เมื่อ STEM กลายเป็นโลกของผู้ชาย เราจะส่งเสริมเด็กผู้หญิงให้เรียน STEM ได้อย่างไร

 

เมื่อ STEM กลายเป็นโลกของผู้ชาย 
เราจะส่งเสริมเด็กผู้หญิงให้เรียน STEM ได้อย่างไร

 
 
 
STEM
 

 

 
  •  ประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจมักลงทุนกับการศึกษาและวิจัยด้าน STEM แต่ปัญหาที่ทั่วโลกพบดูจะคล้าย ๆ กัน นั่นคือ ผู้หญิงยังคงมีบทบาทน้อยมากในสาขานี้ 
  • งานวิจัยพบว่า เด็กผู้หญิงมักจะมีความสนใจในคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในระดับเดียวกับเด็กผู้ชายตลอดระดับประถม ฯ แต่ความสนใจของเด็กผู้หญิงในเรื่องเหล่านี้จะลดลงในช่วงวัยรุ่น
  • การส่งเสริมให้ผู้หญิงเรียน STEM มากขึ้น นอกจากจะเป็นการลดช่องว่างด้านรายได้แล้ว และยังเป็นการสร้างนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการแข่งขันที่มากขึ้นด้วย

 

คุณเห็นอาชีพเหล่านี้เป็นคนเพศไหน
‘วิศวกรในบริษัทขนาดใหญ่’
‘นักวิทยาศาสตร์ที่กำลังวุ่นกับการทดลองในห้องแล็บ’
‘โปรแกรมเมอร์ที่เขียน Coding’

 

      คนส่วนใหญ่อาจนึกภาพคนทำอาชีพเหล่านี้เป็นเพศชาย เราเคยตั้งคำถามกันไหมว่าทำไม ถ้าสังเกตดี ๆ จะพบว่า อาชีพที่กล่าวมาทั้งหมดจัดอยู่ในสาขา STEM ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นสาขาที่ถูกพูดถึงอย่างมากในสังคมปัจจุบันว่า มีแต่ผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนของเด็กผู้ชายที่เลือกเรียนในสาขานี้เมื่อเทียบกับผู้หญิง หรือแม้แต่สัดส่วนของประชากรวัยทำงานที่มีผู้หญิงน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด ในโลกที่ยังคงมีการรณรงค์เรื่องความเท่าเทียมทางเพศกันอยู่ แต่ทำไม STEM ถึงกลายเป็นสาขาที่ดูจะให้พื้นที่กับผู้ชายมากกว่า เราในฐานะครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรทำอย่างไรให้เด็กผู้หญิงได้เรียน STEM กันมากขึ้น และเลือกที่จะทำอาชีพในสาขานี้อย่างภาคภูมิใจ โลกเราจะสูญเสียอะไรไป หากเรายังคงมองข้ามความสำคัญของการสนับสนุนเด็กผู้หญิงให้เรียน STEM เท่าเทียมกับเด็กผู้ชาย

      ปัจจุบันประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจมักลงทุนกับการศึกษาและวิจัยด้าน STEM แต่ปัญหาที่ทั่วโลกพบดูจะคล้าย ๆ กัน นั่นคือ ผู้หญิงยังคงมีบทบาทน้อยมากในสาขานี้ ในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และจีน มีผู้หญิงทำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 25% ส่วนในภาควิศวกรรมของสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกานั้นยิ่งน้อยลงไปอีก มีเพียงแค่ 10% เท่านั้น บางประเทศพบตัวเลขที่น่าตกใจยิ่งกว่า เช่น ในตุรกี ผู้หญิงคิดเป็น 5% ของแรงงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของทั้งประเทศ

 

ทำไมเด็กผู้หญิงเรียน STEM น้อยกว่าเด็กผู้ชาย

     อะไรเป็นสาเหตุในผู้หญิงทำงานในสาขานี้น้อยจนน่าตกใจ เราคงต้องย้อนกลับมาดูตั้งแต่การเรียนในระดับโรงเรียนกันก่อน ใครที่เคยเชื่อว่า เด็กผู้หญิงไม่ได้มีหัวด้านคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์มากเท่าเด็กผู้ชายแน่ ๆ อาจจะต้องเปลี่ยนความคิดกันใหม่ งานวิจัยพบว่า เด็กผู้หญิงมักจะมีความสนใจในคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในระดับเดียวกับเด็กผู้ชายตลอดระดับประถม ฯ แต่ความสนใจของเด็กผู้หญิงในเรื่องเหล่านี้จะลดลงในช่วงวัยรุ่น และยังมีเหตุผลอีกมากมายในระดับปัจเจก สถาบัน และสังคมที่ขัดขวางไม่ให้ผู้หญิงเรียนต่อในระดับปริญญาและทำอาชีพด้าน STEM

 

 

เด็กผู้หญิงกับ STEM

 

  •  

 

  • ความเชื่อมั่นในตนเอง: แม้ว่าความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ของเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงในระดับประถม ฯ จะใกล้เคียงกัน แต่เด็กผู้หญิงมักจะประเมินความสามารถทางวิทยาศาสตร์ของตัวเองต่ำเกินไป โดยมักเปรียบเทียบงานของตัวเองกับงานของคนรอบข้างในทางลบ ค่อนข้างอ่อนไหวต่อคำพูด สีหน้า และท่าทางเชิงลบจากเพื่อนหรือครู
  • การเหมารวม: หนึ่งในสาเหตุที่เป็นไปได้ที่ทำให้เด็กผู้หญิงหรือแม้แต่ผู้หญิงเองขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง สังคมมักจจะมองว่า STEM เป็นเรื่องของผู้ชาย
  • อคติทางเพศ: ครูและพ่อแม่อาจมองไม่เห็นศักยภาพของเด็กผู้หญิงและเยาวชนเพศหญิงในเรื่องนี้ โดยเฉพาะในผู้หญิงผิวสี เรามักจะเห็นผู้หญิงผิวขาวและผู้หญิงเอเชียทำอาชีพด้าน STEM มากกว่า เพราะเคยได้สัมผัสกับแพทย์ วิศวกร หรือนักวิทยาศาสตร์จากเชื้อชาติเดียวกันมาก่อน แต่สำหรับนักเรียนหญิงชาวละตินและนักเรียนหญิงผิวสีอาจไม่มีโอกาสสัมผัสกับผู้เชี่ยวชาญด้าน STEM จากเชื้อชาติเดียวกันมากนัก ซึ่งการมีแบบอย่างของผู้หญิงที่ทำงานสายนี้น้อยลงจะมีผลอย่างมากต่อเด็กในการสร้างแรงบันดาลใจ แม้แต่ในหนังสือหรือหรือสื่อต่าง ๆ โอกาสที่จะเห็นชื่อของนักวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรหญิงนั้นก็หายากกว่าผู้ชายมาก
  • เมื่อดูข้อมูลจากแนวโน้มการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศของศูนย์สถิติการศึกษาแห่งชาติประจำปี 2015 (TIMSS) ยังพบว่า ในระดับเกรด 8 มี 6 ประเทศจาก 39 ประเทศที่พบว่า ให้ความสำคัญกับเด็กผู้ชายมากกว่า ขณะเดียวกัน มี 7 ประเทศ ที่รายงานว่า ให้ความสำคัญกับเด็กผู้หญิง
  • ความกังวลทางคณิตศาสตร์ ครูผู้หญิงส่วนใหญ่มักมีความกังวลทางคณิตศาสตร์ที่ส่งต่อไปยังเด็กผู้หญิง และมักจะให้เกรดเด็กผู้หญิงยากกว่าเด็กผู้ชายแม้ว่าจะทำงานเดียวกัน โดยถือว่าเด็กผู้หญิงจะต้องทำงานหนักกว่าเพื่อให้อยู่ในระดับเดียวกับเด็กผู้ชาย

 

      นอกเหนือจากปัจจัยที่ว่ามาทั้งหมดนี้ สิ่งที่เราทำหลาย ๆ อย่างอาจสร้างบรรทัดฐานทางสัมคมเกี่ยวกับบทบาททางเพศได้โดยไม่รู้ตัว เช่น ผู้ผลิตโฆษณาของเล่นเด็กที่นำเสนอ STEM ให้ดูเป็นเรื่องของเพศชาย การตัดสินใจของพ่อแม่ ผู้ดูแลหรือญาติว่า จะส่งบุตรหลานเข้าร่วมกิจกรรม STEM หรือไม่ รวมถึงความไม่รู้หรืออคติของครูในการนำประสบการณ์การเรียนรู้ไปใช้กับเด็ก

 

ทำไมเราควรส่งเสริมให้เด็กผู้หญิงเรียน STEM มากขึ้น

      Dr. Hyun Kyoung Ro บรรณาธิการร่วมของหนังสือชื่อ Gender Equity in STEM in Higher Education และรองศาสตราจารย์ด้านการให้คำปรึกษาและการศึกษาระดับอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัย North Texas กล่าวว่า "ในอดีตนักวิจัยและผู้กำหนดนโยบายให้ความสนใจกับการเพิ่มจำนวนผู้หญิงใน STEM เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ เพราะสายอาชีพนี้มีรายได้สูงกว่าสายอาชีพอื่น ดังนั้น การมีผู้หญิงในสาขานี้มากขึ้นจึงสามารถลดช่องว่างระหว่างเพศในด้านรายได้ และการมีพนักงานที่หลากหลายก็เป็นมากกว่าแค่เรื่องความเสมอภาค แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย” 

      ข้อมูลจาก Pew Research Center พบว่า คนทำงานด้าน STEM มีรายได้มากกว่าผู้ที่ทำงานในสาขาอื่นถึง 2 ใน 3 และอาชีพ STEM ที่มีรายได้สูงสุดบางอาชีพ เช่น วิทยาการคอมพิวเตอร์และวิศวกรรม กลับมีเปอร์เซ็นต์แรงงานหญิงต่ำที่สุด ส่วนสาขาของ STEM ที่มีอัตราการจ้างงานบัณฑิตสูงสุดอย่างเช่น วิทยาศาสตร์วิศวกรรม พบว่า เป็นสาขาวิชาที่มีนักศึกษาชายเป็นส่วนใหญ่ และยังเป็นสาขาอาชีพที่เติบโตเร็วที่สุด มีผู้หญิงเพียง 21% ที่เรียนสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ และ 19% ที่เรียนสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ส่วนสาขาที่มีการจ้างงานบัณฑิตต่ำที่สุด เช่น วิทยาศาสตร์ชีวภาพ ก็เป็นสาขาที่มีผู้หญิงเรียนเป็นส่วนใหญ่

      แม้ว่าบุคลากรทางการแพทย์เกือบ 80% จะเป็นผู้หญิง แต่ถ้าดูสัดส่วนของผู้บริหารและคณะกรรมการจะมีเพียง 21% เท่านั้นที่เป็นผู้หญิง และมีแพทย์ที่เป็นผู้หญิงเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ผู้หญิงยังมีสัดส่วนสูงกว่าในสายงานที่มีค่าตอบแทนต่ำกว่า เช่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่บ้าน พยาบาล และสาขาเฉพาะทางที่มีค่าตอบแทนต่ำกว่า เช่น กุมารแพทย์

      เมื่อดูตัวเลขรายได้พบว่า ผู้ชายในสายงาน STEM มีเงินเดือนต่อปีสูงกว่าผู้หญิงเกือบ 15,000 เหรียญต่อปี (85,000 ดอลลาร์ เทียบกับ 60,828 ดอลลาร์) ผู้หญิงละตินและผู้หญิงผิวสีมีรายได้น้อยลงอีก 33,000 ดอลลาร์ (โดยเฉลี่ยประมาณ 52,000 ดอลลาร์ต่อปี) ถือว่าเป็นตัวเลขที่แตกต่างกันมากเมื่อเทียบว่าเป็นงานสายเดียวกัน

      ถ้าเรามองในแง่ผู้ผลิต การมีผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ก็มาจากการออกแบบโดยวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ที่มีภูมิหลังที่หลากหลาย ถึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมผู้หญิงถึงมีความสำคัญในทุกสาขาอาชีพ การมีผู้หญิงเพิ่มมากขึ้นเท่ากับเป็นการสร้างนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการแข่งขันที่มากขึ้นนั่นเอง

      แม้ว่าถ้ามองในแง่ภาพรวมของอาชีพด้าน STEM แล้วจะพบว่า ผูัหญิงดูจะมีสัดส่วนที่น้อยกว่า แต่ในความเป็นจริงข้อมูลพบว่า ผู้หญิงไม่ได้เป็นที่ขาดแคลนในทุกสาขาอย่างที่เราคิด ในระดับปริญญาตรีมีแค่บางสาขาของ STEM เท่านั้นที่ขาดแคลนผู้หญิง เพราะยังมีสาขาที่ผู้หญิงมีสัดส่วนมากกว่าผู้ชาย เช่น พฤติกรรมศาสตร์ โดยเฉพาะจิตวิทยา และวิทยาศาสตร์การแพทย์อย่างการพยาบาล

 

วิธีสนับสนุนให้เด็กผู้หญิงสนใจ STEM 

สร้างทักษะและความมั่นใจให้กับเด็กผู้หญิงและผู้หญิง
สร้างความตระหนักว่า เด็กผู้หญิงและผู้หญิงก็มีความสามารถเช่นเดียวกับเด็กผู้ชาย
ให้กำลังใจและให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กผู้หญิงอย่างเท่าเทียมกัน
ส่งเสริมการรับรู้ให้กับผู้ปกครองถึงวิธีที่พวกเขาสามารถส่งเสริมลูกสาวได้มากเท่ากับลูกชายในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ 
สอนเด็กผู้หญิง ครู และผู้ปกครองว่า ทักษะทางคณิตศาสตร์มีการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ส่งเสริม Growth Mindset ที่ช่วยให้เด็กผู้หญิงพร้อมรับมือกับความท้าทาย
เพิ่มครูสอน STEM ที่เป็นเพศหญิง ครูผู้หญิงถือเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กผู้หญิงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กละตินและเด็กผิวสี Jiahong Su นักวิจัยด้านเทคโนโลยีและการศึกษาปฐมวัยจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงกล่าวว่า "การวิจัยโดย Sullivan และ Bers พบว่า ครูผู้หญิงอาจส่งผลดีต่อความสามารถของเด็กผู้หญิงในด้านวิทยาการหุ่นยนต์และ Coding มากกว่าครูผู้ชาย

 

พัฒนาการสอน STEM และการสนับสนุนเด็กผู้หญิง โดยเริ่มตั้งแต่ปฐมวัยและจนถึงม.6 
ให้การพัฒนาวิชาชีพแก่ครู - จัดการกับอคติเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสามารถทางคณิตศาสตร์ของเด็กผู้หญิง หลีกเลี่ยงการส่งต่อความกังวลทางคณิตศาสตร์ เด็กผู้หญิงต้องได้รับการปฏิบัติแบบมีมาตรฐานเดียวกันกับเด็กผู้ชาย
ลดการติดตามและการประเมินในชั้นประถม ฯ ที่มีอคติและเหมารวม
เปลี่ยนวิธีสอนในชั้นเรียนโดยเชื่อมโยงประสบการณ์ STEM เข้ากับชีวิตของเด็กผู้หญิง ส่งเสริมการเรียนรู้ที่กระตือรือร้นและลงมือปฏิบัติจริง 

 

      ในสังคมที่ผู้ชายมีพื้นที่ มีโอกาสในการเรียนและประกอบอาชีพด้าน STEM มากกว่าผู้หญิง บทบาทของทุกภาคส่วนตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียนและสังคมย่อมมีความสำคัญอย่างมากต่อการสร้างตัวตนของเด็กผู้หญิงในสาขานี้ ให้เขาได้เห็นศักยภาพของตัวเองอย่างแท้จริง และมีโอกาสในอาชีพ STEM ไม่ต่างจากผู้ชาย


อ้างอิง
https://insights.taylorandfrancis.com/social-justice/girls-stem 
https://www.aauw.org/resources/research/the-stem-gap/

แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง