สรุปให้รู้ ตามทันโลกการศึกษา ep.20 ทำไมโลกควรบรรจุหลักสูตร AI เข้าสู่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน

 

สรุปให้รู้ตามอนาคตทันโลกการศึกษา EP.20

ทำไมโลกควรบรรจุหลักสูตร AI

เข้าสู่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน

 
ภาพปกบทความทำไมโลกควรบรรจุหลักสูตร AI เข้าสู่การศึกษาขั้นพื้นฐาน

 

AI Features ถูกนำมาปรับใช้กับทุก Platforms ในชีวิตประจำวันของเราอย่างแนบเนียน Siri, Bixby, Alexa และ Smart speaker ต่าง ๆ กล้องมือถือที่สามารถบอกได้ว่ารูปที่เรากำลังถ่ายจัดอยู่ในหมวดไหน แถมยังตั้งค่าโหมดให้อัตโนมัติ การทำงานเอกสารในปัจจุบันที่มี AI เข้ามาช่วยทำให้งานง่ายขึ้น หรือแม้แต่ของใช้ในครัวอย่างหม้อหุงข้าวไฟฟ้า และตู้เย็นก็ยังมีเทคโนโลยีนี้เข้ามาเกี่ยวข้องเช่นกัน

ด้านการศึกษาในหลายประเทศมีการนำ AI มาใช้ร่วมกับการสอนอย่างหลากหลาย ตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ที่ได้พัฒนาระบบ Artificial Intelligence เครื่องมือที่คอยติดตามความคืบหน้า เลือกสรรสื่อการเรียนที่เหมาะสม และประเมินเด็กแบบรายบุคคล[1] เข้ามาใช้กับห้องเรียน

ตอนนี้ AI ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีใหม่อีกแล้ว แต่เป็นการสะท้อนให้เห็นทิศทางของเศรษฐกิจ การดำรงชีวิต อาชีพ ความเสี่ยงของมนุษย์ในการถูกแทนที่ และการเปลี่ยนแปลงของการศึกษาในหลาย ๆ ด้าน 

 

เมื่อมันกำลังกลายเป็นชีวิตประจำวัน คุณคิดว่าหลักสูตร AI จำเป็นต้องบรรจุเข้าไปในแบบเรียนไหม?

ในช่วงแรก ๆ การเรียนเรื่อง AI ส่วนมากจะเป็นการเรียนในระดับอุดมศึกษาที่เจาะลึกให้กับนักศึกษาที่สนใจทำอาชีพในด้านนี้ มากกว่าการนำมาสอนให้เด็กนักเรียนประถมและมัธยม แต่หากพูดถึงการเรียนรู้อะไรจะดีไปกว่าการปลูกฝังความรู้ และทักษะตั้งแต่ในวัยเด็ก James J. Heckman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ได้กล่าวไว้ว่า “ การลงทุนในเด็กตั้งแต่อายุยังน้อยเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และให้ผลตอบแทนกับสังคมดีที่สุดในระยะยาว ”[2] โดยเฉพาะทักษะ STEM และความรู้ทางด้านดิจิทัลที่จำเป็นในอนาคต

จากรายงานของ World Economic Forum เรื่อง Defining Education 4.0: A Taxonomy for the Future of Learning[3] ได้พูดถึงประเด็นที่น่ากังวล ผู้นำทางธุรกิจ รัฐบาล นักการศึกษา และผู้ปกครองจำเป็นต้องทำงานร่วมกันสร้างนวัตกรรม เพื่อขยายโอกาสให้เด็ก ๆ ได้บ่มเพาะความสามารถ ทักษะ ค่านิยม และทัศนคติ ตั้งแต่อายุยังน้อยเพื่อสามารถรับมือกับการถูกแทนที่ในอนาคตของ AI และหุ่นยนต์ให้ได้

 

เรื่อง AI และทักษะด้านดิจิทัลควรสอนให้เด็กเรียนรู้โดยไวที่สุด

ต้องปลูกฝังให้พวกเขาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้ได้ เป็นผู้ควบคุมก่อนที่จะถูก AI ทดแทนไปจากตลาดแรงงานในอนาคต ตัวอย่างเช่น เกาหลีใต้ เป็นประเทศแรก ๆ ในแถบเอเชียที่บรรจุวิชาใหม่ ๆ เข้าสู่หลักสูตรขั้นพื้นฐานอยู่เสมอ ในช่วงที่คริปโตกำลังเป็นที่นิยมก็มีการเสริมหลักสูตรการเรียนรู้คริปโต และการเงินในโลกจริงลงไปในวิชาสังคมศึกษา เป็นวิชาเลือกให้กับชั้นมัธยมต้นปีที่ 1 เป็นภาคบังคับให้กับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมปลายปีที่ 1[4]

ในปัจจุบันเกาหลีใต้ยังได้มีการเพิ่มวิชา AI เข้าไปในหลักสูตรขั้นพื้นฐานในระดับมัธยมปลาย[5] เป็นวิชาเลือก 2 เรื่อง คือ

▪ introductory AI (หลักสูตร AI เบื้องต้น)

▪ mathematics of AI (คณิตศาสตร์ AI)

ก่อนพุ่งเป้าขยายไปสู่หลักสูตรของอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมต้นภายในปี 2025

นอกจากนี้ยังประกาศนโยบายการศึกษาว่าภายในปี 2025 เกาหลีใต้จะใช้หนังสือเรียนแบบดิจิทัล (e-Book) แทนหนังสือเรียนแบบธรรมดา เริ่มต้นที่วิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์และสารสนเทศ โดยเทคโนโลยีที่นำมาใช้ ได้แก่

Intelligent Tutoring System เป็นระบบการเรียนรู้ด้วยคอมพิวเตอร์ที่ใช้ AI เข้ามาสอนเหมือนกับมนุษย์เป็นคนสอน (AI-guided) ที่ช่วยนักเรียนในการแก้โจทย์ยาก ๆ หรือช่วยนักเรียนในการฝึกพูด และฟังมากขึ้น

Extended Reality (XR) ใช้สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมือนจริง จำลองสถานการณ์ให้เด็กเรียนรู้อย่างเรียลไทม์

 

การศึกษาพร้อมเดินหน้าแล้ว แต่หากหันกลับมามองที่ตัวเด็ก พวกเขาจำเป็นต้องมีทักษะอะไรบ้าง เพื่อสามารถเรียนรู้ให้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนไปกับการศึกษาในยุค AI ได้

ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวในงานเสวนา AI โอกาส หรือ อุปสรรค ว่า “ อนาคตภาษาที่มีอยู่กว่า 200 ภาษา อาจจะไม่มีเลย มีเพียงภาษาเดียวที่คนทั่วโลกจะเข้าใจตรงกัน เป็นภาษาสากล คือ ภาษาคณิตศาสตร์ ซึ่งจะไม่มีทางสูญหายไปจากจักรวาล ”[6]

ดังนั้นการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงต้องมีวิชาวิทยาการคำนวณ เพื่อสอนให้เด็ก ๆ มีทักษะ อย่าง Coding (การเขียนโปรแกรม) และ Robotics (วิศวกรรมหุ่นยนต์) กันทุกคนแม้ว่าในอนาคตจะไม่ได้สนใจอาชีพด้าน STEM ก็ตาม เพราะการเรียนเรื่องเหล่านี้ สอนให้เด็กคิดอย่างเป็นระบบมากขึ้น ฝึกให้ลงมือทำจนนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ต่อยอด กลายเป็น ผู้คิด ผู้เขียน ผู้พัฒนาเป็นการปูทางไปถึงยุคอนาคต

ต่อมาคือเรื่องของทักษะที่เป็น Soft Skills จากภายในตัวเด็ก ยิ่งมีมากเท่าไหร่การเรียนรู้ก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น และนำไปสู่การเป็นคนคุณภาพในสังคมอีกด้วย

Logical Thinking (การคิดอย่างเป็นเหตุผล)[7]

คือการคิดเชิงตรรกะที่อยู่บนพื้นฐานของหลักการ และเหตุผล โดยใช้หลักฐาน และ ข้อมูลอ้างอิงที่สามารถพิสูจน์ หรือเชื่อถือได้นำมาเชื่อมโยงอย่างมีลำดับขั้นตอนเพื่อใช้ประกอบกับการแก้ปัญหา หรือตัดสินใจ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ข้อสอบ GAT[8] ของไทยที่ใช้ประกอบการเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาในปัจจุบัน เป็นข้อสอบส่วนที่ 1 ทดสอบ Logical Thinking ในตัวเด็กว่าสามารถวิเคราะห์ เชื่อมโยง และแก้โจทย์ปัญหาโดยอยู่บนพื้นฐานของหลักเหตุผลได้หรือไม่

การที่เด็กมีทักษะนี้จะช่วยให้เขาสามารถเชื่อมโยงความรู้ และประสบการณ์ที่ได้รับมาสร้างเป็นองค์ความรู้ของตัวเอง การคิด และตัดสินใจเฉียบแหลม และอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นพื้นฐานของการเรียน Coding อีกด้วย

 

Creative Problem Solving (การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์)[11]

คือทักษะที่เสริมให้เด็กคิดหาวิธีแก้ปัญหาให้ลึก และหลากหลายทาง จากนั้นประเมิน และเลือกวิธีการแก้ปัญหาโดยใช้วิจารณญาณ เพื่อให้ได้ทางออกที่ดีที่สุดบนเงื่อนไข และทรัพยากรที่มีอยู่

 

Resilience (การรับมือกับอุปสรรค)[10]

คือการสามารถรับมือเมื่อเจอกับปัญหาต่าง ๆ ที่เข้ามาได้ มีความยืดหยุ่นทางจิตใจไม่ปล่อยให้ตนเองจมอยู่กับทางตันนานเกินไป และปรับตัวเพื่อก้าวต่อไปเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

ทางหลักจิตวิทยาความสามารถในการยืดหยุ่นของจิตใจแบ่งได้ 4 ประเภท คือ

1. ความสามารถในการฟื้นฟูร่างกาย (Physical Resilience) มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และสามารถฟื้นตัวได้เร็ว

2. ความสามารถในการปรับสภาพจิตใจ (Mental Resilience) ปรับตัวต่อความไม่แน่นอน ความท้าทาย และความยากลำบากในชีวิตได้เร็ว และมีความหวังเสมอแม้จะเผชิญกับความล้มเหลว

3. ความสามารถในการปรับสภาวะอารมณ์ (Emotional Resilience) คือการควบคุมตัวเองได้ในภาวะเครียด รู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง และรู้ว่าจะต้องปรับตัวอย่างไร นำไปสู่ทักษะที่เรียกว่า “ ความฉลาดทางอารมณ์ ” ที่ไม่ใช่แค่จัดการอารมณ์ของตนเองแต่สามารถ รู้เท่าทัน และปรับอารมณ์ของคนรอบตัวได้อีกด้วย

4. ความสามารถในการฟื้นคืนของสังคม และชุมชน (Social/Community Resilience) คือสามารถเข้าร่วมกับชุมชน หรือสังคมให้ฟื้นตัวหลังจากเจอวิกฤตได้ เช่น การรับมือกับโรคระบาด หรือภัยธรรมชาติ ในสภาพแวดล้อมที่ผู้คนต่างบาดเจ็บล้มตายยังสามารถประคองสติของตนเอง และหาทางรับมือได้

การมีทักษะ Resilience นี้ยังส่งผลเสริมเรื่องของความเมตตาต่อตนเอง (Self-Compassion) เมื่อเจอปัญหาจะไม่โทษตัวเอง หรือกดดันตัวเองมากเกินไป และรู้ว่าเมื่อไหร่ควรขอความช่วยเหลือจากคนรอบตัว

 

Authentic Learning (การเรียนรู้ด้วยตัวเอง)[9]

คือการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากสถานการณ์จริงที่หลากหลายเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน และเชื่อมโยงความรู้ในห้องเรียนออกมาใช้กับชีวิตจริงได้ โดยเริ่มต้นที่การรู้จักวางแผน แก้ไขปัญหา แสวงหาข้อมูลต่าง ๆ มาสร้างองค์ความรู้ใหม่ของตนเอง เป็นทักษะที่ช่วยปลูกฝังนิสัยรักการเรียนรู้จนนำไปสู่ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้

“ เด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า ” ประโยคคลาสสิกที่ได้ยินมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือเรื่องจริง การศึกษาวันนี้ควรจะปรับอะไรบ้าง ? แล้วพร้อมหรือยังที่จะพาเด็กไปสู่อนาคต เพราะสิ่งที่เด็กกำลังเรียนอยู่ในตอนนี้ หากไม่ปรับให้ทันไปกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน อาจจะไม่เหลืออาชีพนั้นให้ทำในอนาคตอีกแล้ว ร่วมค้นหาคำตอบไปกับอัตนัย และบทความนี้ครับ

 

 

  •  

 

แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง