สรุปให้รู้ตามทันโลกการศึกษา ep.34 พลิกโฉมโรงเรียนตาม Trend Internet of Things (IoT)

 

 

  

สรุปให้รู้ตามทันโลก อนาคตการศึกษา  ep.34

พลิกโฉมโรงเรียนตาม Trend Internet of Things (IoT)

 

                      เพราะโลกของห้องเรียนไม่ใช่แค่กระดานดำกับหนังสือเรียนอีกต่อไปแล้ว ยุคสมัยมีการปรับตัวนำเทคโนโลยีมาผสานเข้ากับสถาบันการศึกษา กระบวนการเรียนรู้ในปัจจุบันจึงปรับไปตาม Trend Internet of Things (IoT)[1] ที่ทำให้ห้องเรียนเชื่อมต่อกันด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตไม่ว่าจะเป็นสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต หรืออุปกรณ์อัจฉริยะอื่น ๆ ส่งเสริมให้วิธีการเรียนรู้ของนักเรียน วิธีการสอนของครู และการดำเนินการของโรงเรียนมีศักยภาพมากขึ้น เช่น นักเรียนค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองผ่าน Google หรือคุณครูนำการใช้สื่อดิจิทัลและคลิปการสอน มีการหนังสือในรูปแบบ e-Book การจัดการสอนด้วยสื่อ 3D (Virtual Reality & Augmented Reality) หรือนำ AI มาใช้กับห้องเรียนมากขึ้น เป็นต้น

              

  

ประโยชน์ของการมี Internet of Things (IoT) ในการเรียนการสอน

  •   ยกระดับสภาพแวดล้อมการเรียนรู้
    การมีความพร้อมทางด้าน IoT ช่วยยกระดับการสอนในห้องเรียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพราะมาพร้อมกับแนวทางการสอนที่หลากหลาย เช่น คลิปการสอน สไลด์การสอนที่มีความรู้น่าสนใจ ตำราเรียนในรูปแบบ e-Book ที่ปัจจุบันมีการใส่สื่อเสริมความรู้ แบบฝึก ใบงาน การบ้าน ลงไปในรูปแบบ QR Code เป็นแหล่งความรู้เพิ่มเติมที่ให้นักเรียนสแกนผ่านอุปกรณ์ของตนเองได้อย่างง่ายดาย หรือคุณครูสร้างปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียนได้ผ่านกระดานโต้ตอบและไฮไลต์ดิจิทัลต่าง ๆ เช่น Kahoot Padlet หรือ Google Jamboard เป็นต้น สะดวกยิ่งขึ้นสำหรับนักเรียนในการโต้ตอบหรือแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนและครูในห้องเรียนทั้งแบบ On Site และ Online
     
  • แบ่งเบาภาระงานครูได้มากขึ้น
    ยกระดับงานเอกสารและการเตรียมการสอนของครูให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่นง่ายต่อการเตรียมการสอนของครู ไม่ต้องแปลงข้อมูลให้เป็นออฟไลน์แต่สามารถเลือกใช้สื่อสำเร็จรูปต่าง ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตประกอบการสอนได้ทันที ตัวอย่างเช่น สื่อ 3D หรือ Simulation ที่มาพร้อมกับหนังสือเรียน หรือช่วยในการออกแบบหลักสูตร การให้คะแนนเอกสาร การสอน และติดต่อสื่อสารกับผู้ปกครองได้ง่ายขึ้น ผ่านข้อมูลของเด็ก ๆ ที่ถูกเก็บไว้ผ่านการทำกิจกรรมออนไลน์ในการเรียนรู้
     
  • ระบบการเรียนรู้ส่วนบุคคล
    การใช้งานระบบต่าง ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตสามารถรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับผลการเรียนและพฤติกรรมของนักเรียนได้โดยที่ครูไม่ต้องลงมือทำและวิเคราะห์เองเป็นรายคน สามารถสร้างหลักสูตรเฉพาะที่เหมาะกับนักเรียนแต่ละคนได้ ช่วยให้ระบุปัญหาที่แต่ละคนต้องการความช่วยเหลือได้ง่ายขึ้น และปรับการสอนให้เหมาะกับความต้องการของแต่ละคนได้

     
  • ช่วยในการวางแผนหลักสูตรและวางแผนบริหาร
    มีข้อมูลที่แม่นยำตั้งแต่ผลการเรียนของนักเรียนไปจนถึงการเข้าชั้นเรียน ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนเพิ่มเติมได้เพื่อปรับปรุงและสร้างกลยุทธ์ให้เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ใหม่ ๆ แก่นักเรียน สำรวจความปลอดภัยของนักเรียนได้รอบด้าน

     
  • ความปลอดภัยของนักเรียนถือเป็นสิ่งสำคัญในโรงเรียน
    ในหลายโรงเรียนที่มีระบบ IoT ดี ๆ เช่น RFID เซนเซอร์ที่เสริมประสิทธิภาพ กล้อง และอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อได้ทำให้สามารถตรวจสอบอาคารทั้งหลังได้ สามารถให้ผู้ปกครองเข้ามาดูกล้องวงจรปิดออนไลน์เพื่อดูลูกหลานของตนเองได้เลย นอกจากนี้ยังระบบการแจ้งเตือนและการดำเนินการที่กำหนดค่าได้ เช่น ตรวจสอบสัญญาณไฟหรือตรวจจับพฤติกรรมผิดปกติ สิ่งเหล่านี้ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับโรงเรียนได้อย่างมาก

 

โรงเรียนต้องเตรียมตัวอย่างไรเพื่อรองรับ Internet of Things (IoT)

 

  • การบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่าง ๆ
    ในการทำโรงเรียนให้เป็นระบบ IoT สิ่งสำคัญคือเรื่องความพร้อมของระบบอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ในการใช้งาน เช่น ระบบ HVAC อุปกรณ์ไฟฟ้า และเครื่องมือดิจิทัลต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ โรงเรียนจึงต้องลงทุนในระดับสูงและต้องมีแนวทางเชิงรุกในการบำรุงรักษาเพื่อป้องกันความเสียหายและคำนึงถึงต้นทุนด้านพลังงานต่าง ๆ อีกด้วย

     
  • การติดตามทรัพย์สิน
    ควรมีระบบเพื่อติดตามตำแหน่งและสถานะของทรัพย์สิน เช่น แล็ปท็อป แท็บเล็ต และอุปกรณ์อัจฉริยะต่าง ๆ อย่างจริงจังเพื่อช่วยลดการสูญหายหรือการโจรกรรมและทำให้การจัดการอุปกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

     
  • การขนส่งและความปลอดภัยของนักเรียน
    ในต่างประเทศมักมีรถบัสรับส่งจากโรงเรียนที่ใช้เทคโนโลยี IoT สามารถติดตามและสื่อสารกับผู้ปกครองได้แบบเรียลไทม์ ช่วยให้มั่นใจได้ว่านักเรียนจะปลอดภัยระหว่างการเดินทางและยังมีเทคโนโลยีที่ช่วยคำนวณประสิทธิภาพการใช้เส้นทางและการใช้เชื้อเพลิงอีกด้วย ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้กับบางสถานศึกษาที่มีรถรับส่ง

     
  • ระบบรักษาความปลอดภัยคุณภาพสูง
    ในยุคดิจิทัลแบบนี้สิ่งที่สำคัญที่อันตรายต่อทรัพย์สินของผู้คนอย่างมากคือเรื่องของการโจรกรรมผ่านอินเทอร์และมิจฉาชีพในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้การโรงเรียนที่นำระบบ IoT เข้ามาใช้ต้องมีโปรแกรมที่รักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อป้องกันข้อมูลต่าง ๆ ของนักเรียนและผู้ปกครอง

 

                               โรงเรียนต้องเตรียมตัวอย่างไรเพื่อรองรับ Internet of Things (IoT)
                                     ถึงแม้การใช้ IoT ในห้องเรียนจะมีประโยชน์มากแต่การลงทุนเพื่อปรับปรุงโรงเรียนก็สูงไปด้วย ยิ่งในไทยบางโรงเรียนอาจค่อย ๆ ปรับใช้ได้ แต่บางโรงเรียนยังคงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ทำให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำยิ่งกว้างมากขึ้น เพราะคุณภาพการศึกษาของเด็กแต่ละแห่งแตกต่างด้วยฐานะ สภาพสังคม หรือความห่างไกลของพื้นที่โรงเรียน ยังไม่ต้องพูดถึงอุปกรณ์ราคาแพง เพียงแค่จุดบริการของอินเทอร์เน็ตเพื่อความเสถียรต่อการใช้งานหรือการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตยังคงเป็นหนึ่งในช่องว่างที่กระทบต่อการศึกษาในรูปแบบ IoT ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มเด็กยากจนพิเศษ (นักเรียนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุดของประเทศ) จากการสำรวจและวิเคราะห์การใช้จ่ายด้านอินเทอร์เน็ตของนักเรียนทุนเสมอภาคในปี 2564 (กสศ.)[2] พบว่ามี 3 ปัจจัยที่ทำให้เด็ก ๆ ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนในรูปแบบที่ต้องใช้อินเทอร์เน็ตได้ คือ

 

  • การไร้เน็ตบ้าน 66% เนื่องจากมีค่าติดตั้งเพิ่มเติม บริการไปไม่ถึงพื้นที่ห่างไกล ต้องใช้ไฟฟ้าและเอกสารในการดำเนินงานซึ่งบางบ้านไม่มีในส่วนนี้
  • การไร้อุปกรณ์ 71% เนื่องจากในกลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษใช้โทรศัพท์มือถือในการเรียนรู้และมีไม่ถึง 5% ที่มีแท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์ทำให้ไม่สามารถรับประสบการณ์เรียนรู้ได้อย่างเต็มที่
  • การไร้เงินเติมเน็ต เนื่องจากครอบครัวมีรายได้น้อย 17% ของรายได้ครัวเรือนเป็นค่าเติมเงินมือถือซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่าครอบครัวนักเรียนทั่วไปถึงเกือบ 4 เท่า

 ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีการแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยจุดไวไฟฟรีจากโครงการเน็ตประชารัฐและอินเทอร์เน็ตหมู่บ้านจากสำนักงาน กสทช. พร้อมให้บริการ 36,183 หมู่บ้าน จาก 73,939 หมู่บ้าน ใน 878 อำเภอทั่วประเทศ ไม่รวมกรุงเทพฯ (ข้อมูลเมื่อ 31 ธันวาคม 2565) แต่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของนักเรียนบางกลุ่มยังคงมีอีกหลายตัวแปรที่ควรคำนึง ทั้งความไกล-ใกล้ที่พักอาศัยของนักเรียน การแบ่งการใช้งานอินเทอร์เน็ตร่วมกับประชากรกลุ่มอื่น คุณภาพของสัญญาณอินเทอร์เน็ต และพื้นที่ภูมิศาสตร์อาจส่งผลกระทบต่อความเสถียรของอินเทอร์เน็ต อาจทำให้เน็ตหลุดหรือเน็ตหายเป็นผลกระทบโดยตรงถึงประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็กอีกด้วย

 

แม้ว่าจะเห็นได้ชัดว่าประโยชน์ของการนำระบบ IoT มาปรับใช้กับโรงเรียน สร้างห้องเรียนอัจฉริยะช่วยพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างดี

แต่การนำมาปรับใช้กับโรงเรียนไทยเรายังคงต้องวางแผนและใช้การลงทุนอย่างมาก

คุณครูคิดว่าโรงเรียนของคุณครูจะสามารถนำระบบนี้มาปรับใช้ได้ในอีกกี่ปีและควรมีอะไรที่ IoT ช่วยตอบโจทย์การทำงานของคุณครูเพิ่มเติมนอกจากในบทความนี้อีกบ้าง

ลองมาแลกเปลี่ยนไปด้วยกันกับอักษรครับ

           

          

      

 

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท. Active Learning อื่น ๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่น ๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

 
 

 

 

 

 

Share

Relate article