สร้าง Self-Esteem สำคัญกับเด็ก LD มากแค่ไหน ทำไมต้องสร้างความแข็งแรงทางจิตใจให้เด็ก LD!

 

สร้าง Self-Esteem สำคัญกับเด็ก LD มากแค่ไหน

ทำไมต้องสร้างความแข็งแรงทางจิตใจให้เด็ก LD!

 

 

 

 

◾ หลักจิตวิทยาที่ว่าด้วยการเห็นคุณค่าของตัวเองหรือ Self-Esteem จึงเข้ามามีบทบาทกับเด็ก LD เพราะการอ่าน เขียนไม่ออก หรือการคิดเลขช้าตามไม่ทันเพื่อนทำให้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ไม่ได้รับการยอมรับหรือคำชมจากพ่อ แม่ ครู ทำให้เด็กกลุ่มนี้มักจะ Self-Esteem ต่ำ
◾    เด็ก LD ไม่ใช่เด็กขี้เกียจหรือไม่ชอบเรียนหนังสือ แค่เพียงพวกเขา ‘บกพร่อง’ ในจุดที่คนทั่วไปมองว่า ‘ไม่ใช่เรื่องยาก’ ทำไมถึงทำไม่ได้ ทำให้เด็กสูญเสียคุณค่าในตัวเอง
◾    การดูแลช่วยเหลือนอกจากความเข้าใจของคนรอบข้างแล้ว ยังต้องอาศัยการจัดการเรียนการสอนควบคู่ไปกับการนำเอาหลักจิตวิทยาเด็กเข้ามาเสริมในการสอนด้วย

 

 

 

ไอน์สไตน์กล่าวไว้ว่า "เราทุกคนเป็นอัจฉริยะ แต่หากเราตัดสินปลาจากความสามารถในการปีนต้นไม้ ปลาตัวนั้นก็ต้องใช้ชีวิตอยู่กับความเชื่อที่ว่าตัวเองโง่งมไปตลอดชีวิต" เด็ก LD ก็เหมือนปลาตัวนั้นที่มีความสามารถแค่เพียงเขา ‘บกพร่อง’ ในจุดที่คนทั่วไปมองว่า ‘ไม่ใช่เรื่องยาก’ ทำไมทำไม่ได้ แต่ถ้ามองกันดี ๆ เด็ก LD จะมีความถนัดและพรสวรรค์เป็นของตัวเอง เพียงแค่เราต้องให้โอกาสและส่งเสริมเขาไปในด้านนั้น เช่นเด็กบางคนคิดเลขไม่ได้ แต่ชอบวาดรูป ก็ส่งเสริมด้านศิลปะ บางคนชอบดนตรี กีฬาก็ส่งเสริมด้านนั้นไป สิ่งสำคัญคือการเปิดใจยอมรับและช่วยเหลือในสิ่งที่เขาขาดและส่งเสริมจุดเด่นในตัวเขาให้ตรงจุด

 

การดูแลช่วยเหลือนั้นสิ่งสำคัญเป็นอันดับแรก คือ ความเข้าใจจากคนรอบข้าง เพราะเด็ก LD จะถูกตัดสินว่าเป็นเด็กไม่ชอบเรียนหนังสือ ขี้เกียจ และทำให้สอบตกบ่อย ๆ ทำให้พวกเขาสูญเสียคุณค่าในตัวเอง ซึ่งบางคนกลายเด็กมีปัญหาซึมเศร้า วิตกกังวล สุดท้ายอาจบานปลายถึงขั้นให้ถูกออกจากโรงเรียน เมื่อออกจากระบบการศึกษาพวกเขาก็ไปเข้ากลุ่ม มีปัญหาติดยา ติดเกม ฉะนั้นความเข้าใจของคนรอบข้างมีความสำคัญต่อพวกเขามาก ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การจัดการเรียนการสอนเพียงอย่างเดียวแต่จะต้องเอาหลักจิตวิทยาเด็กเข้ามาเสริมในการสอนด้วย

 

หลักจิตวิทยาที่ว่าด้วยการเห็นคุณค่าของตัวเองหรือ Self-Esteem จึงเหมาะกับเด็ก LD มากที่สุด บทความนี้จะมาเฉลยให้ฟังว่า Self-Esteem สร้างให้เด็ก LD มีความสุขตลอดชีวิตได้อย่างไร

 

#Self-Esteem คืออะไร?

Self = ตัวเอง ส่วน Esteem = ความเคารพ เมื่อรวมกันจะมีความหมายว่า “การเคารพและเห็นคุณค่าในตัวเอง” การที่เด็กมี Self-Esteem จะทำให้พวกเขารู้สึกดีกับตัวเอง เมื่อเด็ก ๆ ทำอะไรสำเร็จได้ด้วยตัวเอง หรือเมื่อรู้ว่าตัวเองทำได้ พวกเขาจึงมีแนวโน้มที่จะพยายามทำเรื่องใหม่ ๆ ถึงแม้จะล้มเหลวในครั้งแรกก็อยากลองทำอีกครั้งเพราะความภูมิใจในตัวเองทำให้พวกเขาริเริ่มที่จะทำอะไรใหม่ ๆ ไม่กลัวความล้มเหลวและอยากทำให้ดีขึ้นแต่ถ้าหากเด็กมี Self-Esteem ต่ำนั้นก็หมายความว่าเขาจะมีความภาคภูมิใจในตัวเองในระดับที่ต่ำ เด็กจะไม่มั่นใจในตัวเอง ปิดกั้นการเรียนรู้สิ่งใหม่เพราะเชื่อว่าตนเองทำไม่ได้พวกเขาจะยอมแพ้อะไรง่าย ๆ และไม่สามารถรับมือกับความล้มเหลวได้

 

 

 

#ทำไมเด็ก LD ต้องการ Self-Esteem?

เพราะเด็กกลุ่มนี้มักจะ Self-Esteem ต่ำจากการอ่าน-เขียนไม่ออก หรือการคิดเลขช้าตามไม่ทันเพื่อน ทำให้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จไม่ได้รับการยอมรับหรือคำชมจากพ่อ แม่ หรือครู ขาดความภาคภูมิใจและความมั่นใจในตนเอง อาจจะเกิดมาจากความสัมพันธ์ในครอบครัวหรือจากการเรียน สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กขาดความเชื่อมั่นว่าตัวเองมีความสามารถ เมื่อถูกกระทำบ่อย ๆ Self-Esteem จะถดถอยทำให้เกิดปัญหาด้านพฤติกรรมตามมาในช่วงวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่ต้องการการยอมรับจากผู้อื่น

 

#เทคนิคสร้าง Self-Esteem ให้กับเด็ก LD

1.สื่อสารเชิงบวกไม่เผลอพูดคำทำร้ายจิตใจเด็ก เลิกตำหนิ เลิกออกคำสั่ง เลิกบ่น เพราะการสื่อสารเชิงลบ จะทำให้เด็กมี Self-Esteem ต่ำทำให้เด็กรู้สึกด้อยค่าในตัวเอง

2.เป็นแม่แบบของคนที่มี Self-Esteem คือต้องรู้สึกภูมิใจและเห็นคุณค่าในตัวเองก่อน เพราะแบบอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอนเสมอ

3.เสริมสร้างจุดแข็ง แก้ไขจุดอ่อน เพราะเด็ก LD มีความบกพร่องทางการอ่านเขียน และคำนวณที่ต้องช่วยเหลือและดูแลซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของพวกเขา แต่เด็ก LD มีสติปัญญาหรือ IQ ปกติ ดังนั้นเด็ก LD จึงมีความถนัดและพรสวรรค์ในด้านอื่นซึ่งเราอาจจะต้องช่วยพวกเขาค้นหาและสร้าง Self-Esteem ว่าเขาสามารถทำได้และทำได้ดีด้วย หรือสร้างกำลังใจให้พวกเขารู้ว่ายังมีคนรักและคอยสนับสนุนพวกเขาอยู่ ถึงแม้เด็กบางคนอ่านเขียนไม่เก่ง แต่เก่งด้านศิลปะ ก็ส่งเสริมในสิ่งที่เป็นจุดแข็งของพวกเขา เมื่อเด็ก ๆ ค้นพบสิ่งที่พวกเขารักเด็กจะทำได้ดีและรู้สึกภูมิใจในสิ่งที่ตนเอง

4.เปิดโอกาสให้เด็กได้ลองทำสิ่งใหม่ ๆ เพราะจะช่วยให้เด็ก LD มองหาความถนัดของตัวเองได้ดี ยิ่งลองสิ่งใหม่หรือทำในสิ่งที่ไม่เคย แม้ว่ายังทำได้ไม่ดีในสายตาใคร นั่นไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญคือเด็กได้ลงมือทำด้วยตนเอง และควรให้โอกาสเขาได้ทำต่อไป อย่ากังวลถึงผลลัพธ์ เช่น ให้เด็กลองเล่นกีฬาที่ไม่เคยเล่น แม้ว่าจะยังทำได้ไม่ดีแต่พวกเขาจะภูมิใจที่ตัวเองทำได้ นอกจากนั้นอย่าลืมที่จะชื่นชมสิ่งที่เด็กทำ ไม่ตำหนิเขา สิ่งเหล่านี้จะสร้างความภาคภูมิใจในตัวเองให้กับเด็กได้ดี

 

Self-Esteem เกิดขึ้นผ่านการเรียนรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ ซึ่งการสร้างความภาคภูมิใจให้เด็ก LD ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงเราต้องใส่ใจและช่วยเหลือตั้งแต่เริ่มต้น ให้พวกเขาได้เจอประสบการณ์ต่าง ๆ ได้เรียนรู้ด้วยตัวเองแล้วเขาจะค้นหาตัวเองเจอ สิ่งเหล่านี้จะสอนให้พวกเขาเติบโต มีความสุข คิดเป็น อยู่เป็น และเอาตัวรอดให้ได้อย่างเหมาะสม

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

เลี้ยงลูกตามหลัก นักสุขภาพจิต

บทสัมภาษณ์ ดร.ประภาศรี นันท์นฤมิต นักจิตวิทยา สาขาวิชาพัฒนาการและการเจริญเติบโต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท. อื่น ๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่น ๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

 
 

 

แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง