สรุปให้รู้ตามทันโลกอนาคตการศึกษา EP.36
สรุปให้รู้ตามทันโลกอนาคตการศึกษา EP.36
เข็มทิศการศึกษากับสิ่งที่ครูควรสอน เพื่อเตรียมพร้อมสู่ความท้าทายในปี 2030
เวลาผ่านไปทุกวัน อนาคตที่คาดการณ์ไว้ต่าง ๆ กำลังก่อเกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้น ทั้งจริงและไม่จริงตามการคาดเดา ในยุคสมัยที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ ความไม่แน่นอนของอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่อาจมีใครกำหนดได้ แต่สิ่งที่คุณครูสามารถทำได้ในตอนนี้เพื่ออนาคตการศึกษาคือเตรียมความพร้อมให้เด็ก ๆ ปรับตัวให้เข้ากับกระแสสังคมต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น การศึกษาทั่วโลกควรพัฒนาให้ครอบคลุมทั้งความรู้ ทักษะ และทัศนคติ ที่จะเป็นตัวชี้นำพวกเขาไปสู่อนาคตที่ดีได้
แต่หากพูดว่าการศึกษาต้องพัฒนาเพื่ออนาคต แล้วอะไรคือกรอบที่คุณครูควรยึดถือนำมาเป็นพื้นฐานในการปรับปรุงและพัฒนาทักษะต่าง ๆ ของเด็ก?
วันนี้อัตนัยพามาดูเข็มทิศการศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OEDC) ได้จัดทำโครงการอนาคตการศึกษาและทักษะ 2030 (The OECD Compass 2030) [1] ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างตัวแทนของรัฐบาล ผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการ ผู้นำโรงเรียน ครู นักเรียน และพันธมิตรทางสังคมที่มีความสนใจอย่างแท้จริงในการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในระบบการศึกษาจากทั่วโลก เป็นแนวทางที่นักเรียนในอนาคตควรจะมี ดังนี้
-
นักเรียนในอนาคตจะต้องเป็นผู้นำการเรียนรู้ของตนเองได้ แม้ว่าจะอยู่ในบริบทที่ไม่คุ้นเคย สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองนอกเหนือจากคำชี้แนะของคุณครู เรียนรู้อิทธิพลของผู้คน เหตุการณ์ และสถานการณ์รอบตัวของตนเองได้
-
ต้องมีรากฐานหลักของการศึกษาที่ดี คือ ความรู้พื้นฐาน ทักษะ ทัศนคติ และค่านิยม ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ ไม่จำกัดแค่การอ่านออกเขียนได้หรือการคำนวณ แต่ยังรวมถึงทักษะด้านดิจิทัล การดูแลสุขภาพกายและใจ ทักษะทางสังคมและอารมณ์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเจริญเติบโตในศตวรรษที่ 21 นำไปสู่ความสามารถในการรับมือกับความท้าทายในอนาคต
-
สามารถรับมือกับความซับซ้อนและความไม่แน่นอนของโลก สามารถพัฒนามุมมองของตนเองและเรียนรู้วิธีที่จะมีส่วนร่วมสร้างโลกที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างคุณค่าใหม่ ๆ สามารถรับผิดชอบและจัดการกับความขัดแย้งหรือปัญหาต่าง ๆ ได้ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้นักเรียนเติบโตและสร้างอนาคตที่ดี
-
มีทักษะการคาดการณ์ ลงมือทำ และการไตร่ตรองที่ดี ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยให้นักเรียนพัฒนาการคิด ขยายมุมมองและเข้าใจของตนเองได้ เพื่อการลงมือทำที่ดีและมีความรับผิดชอบ เป็นทักษะต่อยอดมาจากความสามารถในการปรับตัว พร้อมกับการปรับปรุงวิธีคิดใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง
การจะได้มาซึ่งนักเรียนที่มีครบทั้ง 4 ข้อด้านบน ควรต้องเสริม 3 ทักษะ[2] สำคัญหลัก ๆ ดังนี้
-
ทักษะทางปัญญาและทักษะอภิปัญญา (Cognitive and Meta-cognitive skills)
โดยเน้นยำไปที่การคิดอย่างมีวิจารณญาณ ความคิดสร้างสรรค์ การเรียนรู้เพื่อความรู้ใหม่ และการควบคุมตนเอง เป็นทักษะที่จะทำให้นักเรียนได้ปรับตัวและใช้ความรู้ในบริบทต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีและข้อมูลมีบทบาทสำคัญ ทักษะเหล่านี้นอกจากช่วยให้ตระหนักถึงค่านิยมและทัศนคติของตนเองแล้วยังช่วยพัฒนาความสามารถในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน ช่วยให้นักเรียนประเมินทางเลือกและผลลัพธ์จากการกระทำ นำไปสู่ความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้ทั้งในชีวิตส่วนตัวและปฏิบัติตามมาตรการของสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
-
ทักษะทางสังคมและอารมณ์ (Social and Emotional skills)
เป็นความสามารถในการแสดงออกทางความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมที่สอดคล้องกัน เช่น ความเห็นอกเห็นใจ การรับรู้ถึงความสามารถของตนเอง ความรับผิดชอบ และการทำงานร่วมกัน ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีทั้งในครอบครัว ที่ทำงาน และชุมชน ช่วยให้นักเรียนสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นในสังคมที่เต็มไปด้วยความท้าทายและความหลากหลายในโลกที่เชื่อมโยงกันได้อย่างไร้พรมแดนผ่านทางเทคโนโลยีอย่างในปัจจุบัน การพัฒนาทักษะทางสังคมและอารมณ์ยังช่วยให้เรื่องของทักษะพลเมืองที่ดีและสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
-
ทักษะการปฏิบัติและกายภาพ (Practical and Physical skills) เช่น
- การใช้เครื่องมือและเทคโนโลยี (Use of Tools and Technology) การใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีใหม่ๆ ในชีวิตประจำวัน
- การใช้ทักษะทางศิลปะ งานฝีมือ กีฬา และการดำเนินชีวิต (Artistic, Craft, and Physical Skills)
- การดูแลรักษาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (Health and Environmental Maintenance) ดูแลร่างกาย การรักษาความสะอาด และการเตรียมอาหาร
ทักษะทางกายภาพถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการต่อยอดทักษะอื่น ๆ ได้ เช่น การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมดนตรีและศิลปะ เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมกระบวนการรับรู้และการคิดเชิงอภิปัญญา นอกจากนี้การพัฒนาทักษะทางกายภาพและการออกกำลังกายยังมีผลโดยตรงต่อสุขภาพกายและจิตใจของนักเรียน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความเป็นอยู่ที่ดีและการพัฒนาอย่างยั่งยืน การวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าการฝึกฝนทักษะการเคลื่อนไหวขั้นพื้นฐานในวัยเด็กสามารถทำนายประสิทธิภาพการรับรู้และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้อย่างชัดเจนเมื่อเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาระดับสูงขึ้น และการออกกำลังกายยังส่งผลดีต่อการพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้และการตัดสินใจในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้การวิจัยทางระบบประสาทยังแสดงให้เห็นว่าการออกกำลังกายช่วยเสริมสร้างการทำงานของสมองที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการทำงานของระบบมอเตอร์และการคิดอย่างมีวิจารณญาณอีกด้วย
ในฐานะที่คุณครูมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการศึกษา คำถามที่นำไปต่อยอดได้หลังจากรับรู้แนวทางทักษะที่เด็กควรมีแล้วคือ "เราจะสามารถปรับการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการพัฒนาทักษะเหล่านี้ได้อย่างไร" และ "เราจะสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนพัฒนาความสามารถเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ได้อย่างไร" หากคุณครูตอบคำถามเหล่านี้ได้ไม่เพียงแต่ช่วยพัฒนาการศึกษาไทยในด้านความรู้และทักษะ แต่ยังช่วยเตรียมความพร้อมให้พวกเขาเผชิญกับอนาคตอย่างมั่นใจและมีความสามารถในการสร้างโลกที่ดีขึ้นในวันข้างหน้า
เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท. Active Learning อื่น ๆ ได้ที่ >>> คลิก <<<
เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่น ๆ ได้ที่ >>> คลิก <<<
บทความที่เกี่ยวข้อง