108 เทคนิคการสอน LD (Learning Disabilities) ครบด้านการอ่าน เขียน คำนวณ
108 เทคนิคการสอน LD (Learning Disabilities)
ครบด้านการอ่าน เขียน คำนวณ
![ภาพปกบทความเรื่องการบูลลี่ในโรงเรียน ประเด็นสำคัญที่สังคมไม่ควรมองข้าม](/storage/upload/images/2023/108-เทคนิค-การสอนเด็ก-LD-1200x628.jpg)
จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2560 พบว่าเด็กที่มีความพิการในวัย 2-17 ปี 136,562 คน (11%) ซึ่งแบ่งเป็นเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ LD ถึง 70,212 คน หรือคิดเป็น 0.5% ของจำนวนเด็กที่มีความพิการประเภทต่าง ๆในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนไม่น้อย และสาเหตุหลักที่มีเด็ก LD จำนวนมาก เนื่องจากการขาดความรู้ ความเข้าใจที่ดีจากผู้ปกครอง ครู และโรงเรียน นอกจากนั้นยังพบว่าไม่มีระบบคัดกรองรวมถึงขาดครูที่คอยดูแลเด็ก ทั้งที่เด็ก LD หลายคนมีความเป็นอัจฉริยะอยู่ในตัวเอง และยังเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพในอนาคต ถ้าเด็ก ๆ เหล่านี้ได้รับการพัฒนาที่ตรงจุด และเหมาะสม
![สถิติจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเกี่ยวกับเด็ก LD ในไทย](/storage/upload/images/2023/108-เทคนิค-01.jpg)
เข้าใจเด็ก LD
LD (Learning Disabilities) คือ เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ หลัก ๆ มีอยู่ 3 ด้านด้วยกัน คือ ด้านการอ่าน การเขียน และการคำนวณ หรือสามารถเป็นได้มากกว่า 1 อาการ...ซึ่งเด็ก LD จะเหมือนเด็กปกติทั่วไปมาก แต่เมื่อเข้าเรียนจะเห็นชัดว่าเด็ก LD จะเบื่อการอ่าน อ่านหนังสือไม่เข้าใจ อ่านแบบตะกุกตะกัก และวิชาที่เป็นปัญหาสำหรับเด็ก LD มาก ๆ คือ คณิตศาสตร์ เนื่องจากเด็กอ่านไม่ออก จับใจความไม่ได้ทำให้ตีโจทย์ไม่เป็น ซึ่งกระบวนการที่จะทำให้ทราบได้ว่าเด็กเป็น LD หรือไม่นั้นต้องอาศัยความร่วมมือ และความรู้ความเข้าใจเพื่อคัดกรอง และประเมินเด็ก LD ตั้งแต่ระดับครอบครัว โรงเรียน ร่วมไปถึงผู้เชี่ยวชาญที่จะมาช่วยเหลือเด็ก LD เป็นรายบุคคล
สังเกตเด็กเสี่ยง LD แต่ละช่วงวัย
1. เด็ก LD ที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี
ที่พบว่ามีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) มักจะถูกระบุว่าเป็นเด็กที่มีความล่าช้าทางพัฒนาการ (Developmental Delay) หรือ เป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง (Children at Risk) และควรได้รับการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม เมื่อพบว่าเด็กมีพฤติกรรมเสี่ยงทันที (อ้างอิงพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545)
![การมองเห็นตัวอักษรของเด็กLD](/storage/upload/images/2023/108-เทคนิค-02.jpg)
2. เด็ก LD ระดับประถมศึกษา
จะพบว่าเด็กในระดับนี้มีความเสี่ยง LD มากที่สุด เนื่องจากเข้าโรงเรียน และเริ่มเรียนรู้ทางวิชาการ เช่น การอ่าน การเขียน และการคำนวณทางคณิตศาสตร์ นอกจากนี้สามารถเจอพฤติกรรมที่เกี่ยวกับทักษะการเคลื่อนไหวที่ล่าช้าไม่สมวัย เช่น การจับดินสอ ลายมืออ่านยาก มีความลำบากในการอ่าน เขียน การคิดคำนวณ หรืออาจมีปัญหาด้านอารมณ์ร่วมด้วย
3. เด็ก LD ระดับมัธยมศึกษา
เด็กวัยนี้เริ่มมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคตของตัวเอง นอกจากปัญหาด้านการเรียนรู้ทางวิชาการที่มีอย่างต่อเนื่องจากวัยประถมศึกษาแล้ว ยังมีปัญหาในเรื่องของอารมณ์ และสังคม การมองเห็นคุณค่าของตนเองอีกด้วย
กระบวนการคัดกรองเด็ก LD สำคัญอย่างไร
“ป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ไขเสมอ ไม่ต้องรอให้เด็กเสี่ยง หรือเป็น LD แล้วช่วยเหลือ แต่เราสามารถลงมือช่วยเหลือได้เลย เพราะบางครั้งเด็ก ๆ อาจจะเสียโอกาสที่จะพัฒนาตัวเอง และมีชีวิตที่ดีเพียงเพราะเราช่วยเหลือพวกเขาช้าไป” บางส่วนจากงานอบรมออนไลน์ ของ รศ.ดร.ดารณี ศักดิ์ศิริผล รักษาการหัวหน้าศูนย์พัฒนาศักยภาพมนุษย์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่ได้พูดถึงความสำคัญของการคัดกรองเด็กเสี่ยง หรือเด็กที่เป็น LD ว่าไม่จำเป็นต้องรอเมื่อเราสังเกตพฤติกรรมและคิดว่าเด็กมีความผิดปกติด้านใดด้านหนึ่งก็ควรที่จะช่วยเหลือทันที ซึ่งสามารถทำได้โดยคัดกรอง ซึ่งสามารถทำได้จากการคัดกรอง...
1. การคัดแยก / คัดกรองเด็ก LD แบบไม่เป็นทางการ
โดยใช้วิธีสังเกตพฤติกรรมการเรียน เช่น การทำตามคำสั่ง การใช้คำพูดของเด็ก ระดับความสามารถด้านการอ่าน การเขียนตามคำบอก การนับเลข ความเข้าใจเรื่องจำนวนตัวเลข การบอกขนาดสิ่งของ การบอกความแตกต่างของรูปทรง ฯลฯ โดยต้องใช้ผู้สังเกตประมาณ 2-3 คน เพื่อบันทึกพฤติกรรม และตัดสินใจร่วมกันว่าเด็กแต่ละคนมีปัญหาอะไรบ้าง แล้วนำข้อมูลเหล่านี้มาประเมิน และคัดแยกประเภทของเด็กต่อไป
2. การคัดแยก / คัดกรองเด็ก LD แบบเป็นทางการ แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ
2.1. การวัดระดับสติปัญญา : The Color Progressive Matrices : CPM
สำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี ใช้เวลาในการทดสอบประมาณ 20-30 นาที ในแต่ละชุดประกอบด้วยแบบทดสอบย่อย 12 ข้อ รวมจำนวนแบบทดสอบทั้งหมด 36 ข้อ การแปลผลจะแสดงระดับเชาวน์ปัญญาเป็นค่า IQ และ เปอร์เซ็นไทล์ ซึ่งในปัจจุบันแบบทดสอบ CPM มีเกณฑ์มาตรฐานสำหรับเด็กไทยที่แยกตามอายุ เพศ และระดับการศึกษาที่พัฒนาโดยนักจิตวิทยา และนักศึกษาจิตวิทยาคลินิกของภาควิชาจิตเวชศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
2.2. วัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน : Wild Range Achievement Test (WRAT)
เป็นแบบทดสอบมาตรฐานที่ใช้ในการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่นิยมใช้กันมาก โดยประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 3 ด้าน คือ ด้านการอ่าน ด้านการเขียน และด้านคณิตศาสตร์ แล้วนำคะแนนที่ได้มาเปรียบเทียบกับเกณฑ์ปกติ (โดยทั่วไปเด็ก LD มักมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่าชั้นที่ตนเรียนประมาณ 2 ปี)
2.3. ทดสอบความจำ และการเรียนรู้ : Wild Range Assessment of Memory and Learning, Second Edition : WRAML2
เป็นแบบทดสอบมาตรฐานที่มีเกณฑ์มาตรฐานในแต่ละช่วงอายุ ประกอบด้วย 3 แบบทดสอบหลัก 6 แบบทดสอบย่อยที่ใช้ประเมินความจำ
2.4. แบบคัดกรองความบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD)
- แบบคัดแยกความบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) ของศาสตราจารย์ศรียา นิยมธรรม ซึ่งพัฒนามาจากเครื่องมือของ McCarthy สำหรับเด็กที่มีอายุระหว่าง 4-6 ปีครึ่ง เป็นการทดสอบรายบุคคล ใช้วัดความสามารถของเด็ก 6 ด้าน ได้แก่ การรู้จักซ้ายขวา การจำคำ การวาดรูปทรง การจำตัวเลข การจัดหมวดหมู่ และการใช้ขา
- แบบสำรวจเด็กที่มีปัญหาในการเรียนรู้ ของศาสตราจารย์ ดร. ผดุง อารยะวิญญู สำหรับเด็กอายุ 6-12 ปี มีครูผู้สอนเป็นผู้ประเมินเด็กแต่ละคน โดยใช้การสังเกตเด็กติดต่อกันเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือน แบบสำรวจนี้ใช้เพื่อสำรวจปัญหาของเด็ก 5 ด้านใหญ่ ๆ ได้แก่ ด้านภาษา ด้านคณิตศาสตร์ ด้านเวลา ทิศทาง ด้านการเคลื่อนไหว และด้านพฤติกรรม
เทคนิคการสอนเพื่อช่วยเหลือ พัฒนาเด็ก LD อย่างเป็นกระบวนการ
หลังจากคัดกรองเบื้องต้นแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การประเมินเด็กว่าพวกเขามีความบกพร่องด้านใดเป็นพิเศษ ซึ่งต้องอาศัยการประเมิน และส่งต่อให้คุณหมอ และผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้วินิจฉัยความบกพร่องของเด็กอีกครั้ง และเมื่อทราบว่าเด็กมีความบกพร่องด้านใดแล้ว สิ่งที่ต้องทำ คือ การวางแผนร่วมกันระหว่างผู้ปกครอง โรงเรียน และคุณหมอ แล้วร่วมกันทำแผน IEP และ IIP สำหรับการสอนของเด็กแต่ละคน เพื่อช่วยเหลือเด็ก LD ได้อย่างตรงจุด
ซึ่งเทคนิค หรือการจัดกิจกรรมเฉพาะสำหรับเด็ก LD คล้ายกับการสอนเด็กทั่วไป แค่ครูควรเพิ่มเติมการสอน เทคนิค หรือวิธีการใช้สื่อ และอุปกรณ์ที่ผ่านประสาทสัมผัสหลายทางทั้งด้านการมองเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การประสานสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อมือ และตา ฝึกการจัดหมวดหมู่ การจำแนก การเรียงลำดับ มีการใช้คำสั่งที่ง่าย และชัดเจน จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น โดยเริ่มจากเทคนิคการเตรียมความพร้อมก่อนการเรียนรู้ หลังจากนั้นก็เข้าเรื่องเนื้อหาการสอนตามแผนที่วางไว้
*เทคนิคการสอนสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องด้านการอ่าน
เริ่มตั้งแต่การฝึกแยกเสียงพยัญชนะ อาจจะใช้กิจกรรม หรือแบบฝึกหัดเสริมที่เน้นการสอนไปกับรูปภาพเพื่อให้เด็กจดจำได้เร็วขึ้น
- ฝึกเชื่อมเสียงตัวอักษรและประสมคำ โดยเริ่มจากจากการนำพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์มาประสมกันแล้วฝึกอ่านแบบแจกลูกสะกดคำ
- ฝึกการแจกลูกสะกดคำในมาตราแม่ ก กา ที่ง่ายที่สุดก่อน เช่น กา สะกดว่า กอ – อา – กา ใช้เทคนิคจำด้วยภาพมาเสริมการสอนจะช่วยให้เด็กสนุกกับการแจกลูกสะกดคำมากขึ้น นอกจากนั้นอาจจะต้องให้เด็ก ๆ อ่านสะกดคำ แล้วเขียนคำพร้อม ๆ กัน หลังจากนั้นให้เด็กลองแจกลูกสะกดคำ แบบเทียบเสียง คือ นำรูปคำมาแจกลูกโดยการเปลี่ยนพยัญชนะต้น หรือพยัญชนะท้าย เช่น เมื่อจำคำว่า บ้านได้แล้ว ก็ให้ลองหาพยัญชนะอื่นมาเปลี่ยน "บ" บ้าง เช่น ก้าน ป้าน ร้าน ล้าน ค้าน เป็นต้น
- สอนคำศัพท์ และทบทวนความเข้าใจด้านภาษา โดยให้เด็ก ๆ ลองอ่านคำศัพท์ไปพร้อมกับภาพ แล้วค่อย ๆ อธิบายความหมายของคำ หรือยกตัวอย่างจากสิ่งรอบตัวเด็ก ก็จะช่วยให้พวกเขาสนุกกับการอ่าน และจดจำได้ดีขึ้น
เทคนิคที่ 1 Advanced Organizer
เป็นเทคนิคที่ให้เด็กได้คิดก่อนอ่าน หรือคาดเดาก่อนอ่านเนื้อเรื่อง เพื่อให้เด็กมีเป้าหมายในการอ่านอยู่ในใจก่อน โดยพัฒนามาจากทฤษฎี Meaningful Verbal Learning ซึ่งเป็นวิธีการสอนที่มีผู้วิจัยนำมาใช้สอนกับเด็ก LD (อัญชลี ชื่นชัยมงคล, 2556) โดยมีขั้นตอนทั้งหมด 6 ขั้นตอนดังนี้
- ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน : สนทนา และตั้งคำถามเพื่อทบทวนความรู้ และประสบการณ์เดิมของเด็ก เพราะจะช่วยให้เราสามารถทราบพื้นฐานของเด็กแต่ละคนว่าต้องสอนเนื้อหาในระดับไหน
- ขั้นสอน : จัดกิจกรรมการสอน โดยเน้นให้เด็กแสดงความคิดเห็นจากหัวข้อที่เรียน หรือในกรณีถ้าพวกเขาไม่สามารถตอบได้ทันที เราสามารถช่วยเด็ก ๆ เขียนบนกระดาษ หรืออาจจะนำสื่อที่เป็นรูปภาพ หรือภาพเคลื่อนไหว เพื่อช่วยให้เด็กวิเคราะห์เชื่อมโยงกับความรู้เดิมเพื่อหาคำตอบไปสู่ความรู้ใหม่ ซึ่งในขณะที่สอนเด็ก ๆ สามารถตั้งคำถามเป็นระยะ เพื่อกระตุ้นให้เด็กแสดงความคิดเห็น
- ขั้นการอ่านจับใจความแบบผ่าน ๆ : ครูแจกบทความให้เด็กอ่านแบบคร่าว ๆ 1 รอบก่อน เพื่อให้เด็กเกิดความเข้าใจ
- ขั้นการอ่านจับใจความอย่างละเอียด : ให้เด็กอ่านจับใจความอย่างละเอียดอีก 1 รอบเพื่อให้เด็กตรวจคำตอบ
- ขั้นตรวจสอบความเข้าใจ : หลังจากนั้นลองเขียนในสิ่งที่มี และไม่มีอยู่ในบทความปนกันไป แล้วให้เด็กช่วยกันตรวจสอบคำตอบว่ามีอยู่ในบทความหรือไม่ ซึ่งครูสามารถอธิบายให้เด็กเชื่อมโยงข้อมูลใหม่ได้ในขั้นตอนนี้
- ขั้นบูรณาการ : เปิดโอกาสให้เด็กซักถามข้อสงสัยที่มีในบทเรียน แล้วทำแบบฝึกหัดให้เด็กสรุปเป็นแผนผังความคิด หลังจากนั้นตรวจสอบความถูกต้อง และให้เด็กอ่านจับใจความอีกครั้ง เป็นการฝึกให้พวกเขาเกิดการจดจำได้ในระยะยาว และคงทนขึ้น
![เทคนิคการสอนเล่าเรื่องประกอบภาพของเด็กLD](/storage/upload/images/2023/108-เทคนิค-03.jpg)
เทคนิคที่ 2 การเล่าเรื่องประกอบภาพ
จะช่วยให้เด็กอ่านคล่อง จำง่าย และจำได้ยาวนานขึ้น ด้วยการสอนให้เด็กจดจำพยัญชนะบางตัวที่เป็นปัญหาในการจำของพวกเขา นอกจากจะสอนให้เด็กดูจากรูปภาพ และสัญลักษณ์ตัวอักษรแล้ว การเล่าเรื่องก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถนำมาใช้ในการสอนเพื่อส่งเสริมการจดจำได้
![เทคนิคการใช้เพลงสอนเด็กLD](/storage/upload/images/2023/108-เทคนิค-04.jpg)
เทคนิคที่ 3 การใช้เพลง
โดยเฉพาะเพลงที่มีเนื้อหาตรงกับเนื้อเรื่องที่เราจะสอนจะช่วยให้เด็ก Dyslexia จดจำได้ดี และยาวนานขึ้น นอกจากนั้นการเพิ่มท่าทางประกอบเพลงยิ่งทำให้เด็ก ๆ สามารถจดจำเนื้อหาในการสอนได้ง่ายกว่าเดิม
![เทคนิคใช้บทกลอนสอนเด็กLD](/storage/upload/images/2023/108-เทคนิค-05.jpg)
เทคนิคที่ 4 การใช้บทกลอน
ต้องเป็นบทกลอนที่ไม่ยาวมากเพื่อให้พวกเขาจดจำง่ายขึ้น หรือการใช้คำสัมผัส และมีรูปภาพประกอบก็ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี
*เทคนิคการสอนสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเขียน
- ฝึกเขียนคำที่เด็กมักเขียนผิดบ่อย ๆ ซึ่งเราสามารถคัดกรองว่าเด็กคนไหนชอบเขียนคำไหนผิดบ่อย ๆ ได้จากกิจกรรมหรือแบบฝึกหัด
- สอนให้เด็กวางแผนการเขียนและตรวจทานก่อนทุกครั้ง
เช่น การเขียนพยัญชนะไทย 1 ตัว อาจให้เด็กลองวางแผนดูว่าเขาควรเริ่มลากเส้นพยัญชนะตัวนี้จากส่วนไหนก่อนเพราะอะไร หลังจากนั้นก็เริ่มแนะนำวิธีการเขียนพยัญชนะไทยที่ถูกต้องไปทีละ1-3 ตัวในแต่ละครั้ง หรืออาจจะเพิ่มเติมจุดเริ่มต้น และจุดจบเป็นสี เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำของเขา
เทคนิคที่ 1 Color Code
ให้สีนำสายตาสร้างการจดจำการเขียนพยัญชนะไทยให้ถูกต้อง โดยกำหนดจุดเขียวเป็นจุดเริ่มต้น และจุดสีแดงเป็นจุดจบ ใช้เทคนิคนี้ช่วยสร้างการจดจำให้เด็กได้ไว และถูกต้อง
เทคนิคที่ 2 ความคิดแรก First Though
เป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่ดีเพื่อพัฒนาการเขียน โดยใช้รูปภาพเป็นสื่อ วิธีการ คือ ให้เด็กดูรูปภาพที่เราเตรียมไว้ หลังจากนั้นให้พวกเขาเขียนคำจากความคิดแรกที่เห็น นอกจากเป็นการฝึกให้พวกเขาย่อยความคิดในสมองของตัวเองอย่างเป็นระบบแล้ว ยังช่วยให้เราเห็นพฤติกรรม และหลักการคิดของเด็กแต่ละคนเพื่อใช้ในการปรับพฤติกรรมอีกด้วย
เทคนิคที่ 3 เทคนิคการสอนเขียนของฮอร์น (1) หรือ Horn Method
ซึ่งเทคนิคนี้จะเน้นการตรวจสอบเด็กเป็นระยะ ๆ มีทั้งหมด 6 ขั้นตอนที่สามารถใช้สอนเขียนเด็ก LD ได้ไม่ยาก
ขั้นที่ 1 : ดูคำ และพูดกับตัวเอง : ใช้บัตรภาพแล้วอ่าน หรือพูดให้เด็กฟัง หลังจากนั้นให้พวกเขาพูด หรืออ่านคำที่ได้ยิน (วิธีการนี้เด็กจะเหมือนกับการพูดกับตัวเอง พวกเขาจะใช้การเห็น และการได้ยินในการรับรู้ และจดจำ)
ขั้นที่ 2 : หลับตา และนึกถึงคำในหมวดเดิม : แล้วให้เด็กอ่าน หลังจากนั้นให้พวกเขาหลับตา และนึกถึงคำนั้นว่ามีตัวอักษรอะไรบ้าง มีจำนวนกี่ตัว และแต่ละตัวอยู่ในตำแหน่งใดบ้าง
ขั้นที่ 3 : ตรวจสอบครั้งที่ 1 : หลังจากนั้นให้เด็กลืมตา และเขียนคำที่กำหนดว่ามีอักษรอะไรบ้าง มีจำนวนกี่ตัว และแต่ละตัวอยู่ในตำแหน่งใดบ้าง (ถ้าเด็กเขียนถูกต้องให้ไปทำขั้นต่อไปได้เลย แต่ถ้าเด็กเขียนผิดให้กลับไปเริ่มในขั้นตอนที่ 1 ใหม่อีกครั้ง)
ขั้นที่ 4 : ปิดคำ และฝึกเขียน : ให้เด็กเขียนคำหมวดเดิม โดยการปิดคำที่กำหนดไม่ให้เด็กเห็น หลังจากนั้นให้พวกเขาเขียนคำลงบนกระดาษ สมุด ฯลฯ
ขั้นที่ 5 : ตรวจสอบครั้งที่ 2 : หลังจากเด็กเขียนคำเสร็จแล้ว ลองเปิดคำที่ปิดไว้ให้เด็กตรวจสอบความถูกต้องจากสิ่งที่ตัวเองเขียน (ถ้าพวกเขาเขียนถูกต้องให้ไปทำขั้นต่อไปได้เลย แต่ถ้าเด็กเขียนผิดให้กลับไปเริ่มในขั้นตอนที่ 1 ใหม่อีกครั้ง)
ขั้นที่ 6 : ปฏิบัติซ้ำในขั้นที่ 4 และ5 : ให้เด็กกลับไปฝึกซ้ำอีก 2 ครั้ง ตั้งแต่ขั้นตอนที่ 4 ถึงขั้นตอนที่ 5 เพื่อให้เด็กจดจำได้อย่างแม่นยำ
หรือสามารถจัดกิจกรรมให้เด็ก LD สนุกกับการเขียนมากขึ้น เช่น กิจกรรมพยัญชนะที่หายไป
อุปกรณ์ที่เราต้องเตรียม คือ- กระดาษลังหรือกระดาษที่มีความหนา (เอาไว้ใช้เขียนตัวแม่แบบพยัญชนะ)
- สีเทียน สีไม้ ดินสอ
- กระดาษขาว
- นำกระดาษลังหรือกระดาษที่มีความหนาหน่อยนะคะ และใช้ท้ายดินสอเขียนแบบพยัญชนะไทยลงไป
- หลังจากนั้นเตรียมกระดาษขาว 1 แผ่น แล้วเขียนพยัญชนะไทย และเว้นพยัญชนะที่เราต้องการให้เด็กไว้สัก 2-3 ตัว เช่น ก ข ....... ค ต ฆ ......ง
- นำกระดาษที่เขียนพยัญชนะออกมาให้เด็กลองเขียนไปพร้อมกันหลังจากนั้นลองถามเด็ก ๆ ว่าพยัญชนะที่หายไปเป็นพยัญชนะตัวไหน
- เมื่อพวกเขารู้แล้วว่าพยัญชนะตัวไหนหายไปก็นำกระดาษขาว 1 แผ่นวางทับกระดาษลังที่เราเขียนพยัญชนะไว้แล้ว
- หลังจากนั้นให้เด็ก ๆ เลือกสีที่ตัวเองชอบมาขูดสีหาพยัญชนะตัวที่หายไป (ร่องนูน ๆ ที่เด็ก ๆ ขูดสีจะช่วยเสริมการจดจำพยัญชนะได้)
ความบกพร่องทางการคำนวณ
เราอาจมองหากิจกรรม หรือแบบฝึกที่เน้นรูปภาพเพื่อให้เด็กเชื่อมโยง และเห็นภาพการเปรียบเทียบจำนวน ขนาด หรือปริมาณได้ชัดขึ้น และสอนหลักการคำนวณพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ เช่น การบวก ลบ คูณ หาร ตามลำดับความยากง่าย ซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝนซ้ำบ่อย ๆ ให้เด็กคุ้นชิน และพยายามใช้ภาษาคณิตศาสตร์เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ได้ง่ายมากขึ้น
7 เทคนิค และกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาทักษะด้านคณิตศาสตร์ เพื่อการสอนเด็ก LD คิด คำนวณคล่อง เข้าใจตรรกะทางคณิตศาสตร์ได้เร็วขึ้น
1. การใช้โดมิโน
โดมิโนกับการจดจำตัวเลข โดยเริ่มต้นด้วยการให้เด็กสังเกตแต้มในลูกเต๋า และเรียนรู้ผ่านการเล่น กระตุ้นให้พวกเขาสนุกในการเรียนรู้มากขึ้น
2. การใช้เกม
ลองหาเกมที่น่าสนใจ ท้าทายความคิด เพื่อให้เด็กลองแก้ปัญหาแทนการจดจำเพียงอย่างเดียว อาจจะใช้เทคนิคใช้สีช่วยจัดระบบของงาน และการจดจำได้ดีขึ้น
3. การใช้วัตถุที่จับต้องได้
ให้เด็กได้เห็น และสัมผัสกับวัตถุจะช่วยให้พวกเขาเข้าใจหลักการทางคณิตศาสตร์ได้ดียิ่งขึ้น เช่น เลโก้ บล็อกไม้ต่าง ๆ สามารถนำมาสอนเรื่องการบวก ลบ ง่าย ๆ ได้
4. การเรียนรู้ภาษาทางคณิตศาสตร์
เด็กที่มีทักษะทางภาษาที่ดีจะช่วยให้กระบวนการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์ของพวกเขาง่ายขึ้น เช่น เครื่องหมาย "บวก" คือ การเพิ่มขึ้น เครื่องหมาย "ลบ" คือ การลดลง ซึ่งเราสามารถอธิบายคำศัพท์พื้นฐานให้เด็กฟัง และให้เด็กอธิบาย หรือพูดคุยเกี่ยวกับคำนั้น ๆ เพื่อให้พวกเขาเข้าใจ และสามารถนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
5. การสร้างแบบจำลอง
สำหรับการสอนที่ต้องพูดถึงวัตถุขนาดใหญ่ หรือสิ่งที่เข้าใจยาก สามารถใช้การวาดรูปเพื่ออธิบาย หรือแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ได้
6. การใช้เครื่องอำนวยความสะดวก
จะช่วยสนับสนุนการเรียนคณิตศาสตร์ของเด็ก ๆ ได้ เช่น อนุญาตให้เด็ก LD ใช้เครื่องคิดเลขเมื่อต้องแก้โจทย์ปัญหาที่ซับซ้อน
7. การสอนด้วยความเข้าใจ
การแบ่งเนื้อหาออกเป็นข้อย่อย ๆให้ชัดเจนจะช่วยในการเรียนรู้ของเด็ก ๆ กลุ่มนี้ได้ สิ่งสำคัญของการสอนเด็ก LD คือการสอนด้วยความเข้าใจ ให้เหตุผลกับปัญหา และให้เด็กฝึกคิดให้เข้าใจ มากกว่าให้เด็กนั่งท่องจำ
นอกจากเทคนิค และกิจกรรมที่ช่วยให้เด็ก LD พัฒนาการเรียนรู้ได้ดีขึ้นแล้ว ครูควรเปิดโอกาสให้เด็กที่ไม่ได้โดดเด่นมากได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ต่อหน้าเพื่อน ๆ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีในการสร้างแรงจูงใจที่ดีในการเรียนรู้ นอกจากนั้นการเปิดโอกาสให้เขาได้ทดลองทำในสิ่งที่พวกเขาชอบ ผู้ปกครอง หรือ ครู ต้องสังเกตแล้วสนับสนุนให้เขาได้เป็นตัวของตัวเอง สิ่งนี้จะทำให้เด็กที่เป็น LD เห็นคุณค่าในตัวเอง (Self-Esteem) และเรียนรู้ได้อย่างมีความสุขมากขึ้น
Relate article