กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว…เราเคยโตมากับนิทาน

 

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว…เราเคยโตมากับนิทาน

 
 
 
STEM

 

นิทานจุดเริ่มต้นพัฒนาการเด็ก

หากย้อนเวลากลับไป ยังจำได้หรือไม่ เด็กน้อยคนนั้นเคยมีนิทานคู่ใจ หยิบมาอ่านมาเล่าทีไร มันช่างดีต่อใจเหลือเกิน มั่นใจได้เลยว่านิทานเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เด็กอยู่นิ่ง จดจ่อ ตั้งใจฟัง กล่อมให้นอนหลับฝันดี ช่วงเวลาของการฟังนิทานเปรียบเหมือนได้สร้างโลกใบใหม่ ตื่นตาตื่นใจ สนุกไปกับเหล่าสัตว์นานาชนิด ธรรมชาติ หรือสิ่งมีชีวิต รวมไปถึงความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร สอดแทรกเรื่องราวชีวิตทั้งการเอาตัวรอด การผจญภัย รวมถึงอุปสรรคต่าง ๆ ที่ต้องพบเจอ นิทานทำให้คนเราสามารถจินตนาการได้ไกลในช่วงขณะหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้นในบางครั้งมีความใฝ่ฝันอยากสวมบทบาทตัวละครในเรื่องโปรด เพียงนิทานเรื่องเดียวก็ให้อะไรมากมาย แฝงไปด้วยเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และข้อคิดสอนใจ

นี่หรือเปล่า! จุดเริ่มต้นพัฒนาการเด็กที่แท้จริง นิทานที่สร้างประโยชน์พร้อมปลูกฝังการเรียนรู้

  • ปลูกฝังให้เด็กเป็นคนช่างคิด พื้นฐานของการสร้างเด็กให้มีความมั่นใจ กล้าคิด และกล้าแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่ถูกที่ควร ถูกที่ ถูกเวลา
  • ทำให้เด็กได้เรียนรู้ด้านภาษา รู้จักคำ ความหมายของคำ รู้จักประโยค และความหมายของประโยค ปูพื้นฐานทักษะด้านการฟัง พูด อ่าน เขียน
  • กระตุ้นจินตนาการของเด็ก น้ำเสียงที่ผู้ใหญ่เล่านิทานให้เด็กฟังนั้นจะช่วยเสริมสร้างจินตนาการให้เด็กมีความตื่นเต้นไปกับเรื่องราว
  • ช่วยบ่มเพาะคุณธรรม และจริยธรรมให้กับเด็ก สอดแทรกข้อคิดพร้อมเรียนรู้พฤติกรรมที่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง
  • เสริมสร้างสมาธิ ในช่วงเวลาของการฟังนิทาน เด็ก ๆ จะตั้งใจฟังอย่างใจจดใจจ่อ
  • สร้างความสัมพันธ์ที่ดี มีช่วงเวลาดี ๆ ที่พ่อแม่ หรือคุณครู เล่านิทานให้เด็ก ๆ ฟัง จะเป็นช่วงเวลาแห่งความรักและความอบอุ่นเป็นการเสริมสร้างสายใยความผูกพันอันดี

 

ควรเลือกนิทานแบบใด ที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ๆ ได้รอบด้าน

นิทานพื้นบ้าน

        หลายคนอาจคิดว่านิทานพื้นบ้านนั้นไม่เหมาะสมกับเด็กยุคปัจจุบัน ในขณะที่โลกพัฒนาไปสู่ความก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย ทั้งนี้มีงานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติด้านการศึกษาปฐมวัย (International Journal of Early Years Education) พบว่าระบบการศึกษาในชนพื้นเมืองอาคัน (Akan) สาธารณรัฐกานา ใช้นิทานพื้นบ้านเป็นสื่อการเรียนการสอน โดยผ่านเทคนิคการกระตุ้นความทรงจำ เน้นการถามตอบอย่างต่อเนื่องระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ เพื่อกระตุ้นให้เด็กคิด ซึ่งผลการวิเคราะห์พบว่า เทคนิคกระตุ้นความทรงจำมีประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาทักษะการคิดในเชิงลึก จากเรื่องราวในนิทานพื้นบ้านตัวละครหลักส่วนใหญ่มักจะเป็นสัตว์ต่าง ๆ เป็นการเปรียบเปรยที่ทำให้เด็กเชื่อมโยงตัวละครกับการกระทำของมนุษย์ จึงทำให้เด็กมีส่วนร่วมในการพิจารณาหาเหตุผลจากกระทำของตัวละคร เรียนรู้การปฏิบัติตนในสังคม ช่วยให้เด็กมีจินตนาการ สร้างปฏิสัมพันธ์ในสังคม และวัฒนธรรมผ่านเรื่องเล่าเหล่านั้น

 

นิทาน 2 ภาษา

      ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญของภาษาอังกฤษอย่างชัดเจน ซึ่งในระบบการศึกษามีกรอบมาตรฐานการวัดระดับความสามารถทางด้านภาษาที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล หรือ Common European Framework of Reference for Languages (CEFR) ที่ใช้ในกลุ่มประเทศยุโรป และอีกหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย ใช้นิทาน 2 ภาษาเป็นสื่อการสอน เปิดโลกของเด็กได้กว้างขึ้น สร้างสมรรถนะด้านภาษา คำศัพท์ภาษาอังกฤษพื้นฐานที่เด็กควรต้องรู้ เรียนรู้ไปพร้อมกับรูปภาพประกอบ หากเด็กจดจำคำศัพท์ได้มากเท่าไหร่ก็จะสื่อความหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาด้านการฟัง พูด อ่าน และเขียน คำศัพท์ภาษาอังกฤษพื้นฐาน

 

นิทาน 3 ภาษา

      นิทาน 3 ภาษาเสริมสมรรถนะด้านภาษาที่สูงขึ้นอีกระดับ 2 ภาษาอาจไม่พอ ยิ่งรู้ภาษาที่ 3 ช่วยเพิ่มโอกาสในชีวิต เพิ่มทางเลือกให้กับเด็ก ๆ นิทานเรื่องเดียวที่ให้ความหลากหลาย เด็กมีความฉลาดมากขึ้น จากการที่เด็กพูดได้หลายภาษาช่วยเพิ่ม Multitasking Skill ปรับโหมดจากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่งได้อย่างรวดเร็ว มีความสามารถที่มากกว่าคนทั่วไป ยิ่งภาษาที่ซับซ้อน มีหลักไวยากรณ์ โครงสร้าง และคำศัพท์ที่เฉพาะ เสริมพัฒนาการสมองเรียนรู้ผ่านการพยายามทำความเข้าใจ และการวิเคราะห์ได้ดี มากกว่านั้นการเรียนภาษาที่ 3 เด็กจะเรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมของประเทศนั้น ๆ

   

นิทานเสริมประสบการณ์ เสริมคุณธรรม จริยธรรม

       นิทานเสริมประสบการณ์ มักมีเนื้อเรื่องที่บูรณาการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม มารยาท การปฏิบัติตนในสังคมที่ควรจะเป็น ใช้นิทานเป็นเครื่องมือของการปลูกฝังความดี เน้นพัฒนาทักษะกระบวนการคิด รู้จักคิดไตร่ตรอง พัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ การขัดเกลาจิตใจ ของเด็ก เพื่อให้เด็กเข้าใจสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ประสบการณ์ดี ๆ ที่เด็กได้จากนิทานเป็นหัวใจของการเติบโตไปอย่างมีคุณภาพ
 

วิธีการเล่านิทานแบบไหนช่วยสร้างเวลาแห่งความสุขให้กับเด็ก

  •  เลือกสถานที่ หามุมประจำในการอ่านหนังสือ สร้างบรรยากาศให้เงียบสงบในระหว่างเล่านิทาน เพื่อไม่ให้มีสิ่งรบกวน และช่วยทำให้เด็กมีสมาธิอยู่กับนิทาน
  • กำหนดช่วงเวลาในการอ่านนิทานอย่างน้อย 1 เล่ม ให้เป็นกิจวัตรประจำวัน เพื่อสร้างความคุ้นชิน และเพิ่มความสนใจในการอ่านหรือฟังนิทาน
  • ใช้น้ำเสียง และอารมณ์ให้เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง เพื่อดึงดูดให้เด็กสนใจในนิทานมากขึ้น
  • ตั้งคำถามระหว่างเล่า   ให้เด็กมีส่วนร่วมในนิทาน เน้นคำที่ต้องการให้เด็กจดจำ หรือให้เด็กชี้ที่รูปภาพตาม เพื่อเพิ่มจินตนาการ สมาธิ และการคิดวิเคราะห์
  • ให้เด็กมีส่วนร่วมในการเลือกหนังสือนิทานที่ตัวเองชอบ ช่วยฝึกให้เด็กกล้าตัดสินใจ และช่วยเพิ่มความสนใจในนิทานได้อีกด้วย

 

 

ให้การเล่านิทาน 1 เรื่อง 

สร้างพัฒนาการที่สมวัย สมองดี มีจินตนาการ

นับเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง ช่วยสร้างคุณประโยชน์ เห็นผลได้อย่างชัดเจน 


อ้างอิง

แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง