านดิจิทัลและความเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดี
    การใช้เทคโนโลยีในห้องเรียนไม่เพียงแต่นำมาใช้เพื่อสร้างการเรียนรู้ แต่ต้องสอนให้นักเรียนรู้วิธีการใช้เทคโนโลยีอย่างมีวิจารณญาณ เช่น การประเมินแหล่งข้อมูลออนไลน์ การวิเคราะห์ข้อความจากสื่อต่าง ๆ และการปฏิบัติตนอย่างมีจริยธรรมออนไลน์ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้นักเรียนมีทักษะการใช้เทคโนโลยีอย่างปลอดภัยและมีความรับผิดชอบต่อสังคมลดปัญหาของการกลั่นแกล้งกันบนโลกโซเชียล

     
  • ความปลอดภัยของนักเรียนถือเป็นสิ่งสำคัญในโรงเรียน
    ในหลายโรงเรียนที่มีระบบ IoT ดี ๆ เช่น RFID เซนเซอร์ที่เสริมประสิทธิภาพ กล้อง และอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อได้ทำให้สามารถตรวจสอบอาคารทั้งหลังได้ สามารถให้ผู้ปกครองเข้ามาดูกล้องวงจรปิดออนไลน์เพื่อดูลูกหลานของตนเองได้เลย นอกจากนี้ยังระบบการแจ้งเตือนและการดำเนินการที่กำหนดค่าได้ เช่น ตรวจสอบสัญญาณไฟหรือตรวจจับพฤติกรรมผิดปกติ สิ่งเหล่านี้ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับโรงเรียนได้อย่างมาก

 

 เทคโนโลยีในห้องเรียนสามารถเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์อย่างมากในการส่งเสริมการเรียนรู้และการสอน สิ่งสำคัญคือต้องใช้เทคโนโลยีอย่างมีสมดุล เลือกใช้เครื่องมือที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับเป้าหมายการเรียนรู้ ควรมีการจัดสรรเวลาให้เหมาะสมระหว่างการใช้เทคโนโลยีและกิจกรรมที่ไม่ใช้เทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ที่ครบถ้วนและดีต่อสุขภาพของนักเรียน การใช้เทคโนโลยีอย่างรอบคอบและสมดุลจะช่วยให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุขในกระบวนการเรียนรู้

           

          

      

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท. Active Learning อื่น ๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่น ๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

 
 

 

 

 

 

แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง