วิชา นอกห้องเรียน ที่เด็กควรเรียน

 
การเรียนรู้ที่แท้จริงไม่ควรถูกตีกรอบแค่หลักวิชาการเท่านั้น โดยวิชาในห้องเรียนที่เน้นกลุ่มสาระการเรียนรู้เป็นหลัก เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาต่าง ๆ ในปัจจุบันเด็กยุคใหม่ควรเสริมทักษะการเรียนรู้ด้วยวิชานอกห้องเรียน เพื่อเพิ่มทักษะการใช้ชีวิตที่พวกเขาต้องพบเจอและนำไปปรับใช้ได้จริงในอนาคต
 

เคยตั้งคำถามในใจไหมว่า…การเรียนรู้ตามหลักสูตรกลุ่มสาระวิชาต่าง ๆ ตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตจริงทั้งหมดหรือไม่ ในขณะที่โลกปัจจุบันผู้คนต่างใช้ชีวิตเพื่อเอาตัวรอดจากทักษะความสามารถรอบตัว วิชานอกห้องเรียนคือการเรียนรู้ที่เสริมการใช้ชีวิตได้จริง ซึ่งผู้เรียนเองก็ได้ประโยชน์เพื่อนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต บางครั้งวิชาในห้องเรียนไม่ได้ตอบโจทย์ผู้เรียนทุกคนเสมอไป และอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้เด็กยุคใหม่ใช้ชีวิตได้กับโลก ณ ปัจจุบัน

ตัวอย่างวิชานอกห้องเรียนที่ปลูกฝังทักษะการเรียนรู้ใหม่ ๆ ให้กับเด็กไทย เพื่อให้นำไปปรับใช้และดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสม

 

วิชาการมีวิจารณญาณในการเสพสื่อ

สื่อโซเชียลในโลกใบนี้ช่างน่ากลัวอย่างที่ทุกคนรับรู้ ครูหรือผู้ปกครองจะคอยห้าม ควบคุมหรือติดตามตลอดเวลาคงเป็นไปได้ยาก ซึ่งการเข้าถึงข้อมูลเพียงแค่เซิร์ชและคลิก เพียงไม่กี่วินาทีข้อมูลทุกอย่างก็อยู่ในมือแล้ว โดยวิชานี้ในสหรัฐอเมริกาได้มีการจัดให้วิชานี้บรรจุเป็นทักษะพื้นฐานที่ผู้เรียนควรศึกษา เพื่อสอนให้รู้เท่าทันสื่ออย่างมีสติ แยกแยะข้อมูลเท็จกับข้อมูลจริงคิดวิเคราะห์ได้อย่างรอบคอบ สอนให้มีความรู้ในเรื่องสื่อและเข้าใจถึงความสำคัญของสื่อ เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนให้เลือกใช้สื่ออย่างถูกต้อง อิสราเอลก็จัดให้มีการเรียนการสอนวิชานี้ด้วยพร้อมสอนให้เด็ก ๆ เรียนรู้วิธีปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล วิธีคัดกรองและการรักษาความปลอดภัยของตัวเอง

 

วิชาดึงสติ

สติมาปัญญาเกิด สติเตลิดมักเกิดปัญหา ตัวอย่างมีให้เห็นได้มากมายจากสังคมในปัจจุบัน จากบุคคลรอบตัว ข่าวสังคมบ้านเมือง เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดจากความเครียดมักเกิดจากการจัดการอารมณ์ตนเองไม่ได้ ซึ่งในอังกฤษได้จัดวางวิชานี้เริ่มต้นให้เด็กอายุ 8 ปี ขึ้นไปได้เรียนรู้และสนับสนุนการเรียนจัดการความคิด ควบคุมอารมณ์ รู้จักการปกป้องตนเองรวมถึงวิธีการผ่อนคลายความเครียด การมีสติที่ดีสามารถพัฒนาทักษะการควบคุมจากแรงกระตุ้น และจัดการความคิดที่เป็นกังวลได้ดีขึ้นเพื่อสุขภาพจิตที่ดีของเด็กยุคใหม่

 

วิชารับมือกับความผิดหวัง

เมื่อคาดหวังก็ย่อมมีผิดหวัง เพราะทุกความสำเร็จมีความคาดหวังอยู่เสมอ สิ่งที่ควรสอนเด็กได้เรียนรู้จากทักษะนี้ คือ ถ้าล้มแล้วจะลุกสู้ต่อควรทำอย่างไร หรือเมื่อแพ้จากการแข่งขันจะรับมือและยอมรับผลได้อย่างไร เด็กควรเรียนรู้การรับมือกับความผิดหวัง เพราะในชีวิตต้องได้เจอกับปัญหานี้ไม่ช้าก็เร็ว มันคือการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ยิ่งเจอกับความผิดหวังมากเท่าไร ยิ่งแข็งแกร่งและเข้าใกล้เส้นชัยมากขึ้นเท่านั้น ถ้าเราสร้างความเข้าใจให้กับเด็กพร้อมปรับทัศนคติที่ดีว่าสิ่งเหล่านี้คือภูมิต้านทานในชีวิตให้พวกเขาได้มุ่งมั่น ตั้งใจ แก้ไขปรับปรุง พัฒนา เพื่อความสำเร็จในวันข้างหน้า

 

วิชาทักษะการเอาชีวิตรอด

โลกที่อยู่ยากกับการดูแลตัวเองและเพื่อนร่วมโลกให้อยู่รอด ทักษะการเอาตัวรอดจากสถานการณ์ต่าง ๆ เป็นสิ่งสำคัญเมื่อเด็กเผชิญกับวิกฤตที่อยู่ตรงหน้า ควรเรียนรู้ทักษะนี้ในเบื้องต้น เช่น การปฐมพยาบาล ในโรงเรียนอาจมีการเสริมการเรียนรู้ทักษะนี้ไปบ้างแล้ว แต่อาจจะไม่ลงลึกทุกสถานการณ์ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากในการเอาตัวรอดให้เด็กได้เตรียมความพร้อม และควบคุมในการจัดการกับสถานการณ์อันตรายได้ สิ่งที่เด็กได้นอกจากจะช่วยเหลือดูแลตัวเองได้แล้วสามารถช่วยเหลือบุคคลอื่น ๆ ได้ด้วย

 

วิชาโยคะ

เราอาจมองว่าโยคะเป็นอีกหนึ่งคลาสของการออกกำลังกายของผู้ใหญ่ แต่รู้หรือไม่ วิชาโยคะ สามารถช่วยให้เด็กฝึกความอดทนและเรียนรู้การจัดการกับความขัดแย้ง รู้วิธีที่จะสื่อสารด้านอารมณ์ทำจิตใจให้สงบ และยังลดความรุนแรงได้ดีอีกด้วย ซึ่งในต่างประเทศ มี 3 ประเทศ ที่ได้มีการจัดชั้นเรียนวิชาโยคะ ได้แก่ อังกฤษ ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา โดยจัดชั้นเรียนให้เด็กเข้าร่วม 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 40 นาที ทั้งนี้พวกเขาเล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการเรียนการสอนทักษะในด้านนี้เป็นอย่างมาก

 
 

ตัวอย่างทั้ง 5 วิชานอกห้องเรียนที่เด็กควรเรียน สามารถนำไปสอดแทรกไว้ในวิชาที่สอนตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ได้ โดยบูรณาการความรู้เข้าด้วยกันและคงจะดีไม่น้อยถ้าวิชานอกห้องเรียนจะเป็นหลักสูตรใหม่ที่เพิ่มเข้าไปในระบบการศึกษาได้จริง นอกจากจะสอนตามหลักสูตรวิชาที่มีในห้องเรียนตามเป้าหมายที่เด็กควรรู้แล้ว ควรส่งเสริมทักษะรอบตัวการใช้ชีวิตเข้าไปด้วย เพื่อให้เด็กเรียนรู้ชีวิตจากการทดลองฝึกฝนตั้งแต่ยังเด็ก ตอบโจทย์การพัฒนาเด็กในยุคใหม่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

 

แหล่งอ้างอิง

 

 
 
แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง