สรุปให้รู้ ตามทันโลกการศึกษา EP.13 สรุปทิศทาง และมุมมองการศึกษาจาก World Economic forum 2023
สรุปให้รู้ ตามทันโลกการศึกษา
EP.13 สรุปทิศทาง และมุมมองการศึกษาจาก World Economic forum 2023
![EP.13 สรุปทิศทาง และมุมมองการศึกษาจาก World Economic forum 2023](/storage/upload/images/directions-educational-2023.jpg)
ผ่านเดือนแรกของปีกันมาแล้ว การศึกษาทั่วโลกยังคงพัฒนา และถูกขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม สถานการณ์ และบริบทที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีการใช้ชีวิต รวมไปถึงความเชื่อมโยงของภาคเศรษฐกิจ และความต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น
ในปี 2023 นี้ Word Economic Forum ได้สรุปบรรยายจาก Prof. Dr. Isabell m. Welpe ประธานฝ่ายกลยุทธ์และองค์กร และ Felix Rank นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคนิคแห่งมิวนิก เกี่ยวกับมุมมองการศึกษา ทักษะ และการเรียนรู้ที่จำเป็นของเด็กในยุคใหม่ไว้ 6 เรื่องหลัก ๆ ดังนี้
นวัตกรรมการศึกษา (Education Innovation)
วิกฤตที่ผ่านมาทำเอาโลกการศึกษาเปลี่ยนแปลงไปมากมาย โดยเฉพาะการนำนวัตกรรมมาทำให้การศึกษาไร้พรมแดนมากขึ้น ตั้งแต่การสร้างสื่อการสอน วิธีเผยแพร่เนื้อหา การประเมิน บริษัทผลิตสื่อการสอนหลายแห่งแปลงตำราเรียนให้เป็นดิจิทัล และสร้างเนื้อหาจากการเรียนรู้แบบ Interactive หลายที่ร่วมมือกันจัดทำ Massive Open Online Courses (MOOCs) ให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านออนไลน์มากขึ้น โดยคาดการณ์กันว่า ChatGPT Metaconomy และ web 3.0 จะเข้ามาพัฒนาโลกของการศึกษาให้ก้าวไกลขึ้นไปอีก
" แต่คุณคิดอย่างไร เมื่อนวัตกรรมการศึกษายังมีช่องโหว่ใหญ่ ๆ อยู่เมื่อโลกมันไม่เท่าเทียม ? "
ในการวิจัยชี้ให้เห็นถึงปัญหาการเข้าถึงเทคโนโลยีของเด็กในชุมชนที่เข้าถึงยาก หรือชนกลุ่มน้อย เด็กด้อยโอกาส และเด็กที่หลุดจากการศึกษาบางประเทศ แต่ในทางกลับกันก็มีอีกมุมที่ให้ความเห็นว่าการเรียนออนไลน์ทำให้ลดปัญหาความเท่าเทียมกันได้ เนื่องจากได้รับการเรียนการสอนในระดับเดียวกันหมด และกลุ่มเด็กเหล่านั้นก็สามารถเข้าถึงความรู้ได้ผ่านออนไลน์ แม้จะไม่มีครู หรือโรงเรียนเข้าไปสอนในพื้นที่
ดังนั้นในอนาคตปี 2023 นี้ผู้เชี่ยวชาญต่างลงความเห็นถึงการวางกลยุทธ์ และความร่วมมือของภาครัฐ และเอกชนในการขับเคลื่อนนวัตกรรม มุ่งเน้นไปที่การกำหนดเงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับหลักสูตรที่รองรับอนาคต นำนวัตกรรมเข้ามาปรับใช้กับหลักสูตร และวางงบประมาณอย่างเหมาะสมและทั่วถึง ที่เชื่อว่าจะเป็นการพลิกโอกาสทางการศึกษามากขึ้น
ทักษะด้านอารมณ์ (core soft skills)
ตามรายงานของ World Economic Forum ที่เผยแพร่ในปี 2563 มีการประมาณการไว้ว่าภายในปี 2568 ตำแหน่งงานกว่า 85 ล้านตำแหน่งอาจหายไปจากการแบ่งงานระหว่างมนุษย์ เครื่องจักร และอัลกอริทึม (AI) แต่ในขณะเดียวกันก็มีการคาดการณ์ว่าอาจมีงานอีก 97 ล้านตำแหน่งที่ปรับตัวได้
" โดยคีย์สำคัญของการปรับตัวคือทักษะด้านอารมณ์ (Soft skills) " ประกอบไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ความยืดหยุ่น การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน การคิดเชิงวิพากษ์ และการทำงานร่วมกัน ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำให้บุคคลนั้นปรับตัวเข้ากับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของตลาดงานได้ดี รวมถึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย
ผู้เชี่ยวชาญมองเห็นว่าทักษะด้านอารมณ์เหล่านี้ควรได้รับการพัฒนาทักษะตั้งแต่เนิ่น ๆ ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน แล้วจึงค่อยปรับปรุงไปอีกขั้นในระดับอุดมศึกษาเพื่อไล่ตามการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงนำมาต่อยอดไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่ทักษะเหล่านี้ไม่ใช่แค่มีก็เพียงพอ ในปี 2023 คุณครูต้องมีบทบาทในการสอนให้เด็กได้รู้จักประยุกต์ใช้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ และรัฐบาลควรมีการร่วมมือกับภาคธุรกิจ และองค์กรภาคประชาสังคมเพื่อนำข้อมูลเชิงลึกในตลาดแรงงานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในทิศทางการปรับหลักสูตรเพื่อให้ทันโลกมากขึ้น เมื่อโลกหมุนไปเร็วขึ้นทุกวันทักษะในวันนี้อาจไม่ใช่ทักษะในอีกหนึ่งปีข้างหน้าหากการเรียนยังคงเป็นแบบเดิมเท่ากับย้ำอยู่กับที่
คุณภาพการศึกษาที่ดี คือพื้นฐานที่ดี (Quality Basic Education)
ตามรายงานของยูเนสโกที่เผยแพร่ในปี 2020 มีไม่ถึง 10% จากทุกประเทศทั่วโลกที่มั่นใจได้ว่ามีกฎหมายที่รองรับว่าการศึกษาเข้าถึงอย่างเท่าเทียม โดย 40% ของประเทศที่ยากจนที่สุดแสดงข้อมูลให้เห็นแล้วว่าได้ล้มเหลวทางการศึกษาลงหลังจากต้องเจอโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนุภูมิภาคทะเลทรายซาฮารา ตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ และบางส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จากข้อมูลของยูนิเซฟ เด็กกว่า 175 ล้านคนทั่วโลกยังไม่ได้รับการศึกษาก่อนประถมศึกษา และความเหลื่อมล้ำในแง่ของการเข้าถึงยังคงสูงในกลุ่มผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาส พบว่าบางประเทศยังไม่มีความเท่าเทียมกันทางเพศอีกด้วยเด็กผู้หญิงก็ยังมีโอกาสน้อยกว่าเด็กผู้ชายที่จะเริ่มต้นการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา การศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นมาตรฐานที่ยูเนสโกพยายามผลักดันอย่างมากแต่อุปสรรคใหญ่ ๆ คือค่าใช้จ่าย จากการทบทวนเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติ (Precursors to the SDGs targeted to 2015) จะต้องใช้เงินเพิ่มอีก 22 พันล้านดอลลาร์ทุกปีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วโลก
ในปี 2030 ในปี 2023 ผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษาต่างเล็งเห็นว่านวัตกรรมทางการศึกษา และเทคโนโลยีอย่างการเรียนออนไลน์จะเข้ามามีบทบาทในการช่วยให้เด็กได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียม ผ่านการเรียนออนไลน์ที่ไร้พรมแดน และให้สำคัญถึงโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้นอย่างการฝึกอบรมครู สภาพแวดล้อมการเรียนที่ดี และปลอดภัย ไม่ใช่แค่ที่โรงเรียนเท่านั้น แต่ขยายออกไปถึงบ้านด้วย
" การเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานมากขึ้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความก้าวหน้า และการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก เพื่อลดช่องว่าง และความเหลื่อมล้ำของผู้คน
โอกาสที่เท่าเทียมกันในชีวิตจำเป็นต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน "
เสริมสร้างพื้นฐานเปิดเส้นทางการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning Pathways)
ในปี 2016 มีการคาดเฉลี่ยอายุของประชากรโลก (LE) อยู่ที่ 72.48 ปี หากนับแล้วเราเริ่มเข้ารับการศึกษาตั้งแต่อายุ 2 ขวบ (ระดับศพด.) และจบปริญญาตรีตอนอายุ 21-22 ปี เท่ากับเรียนรู้ไปเพียง 1 ใน 3 ของชีวิต แต่หากนับแค่การศึกษาขั้นพื้นฐานอย่าง ม.3 เท่ากับว่าเรียนเพียง 13 ปีเท่านั้น เมื่อเราหยุดเรียนรู้ไว้เพียงแค่อายุ 13-22 ปี และทำงานเดิม ๆ ไม่ได้ปรับตัวเข้ากับทักษะใหม่ ๆ คนเหล่านั้นตกงานเป็นจำนวนมากหลังจากพบเจอกับโควิด-19 การเข้ามาแทนที่ของเครื่องจักร และอัลกอริทึม (AI)
" การเรียนรู้แบบนี้คุณคิดว่ามันเพียงพอสำหรับใช้ชีวิตไปอีก 2 ส่วนที่เหลือและเข้าสู่วัยเกษียณอายุหรือไม่? "
ยกตัวอย่างในสังคมไทยที่กำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super Aged Society) มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ แต่การสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ร้อยละ 30 ของคนไทยก่อนที่จะเข้าสู่วัยเป็นผู้สูงอายุ ไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อการเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณค่า และคุณภาพ (Active Ageing) โดยเฉพาะในมิติด้านสุขภาพและความมั่นคงทางด้านรายได้ แบบนี้ปัญหามันเริ่มต้นจากอะไร ผิดที่คนไม่ยอมพัฒนาตนเอง หรือผิดที่กำหนดการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่านี้ แต่เพียงขั้นพื้นฐานเท่านี้ยังไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม แบบนี้คิดว่ามันเริ่มจากตรงไหนกันแน่ครับ
สำหรับคำตอบของคำถามในใจของนักการศึกษาทั่วโลกตอนนี้คือเริ่มต้นจากจุดเริ่มต้นของเรื่องราว คือการปรับปรุงการศึกษาให้เข้าถึงได้มากขึ้น และส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับทุกคน ไม่ใช่แค่ปัญหาในระดับโรงเรียน แต่รวมถึงผู้คนที่จบการศึกษาออกไปแล้ว เนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดลงทั่วโลก และจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งขัดแย้งกันอาจทำให้เกิดการหยุดชะงักของเศรษฐกิจได้ในอนาคตหากผู้คนยังไม่ปรับตัว
ผู้เชี่ยวชาญต่างพยายามผลักดันให้เด็กยุคใหม่ และทุกคนในปัจจุบันต้องมีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพิ่มมากขึ้นในทุกช่วงอายุ ทั้งใน และนอกโรงเรียน รวมถึงหลังจากสำเร็จการศึกษาอย่างเป็นทางการแล้ว เกือบ 84% ของผู้มีความสามารถทั่วโลกที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ได้รับการส่งเสริมทักษะสำคัญต่าง ๆ และการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านการศึกษาในปัจจุบัน แต่ตัวเลขกลับลดลงทันทีหากนับจากอายุ 25 ปีขึ้นไป มีผู้พร้อมปรับตัว และมีทักษะที่จำเป็นเพียง 45% เท่านั้น ระบบการศึกษาทั่วโลกยังคงให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ในระยะเริ่มต้นของชีวิต ปล่อยให้คนรุ่นก่อนๆ ความจำเลือนราง ทักษะจะลดลงเมื่อไม่ได้ใช้งาน ยิ่งในไทยหากอยากกลับเข้าสังคมการทำงานในช่วงอายุ 30-35 กลับหางานได้ยากขึ้นเมื่อบริษัทต่าง ๆ มองว่าการจ้างเด็กจบใหม่ หรืออายุประมาณ 25-28 ปี ค่าจ้างถูก และได้ผู้คนที่มีประสิทธิภาพมากกว่าคนที่หลุดออกจากระบบการทำงาน และพยายามกลับเข้ามาอีกครั้ง
ดังนั้นการให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมผู้ใหญ่ การช่วยให้พนักงานได้รับทักษะใหม่ ๆ อย่างตรงจุดทำให้ผู้คนรู้แนวโน้มที่ต้องปรับปรุงสมรรถนะของตนเอง และการเสริมทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นวิธีการสำคัญในการบรรเทาปัญหาการว่างงาน แก้ไขปัญหาการเข้าถึงทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกัน และทำให้ผู้สูงอายุเข้ามามีบทบาทในการปรับตัวเพิ่มมากขึ้น
ฝึกอบรมทักษะให้ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน (Relevant Continuing Education)
อย่างที่กล่าวมาด้านบนกับหัวข้อของการเรียนรู้ตลอดชีวิตว่าผู้คนมากมายพบเจอกับช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างทักษะที่ต้องการ กับทักษะที่แรงงานมีจริง ๆ ในโลกการทำงานปัจจุบัน เมื่อการศึกษาผลิตนักศึกษาที่พร้อมออกมาทำงานในสังคมเป็นรูปแบบสี่เหลี่ยมเป็นส่วนมาก แต่โลกการทำงานจริงกลับต้องการคนในรูปแบบวงกลมมากกว่า เมื่อมันไม่พอดีกันช่องวางจึงเกิดขึ้น อย่างที่เห็นได้จากกระแสในต่างประเทศที่พูดถึงคุณวุฒิการศึกษาว่าหากไม่มีก็ไม่เป็นไร ยินดีรับคนที่ทำงานได้จริงมากกว่ามีใบปริญญา หากมองจริง ๆ เหมือนเป็นเหรียญสองด้าน ใบปริญญาก็มีคุณค่าในมุมมองของมัน เมื่อเราไม่มีอะไรมาเป็นมาตรฐานได้ว่าคนนี้ดีกว่าอีกคนหนึ่งอย่างไร แต่คนที่ไม่มีคุณวุฒิการศึกษาแต่มีความสามารถจริง ๆ ก็มีมากมายเช่นกัน คุณคิดยังไงกับเรื่องนี้ เป็นผลมาจากการศึกษาที่ผลิตคนออกมาไม่ตรงกับทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการจริงหรือไม่?
รายงานที่เผยแพร่โดย Deloitte ประมาณการว่าตำแหน่งงาน 2.4 ล้านตำแหน่งในภาคการผลิตเพียงอย่างเดียวอาจยังคงว่างระหว่างปี 2018-2028 และมีกระทบต่อเศรษฐกิจถึง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ ตำแหน่งงานที่ว่างมากมาย แต่คนก็ตกงาน และว่างงานอยู่มากเช่นกัน หากไม่มีการปรับเปลี่ยนระบบการศึกษา และการฝึกอบรมที่เพียงพอ ช่องว่างนี้จะยิ่งแย่ลงเมื่อไม่มีคนเข้ามาทำงาน หากปรับไปใช้เครื่องจักรแทนจริง ๆ ทรัพยากรมนุษย์ที่เกิดขึ้นใหม่ก็จะเสียประโยชน์ไปแน่นอน
แนวโน้มการศึกษาในปี 2023 ผู้เชี่ยวชาญต่างลงความเห็นว่าการฝึกอบรมด้านเทคนิคและวิชาชีพมักถูกละเลยจากระบบการศึกษามากกว่าระบบการศึกษาสามัญทั่วไปราวกับเป็นพลเมืองชั้นสอง เป็นตัวเลือกที่รองลงมา ทั้งที่ในปัจจุบันผู้คนขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี สาขาการเรียนรู้ด้านเทคนิค หรือวิทยาลัยเทคนิคและวิชาชีพต่างๆ โดยเฉพาะเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ ๆ มีความสำคัญอย่างมากในอนาคต จำเป็นต้องหยิบยกเรื่องนี้มาพัฒนาให้เหมาะสม และลดช่องว่างทางเพศลงในสาขาวิชาเหล่านี้เพื่อรองรับตลาดแรงงานมากขึ้น
ความรู้ทางด้านดิจิทัล และทักษะ STEM (Digital Fluency and STEM Skills)
ในโลกที่เราต้องอยู่แต่บ้านในช่วงโควิด-19 ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหากเราไม่มีเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาช่วยในการใช้ชีวิต และสู้กับโรค เราอาจจะไม่อยู่รอดมาถึงวันนี้ เด็ก ๆ ในระบบการศึกษาอาจเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยกว่า 2 ปี เพราะการหยุดชะงักของการเรียนรู้ ดังนั้นทักษะด้านดิจิทัลจึงมีบทบาทสำคัญกับการศึกษายุคใหม่ที่ไร้พรมแดนมาก และการที่จะพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลนี้ต้องการทักษะด้าน STEM เข้ามาประกอบด้วย
ในปี 2023 เหล่าองค์กรการศึกษา และรัฐบาลต่างต้องการผลักดันให้นักเรียนพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลและวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) ตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อเพิ่มความคล่องแคล่วทางพื้นฐานด้านดิจิทัลที่เด็กศตวรรษที่ 21 ทุกคนต้องมี
ตามการคาดการณ์ของกระทรวงแรงงานสหรัฐ อาชีพที่เติบโตเร็วที่สุด 20 อาชีพในช่วงระหว่างปี 2016-2026 จะต้องมีความรู้พื้นฐานและทักษะที่เกี่ยวข้องด้านดิจิทัล และ STEM ในการประกอบวิชาชีพ นอกจากนี้ European Centre for the Development of Vocational Training (Cedefop) ยังได้ประเมินว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นถึง 11% ภายในสหภาพยุโรปสำหรับสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารระหว่างปี 2020-2030 อีกด้วย เมื่อพิจารณาการเตรียมพร้อมที่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวมาหากทำได้จริงทั้ง 6 หลักโดยเฉพาะการผลักดันให้เกิดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ทั่วถึงทุกภาคส่วน นวัตกรรมการศึกษาที่เข้ามาช่วยส่งเสริมทักษะดิจิทัลให้มากขึ้น การผลักดันให้การฝึกทักษะที่เหมาะสมกับการต้องการของตลาดแรงงานประกอบกับส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต เชื่อได้ว่าจะทำให้ช่องว่างการศึกษาลดลง ทักษะดิจิทัล และ STEM จะเข้าถึงได้ทุกกลุ่มทางเศรษฐกิจและสังคม เด็กผู้หญิงและผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นเมื่อช่องว่างทางเพศ และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเริ่มหายไป
ในยุคที่อนาคตข้างหน้าไม่ได้พูดถึงแค่เรื่องโลกของเรา แต่พูดถึงโลกเสมือนที่เกิดขึ้นจริง หรือการทดลองใช้ชีวิตให้อยู่รอดบนดาวอังคาร การออกไปท่องเที่ยวอวกาศ และกลับมาบนโลกทำได้จริงแล้วด้วยความรู้ และการศึกษาในปัจจุบัน ทั้ง 6 หลักที่ผู้เชี่ยวชาญสรุปออกมาในรายงานฉบับนี้ทำให้เราเห็นภาพชัดมากขึ้นถึงแนวทางการศึกษาในอนาคต และนำไปใช้ประโยชน์กับการเสริมทักษะที่จำเป็นสำหรับนักเรียนยุคใหม่ของคุณได้ เพื่อขับเคลื่อนมนุษยชาติต่อไป คุณคิดว่ามีอะไรที่การศึกษาต้องพัฒนามากกว่า 6 หลักนี้บ้าง ลองจินตนาการแล้วคิดภาพการศึกษาในความคิดของคุณ เมื่อได้คำตอบแล้ว นำมาปรับใช้ แลกเปลี่ยนในห้องเรียนของคุณครูกันครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก
เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท. Active Learning อื่น ๆ ได้ที่ >>> คลิก <<<
เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่น ๆ ได้ที่ >>> คลิก <<<
บทความที่เกี่ยวข้อง