เติบโตในพื้นที่สีเขียว ช่วยสร้าง IQ ได้สูงกว่า
เติบโตในพื้นที่สีเขียว ช่วยสร้าง IQ ได้สูงกว่า
สีเขียวในที่นี้ หมายถึง สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ
เราอาจเคยได้ยินกันบ่อย ๆ ว่า สีเขียวนั้นเหนี่ยวทรัพย์ แต่ที่จริงแล้วสีเขียวนั้นเหนี่ยวปัญญา หากสีเขียวนั้นช่วยสร้างปัญญาได้จริง เราควรกลับมามองหาธรรมชาติอีกครั้งดีไหม หากตามหาความสงบ ความสดชื่น ความรื่นรมย์ คงต้องนำพาตัวเองเดินเข้าป่าและลำธาร เพื่อตามหาสิ่งที่กล่าวมาทั้งสิ้น แต่ในปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่ล้วนอาศัยอยู่ในเมือง เด็ก ๆ ที่กำลังเติบโตเป็นพลเมืองของโลกในอนาคต มีวิถีชีวิตอยู่กับความวุ่นวาย พบกับความหลากหลายเจอสีสันมากมายจนความเป็นสีเขียวถูกลดทอนลงไป มีที่อยู่อาศัยห่างไกลจากธรรมชาติ ผลกระทบที่ตามมาไม่ใช่แค่ปัญญาที่หล่นหาย แต่ส่งผลต่อสภาวะของอารมณ์ จิตใจ และสุขภาพที่ยั่งยืน
พื้นที่สีเขียวสร้าง IQ ได้สูงขึ้น
Tim Nawrot ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยฮัสเซลท์ เบลเยียม กล่าวว่า “ผู้สร้างเมืองควรให้ความสำคัญกับการลงทุนในพื้นที่สีเขียว เพราะการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับเด็กสามารถพัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มที่อันเป็นสิ่งคุ้มค่าจริง ๆ”
ในรายงานวิจัยของทีมงานมหาวิทยาลัยฮัสเซลท์ เบลเยียม ทำการศึกษาวิเคราะห์ IQ ของเด็กกว่า 600 คน ที่มีอายุระหว่าง 10-15 ปี พบว่าเด็กกลุ่มนี้มีค่าเฉลี่ย IQ อยู่ที่ 105 แต่นักวิทยาศาสตร์กลับพบว่า 4% ของเด็กที่มี IQ ต่ำกว่า 80 เติบโตในพื้นที่สีเขียวน้อยกว่า และหากมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น 3.3 % เด็กจะมี IQ เพิ่มขึ้นประมาณ 2.6 คะแนน ซึ่งคะแนน IQ ที่เพิ่มขึ้นมานั้น ผลมาจากการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมสีเขียวช่วยพัฒนาการทางความคิด สภาพแวดล้อมอาจเป็นตัวช่วยในการลดระดับความเครียด เงียบ สงบ มีสมาธิ สร้างการจดจ่อได้ดี เด็กได้สัมผัสผ่านการเล่น ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของเด็กในทุกด้าน ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา อีกทั้งมีผลต่อการลดพฤติกรรมก้าวร้าวในเด็กได้ดีอีกด้วย
หากเด็กขาดพื้นที่สีเขียวมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต
ขาดพื้นที่สีเขียว หรือการขาดธรรมชาติ อาจทำให้เกิดโรคใกล้ตัวที่คาดไม่ถึง “โรคขาดธรรมชาติ” (Nature Deficit Disorder) หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า NDD เป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และพฤติกรรม เกิดจากการที่ไม่ได้ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน หรือไปสัมผัสกับธรรมชาติ ซึ่งหากเกิดกับเด็กเล็กจะส่งผลต่อการเรียนรู้ กระทบต่อพัฒนาการต่าง ๆ มีแนวโน้มพบมากขึ้นกับเด็กในอนาคต
-
โรคขาดธรรมชาติในเด็กอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุเหล่านี้
- ◾ การอบรมเลี้ยงดู เลี้ยงดูแบบทะนุถนอมไม่ให้เด็กได้เผชิญกับสิ่งที่อยู่นอกบ้าน กลัวอันตรายในการเล่นผาดโผน เด็กจึงไม่เคยได้ลองสัมผัส หรือเล่นสนุกกับธรรมชาติ
- ◾ ผู้ปกครอง หรือผู้เลี้ยงดูไม่มีเวลาให้ ส่งผลให้ขาดความคำนึงถึงการสร้างเสริมประสบการณ์ให้กับเด็ก การใส่ใจ การพัฒนาการเรียนรู้ด้านต่าง ๆ
- ◾ การหยิบยื่นสมาร์ตโฟน หรือแท็บเล็ตให้กับเด็กบ่อยครั้งจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเล่นในชีวิตประจำวัน ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการด้านสมองโดยตรง
-
ควรทำอย่างไรไม่ให้เด็กขาดธรรมชาติ
- ◾ เลือกใช้สื่อเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับวัยและเวลาที่ควรใช้ สร้างกติกาในการใช้อย่างชัดเจน
- ◾ สร้างพื้นที่สีเขียวพาเด็ก ๆ ออกไปทำกิจกรรมสัมผัสกับธรรมชาติ ชวนปลูกต้นไม้ ดอกไม้ นอกจากจะสนุกแล้วยังเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกรักธรรมชาติด้วย
- ◾ เปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นสนุกอย่างเต็มที่ ทำกิจกรรมสัมผัสกับดิน ทราย โคลน หญ้า หรือต้นไม้ อาจมีความเลอะเทอะบ้างแต่นั่นคือการสร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้ที่ดี
- ◾ ชวนทำของเล่นจากธรรมชาติ กิ่งไม้ ใบไม้ ส่งเสริมทักษะการสร้างสรรค์ จินตนาการจากประสบการณ์จริง
นอกจากเพิ่มพื้นที่สีเขียว ควรใช้วิธีสร้างพลังสมองเพิ่มระดับ IQ
-
1. การออกกำลังกาย
ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยเพิ่มพลังสมอง เพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ในสมองที่เกี่ยวข้องกับความจำ
-
2. อาหาร
โดยเฉพาะปลาที่มีน้ำมัน ถั่ว หรือแม้แต่ช็อกโกแลต มีส่วนเชื่อมโยงกับประสิทธิภาพของสมองที่ดีขึ้น ในน้ำมันปลานั้นเต็มไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 ในขณะที่ถั่วเป็นแหล่งวิตามินอี และดาร์กช็อกโกแลตอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ
-
3. การงีบหลับ
การงีบหลับในตอนกลางวันเป็นวิธีที่ช่วยในการเปลี่ยนพลังสมองให้ดีขึ้น สมองจะมีการตอบสนองที่ดีขึ้น ช่วยปรับปรุงการประมวลผลข้อมูล
-
4. การทำสมาธิ
มีประโยชน์ต่อระบบประสาท ซึ่งการทำสมาธิสามารถช่วยให้สมองต่อสู้กับผลกระทบที่เกิดขึ้นในร่างกายและจิตใจได้
-
5. การคิดเชิงบวก
เป็นผลดีต่อสมองด้วยการสร้างความสุข สามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นประสาทได้
หากมองให้ดี “ธรรมชาติ” นั้นให้อะไรมากมายกับมนุษย์ พัฒนาสมองเพิ่ม IQ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เด็กควรจะได้รับ และการนำธรรมชาติเข้าสู่วิถีชีวิตของเด็กเป็นสิ่งจำเป็นไม่ควรขาดหายไปในช่วงระหว่างการเติบโต ไม่ว่าพื้นที่สีเขียวที่มีนั้นจะมีขนาดที่เล็ก หรือใหญ่ ให้เด็กได้เกิดการสัมผัสกับต้นไม้ ใบหญ้า หรือดินเพียงกำมือ นั่นคือการเริ่มต้นที่ดีในการสร้างสัมพันธ์ต่อสิ่งแวดล้อม เพียงให้โอกาสในการเรียนรู้ ใช้พื้นสีเขียวที่มีสร้างประสบการณ์ด้วยตัวของเด็กเอง ได้ทำกิจกรรมที่สร้างความสุข สร้างความรู้สึกนึกคิด สร้างจินตนาการ ล้วนแต่ส่งผลที่ดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจ
อ้างอิง:
บทความที่เกี่ยวข้อง