ตั้งใจมากเกินไป สมองก็ไม่มีสมาธิอยู่ดี

 

ตั้งใจมากเกินไป สมองก็ไม่มีสมาธิอยู่ดี

 

 

 

 

                 

 

 

 

 

หลายครั้งที่คุณครูบอกให้เด็ก ๆ “ตั้งใจเรียน” เมื่อเจอพฤติกรรมตรงกันข้ามอย่าง “เหม่อลอย” เพราะอยากให้ผู้เรียนกลับมาโฟกัสสิ่งที่คุณครูกำลังสอน จริง ๆ แล้วการเหม่อลอยไม่ได้ก่อผลเสียเสมอไปหากคุณครูลองให้ผู้เรียนมีช่วงเวลาผ่อนคลายอาจทำให้การเรียนรู้ และความจำเกิดผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิมก็ได้

 

เมื่อได้ผ่อนคลาย สมองของคุณจะมีสมาธิมากขึ้นจริงไหม?

ภาพประกอบ

 

 

ก่อนจะตั้งใจอ่านต่อ เราอยากให้คุณครูแวะพักสมอง และมาดูสถานการณ์นี้กันครับ เด็กผู้ชายทางด้านซ้ายที่ดูไม่มีสมาธิคือ แม็กนัส คาร์ลเซน ในวัย 13 ปี ลุกไปจากการแข่งขัน คุณครูคิดว่าเขามีโอกาสชนะผู้ชายทางด้านขวาอย่าง แกร์รี่ คาสปารอฟ ที่ขึ้นชื่อได้ว่าเป็นอัจฉริยะหมากรุกระดับตำนานไหมครับ? หลายท่านคงตอบ “ไม่” เพราะดูจากการที่เขาไม่ได้ตั้งใจแข่งขันเกมตรงหน้า แต่น่าแปลกใจที่ผลการแข่งขันในเกมนี้ทั้งคู่เสมอกันนักหมากรุกอัจฉริยะไม่สามารถเอาชนะเด็กอายุ 13 ปี ที่ดูไม่มีสมาธิได้เพราะไม่นานหลังจากที่ลุกไปแม็กนัสกลับมาที่โต๊ะ และจดจ่อกับการแข่งขันอีกครั้ง

 

“เมื่อเขาได้พักสมองเล็กน้อย เขาจึงมีสมาธิมากยิ่งขึ้น” การเรียนรู้ในห้องเรียนก็เช่นกัน

 

 

พักสมองอย่างไรให้มีสมาธิเรียนรู้ได้ดีกว่าเดิม มารู้จัก 2 วิธีการทำงานของสมองกัน

นักประสาทวิทยาค้นพบว่าสมองของคุณมีวิธีการทำงาน 2 โหมด ที่เรียกว่าโหมดจดจ่อ (Focused Mode) และโหมดผ่อนคลาย (Diffuse Mode) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่อการเรียนรู้

โหมดจดจ่อ (Focused Mode)

โหมดนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเรากำลังให้ความสนใจแบบใกล้ชิดกับอะไรบางอย่าง เช่น เมื่อคุณครูกำลังตั้งใจมอง และฟังวิทยากรอบรม หรือนักเรียนที่พยายามตั้งใจแก้โจทย์คณิตศาสตร์

หากลองคิดดูเราจะพบว่าตอนเล่นเกมปริศนาจับผิดภาพเราเพ่งสมาธิไปที่ความสนใจสมองส่วนหนึ่งจะก็ทำงาน หรือเวลาที่ต้องพยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ ต้องใช้ความตั้งใจอย่างมากในการเปิดส่วนต่าง ๆ ของสมองเพื่อให้เกิดการเรียนรู้

 

โหมดผ่อนคลาย (Diffuse Mode)

 โหมดนี้เข้าใจกันง่าย ๆ ก็คือเมื่อจิตใจเราผ่อนคลาย รู้สึกได้ถึงอิสระ และไม่คิดถึงเรื่องอะไรเลยอย่างตอนที่คุณครูเริ่มอาบน้ำ ออกกำลังกาย หรืองีบหลับ ทุกครั้งที่คุณครูพยายามดึงสมาธิมาจดจ่อกับบางอย่าง เมื่อนั้นคุณก็จะลื่นไหลไปกับการผ่อนคลายเสมอ

เคยสังเกตไหมครับ? ทำไมตอนอาบน้ำไอเดียเจ๋ง ๆ มักเกิดขึ้นเสมอ เพราะสมองในโหมดผ่อนคลายช่วยเสริมสร้างจินตนาการเชื่อมความคิดต่าง ๆ มากมายไว้ด้วยกัน จนกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมานั่นเอง ดังนั้นสมองของคนเราจึงควรที่จะต้องทำงานสลับไปมาระหว่างโหมดจดจ่อ และโหมดผ่อนคลายเพื่อให้การเรียนรู้ดีขึ้น และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

หากการให้สมองสลับโหมดไปมาเป็นสิ่งสำคัญ ครูจะต้องจัดห้องเรียนอย่างไร?
 

            เมื่ออยากเพ่งสมาธิไปที่อะไรแค่จดจ่อพุ่งความสนใจไปที่สิ่งนั้น ก็เท่ากับได้เปิดสมองมาใช้โหมดจดจ่อแล้ว แต่การจะอยู่ในโหมดนี้ได้นานนั้นยากยิ่งกว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกหากสอนอยู่ดี ๆ แล้วพบว่านักเรียนมีพฤติกรรม “นั่งเหม่อลอย” สลับไปโหมดผ่อนคลายซะงั้น

           แล้วคุณครูจะช่วยให้เขามีสมาธิมากขึ้นได้อย่างไร? สร้างการมีส่วนร่วมให้มากที่สุดในห้องเรียนของคุณครูนี่แหละคือสิ่งที่ยอดเยี่ยม ลองยกมือถาม ให้ออกมาเขียนกระดาน แจกกิจกรรม และทำงานร่วมกับเพื่อนในห้องทุกครั้ง

 

 
สมองมีปัญหารึเปล่า? ทำไมแก้ปัญหาไม่ได้สักที
 

ภาพประกอบ

 

เราอาจติดขัดกับการพยายามแก้ปัญหาอะไรบางอย่างเช่นเดียวกับเมื่อต้องการ เรียนรู้สิ่งใหม่ ย้อนกลับไปตอนที่เริ่มอยากจะใช้งาน Zoom Meeting กว่าจะใช้งานเป็นก็นานเอาเรื่องมาดูกันว่า อะไรบ้างที่อาจทำให้ตอนนั้นเราไปต่อไม่ได้

ทางแรกเกิดขึ้นจากเราไม่เข้าใจพื้นฐานทั่วไป จึงทำให้สมองไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ต่อให้สลับไปโหมดผ่อนคลายก็ไม่ได้มีประโยชน์มากนัก เพราะเรายังไม่ได้ “อัพโหลดข้อมูล” สู่โหมดจดจ่อเลย ทางที่ดีที่สุดของปัญหานี้คือเราต้องย้อนไปทำความเข้าใจพื้นฐาน ให้คนที่ใช้งานเป็นอธิบายให้ฟัง หรือดูตัวอย่างการใช้งาน แค่นี้เราก็ใช้งาน Zoom Meeting เป็นแล้ว แถมใช้โปรแกรม Meeting อื่นได้อีกด้วยจริงไหมครับ?

อีกทางที่อาจทำให้ติดขัดเมื่อเราเพ่งสมาธิไปกับการศึกษารายละเอียดอย่างตั้งใจ นั่นแปลว่าเราได้อัพโหลดข้อมูลเข้าสู่โหมดจดจ่อแล้ว แต่พอเริ่มแก้ปัญหา หรือทำในสิ่งที่ต้องการกลับพบว่าทำไม่ได้สักที เพราะว่าเราไม่ได้ให้โอกาสโหมดผ่อนคลายได้ทำหน้าที่เลย เมื่อเรามัวแต่เคร่งครัด ไม่เลิกเพ่งสมาธิไปยังสิ่งที่ตั้งใจ แล้วโหมดผ่อนคลายจะทำงานได้อย่างไร?

ในห้องเรียนจึงควรเริ่มจากปัญหา เพื่อให้ผู้เรียนได้สลับไปเรียนรู้เรื่องอื่น หรือหาสิ่งใหม่ จึงค่อยสลับกลับมาแก้ปัญหาเดิม บางครั้งการสลับกลับมาเด็ก ๆ ก็พาวิธีแก้ปัญหาใหม่ได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย ถึงแม้จะอยู่โหมดผ่อนคลาย แต่เชื่อเถอะว่าสมองก็มีการทำงานในส่วนของปัญหาอย่างลับ ๆ โดยไม่รู้ตัวเช่นกัน

 

ควรให้สมองได้อยู่ในโหมดจดจ่อ และโหมดผ่อนคลาย นานแค่ไหน?
 

คงบอกเป็นตัวเลขเป๊ะ ๆ ไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับเวลาที่คุณมีให้สิ่งนั้นว่ามากน้อยแค่ไหนหากเริ่มต้นลองแค่ 10-15 นาที ในโหมดจดจ่อ และสลับไปโหมดผ่อนคลายสัก 3-5 นาที อย่าเพิ่งรีบด่วนสรุปว่า “การทดลองนี้ไม่ได้ผล” บางครั้งคุณต้องลองสลับไปมาหลายครั้ง เพื่อให้สมองเข้าใจพื้นฐานก่อนที่จะหยุดพัก เมื่อเข้าใจ และอยากให้เวลากับสิ่งที่ตั้งใจมากยิ่งขึ้น ลองให้เวลากับโหมดจดจ่อสักประมาณ 25 นาที แล้วสลับเป็นโหมดผ่อนคลาย 5-10 นาที เท่านี้ก็ถือว่าเพียงพอ

ใช้โหมดผ่อนคลายเป็นรางวัลให้กับความตั้งใจเช่น เล่นกีฬา เต้นรำ วาดภาพ ฟังเพลง เดินเล่น แช่น้ำ อาบน้ำ ทำสิ่งที่ตั้งตารอ หรือสิ่งที่ดีที่สุดคือการนอน อย่าพักนานเกินไปเพราะการดึงสมาธิกลับมานั้นยากยิ่งกว่า จนสุดท้ายคุณอาจไม่เหลือเวลาให้ผ่อนคลายเลยในวันนั้น

 

การสลับไปมาระหว่างโหมดจดจ่อ และโหมดผ่อนคลายจะช่วยให้เด็ก ๆ ของคุณครูเก่งได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องฟิสิกส์ พีชคณิต หรืออะไรก็ตามที่พวกเขาสนใจ ลองดูสิครับ

 

 

 

แหล่งอ้างอิง

  •  Learning How to Learn (By Barbara Oakley, Terrence Sejnowski, Alistair McConville)

 

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท. อื่น ๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่น ๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

 
 

 

แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง