ส่อง 3 เทคนิคน่าสนใจ สร้างห้องเรียนแบบ Active Learning
ส่อง 3 เทคนิคน่าสนใจสร้างห้องเรียนแบบ Active Learning
การจัดการเรียนรู้เชิงรุก หรือ Active Learning เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิดขั้นสูง ผ่านการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล ไม่เพียงแต่เป็นผู้ฟัง ผู้เรียนต้องอ่าน เขียน ตั้งคำถาม และลงมือปฏิบัติจริง ดังนั้นผู้เรียนจะถูกเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับความรู้ไปสู่การมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ ผู้สอนจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเทคนิคการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการ เปลี่ยนแปลงของสังคม เทคโนโลยี เพื่อให้ผู้เรียนสามารถแสวงหาความรู้และประยุกต์ใช้ ทักษะต่างๆ สร้างความเข้าใจด้วยตนเอง จัดให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอน กิจกรรมต้องสะท้อนความต้องการในการพัฒนาผู้เรียน เน้นการนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงของผู้เรียน ซึ่งเทคนิคการจัดการเรียนรู้สามารถมีได้หลายวิธี เช่น
กิจกรรมโต๊ะกลม (Roundtable) Active Learning
รูปแบบการสอนที่จัดกลุ่มนักเรียนที่มีจำนวนมากกว่า 2 คนขึ้นไป เปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคน เขียนความคิดเห็นของตน บอกเล่าประสบการณ์ความรู้หรือสิ่งที่ตนกำลังศึกษาให้เพื่อนคนที่อยู่ถัดไปโดยเวียนไปทางด้านใดด้านหนึ่งสมาชิกทุกคนจะใช้เวลาเท่าๆกันหรือใกล้เคียง โดยเน้นใช้สำหรับทบทวนบทเรียนและสรุปองค์ความรู้ที่ผ่านมา
วิธีการจัดกิจกรรม
ให้นักรียนแต่ละคนในกลุ่มบันทึกข้อมูลในตาราง โดขใช้ 1 ชุดต่อ 1 กลุ่ม ซึ่งนักเรียนทุกคนจะหมุนเวียนกันเขียนข้อมูลในตารางเดียวกันเป็นลักษณะโต๊ะกลม ตัวอย่างเช่น รายวิชาวิทยาศาสตร์ ผู้สอนสามารถกำหนดหัวข้อเกี่ยวกับ ชนิด ประเภท และประโยชน์ของสารอาหาร เพื่อเป็นการทบทวนบทเรียน และฝึกกิจกรรมร่วมกัน
กิจกรรมมุมสนทนา (Corners) Active Learning
เป็นการจัดการเรียนการสอนที่แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มย่อยๆให้ช่วยกันตอบคำถาม ตามมุมหรือจุดต่างๆของห้องเรียน โดยให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มช่วยกันคิดหาคำตอบสำหรับโจทย์ปัญหาต่างๆที่ผู้สอนตั้งประเด็นขึ้นมาแล้วให้ผู้เรียนแก้โจทย์ และแลกเปลี่ยนกันตรวจสอบ จากนั้นอธิบายเรื่องราวที่ตนได้ศึกษาให้เพื่อนร่วมชั้นเรียนฟัง
กิจกรรมจิ๊กซอว์ (Jigsaw) Active Learning
เป็นการจัดการเรียนการสอนที่ทุกกลุ่มจะได้รับมอบหมายให้ทำกิจกรรมเดียวกันโดยครูผู้สอนแบ่งเนื้อหาของเรื่องที่จะเรียนออกเป็นหัวข้อย่อยเท่าจำนวนสมาชิกแต่ละกลุ่มและมอบหมายให้นักเรียนแต่ละคนในกลุ่มค้นคว้า เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักพึ่งพาอาศัยกัน เหมาะกับวิชาที่มีเนื้อหาเป็นส่วนใหญ่และมีภาคปฎิบัติเป็นส่วนน้อย
วิธีการจัดกิจกรรม Active Learning
1.จัดผู้เรียนเข้ากลุ่มคละความสามารถกลุ่มละประมาณ 4 คนและเรียกกลุ่มนี้ว่า กลุ่มบ้านของเรา (Home Group)
2. สมาชิกในกลุ่มบ้านของเราได้รับมอบหมายให้ศึกษาเนื้อหาสาระคนละ 1 ส่วน ซึ่งเปรียบเสมือนได้ชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ของภาพคนละ 1 ชิ้น และหาคำตอบในประเด็นปัญหาที่ผู้สอนมอบหมายให้
3.สมาชิกในกลุ่มแยกย้ายไปรวมกับสมาชิกกลุ่มอื่นซึ่งได้รับเนื้อหาเดียวกัน จัดตั้งเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ (expert group) ขึ้นมา และร่วมกันทำความเข้าใจในเนื้อหาสาระนั้นอย่างละเอียด และร่วมกันอภิปรายหาคำตอบประเด็นที่ผู้สอนมอบหมายให้
4.สมาชิกจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญกลับไปสู่กลุ่มบ้านของเรา และช่วยสอนเพื่อนในกลุ่ม ให้เข้าใจสาระที่ตนได้ศึกษาร่วมกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญมา สมาชิกทุกคนก็จะได้เรียนรู้ภาพรวมของสาระทั้งหมด
5. ผู้เรียนทุกคนทำแบบทดสอบ แต่ละคนจะได้คะแนนเป็นรายบุคคล และนำคะแนนของทุกคนในกลุ่มบ้านของเรามารวมเพื่อหาค่าเฉลี่ยเป็นคะแนนกลุ่ม กลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุดได้รับรางวัลตามที่ครูผู้สอนกำหนดไว้
ทั้ง 3 เทคนิคการสร้างห้องเรียนแบบ Active Learning เป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ ( Collaborative Learning ) ที่เน้นจัดให้ผู้เรียนได้ร่วมมือและช่วยเหลือกันในการเรียนรู้ โดยแบ่งกลุ่มผู้เรียนที่มีความสามารถต่างกันออกเป็นกลุ่มเล็กๆ ซึ่งเป็นลักษณะการรวมกลุ่มอย่างมีโครงสร้างที่ชัดเจน มีการทำงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น การช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม เพื่อให้ตนเอง และสมาชิกทุกคนในกลุ่มประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด
เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท. Active Learning อื่น ๆ ได้ที่ >>> คลิก <<<
เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่น ๆ ได้ที่ >>> คลิก <<<
บทความที่เกี่ยวข้อง