จิตวิทยาเด็ก อาวุธลับของครูปฐมวัย

จิตวิทยาเด็ก อาวุธลับของครูปฐมวัย

 
 
  • จิตวิทยาเด็กคือขุมทรัพย์และยาขนานดีที่ยิ่งครูมีมาก เราจะเข้าใจเด็ก ๆ ของเรามากขึ้นว่าทำไมเด็กแต่ละคนถึงมีความแตกต่างและไม่เหมือนกัน

  • ปัญหาด้านพฤติกรรมของเด็กกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะผู้ใหญ่ให้ความสำคัญกับความรู้วิชาการ หรือเร่งพัฒนาสมองมากจนเกินไป จนละเลยเรื่องของสภาพพื้นฐานจิตใจของเด็ก

  • ย่อย 5 เทคนิคจากผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็ก เพื่อปรับความเข้าใจและใช้สอนให้เหมาะกับเด็กในยุคดิจิทัล

 
 

“เมื่อก่อนเราก็โตกันมาได้ ไม่เห็นต้องใช้หลักจิตวิทยาเด็กเลย มันไกลตัวเกินไปหรือเปล่า?” เชื่อว่าครูหลายท่านคงมีความคิดแบบนี้เหมือนกัน แต่ความจริงแล้วเราใช้หลักจิตวิทยากับการสอนเด็กตั้งแต่รุ่นคุณพ่อคุณแม่ มันคือการใช้หลักจิตวิทยาเด็กแบบสัญชาตญาณที่สั่งสมความรู้เกี่ยวกับเด็กคนหนึ่งมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่เด็กจนพวกเขาเติบโต

ทฤษฎีของฟรอยด์สนับสนุนและเชื่อว่ามนุษย์มีสัญชาตญาณติดตัวมาแต่กำเนิด พฤติกรรมของบุคคลเป็นผลมาจากแรงจูงใจหรือแรงขับพื้นฐานที่กระตุ้นให้บุคคลมีพฤติกรรม และมีพื้นฐานทางจิตที่เรียกว่า Libido ซึ่งเกิดมาพร้อมกับมนุษย์ ที่ไม่ใช่เกิดขึ้นในวัยหนุ่มสาวแต่เกิดขึ้นตั้งแต่เด็กและจะค่อย ๆ พัฒนารูปแบบเป็นลำดับขั้นขึ้นไป แต่ถ้าการเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไปตามขั้นจะมีการชะงัก (Fixation) หรือการถอยกลับ (Regression) ทำให้มีผลสะท้อนไปถึงบุคลิกภาพเมื่อโตขึ้น ฉะนั้นการที่คนสมัยก่อนใช้หลักจิตวิทยาแบบสัญชาตญาณ เพื่อเรียนรู้พฤติกรรม สร้างความเข้าใจ ดูแลเลี้ยงดูเด็กหนึ่งคนให้เติบโตนั้นเป็นสิ่งที่ทำกันมานานแล้ว เพียงแต่สิ่งที่เรียกว่าจิตวิทยาไม่ได้ถูกแพร่หลายมากนักและสมัยนั้นยังไม่มีการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจังเหมือนทุกวันนี้ จิตวิทยาเด็กจึงเป็นเรื่องที่ดูเหมือนไกลตัว แต่ความจริงใกล้ตัวเราแค่นิดเดียว

ผู้ใหญ่อย่างเราลืมพัฒนาด้านจิตใจเด็ก ๆ หรือเปล่า?

ดร.ประภาศรี นันท์นฤมิต นักจิตวิทยา สาขาวิชาพัฒนาการและการเจริญเติบโต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ให้ข้อมูลไว้ว่า “ปัจจุบันเด็กไทยช่วยเหลือตัวเองได้น้อยมาก และมีปัญหาเรื่องพฤติกรรมที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งเกิดจากเราให้ความสำคัญกับเรื่องพัฒนาสมองมากเกินไป จนลืมพัฒนาจิตใจของพวกเขา ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่เด็กควรเรียนรู้ เราจะเห็นว่าปัญหาพฤติกรรมเหล่านี้ ไม่ได้ใช้แค่การเรียน แบบฝึกหัด หรือตัวชี้วัดตรงตามหลักสูตรเพียงอย่างเดียว แต่ต้องใช้การอบรมดูแล และความเข้าใจควบคู่ไปกับการใช้หลักจิตวิทยาเด็ก...ต้องเริ่มตั้งแต่ช่วงวัยอนุบาลซึ่งเป็นช่วงวัยที่สำคัญมาก เด็กจำเป็นต้องได้เจอประสบการณ์การต่าง ๆ และได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ปล่อยให้เขาเล่นให้สนุก แล้วเขาจะค้นหาตัวเอง สิ่งเหล่านี้จะสอนให้พวกเขาเติบโต มีความสุข คิดเป็น อยู่เป็น และเอาตัวรอดให้ได้อย่างเหมาะสม ไม่แข่งขันกันจนลืมคุณธรรมจริยธรรมในตัวเอง เพราะถ้าเราทำฐานแข็งแรง ถ้าล้มพวกเขาจะไม่เจ็บ”

 
 

ครูยุคใหม่กับหลักจิตวิทยาเด็ก

จิตวิทยาเด็กคือศาสตร์ที่เราจะเรียนรู้ทุกอย่างที่ประกอบขึ้นมาเป็นเด็กหนึ่งคน นั่นคือ

  1. ร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง
  2. สมองคิดได้อย่างสมบูรณ์
  3. สติปัญญา พัฒนาการเรื่องการรู้ การคิด แก้ปัญหา ควบคุมอารมณ์ ควบคุมพฤติกรรม
  4. เรื่องบุคลิกและสังคม ดูว่าเขาเป็นคนลักษณะอย่างไร มีคุณลักษณะแบบไหน มีความถนัดอะไร มีความสามารถในการอยู่ในสังคมในระดับดีมากน้อยเพียงใด” แล้วทำไมจิตวิทยาเด็กถึงมาบูมในช่วงนี้!

 

 

แล้วทำไมจิตวิทยาเด็กถึงมาบูมในช่วงนี้!

พญ.ดาริน จตุรภัทรพร ตั้งข้อสังเกตว่ามี 2 สาเหตุด้วยกันที่ครูยุคใหม่ให้ความสนใจเรื่องจิตวิทยาเด็กกันมาก

  1. สาเหตุจากสิ่งเร้า สิ่งเร่งเยอะ เราก็ต้องติดอาวุธให้ตัวเองว่าเด็กเจอสิ่งเร่งเร้ามาแบบนี้ แล้วเราจะใช้หลักการข้อไหนที่จะทำให้ผ่านเหตุการณ์นี้ไปได้
  2. เรื่องสื่อที่เอาเรื่องจิตวิทยาเด็กมาเรียบเรียงให้เราได้อ่านและเห็นตัวอย่าง เลยรู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น เช่น สมัยก่อนเราอาจไม่แน่ใจว่าเจอเหตุการณ์นี้ ทำแบบนี้ดีไหม แต่ตอนนี้มีองค์ความรู้ที่บอกเราว่า ถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้จากงานวิจัยที่ทำมาเราควรจะจัดการแบบไหน ซึ่งเราจะมองเห็นภาพรวมขององค์ความรู้ด้านจิตวิทยาเด็กเป็นสิ่งที่จับต้องได้มากขึ้น

 

 
 

รวบเทคนิคการใช้จิตวิทยาเด็กง่าย ๆ ใช้สอนเด็กได้จริง !

  1. เด็กแต่ละคนมีพื้นฐานอารมณ์ที่แตกต่างกัน ถ้าครูเข้าใจธรรมชาติและมีจิตวิทยาที่ดี เราก็จะจัดกิจกรรมเสริมให้พวกเขาได้ดี
  2. เพราะเด็กวัยนี้ต้องการความไว้วางใจต้องการความปลอดภัย ถ้าเขาอยู่กับครูที่เข้าใจ มีเมตตา หากเขาทำแบบนี้ครูยังอดทนเขาจะไว้วางใจและรู้สึกปลอดภัย แล้วความรู้สึกเหล่านี้จะสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างครูกับเด็ก และรับรองว่าเด็กรักที่จะมาโรงเรียน
  3. เจอเด็กดื้อจะใช้ไม้แข็งหรือไม้อ่อนดี เด็กที่มีพฤติกรรมเหล่านี้อาจไม่เป็นแบบที่เราคิดเสมอไป เด็ก ๆแค่ต้องการเวลาในการปรับและเตรียมตัว หากมองอย่างเข้าใจก็จะทำให้เข้าถึงเขาได้ง่ายขึ้น เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอารมณ์ กล้าเปิดใจและยอมเชื่อฟังมากขึ้น
  4. เด็กทุกคนต้องการเป็นที่รักของใครคนหนึ่ง เช่นในโรงเรียนก็คือครู ที่บ้านคือพ่อแม่ ถ้าครูมีหลักจิตวิทยา เราจะพูดกับเด็กง่ายขึ้น
  5. บรรยากาศและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กเป็นสิ่งที่ต้องสร้างขึ้น ดูแล้วต้องปลอดภัย สดใส เป็นมิตร ครูต้องอารมณ์ดียิ้มแย้มแจ่มใส พูดจาไพเราะ เพื่อสนับสนุนให้เด็ก ๆ อยากไปโรงเรียน และสร้างความรู้สึกว่าเป็นบ้านหลังที่สอง เด็กก็จะสนุกที่จะมาโรงเรียนมากขึ้น

จิตวิทยาเป็นเรื่องสำคัญมีไว้ให้เราจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กได้ถูกต้องเหมาะสมตามวัย เพราะเด็กแต่ละคนมีพื้นฐานแตกต่างกัน การจะสอนให้ตอบโจทย์ผลการเรียนรู้ของเด็กได้ เราต้องสังเกตเด็กและมีเทคนิคปรับประยุกต์ให้เด็กทุกคนในห้องเรียนสามารถเรียนรู้ตามแผนที่เราวางไว้อย่างเหมาะสม ถ้าเด็กทำไม่ได้ เราต้องมาปรับแผนใหม่ เราต้องมองเด็กเป็นที่ตั้ง ถ้าเราเข้าใจเด็กเราจะวางแผนการสอนได้อย่างเหมาะสม

 
ขอบคุณข้อมูลจาก

จิตวิทยาสำหรับครู (502 204) รศ.มัณฑรา ธรรมบุศย์

บทสัมภาษณ์ พญ.ดาริน จตุรภัทรพร

บทสัมภาษณ์ ดร.ประภาศรี นันท์นฤมิต
นักจิตวิทยา สาขาวิชาพัฒนาการและการเจริญเติบโต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท. อื่น ๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่น ๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

 
แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง