การบูลลี่ในโรงเรียน ประเด็นสำคัญที่สังคมไม่ควรมองข้าม
การบูลลี่ในโรงเรียน ประเด็นสำคัญที่สังคมไม่ควรมองข้าม
ปัญหาการกลั่นแกล้งกัน หรือการบูลลี่ในโรงเรียนยังเป็นเรื่องที่พบเห็นได้บ่อย ยิ่งในปัจจุบันการเข้าถึงโซเชียลมีเดียทำให้การบูลลี่ในโรงเรียนถูกพัฒนาจนเกิดการกระทำที่เรียกว่า “ไซเบอร์บูลลี่ (Cyberbullying)” และความรุนแรงของการกระทำเหล่านี้หนักมากยิ่งขึ้นจนทำให้เหยื่อหลายคนพยายามที่จะจบชีวิตตัวเองลง หลายคนก็คงจะเคยเห็นข่าวในลักษณะนี้อยู่บ้าง
แบบไหน? ถึงเรียกได้ว่าเกิดการบูลลี่ในโรงเรียน
การบูลลี่ (Bullying) หรือการบูลลี่ในโรงเรียน คือการกระทำเชิงลบ ก้าวร้าว การกระทำรุนแรงซ้ำ ๆ ที่มุ่งทำร้ายบุคคลที่ถูกมองว่าอ่อนแอกว่า การกระทำนี้เกิดขึ้นได้ผ่านร่างกาย เช่น การทุบตี เตะต่อย จนเกิดความเจ็บปวดบนร่างกาย หรือกระทำผ่านวาจา เช่น การประนาม ข่มขู่ ยั่วยุ และทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง หรืออาจรวมถึงการกีดกันทางสังคม ความรุนแรงที่เกิดขึ้นส่งผลต่อเด็กที่ตกเป็นเหยื่ออย่างร้ายแรง มีโอกาสสูงที่จะมีปัญหาพฤติกรรมด้านสุขภาพ จิตใจ และการเข้าสังคมอย่างร้ายแรง เช่น ความหวาดระแวง ปัญหาการนอนหลับยาก กลัวการมาโรงเรียน ซึมเศร้า ไม่มีความมั่นใจ รู้สึกไม่ปลอดภัย เหงา และโดดเดี่ยว ซึ่งปัญหานี้ก่อตัวในระยะยาวบางรายที่เคยโดนบูลลี่ในวัยเด็ก ก็จะมีปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อนรอบข้าง และภาวะซึมเศร้าในวัยผู้ใหญ่
ชวนดูกรณีศึกษาปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียนของเกาหลีใต้
สังคมของเกาหลีใต้นั้นเป็นสังคมที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูงในทุก ๆ ด้าน เราคงจะเคยเห็นจากซีรีส์ หรือข่าวอัปเดตด้านการศึกษาว่าเด็ก ๆ ในเกาหลีใต้มักจะถูกกดดันให้ต้องแข่งขันเพื่อประสบความสำเร็จให้มากที่สุด ซึ่งนักเรียนเหล่านี้มักจะไม่มองว่าเพื่อนร่วมชั้นเป็นเพื่อนแต่กลับมองเป็นคู่แข่งมากกว่า
ผลสำรวจจากกระทรวงศึกษาของเขตหนึ่งในเกาหลีใต้พบว่าปี 2018 มีนักเรียนที่ถูกใช้ความรุนแรง และเกิดการบูลลี่ในโรงเรียนเป็นจำนวนมากถึง 118, 260 คน (ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6) โดยการกลั่นแกล้งส่วนใหญ่แบ่งออกเป็น
- การใช้คำพูดรุนแรง 34.1%
- การถูกแยกตัวออกจากสังคม 23.7%
- การทำร้ายร่างกาย 9.6%
- การกระทำไซเบอร์บูลลี่ (Cyberbullying) 8.8%
ซึ่งการกระทำที่รุนแรงส่วนใหญ่นั้นเกิดจาก เพื่อนร่วมชั้นเรียนด้วยกันเอง และเหยื่อของการบูลลี่ในโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และเมื่อสืบลึกลงไปจะพบว่าเหยื่อเหล่านี้เป็นนักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมไม่ค่อยดี ผลการเรียนค่อนข้างต่ำ จึงทำให้พวกเขาถูกบูลลี่ได้มากกว่า แม้ปัจจุบันการทำร้ายร่างกายนั้นลดลง แต่การกลั่นแกล้งด้วยคำพูด และทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงนั้นยังคงมีมากขึ้นกว่าเดิม
เราจะลดปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียนได้อย่างไร?
ที่ผ่านมาโรงเรียนในเกาหลีใต้ส่วนใหญ่แก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยการติดกล้องวงจรปิดทั่วโรงเรียน แต่การบูลลี่ในโรงเรียนมักเกิดขึ้นในจุดที่ลับตาคน มุมที่ไม่สามารถมองเห็น จึงเริ่มมีการส่งเสริมให้คุณครูคอยดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิดมากขึ้น แล้วนอกจากการดูกล้องวงจรปิดแล้ว คุณครูเองสามารถป้องกันพฤติกรรมรุนแรงในระยะเริ่มต้นอย่างไรได้บ้าง?
-
1. สอนให้นักเรียนรู้จักความเมตตาและเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์
เมื่อพวกเขารู้ปัญหา รู้จักนำเสนอแนวคิด รู้จักมองหลายมุม พวกเขาจะเข้าใจกัน และไม่ค่อยรังแกผู้อื่น ดังนั้นการให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมร่วมกัน เสริมการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ ซึ่งคุณครูสามารถช่วยให้เด็กเข้าใจกันได้ง่ายเห็นคุณค่าของตนเองและผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น เช่น การให้เขาได้ลองสวมบทบาทเป็นผู้อื่น พูดคุยถึงความแตกต่างของพวกเขา ให้เขาได้ฝึกแก้ปัญหาความขัดแย้ง และสร้างความเข้าใจต่อคนรอบข้าง
-
2. เปิดโอกาสสร้างความสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่น
คุณครูสามารถลดการบูลลี่ในโรงเรียนได้ด้วยการคอยสนับสนุนช่วยเหลือ และเยียวยานักเรียนในกลุ่มเป้าหมาย งานวิจัยหนึ่งพบว่าการชวนนักเรียนที่มีความรู้สึกผูกพันธ์กับเพื่อน ๆ ในห้องจะสามารถรับมือกับการถูกรังแกได้ดีขึ้น และยังระบุต่อว่าเมื่อนักเรียนเจอพฤติกรรมการบูลลี่ในโรงเรียน พวกเขาจะเริ่มต่อต้าน จนสามารถลดปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียนในอนาคตได้มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์
-
3. สังเกตพฤติกรรมที่อาจบ่งชี้ในทางที่ไม่ควร
นักวิจัยพบว่าพฤติกรรมบางอย่างอาจส่งสัญญาณถึงการเริ่มต้นของการกลั่นแกล้ง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้อาจพบได้ยาก แต่หากคุณครูจำพวกเขาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็มีโอกาสที่จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมการรังแกจนไปสู่การบูลลี่ในโรงเรียน แล้วพฤติกรรมแบบใดบ้างที่ควรสังเกต?
- การกลอกตาแปลก ๆ
- จ้องมองบางอย่างเป็นเวลานาน ๆ
- หัวเราะอย่างโหดร้าย หรือกระตุ้นให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมในการหัวเราะ
- การเรียกชื่อผู้อื่น
- การละเว้นหรือยกเว้นบุคคล
- การสอดแนม หรือสะกดรอยตาม
แม้พฤติกรรมเหล่านี้อาจจะไม่ถือเป็นการกลั่นแกล้งแต่ก็เป็นพฤติกรรมที่อาจสร้างปัญหาในภายภาคหน้า เพราะผลวิจัยบอกเป็นนัยว่าการกระทำนี้ สามารถนำไปสู่การบูลลี่ในโรงเรียน แต่หากควบคุมได้ทันเวลาก็สามารถลดปัญหาเหล่านี้ได้
-
4. ศิลปะการละคร สร้างบริบทที่มีประสิทธิภาพ
ศิลปะถือเป็นเครื่องมืออีกอย่างที่ช่วยให้นักเรียนมองเห็นถึงสถานการณ์จากมุมมองที่แตกต่างกัน การนำละคร วรรณกรรม เข้ามาใช้ในบทสนทนาสามารถช่วยให้นักเรียนเข้าใจถึงผลกระทบด้านลบของการบูลลี่ในโรงเรียนโดยคุณครูสามารถดึงความน่าสนใจจากประเด็นที่เกิดขึ้นในเรื่องมาสร้างพื้นที่ปลอดภัย และเปิดกว้างให้นักเรียนทุกคนได้มีโอกาสพูดคุยกันเกี่ยวกับการกลั่นแกล้ง
-
5. สร้างวงกลมของโรงเรียนเล็กลง เพื่อศูนย์กลางที่เข้มแข็ง
สังคมของครูเองก็มีการกลั่นแกล้งเกิดขึ้นเช่นกัน และเมื่อครูถูกเพื่อนร่วมงานรังแก นักเรียนก็มักจะได้รับผลกระทบเช่นกัน
นักการศึกษาท่านหนึ่งเคยเล่าว่า “โรงเรียนแห่งหนึ่งมีการรังแกกันในวัฒนธรรมของผู้ใหญ่” ซึ่งนักเรียนเหล่านั้นรู้สึกถูกรังแกจากครูท่านอื่นด้วย ทำให้พวกเขารู้สึกว่า “หากอยู่ในวัฒนธรรมการรังแกของผู้ใหญ่ พวกเขาจะต้องขยันมากยิ่งขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าการกระทำเหล่านี้จะไม่ลงเอยในห้องเรียน”
เพราะสาเหตุของการรังแกนั้นเป็นบ่อเกิดของความตึงเครียด การมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียน ความคิดเชิงลบ ที่อาจจะมีผลกระทบต่อห้องเรียนได้ ดังนั้นการจะสร้างคุณภาพสังคมในโรงเรียนให้ดีขึ้น ปัญหาวัฒนธรรมของผู้ใหญ่ในโรงเรียนก็ควรได้รับการแก้ไขเช่นกัน
การบูลลี่ในโรงเรียน ปัญหาสังคมที่หวังว่าสักวันจะจางหาย
สิ่งสำคัญในการลดปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียน คือ การพยายามปรับปรุงแก้ไข วัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยความตึงเครียดให้ลดลง ทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย และเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่สนุกสนาน และเป็นสุขอย่างที่ควรจะเป็น แม้อาจจะไม่ใช่สิ่งที่แก้ไขได้ง่าย แต่หากเราเริ่มที่จะป้องกันอย่างจริงจัง ก็จะสามารถช่วยเติมน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ให้กับเมล็ดพันธุ์น้อย ๆ เติบโตไปอย่างงดงาม และก้าวข้ามผ่านปัญหาไปได้
อ้างอิง:
https://lesley.edu/article/6-ways-educators-can-prevent-bullying-in-schools
https://www.edutopia.org/package/bullying-prevention-strategies
https://www.creatrip.com/en/news/3119
บทความที่เกี่ยวข้อง