เทคนิคการเก็บเด็ก

เทคนิคการเก็บเด็ก

 

"การเก็บเด็ก" หรือ การเตรียมเด็กให้สงบ (Child Preparation Techniques) เพื่อดึงความสนใจของเด็กขณะที่เด็กกำลังคุยหรือเล่นกันอย่างไม่เป็นระเบียบเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการทำกิจกรรม ที่ครูต้องการในขั้นต่อไป

 

  • การว่ากล่าวตักเตือน ขู่เข็ญ ใช้น้ำเสียงตวาด หรือการลงโทษ ถือเป็นสิ่งแรกที่ครูจะต้องหลีกเลี่ยงเมื่อเด็กเริ่มขาดสมาธิกับกิจกรรมที่ครูกำลังดำเนินอยู่
  • การท่องคำคล้องจอง การร้องเพลง การเชิดหุ่น การเล่านิทาน หรือ การแสดงท่าทางต่าง ๆ เพื่อให้เด็กทำตามถือเป็นเทคนิคการเตรียมเด็กให้สงบก่อนเริ่มสู่กิจกรรมหลัก

 

การเตรียมเด็กให้สงบ (Child Preparation Techniques) หรือ การเก็บเด็ก

 

หมายถึง วิธีการที่ทำให้เด็กสงบลงด้วยการดึงความสนใจของเด็ก ขณะที่เด็กกำลังคุยหรือเล่นกันอย่างไม่เป็นระเบียบให้หันกลับมาสนใจในกิจกรรมที่ครูต้องการ

โดยครูอาจใช้วิธีการท่องคำคล้องจอง การร้องเพลง การเชิดหุ่น การเล่านิทาน การแสดงท่าทาง หรือ ใช้กิจกรรมต่าง ๆ หลายอย่างประกอบกันเพื่อทำให้เด็กสงบและมีสมาธิมากที่สุด

 

 

 

ทำไมต้องเตรียมเด็กให้สงบ?

 

การเตรียมเด็กให้สงบ หรือ การเก็บเด็ก เป็นกิจกรรมที่นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับเด็กในช่วงปฐมวัย เนื่องจากวัยนี้มีช่วงความสนใจสั้น ไม่ชอบอยู่นิ่ง เป็นวัยที่ต้องการอยากรู้อยากเห็นและชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เอาแต่ใจตัวเอง หงุดหงิด และเจ้าอารมณ์ ครูหลายท่านอาจจะพบว่าเด็กในวัยนี้ชอบปฏิเสธ หรือช่างซักถาม ที่สำคัญเด็กในวัยนี้มักจะยึดเอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางจนบางครั้งอาจเกิดเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทกันเอง

 

สถานการณ์เช่นนี้ การตลาด ดุด่า ขู่เข็ญ หรือบังคับลงโทษเด็ก ถือเป็นสิ่งแรกที่ครูต้องหลีกเลี่ยง เนื่องจากอาจส่งผลกระทบในทางลบกับเด็กในแง่ของจิตใจและการพัฒนาบุคลิกภาพของเด็กได้ เช่น อาจทำให้เด็กมีบุคคลิกภาพขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ขาดความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนมีความรู้สึกต่อต้านการมาโรงเรียน

 

การจัดเวลาให้เหมาะสมกับกิจกรรมของเด็กในช่วงวัยอนุบาลที่ยังไม่มีควาอดทนมากพอเกี่ยวกับเวลา มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้การเรียนรู้ของเด็กเป็นไปด้วยความสุข สนุกสนานและไม่เครียดจนเกินไป ครูจะต้องเป็นผู้พัฒนาความรู้สึกที่ดีในเรื่องเวลาให้กับเด็กทีละน้อย ๆ พร้อมกับจัดสรรกิจกรรมที่เหมาะสมกับเวลาและความสนใจของเด็กในแต่ละช่วงวัย

 

การนำเทคนิคการเตรียมเด็กให้สงบ หรือ การเก็บเด็กจึงนับว่าเป็นวิธีการสำคัญที่จะช่วยดึงดูดความสนใจของเด็กให้กลับมาสนใจในกิจกรรมการเรียนอีกครั้ง และยังเป็นการเปลี่ยนอิริยาบทให้กับเด็กด้วยการสร้างความสนุกสนานอีกด้วย

 

 

 

เทคนิคการเก็บเด็ก
เทคนิคการเก็บเด็ก

 

 

 

คุณครูเตรียมเด็กให้สงบที่โรงเรียนได้อย่างไร?

การเชิดหุ่น    เนื่องจากเด็กในวัยนี้มีจินตนาการสูงในการสร้างเรื่องราวสมมติ หุ่นที่นำมาใช้เป็นสื่ออาจเลือกได้หลายแบบ
เช่น หุ่นมือ หุ่นถุงกระดาษ หุ่นนิ้ว แล้วแต่ความเหมาะสม ทั้งนี้ หุ่นจะเป็นสื่อในการสอนให้เด็กได้พัฒนาในด้านคุณธรรม เจตคติ ค่านิยม ศีลธรรมจรรยา การตัดสินใจ การแก้ปัญหาและการสร้างสรรค์ต่าง ๆ ให้ทั้งความบันเทิง ทักษะการคิดอย่างมีเหตุผลและมีวิจารณญาณ รวมทั้งทักษะในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน

 

การใช้ท่าทาง      โดยคุณครูอาจตกลงกับเด็กว่า ครูทำท่าทางแล้วให้เด็กทำตาม ขณะที่ครูทำท่าทางจะแสดงสีหน้าสงบ ทำให้เด็กนิ่งและสงบด้วยเช่นกัน การใช้ท่าทางทำได้ดังนี้

 

  1. ตบมือตามจังหวะง่าย ๆ       แล้วค่อย ๆ ยากขึ้นตามลำดับ การทำท่าทางหลายอย่างประกอบกันเพื่อให้เด็กเกิดความสนใจ ระมัดระวังไม่ให้ทำท่าผิด เช่น แตะส่วนต่าง ๆ เริ่มจากแตะผม นับ 1 2 3   แตะไหล่นับ 1 2 3 … เป็นต้น
  2. การเล่นกับนิ้วมือ (Finger Play)       เป็นเทคนิคการใช้ท่าทางที่สำคัญอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งบางครั้งการเล่นกับนิ้วมืออาจใช้ประกอบการท่องคำคล้องจองหรือเพลงก็ได้ เช่น การท่องคำคล้องจอง    “ไข่สิบฟอง”     คำคล้องจอง    “นิ้วมือของฉัน”    คำคล้องจอง “แมงมุม” คำคล้องจอง “ฝนตกพรำ ๆ” คำคล้องจอง “นับเลข” เพลง “นกกระจิบ” เพลง “แมงมุมลาย” เพลง “แบมือแล้วกำ”

 

การร้องเพลง        เพลงมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของเด็กเล็กมาก ครูจึงควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เพลิดเพลินต่อการฟังเพลงหรือร้องเพลง บางทีในระยะแรก ๆ เด็กยังไม่พร้อมก็อาจเป็นแค่ฟังเพลง ต่อมาจึงร้องเพลงคลอเป็นกลุ่ม หรือเดี่ยวได้ โดยให้เด็กทำท่าประกอบ สร้างจังหวะ เด็กจะทำท่าทางประกอบเพลงโดยใช้แขน ขา ลำตัว การเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย การแกว่างแขน มือ เอนตัวไปมาตามจังหวะ การเคลื่อนไหวประกอบเพลงนี้จะเป็นการตอบสนองต่อะรรมชาติของเด็กทที่ต้องการเคลื่อนไหว หรือตามทฤษฎีพลังเหลือใช้ เพลงที่นำมาใช้กับการเตรียมเด็ กให้สงบจะต้องมีความเหมาะสมกับวัย บางครั้งอาจต้องเริ่มด้วยเพลงที่สนุกสนาน จากนั้นจึงค่อยเปลี่ยนเป็นเพลงที่ทำให้เด็กสงบ

 

การท่องคำคล้องจอง      เป็นการท่องทำประพันธ์ต่าง ๆ อาจเป็นโคลง กลอน กาพย์ ฯลฯ ซึ่งใช้ถ้อยคำง่าย ๆ และไม่ยากมากนัก เหมาะสมกับวัยของเด็ก มีเนื้อหาสาระง่าย ๆ เด็ก ๆ ท่องแล้วมีความสนุกสนาน การท่องคำคล้องจองประกอบท่าทางหรือเล่นกับนิ้วมือก็ได้ เช่น “ไข่สิบฟองกองอยู่บนโต๊ะ แตกดับโพล้ะ เหลือไข่เก้าฟอง” “นั่นนกบินมาลิบ ๆ นกกระจิบ 1 2 3 4 5 อีกฝูงบินล่องลอยมา 6 7 8 9 10”

 

การเล่านิทาน      เป็นเทคนิคที่นำมาใช้ในการเตรียมเด็กให้สงบ แต่ควรคำนึงถึงสถานการณ์และระยะเวลาให้มีความเหมาะสม การเล่านิทานจะทำให้เด็กได้รับประสบการณ์ทางภาษาอย่างมากมาย อีกทั้งยังทำให้ได้ใกล้ชิดกับเด็กและเข้าใจเด็กได้ดียิ่งขึ้น ช่วยให้ผู้ใหญ่ได้เห็นและเข้าใจความรู้สึกที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจเด็ก รู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุแห่งความรัก ความกลัว ความโกรธ เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นการฝึกให้เด็กรักการอ่านอีกด้วย

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก :
  • เว็บไซต์ ถามครูดอทคอม

 

 เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท.  อื่นๆ ได้ที่     >>> คลิก <<<

 เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่นๆ ได้ที่     >>> คลิก <<<

Share

Relate article

No relate article