สรุปให้รู้ตามทันโลก ep.26 AGI (Artificial General Intelligence) ปัญญาประดิษฐ์ที่อาจมาแทนมนุษย์ได้จริงในอนาคต

 

 

AGI (Artificial General Intelligence) 
ปัญญาประดิษฐ์ที่อาจมาแทนมนุษย์ได้จริงในอนาคต

 

 

 


                 

 

 

 

สรุปให้รู้ตามทันโลก อนาคตการศึกษา

   EP.26 AGI (Artificial General Intelligence)

ปัญญาประดิษฐ์ที่อาจมาแทนมนุษย์ได้จริงในอนาคต

 

                      AI เป็นประเด็นร้อนของสังคมมาตลอด ทั้งในแง่บวก เช่นการทำให้มนุษย์สะดวกสบาย เข้ามาพัฒนาด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะสายสุขภาพที่มีสถิติบุคลากรขาดแคลนทั่วโลก ทำให้การทำงานง่ายและแม่นยำมากขึ้น หรือในแง่ลบอย่างการสร้างคอนเทนต์ภาพ เสียง และวิดีโอที่ถูกมองว่าทำให้คุณค่าของงานศิลป์ลดลง เรื่องความน่ากลัวว่าสามารถทำวิดีโอปลอมออกมาระบาดเป็นเฟคนิวส์เพื่อสร้างความเกลียดชังต่อกัน โดยเฉพาะเรื่องของการเมืองและสงคราม หรือประเด็นสำคัญอย่างการจะเข้ามาแทนที่มนุษย์และทำให้ตกงานมากมายในอนาคต แต่มนุษย์จะตกงานได้จริงไหมและจาก AI ตัวไหน?

 

                      ชวนมาทำความรู้จัก AGI (Artificial General Intelligence)[1] ปัญญาประดิษฐ์รูปแบบหนึ่งที่ถูกพูดถึงด้วยความกังวลว่ามันจะเข้ามาแทนที่มนุษย์ ซึ่ง AGI หรือ General AI เป็น AI ที่มีความสามารถในการคิด ทำความเข้าใจ เรียนรู้ และประยุกต์ใช้ความรู้ต่าง ๆ มาแก้ปัญหาได้เอง มีการคาดการณ์ว่าหากพัฒนาจนสมบูรณ์มันจะมีความสามารถหลากหลาย เช่น มีประสาทสัมผัสการรับรู้ (Sensory perception) มีทักษะในการเคลื่อนไหว (Fine motor skills) มีความเข้าใจภาษา และสามารถประมวลผลอย่างเป็นธรรมชาติ (Natural language processing and understanding) มีความสามารถในการนำทาง (Navigation) มีความสามารถในการแก้ปัญหา (Problem-solving) มีอารมณ์และทักษะการเข้าสังคม (Social and emotional engagement) และมีความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ซึ่งทั้งหมดนี้ถือว่าใกล้เคียงหรือเทียบเท่ากับมนุษย์จริงเลย

 

                แล้วมันจะเกิดขึ้นได้จริงในเร็ว ๆ นี้หรือเปล่า?

ยังคงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในวงการวิทยาศาสตร์ เนื่องจากนักพัฒนา AI บางส่วนมองว่า AGI อาจไม่เกิดขึ้นภายในปี 2300 เพราะว่าต้องใช้วิทยาการ ความรู้ และเงินทุนอย่างมาก แต่ในทางกลับกันก็มีความเห็นต่าง เช่น Richard Sutton อาจารย์จากภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) ของมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ต้า ได้กล่าวไว้เมื่อปี 2017 ว่า “AI ที่จะมีทักษะในการทำความเข้าใจเทียบเท่ามนุษย์นั้น จะเป็นความสำเร็จอีกขั้นของวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดขึ้นได้ในปี 2030 (25%) หรือในปี 2040 (50%) หรือไม่มีโอกาสจะเกิดขึ้นเลย (10%)”

 

                   ในการประชุมประจำปีของ World Economic Forum ในมกราคมปี 2024[2] ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ได้พูดถึงประเด็นของ AGI อย่างหลายมุมมอง โดย Arvind Krishna ซีอีโอของ IBM กล่าวว่า “มันจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อพนักงานออฟฟิศหรือมนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย (White Collar) แม้ว่าจะเป็นงานที่ใช้กระบวนการคิด ไม่ว่าจะเป็นนักฟิสิกส์ นักคณิตศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ แพทย์ หรือนักเขียนก็ตาม”

                 

                  รายงานความเห็นของพนักงานกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)[3] พบว่าพนักงานทั่วโลกอาจได้รับผลกระทบจากการเข้ามาแทนที่ของ AI ถึง 40% และเพิ่มขึ้นเป็น 60% ในประเทศที่พัฒนาแล้วโดยเฉพาะคนงานหญิงและผู้ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย แต่ก็มีแนวโน้มในด้านดีหากกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอาจช่วยเพิ่มการเติบโตและค่าจ้างได้

 

Sam Altman ซีอีโอของ OpenAI ได้กล่าวถึง AGI ที่เขากำลังพัฒนาอยู่ว่ามันใกล้เป็นรูปเป็นร่างแล้ว แต่ก็พูดถึงประเด็นที่ทั่วโลกตื่นตระหนักเช่นกันว่า “มันจะเปลี่ยนแปลงโลกและงานน้อยกว่าที่เราคิด” เพื่อลดความกังวลของทุกคนและกล่าวถึงความตั้งใจแรกของ AI ว่ามันถูกสร้างมาเพื่อช่วยเหลือมนุษย์ นอกจากนี้ Yann LeCun[4] หัวหน้าทีม AI ของ Meta กล่าวถึงประเด็นของ AGI ว่า "OpenAI ไม่ได้ผูกขาดเทคโนโลยี พวกเขาไม่สามารถสร้าง AGI ได้ด้วยตัวคนเดียวถ้าปราศจากโมเดลโอเพนซอร์ส โลกยังรอการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ อีกมากมายและการพัฒนา AGI ยังต้องใช้เวลาอีกนาน"

 

                      ในปัจจุบัน AI ยังคงมีข้อจำกัดและขอบเขตของการใช้งานอยู่แม้ว่าเทคโนโลยีนี้จะก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจนน่ากังวลก็ตาม เรามักจะพูดถึงการถูกแทนที่แต่ยังไม่ได้มองถึงประโยชน์ของ AI ที่มากกว่าความสะดวกสบาย เพราะการเข้ามาของ AI ก็สร้างงานใหม่ ๆ ให้กับมนุษย์เช่นกัน

 

จากรายงานเรื่อง Jobs of Tomorrow ของ World Economic Forum [5] พบว่ามีงานใหม่ ๆ เกิดขึ้นจากการเข้ามาของ AI ข้อมูลพบว่าการเติบโตด้านอาชีพเกี่ยวกับ AI และ machine learning specialist จะขยายตัวสูงถึง 39% ภายใน 5 ปี โดย 3 รูปแบบหลัก ๆ ที่ถูกมองว่าเป็นอาชีพที่เกิดขึ้นมาใหม่จาก AI ได้แก่

  • ผู้ฝึกสอน (trainers) การใช้งาน AI ในตอนเริ่มต้นไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นต้องมีการฝึกสอนวิธีใช้ต่าง ๆ ให้กับผู้ใช้งานและตรวจสอบการทำงานของระบบว่าใช้งานได้ถูกต้องหรือไม่ โดยส่วนใหญ่ผู้ฝึกสอนมักขยายมาจากอาชีพผู้พัฒนา AI และทำงานอยู่เบื้องหลัง เช่น สาขาวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ที่ทำงานเกี่ยวกับโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM)
  • ผู้อธิบาย (explainers) คือการขยายเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้เข้าถึงผู้ใช้งานจริงได้ง่ายขึ้นด้วยการออกแบบประสบการณ์การใช้งานเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น อาชีพด้าน UX/UI เป็นต้น
  • ผู้สนับสนุน (sustainers) คือผู้ที่ตรวจสอบการทำงานของ AI และควบคุมการใช้งานให้ถูกต้อง เช่นอาชีพ Prompt engineering เป็นต้น โดย 3 หน้าที่หลัก ๆที่เห็นได้ชัด ได้แก่ Content creators คือป้อนข้อมูลเพื่อให้ AI จดจำ เหมือนเป็นผู้ใช้งานโปรแกรมจริงและแจ้งกับนักพัฒนา AI ถึงสิ่งผู้ใช้งานต้องการ ข้อมูลที่ถูกต้อง หรือเทคโนโลยีที่ AI ขาดไป Data curators คือผู้จัดสรรข้อมูลก้อนใหญ่ให้กับ AI โดยต้องตรวจสอบข้อมูลให้มีประสิทธิภาพสูง เพื่อข้อมูลที่ดีส่งผลให้การประมวลผลของ AI ดีเช่นกัน Ethics and governance specialists คือผู้ที่ควบคุมดูแลการใช้งาน AI ให้ข้อมูลต่าง ๆ เป็นข้อมูลจริงที่มีคุณภาพอยู่เสมอ ไม่สร้างเนื้อหาอคติ เป็นอันตรายที่ทำให้เกิดการปลูกฝังที่ผิดจริยธรรม

 

                  อาจดูเหมือนว่าจะเป็นบทบาทสายงานด้านวิทยาศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ แต่จริง ๆ แล้วในทั้ง 3 รูปแบบมีอาชีพอื่น ๆ เป็นฟันเฟืองในการทำงานให้สำเร็จ เช่น รูปแบบของผู้อธิบาย เมื่อสร้าง UX/UI แล้วต้องส่งต่อให้กับกราฟิกให้ออกแบบหน้า Interface การใช้งานให้สวยงาม เป็นต้น นอกจากนี้ใน Forum’s Future of Jobs Report 2023[6] ยังพูดถึงประเด็นการเติบโตของสาขาอาชีพอื่น ๆ อีกด้วย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยและอาจารย์มีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 10%

 

A graph showing which jobs are in decline or growth due to AI.

รูปภาพจาก white papers : Jobs of Tomorrow: Large Language Models and Jobs

 

กล่าวได้ว่ามันคือ “การทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์” สิ่งนี้เป็นสัจธรรมตามแนวคิดเศรษฐศาสตร์ ของโจเซฟ ชุมปีเตอร์ในปี 1942[7] แม้ว่างานหรืออาชีพเก่าจะหายไปแต่อาชีพใหม่ก็จะถูกสร้างขึ้นและขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาแทนที่ตัวเดิม

 

               ในมุมมองของ Hadi Partovi ผู้ก่อตั้งและ CEO, Code.org[3] กล่าวถึงความเสี่ยงในโลกการทำงานจริงว่า “การสูญเสียงานให้กับคนที่รู้วิธีใช้ AI เป็นการแทนที่ที่ยิ่งใหญ่กว่ามาก ไม่ใช่ว่าคนงานจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์หรือเครื่องจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพนักงานออฟฟิศ อาจเป็นการแทนที่จากคนทำงานที่มีการศึกษาดีกว่าหรือทันโลกมากกว่า สามารถทำงานมีประสิทธิผลเป็นสองเท่าหรือสามเท่าได้” หรือก็คือมนุษย์ควรกลัวคนเก่งที่สามารถนำ AI มาประยุกต์ใช้กับการทำงานได้ดีกว่ากลัวเครื่องจักรนั่นเอง

   หากไม่อยากถูกแทนที่หรือกลืนกิน “ทักษะ” เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ในการประชุมของ World Economic Forum[2] ได้พูดถึงทักษะสำคัญที่ต้องมีในปี 2024

  •  Critical thinking การคิดเชิงวิเคราะห์ Arvind Krishna ประธานบริษัท IBM ได้แสดงความคิดเห็นว่าหากเหล่าพนักงานจะถูกครอบงำด้วย AI การเสริมทักษะความคิดเชิงวิเคราะห์เป็นสิ่งที่สำคัญมากเพื่อให้ทุกคนสามารถแยกแยะสิ่งต่าง ๆ ได้ดี
  • Continuous learning การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง คือการไม่หยุดเรียนรู้เพื่ออัปเดตตัวเองอยู่เสมอโดยเฉพาะกับเทคโนโลยีและพร้อมจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

Omar Sultan Al Olama รัฐมนตรี AI แห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ยกตัวอย่างถึงการสอน AI ในระบบการศึกษาของประเทศว่า "ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เป็นต้นไป จะได้เรียนรู้การเขียนโค้ด ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เป็นต้นไป จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ว่าคืออะไร มีข้อบังคับและจริยธรรมอย่างไร เพื่อเสริมให้พวกเขาเข้าใจว่าเส้นทางอาชีพของพวกเขาจะเป็นเช่นไร และ AI จะส่งผลกระทบต่อมัน”

 

             หากคุณลองจินตนาการดูว่ามีเทคโนโลยี AI ที่อาจทำงานได้เท่าเทียมหรือเหนือกว่ามนุษย์เกิดขึ้นจริงในอนาคตอันใกล้นี้ มันจะทำให้โลกเราเป็นอย่างไร? โดยเฉพาะกับการศึกษา จากสถิติในอดีตทักษะของยุคหนึ่งสามารถใช้งานได้ 30 ปี แต่ในปัจจุบันเหลือแค่ 7 ปี เท่านั้นหมายความว่าคนยุคใหม่ต้องพัฒนาเรื่องทักษะต่าง ๆ โดยเฉลี่ยแล้ว 5 ครั้งตลอดอายุการทำงาน เพื่อให้อยู่รอดได้ในสังคม ไม่ใช่แค่เด็กที่ต้องเสริมทักษะเหล่านี้ แต่เป็นทุกคนในยุคปัจจุบันเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะกับครูที่ต้องเป็นพื้นฐานสำคัญให้กับเด็กยุคใหม่ หากคุณครูไม่ปรับตัวให้เท่าทันเทคโนโลยี การสอนในยุคหลัง ๆ อาจเปลี่ยนไป เหล่าเด็ก ๆ ที่เกิดขึ้นใน Generations ใหม่หลังจากที่ AGI สมบูรณ์ พวกเขาอาจถูกสอนโดยคุณครู AGI เพื่อประสิทธิภาพการสอนแบบรายบุคคลก็เป็นได้ คุณคิดอย่างไรกับเรื่องนี้? มาแลกเปลี่ยนคำตอบไปกับอักษรครับ

         

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท. Active Learning อื่น ๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่น ๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

 
 

 

 

 

 

แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง