แนวคิด 5 ข้อ ที่ช่วยพัฒนานิสัยเชิงบวกให้กับนักเรียน
แนวคิด 5 ข้อ ที่ช่วยพัฒนานิสัยเชิงบวกให้กับนักเรียน
ครูสามารถช่วยพัฒนานักเรียนได้ในหลาย ๆ ด้าน ทั้งในเรื่องของการพัฒนาความรู้ ความสามารถ ทักษะต่าง ๆ แต่นอกจากนี้แล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งซึ่งสำคัญไม่น้อยที่ครูจะสามารถช่วยพัฒนาได้นั่นก็คือ “นิสัย” โดยนิสัยเชิงบวกนั้นจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวของนักเรียนเองในระยะยาว ตัวอย่างของนิสัยเชิงบวก ได้แก่ ความอดทน ความเห็นอกเห็นใจ ความมีน้ำใจ ความซื่อสัตย์ เป็นต้น หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า “นิสัยที่ดี”
คุณ Artur Scwartz นักวิจัย และประธาน Character.org (องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่เชื่อในการพัฒนาบุคลิก และอุปนิสัยที่ดีของเยาวชน) ได้เสนอแนวคิด 5 ข้อ สำหรับสอนนักเรียนเกี่ยวกับนิสัยที่จะช่วยสร้างทักษะอย่างมีประสิทธิภาพ และการปฏิบัติที่มีความหมายในชีวิต
1. คุณคือนิสัยของคุณเอง
การวิจัยชี้ให้เห็นว่า 40-50% ของการกระทำทั้งหมดของเราเกิดขึ้นจากนิสัย แต่ละคนมีนิสัยในการตื่นนอน นิสัยในการกินอาหาร รวมถึงการนอนแตกต่างกัน ดังนั้นชีวิตของเราจึงเกิดขึ้นจากนิสัย กระตุ้นนักเรียนให้เข้าใจว่านิสัยของพวกเขากำหนดรูปแบบของตัวตน และสิ่งที่พวกเขาต้องการจะเป็น James Clear ผู้เขียนหนังสือ Atomic Habits ได้แนะนำไว้ว่าวิธีที่ดีที่สุดในการเปลี่ยนตัวตนคือการเปลี่ยนสิ่งที่เราทำ การสร้างนิสัยที่ดีอะไรสักอย่างหนึ่ง แม้ในระยะแรกจะเป็นสิ่งที่เล็ก และไม่สำคัญ แต่หากเราทำสิ่งนั้นอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถสร้างผลสำเร็จที่น่าประทับใจ และสมหวังขึ้นมาได้
Photo Link: https://jamesclear.com/atomic-habits
2. สร้างนิสัยอย่างไร
แม้ไม่มีเรื่องนี้ในหลักสูตรใด ๆ ก็ตาม แต่ทุกคนควรได้เรียนรู้เกี่ยวกับ "วงจรนิสัย"ของ James Clear โดยการเปลี่ยนนิสัยไม่ว่าจะเป็นนิสัยที่ดี หรือไม่ดีนั้นมีกระบวนการเหมือนกัน ดังนี้ Cue > Craving > Response > Reward
กระบวนการที่ทำให้เกิดนิสัยมีอยู่ 4 ขั้น คือ
1.สิ่งเร้า หรือสิ่งกระตุ้น (Cue)
2.ความอยาก และความกระตือรือร้นที่จะทำในสิ่งนั้น (Craving)
3.การตอบสนอง (Response)
4.ผลที่ได้รับ (Reward)
ยกตัวอย่างที่จะทำให้เห็นภาพกระบวนการนี้มากยิ่งขึ้น เช่น เมื่อนักเรียนกลับจากโรงเรียนผ่านร้านค้าขายขนม (Cue) พวกเขาอาจพบว่าโดปามีน (สารสื่อประสาทที่มีบทบาทสำคัญในอารมณ์ แรงจูงใจ และความสุข) พุ่งสูงขึ้นเมื่อพวกเขาเริ่มมองหาขนมทาน (Craving) จากนั้นนักเรียนได้รับประทานขนม ดื่มด่ำไปกับรสชาติ ของรสเค็ม และกรุบกรอบ (Response) ด้วยความพึงพอใจ (Reward)
นักวิจัยยังค้นพบอีกว่ามีแนวโน้มที่ “นิสัย” นั้นจะยังคงอยู่ แม้ว่าเราจะไม่เห็นคุณค่าของรางวัลเท่าครั้งก่อน (หรือแม้เมื่อไม่มีรางวัลอีกต่อไป) หลังจากฝึกฝนการสร้างนิสัยอย่างสม่ำเสมอ นิสัยเหล่านี้ก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนของเราในที่สุด
3. สิ่งกระตุ้น (Cue) ที่ต่อเนื่อง เป็นกุญแจที่สำคัญในการสร้างนิสัย
สิ่งสำคัญที่ควรให้นักเรียนเรียนรู้ และฝึกฝน คือการสร้าง Cue X เพื่อ Action Y ตัวอย่างเช่น นักเรียนได้ตัดสินใจว่าต้องการเรียนเล่นกีต้าร์ (action) หลังจากที่ได้ทำการบ้าน (cue) กุญแจสำคัญในการสร้างนิสัย หรือกิจวัตรใหม่นี้ คือให้นักเรียน “ทำ” กิจกรรมนี้ “ซ้ำ” ทุกวันทันทีที่เรียนจบ สิ่งกระตุ้นที่ต่อเนื่องอาจรวมถึงการตื่นนอน หรือเข้านอน การแปรงฟัน การรับประทานอาหาร ไม่ว่าการกระทำใด ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำจะก่อให้เกิดเป็นนิสัยได้ในที่สุด การกระทำซ้ำอย่างต่อเนื่องนั้นจำเป็นต่อการจัดระเบียบพื้นที่ทางจิตใจ เมื่อเวลาผ่านไป การทำซ้ำ ๆ จะจัดระเบียบสมองของเราใหม่ และกลายเป็นรางวัลของสมองเอง
4.4 วิธี "การโกงนิสัย"
4.1 SJ Scott เขียนหนังสือที่มีชื่อว่า Habit Stacking โดยมีแนวคิด คือเราควรเชื่อมโยงนิสัยที่ยากกับนิสัยที่ง่าย ตัวอย่างเช่น กระตุ้นนักเรียนให้ทำงานบ้าน (นิสัยที่ยาก) ในขณะที่ฟังเพลง (นิสัยที่ง่าย)
4.2 ใช้ประโยชน์จากพลังแห่งความมุ่งมั่น ความจริงก็คือ พวกเราทุกคนได้ผิดสัญญาที่ให้ไว้กับตนเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง นั่นเป็นเหตุผลที่เราจำเป็นต้องแบ่งปัน “แผนพัฒนานิสัยเชิงบวก” ของเรากับคนที่จะรับผิดชอบเรา เช่น เพื่อน ผู้ปกครอง หรือครู การให้คำมั่นสัญญากับคนที่เรารู้จัก และไว้วางใจมักเป็นเชื้อเพลิงที่เราต้องการเพื่อพัฒนานิสัยเชิงบวก
4.3 ค้นพบแนวโน้มของนิสัยที่เรามี แนวคิดนี้พัฒนาโดยนักเขียน Gretchen Rubin คือการที่เราต้องเข้าใจตัวเองก่อนว่า เราตอบสนองต่อการคาดหวังภายใน และภายนอกอย่างไร ตัวอย่างเช่น ขณะที่บางคน “จำเป็น” ต้องมีนิสัยที่มีความรับผิดชอบ แต่บางคนอาจจะต้องทำความเข้าใจเหตุผลที่ทำให้นิสัยเป็นสิ่งสำคัญก่อนที่จะรู้สึกกระตือรือร้นที่จะสร้างนิสัยนั้น
4.4 เมื่อพูดถึงการ สร้างนิสัย นักเรียนทุกคนควรเรียนรู้เกี่ยวกับพลังของการยืนยันเชิงบวก การหักล้างคำพูดเชิงลบของเราด้วยคำพูดเชิงบวกคือ “การโกงนิสัย” ที่ได้ผล ตัวอย่างเช่น นักเรียนสามารถสร้างนิสัยเชิงบวกในการพูดซ้ำ ๆ กับตัวเองว่า “ฉันเข้าใจแล้ว…ฉันทำได้”
5. การกำหนดเป้าหมาย และความมุ่งมั่นอาจยังไม่เพียงพอ
วิจัยที่เกิดขึ้นใหม่กำลังทำลายความเชื่อผิด ๆ ที่มีมายาวนานว่า การตั้งเป้าหมาย และการควบคุมตนเอง คือจุดสูงสุดของการสร้างนิสัยเชิงบวก แท้จริง
ความตั้งใจเพียงอย่างเดียวไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้
หากนักเรียนอยากประสบความสำเร็จในการพัฒนานิสัยเชิงบวกตามเป้าหมายระยะยาวก็จำเป็นที่จะต้อง "วางแผน" ผลวิจัยชัดเจนว่า “การวางแผนเป็นกุญแจสำคัญ” ที่จะทำให้พัฒนานิสัยเชิงบวกได้ ตามคำกล่าวว่า "การไม่วางแผน คือการวางแผนให้ล้มเหลว"
สุดท้าย การเปลี่ยนนิสัย คือการที่ดีขึ้นทีละ 1% ในทุก ๆ วัน เหมือนที่ Aristotle ได้เขียนไว้ว่า “We are what we repeatedly do. Excellence, then, is not an act, but a habit.” แปลว่า “เราเป็นสิ่งที่เราทำซ้ำ ๆ ความเป็นเลิศจึงไม่ใช่การกระทำ แต่เป็นนิสัย” ดังนั้นในทุก ๆ วัน ตัวนักเรียนเอง ครู รวมถึงพ่อแม่จึงต้องทำงานร่วมกัน การพัฒนานิสัยเชิงบวกให้กับนักเรียนจึงจะประสบผลสำเร็จ
อ้างอิง:
บทความที่เกี่ยวข้อง