สรุปให้รู้ตามทันโลกการศึกษา EP.25 ส่องพิพิธิภัณฑ์การเรียนรู้น่าสนใจทั่วโลก

 

 

ส่องพิพิธิภัณฑ์การเรียนรู้น่าสนใจทั่วโลก

 

 

 


                 

 

 

 

สรุปให้รู้ตามทันโลก อนาคตการศึกษา

   EP.25 ส่องพิพิธิภัณฑ์การเรียนรู้น่าสนใจทั่วโลก

 

                      ปัจจุบันการเรียนรู้ในห้องเรียนไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของการศึกษาอีกแล้ว การเรียนรู้ทักษะอื่น ๆ ก็สำคัญพอ ๆ กับวิชาการโดยเฉพาะเรื่องของการเรียนรู้นอกห้องเรียน ที่มีหลากหลายรูปแบบ[1] เช่นเรื่องของกีฬา ดนตรี ศิลปะ การบริการชุมชน (เช่นการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ทำงานอาสาสมัคร) การท่องเที่ยว (เป็นการแลกเปลี่ยนวรรณธรรม การทัศนศึกษา) การเรียนรู้ภาษา และการพัฒนาตนเอง เพราะมันช่วยเสริมทักษะหลายด้านให้กับเด็ก ๆ ทั้งเรื่องของการพัฒนาความคิด สร้างแรงบันดาลใจ และมีประโยชน์ต่อเด็กอีกหลายด้าน ดังนี้

 

 

1. ช่วยให้ผลการเรียนด้านวิชาการดีขึ้น

               จากข้อมูลของวารสารการศึกษาและวิจัยทางการแพทย์จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติและวารสารวิทยาศาสตร์ แคนาดา[2] ได้วิเคราะห์ออกมาว่าการเรียนรู้นอกห้องเรียนมีความสัมพันธ์กับความสำเร็จทางวิชาการเนื่องจากสุขภาพจิตของเด็ก ๆ ดีขึ้น ประสบการณ์ทางจิตและอารมณ์เชิงบวกที่ดีจึงส่งผลถึงผลการเรียนที่ดีขึ้นด้วย

 

2. สำรวจตนเอง เปิดมุมมองใหม่ ๆ ต่อโลก และเพิ่มทักษะเรียนรู้ตลอดชีวิต

               กการเรียนรู้นอกห้องเรียนคือการเริ่มจากสิ่งที่เด็ก ๆ สนใจ นอกจากความสนุกคือเรื่องของการเปิดโอกาสให้ได้สำรวจตนเองและเปิดมุมมองใหม่ ๆ นอกจากเรื่องที่เรียนในห้องเรียนเพื่อค้นคว้าสิ่งที่สนใจให้ลึกซึ้งขึ้น และข้อดีอีกอย่างคือทัศนคติที่ช่วยส่งผลต่อแนวคิดของทักษะเรียนรู้ตลอดชีวิต

  

3. โอกาสทางสังคม

               ในโลกที่ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยทุนนิยม ปฏิเสธไม่ได้ว่าโอกาสทางสังคมคือโชคอย่างหนึ่งของการประสบความสำเร็จ การเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ จะทำให้ได้เจอผู้คนใหม่ ๆ นอกจากเพื่อนหรือครูที่เจอในห้องเรียน และได้รับประสบการณ์มากมายจากการมีความสัมพันธ์กับผู้คน

            

4. สุขภาพจิตที่ดี

               จากวิจัยของ Eva Oberle รองศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย[3] พบว่าการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้นอกห้องเรียนช่วยลดความเครียด พัฒนาทักษะด้านอารมณ์ และช่วยให้เด็ก ๆ บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในเรื่องของการลดเวลาหน้าจอ ระดับความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าลดลงอีกด้วย

 

 

               กิจกรรมนอกห้องเรียนมีหลากหลายทั้งกิจกรรมกีฬา ดนตรี ศิลปะ การทดลอง ศึกษาค้นคว้าเรื่องที่สนใจ และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่วันนี้อัตนัยมายกตัวอย่างแหล่งเรียนรู้ที่ไม่ต้องเตรียมอะไรเลย มีแค่ตัวก็พร้อมเรียนรู้ได้ กับแหล่งเรียนรู้นอกสถานที่ที่หลายคนรู้จักกันดีอย่าง “พิพิธภัณฑ์” นั่นเอง

 

รู้ไหมว่าพิพิธภัณฑ์มีมากถึง 85,000 แห่งทั่วโลก[4] แล้วถ้าพูดถึง “พิพิธภัณฑ์” ทุกคนคิดถึงอะไร? ของตั้งโชว์ ศิลปะ ภาพวาด เรื่องประวัติศาสตร์ หรือของเก่าของโบราณเป็นส่วนใหญ่ใช่ไหม วันนี้อัตนัยมาแนะนำแหล่งเรียนรู้น่าสนใจอย่างพิพิธภัณฑ์ให้ผู้อ่านได้รู้จักกัน ถ้าเป็นพิพิธภัณฑ์ในไทยเด็ก ๆ หลายคนคงเคยไปทัศนศึกษากันแล้ว วันนี้จึงยกตัวอย่างแหล่งเรียนรู้น่าสนใจ 4 แห่งจากทั่วโลก เกี่ยวกับเรื่องของธรรมชาติ สัตว์ วิทยาศาสตร์ อวกาศ และศิลปะ มีที่ไหนน่าสนใจบ้าง มาดูกันครับ

 

Lusto พิพิธภัณฑ์ป่าของฟินแลนด์[5]

               ให้เด็กเชื่อมโยงถึงธรรมชาติที่แตกต่างจากทั่วไปโดยการนำป่าเข้ามาผสมผสานกับสถาปัตยกรรมของพิพิธภัณฑ์ จุดสนใจหลักของนิทรรศการต่าง ๆ คือการเสนอเนื้อหาออกเป็น 6 ธีมหลัก คือ สำรวจป่าจากมุมมองต่าง ๆ พร้อมเสนอให้เห็นคุณค่าของธรรมชาติและป่า เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ของป่าไม้ แสดงให้เห็นถึงความเป็นอยู่ที่ดี ธรรมชาติของป่า เอกลักษณ์ งาน และทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ New Standards ที่เล่าเรื่องของ Puutalo Oy เบื้องหลังการพิชิตโลกของบ้านไม้สำเร็จรูป หลังฟินแลนด์ผ่านสงครามโลกครั้งที่สองในรูปแบบออนไลน์อีกด้วย ดูนิทรรศการออนไลน์ได้ที่นี่ : https://newstandards.info/ 

 

 

รูปภาพจากเว็บไซต์ lusto.fi 

 

 

พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ Nifrel Aquazoo โอซาก้า[6]

               เป็นพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำสุดล้ำอันดับหนึ่งของเอเชียโดยการจัดอันดับด้วยข้อมูลจาก TripAdvisor จัดแสดงสัตว์น้ำในด้วยการนำเทคโนโลยี Interactive มาใช้แบ่งออกเป็น 8 โซน[7] คือ

  • COLORS มหัศจรรย์แห่งสีสันของสัตว์น้ำ
  • ABILITIES แสดงสภาพแวดล้อมของสัตว์น้ำแต่ละตัวว่ามีความสัมพันธ์กับความสามารถอะไรบ้าง เช่น การเปลี่ยนสีหรือการจับเหยื่อ เป็นต้น
  • SHAPES แสดงความลึกลับของสัตว์น้ำผ่านรูปทรงต่าง ๆ
  • WONDER MOMENTS นำแสดงศิลปะที่ถูกออกแบบโดยศิลปินชื่อดัง Takahiro Mutsu โดนใช้เทคโนโลยี Interactive มาในธีมของจักรวาลแบบ 360 องศา
  • WATERSIDE โซนแสดงสัตว์หายากหลากหลายสายพันธุ์
  • BEHAVIOR จำลองพื้นที่ธรรมชาติและจัดแสดงสัตว์แบบใกล้ชิดกับผู้คน
  • BIODIVERSITY นำเสนอภาพ 3 มิติแบบไดนามิก ผสานลายเส้นกราฟฟิกกับภาพเคลื่อนไหวโดยหัวข้อจะเปลี่ยนไปตามที่พิพิธภัณฑ์กำหนด

 

             

รูปภาพจาก www.nifrel.jp

  

พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเกิดใหม่แห่งชาติ โตเกียว[8]

               ให้เด็ก ๆ เข้ามาเรียนรู้เรื่องราวของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าส่งผลต่อโลกและชีวิตประจำวันของเราอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาอาหาร และภัยธรรมชาติ ภายในจะมีจัดออกเป็น 4 โซน ดังนี้[9]

  • การค้นพบโลกกว้าง จัดแสดงโดยใช้เทคโนโลยี Geo-Cosmos เป็นจอแสดงผลที่ใช้แผงเรืองแสงออแกนิก (EL) ตรวจสอบข้อมูลจากดาวเทียมและนักวิทยาศาสตร์จากนั้นดึงมาแสดงข้อมูลบนจอรูปโลกขนาดใหญ่แบบ 360 องศา ในรูปแบบ Augmented Reality (AR) ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศตลอดเวลามองเห็นแบบเดียวกับนักบินอวกาศ
  • วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ให้อะไรกับอนาคต เป็นโซนที่ให้เด็กได้โต้ตอบกับหุ่นยนต์ เห็นถึงความแตกต่างของโลกที่มีหุ่นยนต์เป็นประชากรในโลกดิจิทัลจำลองนี้ ได้จินตนาการถึงอนาคตอีก 50 หรือ 1,000 ปีข้างหน้าของการอยู่รวมกันกับหุ่นยนต์
  • สำรวจพรมแดน เป็นโซนเกี่ยวกับโลกอวกาศและชีวิต ให้สัมผัสกับชีวิตแบบนักอวกาศและทำการจำลองที่อยู่อาศัยบนอวกาศ ให้ได้เรียนรู้ว่าอวกาศเชื่อมต่อกับโลกและสังคมอย่างไรในอนาคต
  • Dome Theatre การจัดแสดงภาพยนตร์สามมิติแบบฟูลโดมเปลี่ยนธีมไปเรื่อย ๆ ตามหัวข้อของแต่ละรอบ มีฉายวันละ 4-7 รอบต่อสัปดาห์

Miraikan - National Museum of Emerging Science and Innovation - Experience the Forefront of Science

รูปภาพจาก Fun! JAPAN

 

 

พิพิธภัณฑ์เด็ก อินเดียนาโพลิส (Children’s Museum of Indianapolis)[10]

               พิพิธภัณฑ์เด็กที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยโถงนิทรรศการ 5 ชั้น มีผู้เข้าชมมากกว่าหนึ่งล้านคนต่อปี[11] จัดแสดงโบราณวัตถุและสิ่งของจัดแสดงมากกว่า 130,000 ชิ้น โดยแบ่งออกเป็น 2 โซน คือเรื่องของศิลปะและมนุษยศาสตร์ อีกส่วนหนึ่งคือวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ พร้อมกิจกรรมมากมายสำหรับเด็กทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงวัยรุ่นได้ลงมือปฏิบัติจริง ดังนี้

  • National Geographic: Treasures of the Earth จัดแสดงประวัติศาสตร์แบบจำลองของสิ่งประดิษฐ์โบราณที่ขุดพบในอดีต ได้แก่ สิ่งประดิษฐ์ของอียิปต์โบราณที่นำเสนอในรูปแบบจำลองหลุมฝังศพของ Seti โบราณวัตถุเกี่ยวกับหยิงเจิ้งจักรพรรดิองค์แรกของจีน และโบราณคดีใต้น้ำผ่านซากเรือและปืนใหญ่ของวิลเลียม คิดด์
  • Beyond Spaceship Earth นิทรรศการเกี่ยวกับเทคโนโลยีและชีวิตประจำวันของสถานีอวกาศ NASA
  • Reuben Wells จัดแสดงเครื่องจักรไอน้ำหนัก 11,000 ปอนด์ (5,000 กิโลกรัม) ที่สร้างขึ้นในปี 1868
  • Dinosphere ให้เรียนรู้สรีรวิทยา ธรรมชาติของสัตว์ในยุคครีเทเชียสเมื่อ 65 ล้านปีก่อน
  • InfoZone ห้องสมุดสาธารณะขนาดใหญ่ถึง 3,000 ตารางฟุต Take Me There นิทรรศการกึ่งถาวรนำเสนอเรื่องราวของวัฒนธรรมที่แตกต่างกันในพื้นที่ทุกๆ 4-5 ปี และจะเปลี่ยนประเทศไปเรื่อย ๆ
  • Carousel Wishes and Dreams สวนสนุกที่มีการจัดแสดง ม้าหมุน Broad Ripple Park Carousel ปี 1917 เป็นม้าหมุนสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งชาติเกี่ยวกับดนตรีของวงออร์แกนทหาร
  • Science Works นิทรรศการเกี่ยวกับการสำรวจวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์กายภาพ โดยให้เด็กเรียนรู้ผ่านกิจกรรมลงมือทำได้จริง เช่น สร้างเรือของเล่นเพื่อลอยไปตามทางน้ำ เรียนรู้การก่อสร้าง สังเกตบ่อน้ำที่มีชีวิต Biotech Lab ที่เน้นไปในเรื่องอนาคตของ DNA และเคมี และสุดท้ายคือ SciencePort ให้เรียนรู้เกี่ยวกับชีววิทยาของพืช
  • Power of Children นิทรรศการแสดงเรื่องราวของเด็กที่สร้างสิ่งดี ๆ ให้โลก เช่น แอนน์ แฟรงก์ สะพานทับทิม ไรอัน ไวท์และมาลาลา ยูซาฟไซ นิทรรศการกีฬา จัดแสดงศิลปะการกีฬาและนิทรรศการเกี่ยวกับวัฒนธรรมการกีฬาในพื้นที่กลางแจ้ง

 

รูปจาก   priority-press.com

 

               จริง ๆ แล้วพิพิธภัณฑ์เป็นมากกว่าแค่ที่เก็บของเก่า ที่เดินเล่น ไว้ถ่ายรูปเก๋ ๆ หรือไว้ตากแอร์ในวันหยุด แต่มันเป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งเลย ยังมีแหล่งเรียนรู้อีกมากมายทั่วโลกที่น่าสนใจและสร้างประสบการณ์นอกห้องเรียนให้เด็ก ๆ ได้ ไม่ใช่แค่พิพิธภัณฑ์เท่านั้น เพียงแค่คุณครูพาเด็กออกไปเดินในโรงเรียน หรือพร้อมเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เรียนรู้ในสิ่งที่สนใจก็เป็นหนึ่งในการส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนแล้วครับ

    

 

อ้างอิง

 

 

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท. Active Learning อื่น ๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่น ๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

 
 

 

 

 

 

Share

Relate article