จับมือบ้านกับโรงเรียนพัฒนาอนาคตผู้เรียน
จับมือบ้านกับโรงเรียนพัฒนาอนาคตผู้เรียน
การจัดการศึกษา คือ การที่ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในโรงเรียน โดยการสนับสนุนด้านความคิดเห็นตัดสินใจ สละแรงงาน และเวลาให้โรงเรียนในการวางแผน การกำหนดนโยบาย การติดต่อสื่อสารระหว่างบ้านและโรงเรียน การแก้ปัญหา พัฒนาสนับสนุนด้านการเงินและการประเมินผลการทำงาน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประการ คือ 1)การมีส่วนร่วมอย่างไม่เป็นทางการ 2)การมีส่วนร่วมอย่างเป็นทางการ แต่ กุลยา ตันติผลาชีวะ (2544 : 30) ให้ความหมายว่า การมีส่วนร่วมของผู้ปกครองกับโรงเรียน หมายถึง การมีส่วนร่วมของผู้ปกครองกับครูและโรงเรียนในการสร้างสรรค์และพัฒนาเด็กให้เจริญเติบโตและพัฒนาได้เต็มศักยภาพกล่าวโดยสรุปความหมายของ “การมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในการจัดการศึกษาโรงเรียน”ว่าหมายถึง การที่ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ กิจกรรม หรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาหรือการเรียนรู้ให้กับลูกหลานหรือเด็กในอุปการะของตนกับโรงเรียน
ความสำคัญของผู้ปกครองในการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของโรงเรียน
1. พ่อแม่เป็นผู้ให้กำเนิดชีวิตแต่ละชีวิต
ทารกที่เกิดใหม่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ต้องพึ่งพาพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นระยะเวลายาวนาน (จุมพล หนิมพาณิช. 2539 : 121) การอบรมเลี้ยงดูลูกเป็นโอกาสให้พ่อแม่กับลูกคลุกคลีกันในแบบที่มีการให้และการรับ การคลุกคลีกันนี้ย่อมเกิดผลเป็นพิเศษในการสร้างความสัมพันธ์ พ่อแม่ คือ ต้นเหตุของความสุข ความทุกข์ทั้งปวงของเด็ก (กรมสุขภาพจิต. 2539 : 4) สายใยความรักความผูกพันระหว่างเด็กกับพ่อแม่เป็นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง มั่นคง และยาวนาน เป็นพลังยิ่งใหญ่ที่ช่วยผลักดันให้การดำเนินชีวิตในด้านต่างๆ ประสบความสำเร็จได้ ด้านการศึกษาก็เช่นกัน (สำนักงาคณะกรรมการ การศึกษาเอกชน. 2544 : 3 ; สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. 2544 ค : คำนำ) ฉะนั้น หากได้นำเอาพลังความคิด ความเอาใจใส่ และความร่วมรับผิดชอบของผู้ปกครองมาสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้แล้ว ก็จะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพในตัวเด็กนักเรียนที่ยั่งยืน
2. พ่อแม่เป็นครูคนแรก
บรรทัดฐานสังคมที่เป็นมาตรฐานการปฏิบัติตนตามบทบาทและสถานภาพที่บุคคลมีในขณะใดขณะหนึ่งนั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่บุคคลรู้หรือเข้าใจได้เองตามธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่บุคคลต้องได้รับคำแนะนำสั่งสอนจึงจะรู้ได้ (พัทยา สายหู. 2541 : 128-147) คำแนะนำสั่งสอนหรือการขัดเกลาทางสังคม (Socialization) นี้เป็นการเรียนรู้ทางตรงหรือทางอ้อมก็ได้ (สุพัตราสุภาพ. 2531 : 95) พ่อแม่เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการให้การศึกษาแก่บุตรหลานของตน (สุมน อมรวิวัฒน์. 2543 : คำนำ ; จรรจา สุวรรณทัต. 2545 : 8) ครูคนแรกของเด็กก็คือ แม่และ/หรือพ่อ (รุ่ง แก้วแดง. 2541 : 166) หากขาดการอบรมของพ่อแม่ก็ยากที่จะหาการอบรมอื่นใดมาทดแทนได้
3. พ่อแม่เป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด
พ่อแม่ มีพลัง รวมทั้งความตั้งใจและความปรานีต่ออนาคตของลูกหลานของตนเอง (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน. 2544 : 3 ; สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. 2544 ข : คำนำ) เมื่อพิจารณานิเวศวิทยาของผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการ พบว่า ครอบครัวอยู่ใกล้ชิดและล้อมรอบตัวเด็กนักเรียนมากที่สุด พ่อแม่จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการของเด็กนักเรียน
4. พ่อแม่เป็นครูที่ดีที่สุดในโลก
ลักษณะเด่นในความเป็นครูของพ่อแม่ที่แตกต่างไปจากครูปกติหรือมากกว่าครูทั่วไป ก็คือ 1)พ่อแม่ให้ความรัก ความเอาใจใส่ ความห่วงใยต่อลูก อย่างมากจนยากที่จะหาความรักของครูอาชีพมาทดแทนได้ 2)พ่อแม่เป็นครูตลอดชีวิต ที่ให้การอบรมสั่งสอนลูกได้ตลอดเวลา ตราบเท่าที่พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ 3)พ่อแม่เป็นครู 24 ชั่วโมง คือ ไม่ได้เป็นครูเฉพาะใน
เวลาราชการเหมือนครูอาชีพ ลักษณะความเป็นครูของพ่อแม่ทั้ง 3 ประการนี้ เป็นคุณสมบัติของครูที่ดีที่สุดในโลก (รุ่ง แก้วแดง. 2541 : 172-173)
5. เป็นยุทธศาสตร์สังคมแห่งการเรียนรู้
พ่อแม่ผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญในการจัดกระบวนการเรียนรู้และการเสริมสร้างการเรียนรู้ ทั้งที่บ้าน โรงเรียน และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. 2544 ข : 1 ; รุ่งเรือง สุขาภิรมย์. 2544 : 11) การมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในการจัดการศึกษาจะทำให้สังคมมีแหล่งการเรียนรู้เกิดขึ้นมากมายเพื่อทำให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้หรือสังคมแห่งปัญญา ที่ผู้เรียนสามารถแสวงหาความรู้ด้วยตนเองได้ตลอดเวลา (สำนักงานปฏิรูปการศึกษา. 2544 : 11) เช่นเดียวกับแนวคิดของ รุ่ง แก้วแดง (2541 : 172-174) ที่ว่าครอบครัว คือ ศูนย์การเรียน (Learning Center) หากสามารถทำให้ทุกครอบครัวเป็นศูนย์การเรียนได้สำเร็จ จะได้ศูนย์การเรียนในอุดมคติที่มีความรัก ความอบอุ่น ความห่วงใย และความหวังดี เป็นจุดเชื่อมโยงการถ่ายทอดความรู้ที่สำคัญที่สุด แล้วการที่จะทำให้สังคมไทยเป็น “สังคมแห่งการเรียนรู้” ก็จะไม่ไกลเกินฝันอีกต่อไป
6. เป็นยุทธศาสตร์การศึกษาตลอดชีวิต
การเรียนรู้ในยุคใหม่นั้น มิได้เกิดขึ้นที่โรงเรียนหรือห้องเรียนเท่านั้น แต่เกิดขึ้นได้อย่างกว้างขวางในสถานที่ต่างๆ แม้แต่ในบ้านก็จัดเป็นแหล่งการเรียนรู้ได้ เพราะความรู้ต่างๆสามารถเรียนรู้ได้เองในเวลารวดเร็ว เข้าใจง่าย โดยผ่านทางสื่อทันสมัยต่างๆ เช่นคอมพิวเตอร์ สื่อมวลชน ฯลฯ และแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย ทำให้การเรียนรู้ง่ายขึ้น น่าสนใจมากขึ้น และเกิดประสิทธิภาพได้มากขึ้นด้วย (โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์. 2545 : 32 ;พนม พงษ์ไพบูลย์. 2542 ข : 15) หากผู้ปกครองจัดบรรยากาศที่บ้านให้เกิดการเรียนรู้หรือเป็นแหล่งเรียนรู้ก็จะทำให้เวลาที่เด็กอยู่นอกโรงเรียนเกิดการเรียนรู้ทุกเวลา ทุกสถานที่ เป็นการสร้างลักษณะนิสัยในการเรียนรู้ให้แก่เด็ก เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตในที่สุด (พรชัยภาพันธ์. 2543 : 20) ทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย และยังเป็นการศึกษาที่ผสมกลมกลืนไปกับการดำเนินชีวิตอีกด้วย (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.2543 ข : (1), 5,15)
7. เป็นยุทธศาสตร์การระดมทรัพยากรทุกส่วนของสังคมเพื่อการจัดการศึกษา
ผู้ปกครอง คือ แหล่งทรัพยากรของโรงเรียน หากมีการจัดการและประสานงานที่เหมาะสมก็จะนำพลังที่ซ่อนเร้นเหล่านี้ออกมาก่อให้เกิดประโยชน์ต่อบุตรหลานและโรงเรียนอันเป็นที่รักของพ่อแม่ ผู้ปกครองทุกคน (ศิรินทร์รัตน์ ทองปาน. 2544 : 6 ; โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย. 2545 : 2) ถึงขนาดที่ โกรลนิค และ สโลว์เวซิค (Grolnick & Slowiazek.1994 : 238) ได้ให้นิยามของ “การมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง คือ การอุทิศทรัพยากรโดยผู้ปกครอง” ประกอบกับ ครอบครัว ก็คือ ตัวแบบจำลองของชุมชนหรือสังคม (ณรงค์ เส็งประชา.2538 : 87) โดยธรรมชาติ ผู้ปกครองต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชุมชนที่โรงเรียนนั้นๆตั้งอยู่(Parents are a natural link to the communities) (Epstein. 1995 : 702 ; Epstein and
others. 1997 : 4-5; Comer & Haynes. 1991 : 274 ; เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์. 2537 : 271) การมีส่วนร่วมของผู้ปกครองจึงเป็นยุทธศาสตร์ในการระดมทรัพยากรทุกส่วนของสังคมเข้ามาช่วยในการจัดการศึกษา (All for Education) ได้โดยง่าย เพราะ การที่ผู้ปกครองส่งบุตรหลานมาให้เรียนที่โรงเรียนก็เท่ากับส่งแก้วตา ดวงใจ ของตนเองมาให้โรงเรียน (สุมน อมรวิวัฒน์.2543 : 43 ; ประเวศ วะสี. 2538 : 8-9)
สรุปก็คือ ครอบครัวเป็นสถาบันที่ก่อให้เกิดจุดเริ่มต้นของแต่ละชีวิต พ่อแม่จึงเป็นครูคนแรกและครูที่ดีที่สุดในโลกของลูก เป็นครูตลอดเวลาและตลอดชีวิตของลูก เป็นบุคคลที่ใกล้ชิดและล้อมรอบตัวเด็กที่สุด เป็นผู้ชี้โลกกว้าง เป็นผู้สร้างภูมิคุ้มกันทั้งร่างกายและจิตใจพ่อแม่ผู้ปกครองมีหน้าที่เตรียมความพร้อมให้ลูกเข้าสู่สังคมภายนอกได้อย่างมั่นใจ จัด
บรรยากาศที่บ้านให้เกิดการเรียนรู้ ทุกเวลา ทุกสถานที่ ทำให้สังคมมีแหล่งการเรียนรู้เกิดขึ้นมากมายเพื่อทำให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้หรือสังคมแห่งปัญญาที่ผู้เรียนสามารถแสวงหาความรู้ด้วยตนเองได้ตลอดเวลา ปลูกฝังนิสัยการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับลูก และเป็นยุทธศาสตร์ในการระดมทรัพยากรทุกส่วนของสังคมเพื่อการจัดการศึกษา การปฏิรูปการศึกษาของไทยตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติจะสำเร็จได้ ก็เพราะการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในการจัด
การศึกษาของโรงเรียนนี้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก :
- http://theunclebeachresort-wichakan.blogspot.com/2013/04/blog-post.html
เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท. อื่นๆ ได้ที่ >>> คลิก <<<
เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่นๆ ได้ที่ >>> คลิก <<<
Relate article