เจาะลึกเทคนิคดี สอนเด็ก LD ได้สมวัย!
เจาะลึกเทคนิคดี สอนเด็ก LD ได้สมวัย!
*ครู ผู้ปกครอง มีหน้าที่สำคัญที่จะช่วยเหลือและพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก LD ให้เหมาะสมตามวัย ซึ่งนอกจากแผนเฉพาะบุคคลหรือ IEP แล้ว ยังต้องปรับการสอนและบูรณาการเทคนิคเฉพาะกับเด็กแต่ละคนที่มากพอ เพื่อให้การสอนมีประสิทธิภาพ และช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างเหมาะสม
จากการสำรวจของสำนักการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ (สพฐ.) ได้สุ่มคัดกรองนักเรียนในระดับจังหวัดและระดับอำเภอทั่วประเทศจำนวน 9,828 โรงเรียน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของโรงเรียนทั่วประเทศ โดยใช้ KUS-Si rating scale พบนักเรียนที่สงสัยว่ามีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ จำนวน 153,354 คน หรือเฉลี่ย 15.6 คนต่อโรงเรียน ซึ่งเป็นจำนวนนักเรียนที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ นับเป็นตัวเลขไม่น้อยที่เราต้องหันกลับมาสนใจมากขึ้น ทั้งเรื่องพัฒนาการและการเรียนการสอนให้เหมาะสมตามวัย และเชื่อว่าทุกคนยังกังวลเรื่องการสอนเด็ก ๆ เหล่านี้ ว่าต้องสอนแบบไหนถึงจะเหมาะสมและพัฒนาพวกเขาได้จริง บทความนี้มีคำตอบ...
รู้จัก LD (Learning Disability)
เป็นความบกพร่องทางการเรียนรู้ 3 ด้าน คือ 1.ด้านการอ่าน 2.ด้านการเขียน 3.ด้านการคำนวณที่หลายคนอาจจะทราบดี ซึ่งเด็กที่เป็น LD เหล่านี้สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนปกติทั่วไป ถ้าได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม เมื่อโตขึ้นก็สามารถเข้าสังคมได้ หรือสามารถประกอบอาชีพได้เหมือนปกติ สำหรับแนวทางการดูแลรักษาในปัจจุบัน เมื่อได้รับการยืนยันผลการตรวจวินิจฉัยว่าเป็น LD แล้ว เราควรให้ความช่วยเหลือแบบบูรณาการ และมองปัญหาอย่างรอบด้าน โดยอาศัยความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือเด็ก ทั้งทางครอบครัว คุณครู โรงเรียนและทางการแพทย์ ซึ่งต้องมีการจัดทำแผน IEP ร่วมกันเพื่อพัฒนาเด็ก ๆ เหล่านี้ให้เหมาะสมตามวัย
จัดการเรียนการสอนด้วยวิธีการจัดแผนฯ IEP
แผน IEP คือแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล ( IEP ) ย่อมาจาก INDIVIDUALIZED EDUCATION PROGRAM คือ แผนกำหนดแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ให้ได้รับการพัฒนาตามเป้าหมายที่กำหนด ในแผนฯ จะมีการกำหนดสื่อ สิ่งอำนวยความสะดวก บริการ และความช่วยเหลือทางการศึกษา ที่สอดคล้องเหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็ก ๆ เหล่านี้โดยเฉพาะ
เพื่อช่วยให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษ ได้รับการศึกษาที่เหมาะสม ตรงจุด เน้นพัฒนาการด้านสังคม วิชาการ และความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการพัฒนาร่วมกับครู โรงเรียน และผู้ปกครอง รวมถึงเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ตามความเหมาะสมซึ่งมีทั้งหมด 6 ขั้นตอนคือ
- ขั้นเตรียมการ
- ขั้นเตรียมแผนการสอน
- ขั้นสอนและนำไปใช้
- ขั้นประเมินผลการเรียนรู้
- ขั้นสรุปและรายงานผล
- ขั้นส่งต่อ
เทคนิคการสอนเด็ก LD ตามช่วงวัย
เมื่อมีการออกแบบแผนฯ IEP ร่วมกันระหว่างครูและผู้ปกครองและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยการสังเกตจากความผิดปกติของเด็กแต่ละช่วงวัยแล้วใช้เทคนิคเสริมการสอน ดังนี้
ก่อนวัยเรียน
- มีปัญหาในการพูดคำบางคำ
- ใช้คำพูดแบบผิด ๆ
- จำทำนองเพลงหรือเสียงวรรณยุกต์ไม่ได้
- มีปัญหาในการเรียนตัวอักษร ตัวเลข สี รูปร่าง วันในสัปดาห์
- ไม่เข้าใจการทำตามกฎหรือกติกา
- จับดินสอ ปากกา หรือกรรไกร ให้ไปในทางที่ต้องการไม่ได้
- มีปัญหากับการติดกระดุมหรือซิป หรือผูกเชือกรองเท้า
การเรียนรู้ของเด็ก LD ในช่วงวัยนี้อาศัยการฝึกซ้ำย้ำบ่อย ๆ เพื่อให้เด็กเกิดการจดจำและสามารถพัฒนาการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานได้ตามวัย นอกจากนั้นครูและผู้ปกครองต้องร่วมกันส่งเสริมให้เด็กมีทัศนคติที่ดี เสริมพื้นฐานจิตใจที่ดีเพื่อเตรียมความพร้อมกับการเรียนของพวกเขา
เริ่มสอนจากสิ่งที่ง่ายที่สุดก่อน การเริ่มต้นที่ดีควรเริ่มสอนในสิ่งที่ต่ำกว่าความสามารถของเด็ก เพื่อให้เด็กมีกำลังใจ มั่นใจ และพร้อมจะเรียนในระดับยากต่อไป
ให้เด็กมีความสุขในการเรียน เด็กที่มีความสุขในการเรียนจะมองคนในแง่ดี และสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนและคนอื่นได้ เด็กจะไม่กลัวหรือกังวลว่าพวกเขาแตกต่างหรือผิดปกติจากเพื่อน ๆ ของเขา และเสริมแรงเด็กด้วยคำชมจากทุกคนให้สม่ำเสมอ เพราะเด็กจะรู้สึกมีกำลังใจและมีความพยายามมากขึ้น
สอนโดยการเน้นย้ำซ้ำทวน เด็ก LD จะเรียนรู้ช้า เรียนได้หน้าลืมหลัง ควรใช้วิธีการกระตุ้นความจำ เช่น ให้เด็กทำกิจกรรมนั้นซ้ำบ่อย ๆ ด้วยวิธีการรับรู้จากการสัมผัสทั้ง 5
ถ้าเด็กมีปัญหาด้านการอ่าน ให้พวกเขาอ่านหรือฟังนิทาน แล้วถามคำถาม เช่น ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ทำไม เป็นการค่อย ๆ ให้จำรายละเอียดของเรื่องและฝึกให้เด็กคิด
ถ้าเด็ก ๆ อยู่ไม่นิ่ง สมาธิสั้น ให้เด็กได้เคลื่อนไหวเมื่อเริ่มมีอาการ เช่น ให้ไปล้างมือ หรือให้ทำกิจกรรมที่เด็กชอบ เช่น วาดรูป 2-3 นาที แล้วกลับมานั่งเรียนใหม่
ฝึกเรื่องทิศทาง และการเรียงลำดับ ฝึกฝนพวกเขาด้วยกิจกรรมที่พวกเขาต้องทำในชีวิตประจำวัน เช่น บอกชื่อวันในหนึ่งสัปดาห์ เริ่มต้นจากวันใดก็ได้ที่ไม่ใช่วันอาทิตย์หรือวันจันทร์แล้วบอกชื่อเรียงกลับตามลำดับ บอกวิธีการทำงาน เช่น วิธีหุงข้าว วิธีทำความสะอาดบ้าน บอกทางไปโรงเรียน ไปบ้านเพื่อนหรือไปสวนสัตว์
5-9ขวบ
- ไม่สามารถเชื่อมโยงคำกับเสียงอ่านของคำนั้นได้
- ไม่สามารถผสมเสียงพยัญชนะกับสระให้เป็นคำพูดได้
- สับสนคำง่าย ๆ เวลาอ่าน เขียนคำผิดซ้ำ ๆ
- มีปัญหากับโจทย์เลขทั่วไป
- บอกเวลาไม่ได้
- เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ได้ช้า
ให้เวลามากขึ้น เพราะเด็กช่วงวัยนี้จะทำงานช้า เรียนช้าการให้ทำการบ้านจึงควรมีเวลาให้เด็กมากกว่าเด็กทั่วไป นอกจากนั้นไม่ควรให้เด็กทำการบ้านครั้งละมาก ๆ แต่อาจบ่อยขึ้น
ให้เด็กเรียนจากเพื่อน (เพื่อนช่วยเพื่อน) เพราะเด็ก LD เรียนรู้คนเดียวได้ไม่ดีแต่จะเรียนรู้ได้ดีเมื่อเรียนกับเพื่อน
ใช้หนังสือที่เหมาะสม การปรับหนังสือหรือเอกสารการเรียนการสอนของเด็ก ๆ ให้เหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญ เช่น พิมพ์ตัวอักษรขนาดใหญ่ขึ้น เน้นคำหรือข้อความสำคัญในหนังสือ ให้ทำแบบฝึกหัดคณิตศาสตร์ลงในกระดาษกราฟ หรือให้เขียนในกระดาษที่มีเส้นบรรทัด เป็นต้น
ถ้าเด็ก ๆ สับสนกับตัวอักษร ให้ใช้รูปภาพในการสื่อสารร่วมกับตัวหนังสือเช่น ก ภ ถ ให้มีรูปภาพไก่ เรือสำเภา ถุง และให้ฝึกอ่านออกเสียงไปด้วย
อ่านและเขียนคำไม่ได้ ให้ฝึกอ่านและเขียนคำจากภาพ หรือให้ฝึกทักษะ 4 ด้าน คือ ฟัง พูด อ่าน เขียน เช่น เราอ่านเสียงคำให้เด็กฟังแล้วนำคำศัพท์หรือบัตรคำศัพท์ให้เด็กดู จากนั้นให้เด็กอ่านคำและพูดออกมา แล้วให้พวกเขาเขียนโดยไม่เห็นคำศัพท์นั้น
จำและเขียนตัวอักษรไม่ได้ ให้ใช้วิธีเน้นการใช้ประสาทสัมผัสหลาย ๆ ทาง เช่น ใช้นิ้วลากเส้นตามตัวอักษรพร้อมออกเสียงไปด้วย ทำซ้ำ ๆ จนกว่าจะจำได้หรือเขียนบนพื้นทราย เขียนบนแผ่นหลัง รวมถึงใช้เทคนิคดู – ปิด – เขียน – ตรวจสอบ
10-13 ขวบ
- มีปัญหากับการอ่านทำความเข้าใจ
- ปัญหาการเรียนเลข
- ไม่ถนัดการตอบคำถามปลายเปิด และมีปัญหาการใช้คำ
- ไม่ชอบการอ่านและเขียน หลีกเลี่ยงการอ่านออกเสียง ลายมืออ่านยาก
- ไม่มีทักษะการจัดการ (ห้องนอน การบ้าน โต๊ะเรียน)
เด็กกลุ่มนี้จะขี้อาย และปฏิเสธที่จะฝึกฝนซ้ำ ๆ เพราะพวกเขาทำไม่ได้ หรือคิดว่ามันยากสำหรับพวกเขา ในขณะที่เพื่อนคนอื่น ทำได้ ทำให้รู้สึกอายและไม่พอใจ ฉะนั้นเราอาจจะใช้วิธีการสอนและเสริมเทคนิคที่หลากหลายเพื่อให้เหมาะกับเด็กแต่ละคนแตกต่างกันไป อาทิ
เราอาจมองหาจุดเด่นของเด็ก ส่งเสริมให้เด็กแสดงความสามารถพิเศษหรือเป็นคนเก่งในจุดที่เด็กมีศักยภาพ
ใช้คำสั่งที่สั้นและเข้าใจง่าย ในหนึ่งคำสั่งไม่ควรให้ทำหลาย ๆ กิจกรรม และให้เด็กทบทวนคำสั่งก่อนลงมือทำร่วมถึง การใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น เครื่องคิดเลข คอมพิวเตอร์ เทปบันทึกเสียง เพื่อช่วยเด็กให้สามารถเรียนรู้ได้คล่องตัวยิ่งขึ้น
สรุปเรื่องก่อนสอน เด็กจะเรียนรู้ได้ดีขึ้นหากมีการสรุปเรื่องที่จะเรียนให้เด็กฟังก่อนที่จะเรียนเรื่องนั้น ๆ
ถ้าเด็กเขียนหนังสือไม่สม่ำเสมอกัน ลองให้เขียนตามรอยประ มีกรอบ หรือใช้ปากกาจุดเป็นรอยเพื่อให้เด็กรู้การเว้นช่องไฟและการเว้นบรรทัด
สิ่งสำคัญคือเราต้องเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก LD จากกระบวนการทำงานของสมองซึ่งจะช่วยให้เข้าใจธรรมชาติความบกพร่องของการเรียนรู้ของเด็กได้ชัดเจนขึ้น ต่อมาคือเข้าใจวิธีการจัดการเรียนรู้โดยบูรณาการหลักการสอนทั่วไปและหลักการสอนเฉพาะ แล้วปรับให้เหมาะกับเด็ก LD แต่ละคนต่อไป เพราะทุกคนสามารถสร้างเด็ก LD คนนึงให้พวกเขาเติบโตและอยู่ในสังคมได้ เพราะทุกคนทำได้ เด็ก LD ก็ทำได้
- สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ
- คู่มือการจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล IEP
- https://sornosampas.wordpress.com
- http://taamkru.com
- วิจัยจาก เววิรี อิทธิอนันต์กุล และตรวจสอบโดยบรรณาธิการบทความด้านจิตวิทยา:
ดุสิดา ดีบุกคำ ศศ.ม. (จิตวิทยาพัฒนาการ)ระดับ: อนุบาล ประถมต้นหมวด: การแก้ไขปัญหาเด็ก
เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท. อื่น ๆ ได้ที่ >>> คลิก <<<
เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่น ๆ ได้ที่ >>> คลิก <<<
บทความที่เกี่ยวข้อง