สรุปให้รู้ ตามทันโลก อนาคตการศึกษา ep.37 จากห้องเรียนสู่การแก้วิกฤตสิ่งแวดล้อมเพื่อการสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สรุปให้รู้ตามทันโลก อนาคตการศึกษา ep.37
จากห้องเรียนสู่การแก้วิกฤตสิ่งแวดล้อมเพื่อการสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีวิกฤติสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นมากมาย นั่นเป็นเพราะโลกกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง มนุษย์กำลังใช้ทรัพยากรมากกว่าที่โลกจะผลิตได้ ทุกคนจึงจำเป็นที่จะต้องหาวิธีการดำเนินชีวิตโดยใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
- การศึกษาเป็นสิ่งที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมและสังคม เพื่อเตรียมนักเรียน ครู ให้มีความรู้ ทักษะ ทัศนคติ และค่านิยมที่จำเป็นในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นสำหรับโลก
- ไม่ว่าจะเป็นครูระดับชั้นใด หรือสอนวิชาอะไรก็สามารถช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้หรือศึกษาถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมได้ ผ่านมุมมองสาขาวิชาที่แตกต่างกัน
จากห้องเรียนสู่การแก้วิกฤตสิ่งแวดล้อม
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีวิกฤติสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นมากมายไม่ว่าจะเป็น อากาศร้อนจัด หนาวจัด น้ำท่วมสภาพอากาศแปรปรวนที่ส่งผลให้ไฟไหม้ครั้งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์ที่แอลเอ ส่วนหนึ่งมาจากลมแรงผิดฤดูกาลสภาพอากาศที่แห้งแล้งเกินปกติ นั่นเป็นเพราะโลกกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง มนุษย์กำลังใช้ทรัพยากรมากกว่าที่โลกจะผลิตได้ ทุกคนจึงจำเป็นที่จะต้องหาวิธีการดำเนินชีวิตโดยใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และจะเกิดไม่ได้เลยหากขาดความรู้ความเข้าใจ หรือจะเรียกอีกนัยหนึ่งว่า “การศึกษา” ซึ่ง UNESCO ได้ร่วมกำหนดวาระการศึกษาโดยมุ่งเน้นการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืนฉบับใหม่ประจำปี 2030 โดยหวังให้การศึกษาเป็นสิ่งที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมและสังคม เพื่อเตรียมนักเรียน ครู ให้มีความรู้ ทักษะ ทัศนคติ และค่านิยมที่จำเป็นในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นสำหรับโลก
แล้วจริงหรือที่การศึกษาไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ข้อมูลจาก UNESCO พบว่าประเทศสมาชิกยูเนสโก 46 ประเทศ หลักสูตรการศึกษามากกว่าครึ่งหนึ่งที่ศึกษาไม่ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ซึ่งผลสำรวจจากครูในสหรัฐฯ ร้อยละ 86 คิดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควรอยู่ในหลักสูตร ครูร้อยละ 65 มองว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวิชาที่สอน ในเมื่อเรื่องสภาพอากาศเป็นเรื่องของทุกคน ผู้กำหนดนโยบาย ครู หรือนักวิชาการ จึงจำเป็นจะต้องสร้างความตระหนักรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยครูทุกคนต่างมีโอกาสที่จะนำการสอนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนเพราะเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศไม่ได้เกี่ยวข้องเพียงแค่วิชาวิทยาศาสตร์เท่านั้นแต่ยังสามารถผนวกได้เข้ากับวัฒนธรรม ภาษา ประวัติศาสตร์ ซึ่งหมายความว่าไม่ว่าจะเป็นครูระดับชั้นใด หรือสอนวิชาอะไรก็สามารถช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้หรือศึกษาถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมได้ ผ่านมุมมองสาขาวิชาที่แตกต่างกัน
แล้วการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะบูรณาการกับวิชาอื่นอย่างไร
เพื่อช่วยให้นักเรียนมีความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มองเห็นผลกระทบที่เกี่ยวข้องจากหลายส่วน ทำให้นักเรียนจำเป็นต้องมีเครื่องมือและมุมมองจากหลายสาขาวิชา โดยครูจากหลากหลายสาขาวิชาสามารถนำเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปบูรณาการได้ดังนี้
สังคมศึกษา
ในวิชาสังคมครูสามารถลองให้นักเรียนศึกษาสิ่งแวดล้อมในอดีต เพื่อวิเคราะห์สาเหตุและผลที่ตามมาของการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน แล้วลองวางเหตุการณ์เหล่านี้ในบริบทของสถาบันต่าง ๆ ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร นักเรียนสามารถลองศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประชากรกับการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงศึกษาผลกระทบของกิจกรรมของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมตามวัยได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจได้ว่าปัจจัยใดบ้างที่ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน นอกจากนี้ในวิชาสังคมศึกษาอาจกล่าวถึงอำนาจ การปกครอง การวิเคราะห์ถึงสิทธิและความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายในการใช้ทรัพยากร เพราะความสัมพันธ์เหล่านี้เชื่อมโยงกันอยู่ โดยส่งผลต่ออการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน และอนาคต
ศิลปะ
การพยายามพูดถึงข้อเท็จจริงที่ซับซ้อนผ่านข้อความหรือแผนภูมิอาจทำให้คนทั่วไปเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ยาก การใช้ศิลปะหรือความครีเอทีฟในการเล่าเรื่อง หรือถ่ายทอดเรื่องยาก ๆ อาจจะทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายกว่า เช่น พอดคาสต์ วิดีโอ แอนนิเมชัน เพื่อกระตุ้นจินตนาการการเปิดรับมุมมองที่หลากหลาย สามารถให้นักเรียนผลิตงานของตนเองเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม การให้นักเรียนได้เริ่มต้นทำงานเหล่านี้อาจทำให้พวกเขามีมุมมองใหม่ ๆ ต่อการจัดการสิ่งแวดล้อมรอบตัวและรู้ว่าพวกเขาควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อเป็นการรักษาธรรมชาติ นอกจากนี้ ศิลปะภาพ ละคร ดนตรี เองก็สามารถเป็นพื้นที่สำหรับมุมมองใหม่ๆเปลี่ยนแนวคิดนามธรรมให้กลายเป็นประสบการณ์ที่จับต้องได้ มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ทุกคนเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
คณิตศาสตร์
ครูคณิตศาสตร์สามารถนำเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาใช้ได้เกือบทุกหัวข้อในการเรียน โดยครูตั้งหัวข้อให้นักเรียนได้ค้นคว้า และนำตัวเลขมาแสดงเป็นข้อมูล กราฟ แผนภูมิ หรือแผนที่เช่น แผงโซลาร์เซลล์ต้องการแสงแดดกี่ชั่วโมงจึงจะผลิตไฟฟ้า ได้ การใช้พีชคณิตในการคำนวณชั่วโมงแสงแดดสูงสุดที่จำเป็นในการผลิตพลังงานในปริมาณต่างๆ โจทย์คณิตศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศอื่นๆ ที่ใช้เพียงความรู้ทางสถิติพื้นฐานเท่านั้น เช่น การคาดการณ์ว่าน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกจะมีปริมาณเท่าใดภายในศตวรรษหน้า หรือโรคบางชนิดจะแพร่กระจายเร็วเพียงใดเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น
จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความเกี่ยวข้องกับวิชาต่างๆ ได้อย่างไหลลื่น ครูสามารถบูรณาการหัวข้อนี้ในการสอนโดยอาจใช้ระยะเวลาการสอนที่นานขึ้นกว่าปกติ เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสสำรวจ ค้นคว้า วิเคราะห์ รวมถึงหาแนวทางร่วมแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ครู การศึกษาวิจัยของสถาบัน Brookings พบว่าหากครูและนักการศึกษามีการดำเนินการเกี่ยวกับการให้ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเพียงพอจะสามารถนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมาก นอกจากนี้การสอนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังเป็นโอกาสให้นักเรียนได้แสดงศักยภาพของการเปลี่ยนแปลง ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่จะช่วยสร้างโลกใบนี้ให้น่าอยู่มากกว่าเดิม เพราะคนที่จะใช้ชีวิตอีก 10 ปีบนโลกใบนี้ก็คือตัวพวกเขาเอง
เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท. Active Learning อื่น ๆ ได้ที่ >>> คลิก <<<
เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่น ๆ ได้ที่ >>> คลิก <<<
Relate article