ทำความรู้จักแนวคิดใหม่ เก้าอี้ 3 ขา! กับการจัดการศึกษา สำหรับเด็ก LD

 
*การพัฒนาเด็ก LD จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อ คุณแม่ ครู โรงเรียน และแพทย์ ซึ่งถ้าขาดขาใดขาหนึ่งไปเด็ก ๆ ของเราอาจจะไม่สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง

*แนวคิดเรื่องเก้าอี้ 3 ขา เป็นเรื่องใหม่ที่พูดถึง 3 พลังกับการพัฒนาเด็ก ซึ่งมีนักวิชาการหลายท่านนำแนวคิดนี้มาใช้กับการสอนเด็กสมาธิสั้นรวมถึงใช้กับการสอนเด็ก LD อีกด้วย
 

🌈แนวคิดเก้าอี้ 3 ขากับหน้าที่การจัดการศึกษาให้เด็ก LD🌈

แนวคิดเรื่องเก้าอี้ 3 ขา เป็นเรื่องใหม่ซึ่งในต่างประเทศนำแนวคิดนี้มาใช้ในองค์กร เน้นความเข้าใจเรื่องการแสดงพฤติกรรมของคน และใช้หลักการจิตวิทยาและเพื่อพัฒนาคนในองค์กรนั้น ๆ ซึ่งมีนักวิชาการหลายท่านนำแนวคิดนี้มาปรับใช้กับการสอนเด็ก LD โดยเปรียบเก้าอี้ 1 ตัวกับเด็กคนหนึ่งที่ต้องมีขาเก้าอี้ที่แข็งแรงพอที่จะไม่ล้ม เช่นเดียวกับการดูแลเด็ก LD ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือและดูแลจากคุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครอง คุณครูและโรงเรียน และแพทย์และนักจิตวิทยา ทั้ง 3 ขานี้เป็นคนสำคัญที่จะช่วยเหลือและจัดการศึกษาให้เด็ก LD พัฒนาและอยู่ในสังคมได้อย่างมั่นคงและสมดุล....

 

🌈ทำความรู้จักกับเก้าอี้ 3 ขา🌈

👉เริ่มจากขาแรกคือ คุณพ่อ คุณแม่ผู้ปกครอง

 
 

หน้าที่สำคัญของคุณพ่อ คุณแม่และผู้ปกครองคือต้องศึกษาและทำความเข้าใจเด็กกลุ่มนี้ให้มากขึ้น หรือลองปรึกษาจากคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง หลังจากรู้ว่าลูกของเราเป็นเด็ก LD สิ่งที่ต้องทำอย่างต่อไปคือการทำงานร่วมกับคุณครูและโรงเรียนที่เด็ก ๆ ของเราเรียนอยู่ พร้อมเข้าไปมีส่วนร่วมกับการจัดทำแผน IEP เฉพาะบุคคล

 

👉ขาที่ 2 ครูและโรงเรียน

 
 

ครูมีหน้าที่สังเกต คัดกรองและรับผิดชอบในการจัดการศึกษาให้เป็นระบบ มีหลักสูตรเพื่อให้เด็กได้รับความรู้และทักษะที่ดี และมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย สำหรับการคัดกรองครูสามารถคัดกรองเด็กที่มีภาวะเสี่ยงได้ตั้งแต่ช่วงปฐมวัย ซึ่งเด็ก ๆ ที่เรียนอยู่ในระดับอนุบาลสามารถใช้การทดสอบเพื่อค้นหาภาวะ “เสี่ยง” กับความบกพร่องทางการเรียนรู้ได้ โดยผู้เชี่ยวชาญจะทดสอบด้วยเครื่องมือต่าง ๆ เช่น MacCarthy Screening Test เป็นแบบทดสอบสำหรับเด็กที่มีอายุระหว่าง 4 – 6 ปีครึ่ง ซึ่งมีการทดสอบใน 6 ด้านได้แก่...

  1. ซ้าย-ขวา
  2. การจำคำ
  3. การวาดรูปทรง
  4. การจำตัวเลข
  5. การจัดหมวดหมู่
  6. การใช้ขา

ซึ่งผลการทดสอบจะระบุได้ว่าเด็กอยู่ในภาวะ “เสี่ยง” หรือ “ไม่เสี่ยง” หากเด็ก ๆ มีความเสี่ยงคุณครูและผู้ปกครองสามารถพาเด็ก ๆ ไปหาคุณหมอเพื่อวินิจฉัยว่าเป็นเด็ก LD หรือไม่? นอกจากนั้นครูทำหน้าที่ดูแลการเรียนการสอนของเด็ก LD ตามแผน IEP โดยเฉพาะ ด้วยวิธีและสื่อที่หลากหลายให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน

**สำหรับเด็ก ๆ ที่มีการลงทะเบียนกับสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษก็จะมีเงินสนับสนุน 2,000 บาท/ปี เพื่อสนับสนุนอุปกรณ์การสอนเด็กกลุ่มนี้**

 

👉ขาที่ 3 แพทย์และนักจิตวิทยา

 
 

เป็นบุคคลที่มีหน้าที่วินิจฉัยว่าพวกเขาเป็น LD หรือไม่? คุณหมอจะคอยรวบรวมประวัติการเรียนและพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของเด็กแต่ละด้านไว้เป็นข้อมูลที่ใช้ประกอบการวินิจฉัย รวมทั้งรายงานจากครูประจำชั้น การทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียน เปรียบเทียบกับระดับสติปัญญา (IQ) โดยอาศัยเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อวัดและประเมิน เช่น แบบคัดกรอง KUSSI หรือของ สพฐ. มีการวัดระดับ IQ และการวัดระดับความสัมฤทธิผลทางการเรียนหรือ Achievement Test เป็นต้น

เพื่อให้เด็ก ๆ ของเราพัฒนาการและอยู่ในสังคมได้อย่างมั่นคงพลังทั้ง 3 ขานี้ต้องทำงานร่วมกัน เมื่อเก้าอี้ครบทั้ง 3 ขา เก้าอี้ตัวนี้ก็จะเป็นเก้าอี้ที่แข็งแรงและมั่นคงรับน้ำหนักได้เต็มที่ นั่นคือการศึกษาที่ดีที่สุดเพื่อให้เด็ก LDเติบโต อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพต่อไป

 
ขอบคุณข้อมูลจาก วารสาร LD ผศ.ดร.ดารณี ศักดิ์ศิริผล
 
Share

Relate article