มองการศึกษาไทยในอนาคต จาก“ผู้ใช้” สู่ “ผู้สร้าง” AI

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ

มองการศึกษาไทยในอนาคต จาก “ผู้ใช้” สู่ “ผู้สร้าง” AI

ชวนทุกท่านติดตามเสวนาทางวิชาการ “AI กับการศึกษาในศตวรรษที่ 21” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างศูนย์ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการศึกษา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กับ บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมเสวนาโดย ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดร.แสงรุ้ง พูลสุวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย และการออกแบบการเรียนรู้ บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ดร.รังสันต์ จอมทะรักษ์ หัวหน้าศูนย์ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการศึกษา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (CiRA Educations) และผศ.ดร.สันทัด ชูวงค์อินทร์ อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

เมื่อพูดถึงเป้าหมายใหญ่ในการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในเรื่องการจัดการศึกษานั้น สพฐ. มีเป้าหมายที่จะสร้างความสมบูรณ์ให้โรงเรียนทั้งหมด 3 ด้านด้วยกัน

  1. ความรู้ สร้างทักษะด้านดิจิทัลหรือเทคโนโลยีให้ครูและนักเรียน
  2. สนับสนุนเรื่องปัจจัยพื้นฐาน ได้แก่ เครื่องมือ ฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ และอินเทอร์เน็ตในทุกโรงเรียน
  3. จัดให้มีซอฟต์แวร์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ค้นคว้า

ดร.อัมพร มองว่า เทคโนโลยีจะมาเติมทั้งมิติของการเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ และเป็นเครื่องมือในการทดแทนให้กับผู้เรียนหรือครูได้ด้วย จะต้องนําเทคโนโลยีเข้ามาสู่กระบวนการ ทั้งการบริหาร การเรียนการสอน และการเรียนรู้ด้วยตนเองในอนาคต โดยนักเรียนยุคใหม่ต้องมีทักษะที่มากขึ้น ไม่ใช่แค่การออกเขียนได้ คิดเลขเป็นเพียงอย่างเดียว

“สมัยก่อนเรามองว่า การอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น คือ เครื่องมือในการเรียนรู้ ค้นคว้า พัฒนา แต่วันนี้มันไม่เพียงพอกับการดํารงชีวิตของคนในปัจจุบัน ต้นทุนแค่นี้ไม่พอ เราต้องเสริมด้วยเทคโนโลยีกับภาษาอังกฤษ เพื่อใช้ต่อยอดในเรื่องของการศึกษา”

นอกจากสมัยนี้จะมีการนำ AI มาใช้ในกระบวนการเรียนการสอนมากขึ้นแล้ว ดร.แสงรุ้ง เห็นว่า ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของ AI คือ สามารถใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยครูวิเคราะห์นักเรียน เช่น รูปแบบการเรียนรู้ของนักเรียน ช่วยให้ครูพัฒนานักเรียนได้ถูกต้อง ขณะเดียวกันยังช่วยครูลดภาระงานแบบกิจวัตร อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องความปลอดภัยของนักเรียนกับการใช้ AI ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง

ด้าน ผศ.ดร.สันทัด เห็นว่า ความสำคัญของการพัฒนา AI จนสามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมจริง ๆ ได้นั้นจำเป็นต้องมองให้ครบรอบด้านเป็นระบบนิเวศ

“เราต้องเริ่มจากเด็กเราก่อน จากสพฐ. จากครูในโรงเรียนทั้งม.ต้น ม.ปลาย ต้องปลูกฝังให้เด็กมีความรู้พื้นฐาน ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ จนมาถึงระดับมหาวิทยาลัยที่จะพัฒนาต่อยอดเด็ก เสริมความรู้คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในขั้นสูงเพิ่มขึ้น”

โดยทีมของ ผศ.ดร.สันทัด ยังได้มีการพัฒนา AI ที่มีการขยายผลไปสู่นักเรียนด้วยผ่านแพลตฟอร์ม CiRA Core ซึ่งเป็นแบบ Low-Code ที่ผู้ใช้งานไม่จําเป็นต้องเป็น Developer หรือ Programmer ก็สามารถพัฒนา AI ได้ง่าย ๆ และรวดเร็ว

ด้าน ดร.รังสันต์ มองว่า การส่งเสริมให้ครูได้เข้าถึง AI และได้สร้าง AI ในสื่อการสอนของตนเองถือเป็นส่วนหนึ่งการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน

“ในการวางแผนการทําหลักสูตรหรือการจัดอบรมครู จริง ๆ ครูมีพื้นฐานที่ดีในการถ่ายทอดองค์ความรู้อยู่แล้ว รู้จักเด็กดีกว่า แต่อาจขาดประสบการณ์การใช้เทคโนโลยีหรือ AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสื่อการสอนอยู่ ถ้าเราส่งเสริมให้ครูเข้าถึง ให้เขาได้ใช้ แล้วมีโอกาสสร้างสื่อการสอนพวกนี้เข้าไป ก็จะทําให้เกิดการพัฒนานักเรียนตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน ส่งต่อมาเรื่อย ๆ และเพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรม ถ้าเราต้องการอยากให้เด็กคิด เราก็ต้องพาครูคิด ร่วมสร้างสรรค์ในสิ่งที่เราต้องการถ่ายทอดไปถึงเด็ก โดยอาศัยคนที่ทําแพลตฟอร์มและอุตสาหกรรมที่มีความต้องการจริง ๆ”

สำหรับเป้าหมายในการพัฒนาการศึกษาด้าน AI ของสพฐ. มี 3 ด้าน คือ

  1. ให้นักเรียนใช้ AI ให้เกิดประโยชน์กับชีวิต
  2. ให้นักเรียนใช้ AI เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้
  3. พัฒนานักเรียนสู่การเป็นผู้สร้าง AI

โดยกระบวนการในการพัฒนานักเรียนสู่การเป็นผู้สร้าง AI นี้ เริ่มจากการสร้างกระบวนการคิดให้กับนักเรียนก่อน มีการนำวิทยาศาสตร์น้อยเข้าไปในระดับอนุบาล และนำ Coding เข้าสู่โรงเรียน อย่างไรก็ตาม บ้านเรายังเจอกับความท้าทายอีกหลายอย่าง ทั้งปัญหาการขาดงบประมาณด้านอุปกรณ์ที่ไม่เพียงพอกับนักเรียนทุกคน อินเทอร์เน็ตที่ไม่ครอบคลุม และยังขาดเวทีหรือหน่วยงานในการคัดกรองครูเก่ง ๆ ที่ผลิต AI ด้านการเรียนการสอนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

แม้บ้านเราจะยังเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง แต่ AI เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในอนาคต ไม่เพียงแค่ครูและนักเรียนจะมีโอกาสนำ AI เข้ามาใช้ในการจัดการเรียนการสอนมากขึ้นเท่านั้น แต่บทบาทของทุกฝ่ายในอนาคตอาจไม่ได้อยู่ในฐานะ “ผู้ใช้” เพียงอย่างเดียว เราทุกคนมีโอกาสเป็น “ผู้สร้าง” เทคโนโลยีเหล่านี้ขึ้นมาด้วยตนเอง เพื่อตอบโจทย์การศึกษาที่ไม่เคยหยุดนิ่งในศตวรรษที่ 21

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
 
แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง