พัฒนาการพลังสมอง5 ด้านที่ครูช่วยหนูได้

 

ทักษะที่จำเป็นเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเด็กสำหรับศตวรรษที่ 21 มีมากมายหลายด้านเพื่อการวางรากฐาน และความมั่นคง เมื่อเค้าโตขึ้นในยุคที่โลกหมุนไปอย่างรวดเร็ว ครู และผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสนับสนุนทักษะหลาย ๆ ด้านเหล่านั้น และหนึ่งในความพร้อมที่สำคัญคือ การพัฒนาสมอง 5 ด้าน ที่ครูต้องช่วยกัน ออกแบบการเรียนรู้ และทำหน้าที่เป็น “คุณอำนวย” หรือเป็นโค้ชให้ ครูที่เก่ง และเอาใจใส่จะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้ลึกและเชื่อมโยง นี่คือ มิติทางปัญญา ซึ่งครูมีความสำคัญมาก เพราะเด็กจะเรียนได้อย่างมีพลัง เพื่อพัฒนาทักษะดังกล่าว การเรียนรู้ที่ไม่ใช่เรียนจากการสอน แต่ให้เด็กเรียนจากการลงมือทำ ต้องเรียนรู้ทุกด้านไปพร้อม ๆ กัน

 

พลังสมองทั้ง 5 ด้าน ได้แก่

 

สมองด้านวิชาและวินัย (Disciplined Mind)

 

การให้เด็กมีความรู้ในหลักสำคัญของวิชา และทักษะในวิชานั้น ๆ ในระดับที่เรียกว่าเชี่ยวชาญ (master) และสามารถพัฒนาตนเองในการเรียนรู้ อยู่ตลอดเวลา
ในการเรียนรู้ของเด็ก ต้องคำนึงถึงบริบท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริบทของการเจริญเติบโตทางสมองของเด็ก แต่อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับบริบทของผู้เรียน และสถานศึกษาเป็นสำคัญ เป้าหมายคือ การเรียนรู้หลักสำคัญของวิชา ไม่ใช่การจดจำสาระแบบผิวเผิน แต่รู้หลักจนสามารถเอาไปเชื่อมโยงกับวิชาอื่นได้ และสนุกกับมันจนหมั่นติดตามความก้าวหน้าของวิชาไม่หยุดยั้ง

 

 

สมองด้านสังเคราะห์ (Synthesizing Mind)

 

ครูต้องช่วยจัดหาให้เด็กได้เรียนเพื่อพัฒนาสมองด้านสังเคราะห์ ซึ่งต้องเรียนรู้จากการฝึกเป็นสำคัญ และครูต้องเสาะหาทฤษฎีเกี่ยวกับการสังเคราะห์มาใช้โดยมีขั้นตอนดังนี้

 

  • ความสามารถในการรวบรวมสารสนเทศและความรู้ต่าง ๆ ที่ เกี่ยวข้อง
  • เด็กสามารถกลั่นกรองคัดเลือกเฉพาะส่วนที่สำคัญ
  • จัดระบบข้อมูลที่ตนเองคัดกรองไว้
  • นำเสนอใหม่อย่างมีความหมาย ซึ่งมีได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบเรียงความ การนำเสนอด้วยสื่อมัลติมีเดีย เป็นภาพยนตร์สั้น เป็นละคร ฯลฯ

 

 

 

 

สมองด้านสร้างสรรค์ (Creating Mind)

 

สมองที่สร้างสรรค์คือ สมองที่ไม่เชื่อว่าวิธีการหรือสภาพซึ่งถือว่าดีที่สุดที่มีอยู่นั้น ถือเป็นที่สุดแล้ว เป็นสมองที่เชื่อว่ายังมีวิธีการหรือสภาพที่ดีกว่าอย่างมากมายซ่อนอยู่ หรือรอปรากฏตัวอยู่ แต่สภาพหรือวิธีการเช่นนั้นจะเกิดได้ ต้องละจากกรอบวิธีคิดหรือวิธีดำเนินการแบบเดิม ๆ
ศัตรูสำคัญที่สุดของความคิดสร้างสรรค์ คือ การเรียนแบบท่องจำ เปรียบเทียบสมอง ๓ แบบข้างต้นได้ว่า สมองด้านวิชาและวินัยเน้น ความลึก (depth) สมองด้านการสังเคราะห์เน้นความกว้าง (breath) และสมองด้านสร้างสรรค์เน้นการขยายหรือฝืน (stretch)

 

 

สมองด้านเคารพให้เกียรติ (Respectful Mind)

 

คุณสมบัติด้านเคารพให้เกียรติผู้อื่นมีความจำเป็นในยุคนี้ ผู้คนเคลื่อนไหวเดินทางและสื่อสารได้ง่าย จึงมีโอกาสที่ต้องพบปะผู้อื่นจำนวนมากขึ้น และมีความแตกต่างที่หลากหลาย ทั้งด้านกายภาพ นิสัยใจคอ วัฒนธรรมความเป็นอยู่ ความเชื่อ ศาสนา คนในศตวรรษที่ 21 จึงต้องเป็นคนที่สามารถคุ้นเคยและให้เกียรติคนที่มีความแตกต่าง เป็นสำคัญ คือ ต้องไม่มีอคติ ทั้งด้านลบและด้านบวกต่อคนต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา ต่างความเชื่อ

 

 

สมองด้านจริยธรรม (Ethical Mind)

 

  นี่คือ ทักษะเชิงนามธรรม เรียนรู้ซึมซับได้โดยการชวนกันสมมติและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันว่าตัวเองเป็นอย่างไรในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และหากคนทั้งโลกเป็นอย่างนี้หมด โลกจะเป็นอย่างไร รวมทั้งอาจเอาข่าวเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมาคุยกัน ผลัดกันออกความเห็นว่าพฤติกรรมในข่าวก่อผลดีหรือผลเสียต่อการอยู่รวมกันเป็นสังคมที่มีสันติสุขอย่างไร ครูควรนำตัวอย่างกรณีศึกษา ที่มีความแตกต่างหลากหลาย แล้วเป็นภาพจริงของสังคมที่มีทั้งคนดีคนเลว

        อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีดังกล่าว มิใช่คำตอบสุดท้ายของการพัฒนาเด็ก ครูคือบุคคลคนเดียวที่จะตอบได้ว่าทฤษฎีดังกล่าวได้ผลหรือไม่ เหมาะกับเด็กของตัวเองมากน้อยแค่ไหน อย่างไร ยังมีความรู้และทักษะอีกมากมาย ที่ครูสามารถออกแบบได้เอง เพื่อให้ตรงกับบริบทของโรงเรียน และของเด็กเอง เพื่อผลลัพธ์เดียวกัน คือเพื่อพัฒนาทักษะเด็กของเรา ให้พร้อมสู่โลกแห่งศตวรรษที่ 21 ทุกคนเป็นกำลังใจให้ครูทั่วประเทศครับ

 

 

 

 

 

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก :
  • หนังสือวิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ ในศตวรรษที่ 21 โดย วิจารณ์ พานิช
แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีบทความที่เกี่ยวข้อง