คำชม มีผลต่อ mindset และความเชื่อที่เด็กมีต่อศักยภาพตนเอง

 
 

สื่อการเรียนการสอน : ‘คำชม’ มีผลต่อ Mindset และความเชื่อที่เด็กมีต่อศักยภาพตนเอง

 
ผลวิจัยบอกว่าการชมเด็กโดยใช้ประโยคว่า “หนูพยายามดีมากเลยจ้ะ” กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มนี้จะเลือกทำโจทย์ในข้อที่ยากขึ้น งานศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่าพ่อแม่ที่เอ่ยชื่นชมลูก 3 แบบ คือ ชมที่ตัวเด็ก (เก่งจัง, เป็นเด็กดีจังเลย) ชมที่ความพยายาม (เอามือถือจุกนมเองด้วย, ขยับพลิกตัวเองเป็นแล้ว) และชมแบบไม่เจาะจงอื่น ๆ (โอ้โห ว้าว) เมื่อโตขึ้น พบว่าเด็กกลุ่มที่ถูกชมจะมีความกล้า เผชิญกับอุปสรรค และความยากลำบากรวมทั้งคิดยืดหยุ่นมากกว่า
 

คำชมมีส่วนสำคัญในการปลูกฝัง Growth Mindset ให้กับเด็ก และคำที่มักนำมาใช้กันบ่อยอย่างเช่น “เก่งมาก” “ฉลาดที่สุด” ประโยคเหล่านี้ อาจทำให้เด็กเข้าใจว่าตนเก่งและฉลาดจนยอมรับความผิดพลาดได้ยาก

แครอล ดเว็ค (Carol Dweck) อาจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้เขียนหนังสือ Mindset: The New Psychology of Success พูดถึงชุดความคิดที่มีอิทธิพลต่อความสำเร็จ ชี้ว่า พ่อแม่หรือครูส่วนใหญ่มักเอ่ยชมลูกหลานและนักเรียน โดยไม่รู้ว่าคำชมบางประเภทส่งผลอย่างมากต่อการพัฒนาความคิดที่เด็กจะมีต่อความสำเร็จเมื่อเขาโตขึ้น การชมเด็กว่า “เก่ง” และ “ฉลาด” บ่อยๆ ส่งผลเสียอย่างไร

ในงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ดเว็ค ให้เด็กประถมแก้โจทย์คำปริศนาง่าย ๆ โดยแบ่งเด็กออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกครูชมว่า “หนูฉลาดมากเลยจ้ะ” ส่วนอีกกลุ่มให้ครูชมว่า “หนูพยายามดีมากเลยจ้ะ” จากนั้นเฉลยคำตอบเก็บคะแนนแล้วให้เด็กเลือกโจทย์ข้อต่อไปเอง กลุ่มที่ถูกชมว่าฉลาดส่วนใหญ่จะเลือกโจทย์ที่มีระดับความง่ายเท่าเดิม ในขณะที่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มที่ได้คำชมว่ามีความพยายามจะเลือกข้อที่ยากขึ้น

จากนั้นทดลองใหม่โดยให้เด็กทั้งสองกลุ่มทำโจทย์ซึ่งยากที่สุด และตั้งใจว่าต้องไม่มีใครแก้โจทย์ได้เลย ผลต่างที่สำคัญระหว่างเด็กสองกลุ่มคือ เด็กที่ครูชมว่าพยายาม จะลองแก้โจทย์หลายวิธีกว่าและกระตือรือร้นที่จะจดข้อผิดพลาดของตัวเอง แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นและมีแนวโน้ม ที่จะโทษความล้มเหลวเป็นเพราะพยายามไม่มากพอ ไม่ใช่เพราะไม่ฉลาด

และในการทดสอบครั้งสุดท้ายที่ให้ทุกคนกลับมาแก้โจทย์ง่ายๆ เหมือนเดิม ปรากฏว่า เด็กที่ถูกชมว่ามีความพยายามทำคะแนนได้มากขึ้นจากครั้งแรก ส่วนเด็กที่ถูกชมว่าฉลาดกลับทำคะแนนได้ลดลงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อนักวิจัยขอให้เด็ก ๆ เขียนจดหมายเล่าประสบการณ์นี้ของพวกเขาให้เด็กในโรงเรียนอื่นรู้ เด็กที่ได้รับคำชมว่าฉลาด บางคนโกหกและเพิ่มคะแนนให้ตัวเอง

นี่คือกลไกที่คำชมมีผลต่อ mindset หรือมุมมองความเชื่อที่เด็กมีต่อศักยภาพตนเองว่าสามารถพัฒนาได้หรือไม่
 
เด็กซึ่งถูกชมว่าเก่งหรือฉลาดจะเริ่มเกิด Fixed Mindset คือเชื่อว่าความรู้ที่เขามีหรือผลงานที่ทำเกิดจากความพิเศษเฉพาะตัว และเพื่อรั้งตำแหน่งเด็กฉลาดในสายตาคนรอบข้าง เขาจึงเลือกทำแต่สิ่งที่มั่นใจแล้วเท่านั้นว่าทำได้สำเร็จ ไม่กล้าเสี่ยงทำอะไรผิด แสดงความมุ่งมั่นน้อยลงเมื่อปัญหายากมากขึ้น ในที่สุดความตื่นเต้นยินดีที่เกิดจากการได้รับคำชมว่า ‘ฉลาด’ ก็กลายเป็นความกังวลใจที่มากขึ้น รวมถึงความมั่นใจในตัวเอง แรงจูงใจ และความสามารถที่ลดน้อยลง

 

ชมเพื่อก้าวหน้า ติเพื่อปรับปรุง

จะเห็นได้ว่าการชมที่คุณลักษณะของตัวบุคคลกับชมที่ความพยายาม ให้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน เพราะฉะนั้น เราจึงอยากให้คุณครูลองหันมาปรับเปลี่ยนคำชมให้เน้นที่ความพยายาม ตั้งใจ วิธีคิด และขั้นตอนการลงมือแก้ปัญหาของนักเรียนเป็นหลัก

 

 
 
นอกจากคำชม การเลือกคำติติง ก็เช่นกัน ครูควรเลือกคำชี้แนะอย่างสร้างสรรค์โดยการไม่สะกิดให้เด็ก รู้สึก ‘โง่’ ‘ผิด’ ‘เป็นคนไม่ดี’ แต่เน้นกระตุ้นให้เขาพยายามเปลี่ยนแนวคิดหรือวิธีแก้ปัญหาเป็นทางอื่น
 
คำติชมที่มีนัยว่าฉลาด มีพรสวรรค์ หรือเป็นคนดี มักฉุดให้นักเรียนเกิด Fixed Mindset อีกทั้งยังหมดความกระตือรือร้นที่จะฝึกซ้อมพัฒนา หากเพียงเลือกใช้คำติชมที่ช่วยกระตุ้นให้เด็กๆ หันมาสนใจปรับปรุงวิธีต่อสู้กับปัญหาก็สร้างความแตกต่างได้แล้ว เพราะมันคือเสียงสะท้อนที่บอกว่าความผิดพลาดคือเรื่องชั่วคราวที่เขามีโอกาสแก้ตัวใหม่พัฒนาต่อไปได้เสมอ การให้คำติชมผลงานของนักเรียนก็เช่นกัน ครูควรชี้ให้ชัดว่าที่เขาทำได้ดีนั้นดีตรงไหน ไม่ว่าจะเป็นติชมซึ่งหน้าหรือเขียนโน้ตบนสมุดการบ้านของพวกเขา
 
ในการเรียนการสอนยุคใหม่ เสียงสะท้อนจากเด็ก ต่อเนื้อหาที่เรียนก็มีประโยชน์เช่นกัน ครูควรรับฟังเสียงของพวกเขา รวมทั้งเปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนผลัดกันติชมผลงานการนำเสนอหรือการแสดงของเพื่อน โดยใช้โอกาสนี้ช่วยปรับจูนเสียงสะท้อนเหล่านั้นให้เห็นคุณค่าความพยายามตั้งใจมากขึ้นและชี้แนะจุดที่เขาควรแก้ไขได้
 
นอกจากคำติชมเชิงสร้างสรรค์ การถามให้เด็กๆ อธิบายความเข้าใจ ไอเดีย หรือความเป็นมาของงานที่ทำก็เป็นการช่วยสร้าง Growth Mindset ได้ดีอีกทาง หนึ่งในคำถามทรงพลังที่จะช่วยให้เขากระตือรือร้นคิดอธิบายอย่างเสรีคือ “หนูชอบงานชิ้นนี้ของตัวเองไหม ชอบตรงไหนมากที่สุด” คงเห็นแล้วว่าการกล่าวชมเด็กๆ สามารถสร้าง Growth Mindset หรือ Fixed Mindset ให้เขาได้ เซลล์สมองเชื่อมต่อได้ไวและดีที่สุดช่วงเด็กเล็ก เพราะฉะนั้นการปลูกฝังให้เด็กมี Growth Mindset ไม่เกรงกลัวอุปสรรค เปิดรับและรู้จักคำติชมเชิงสร้างสรรค์สามารถทำได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ดเว็คแนะนำว่าวิธีสร้าง Growth Mindset ที่ดีที่สุดคือการได้ปฏิสัมพันธ์และมีส่วนร่วมกับเด็ก ๆ ระหว่างที่พวกเขากำลังตั้งใจทำบางอย่าง ให้ความสนใจว่าเขาทำอะไรและถามไถ่ว่าทำไมเขาจึงเลือกทำเช่นนั้นโดยไม่ไปตัดสิน เมื่อผิดหวังพลั้งพลาด ปล่อยให้เขาเรียนรู้ด้วยตนเองแล้วเปิดโอกาสให้ลองใหม่
 
และถ้าเป้าหมายที่ชมเพื่อให้เด็กมีความมั่นใจ สตีเฟน กรอซ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Examined Life ได้กล่าวถึงว่า หากเราต้องการให้เด็กมีความมั่นใจจึงมอบคำชมให้เขา แท้จริงแล้วนอกจากคำชมคือการใส่ใจในตัวเขา ทำให้เขารู้สึกมีค่า สิ่งนี้จะสร้างความมั่นใจให้เด็กได้ ซึ่ง กรอซ ได้เล่าถึงช่วงที่ได้สังเกตและสนทนากับชาร์ล็อต สติกลิทซ์ ครูที่สอนการอ่านเพื่อซ่อมเสริมแก้ไขข้อบกพร่องทางการอ่านที่รัฐอินเดียนา ชาร์ล็อตเล่าว่า “ฉันไม่เคยชมเด็กเวลาที่พวกเขาทำในสิ่งที่พวกเขาน่าจะทำได้ ฉันชมเวลาที่พวกเขาทำอะไรที่ยากจริงๆ อย่างเช่น แบ่งของเล่นกับเด็กอื่น หรือแสดงความอดทน ฉันจะไม่ชมเชยเด็กที่กำลังเล่นหรืออ่านหนังสือ” ไม่มีรางวัลชิ้นใหญ่ ไม่มีบทลงโทษรุนแรง ชาร์ล็อตมุ่งเน้นไปยังสิ่งที่เด็กทำและวิธีการที่เด็กคนนั้นทำ ครั้งหนึ่ง ชาร์ล็อตอยู่กับเด็กที่กำลังวาดรูป พอเขาหยุดวาดและเงยหน้าขึ้นมองเธอ ซึ่งอาจจะหวังคำชม เธอเพียงแค่ยิ้มและพูดว่า “รูปที่เธอวาดมีสีฟ้าเยอะมากนะจ๊ะ” เด็กน้อยตอบว่า “มันเป็นบ่อน้ำใกล้บ้านคุณย่าผมฮะ…ชาร์ล็อตคุยกับเด็กอย่างไม่รีบร้อนแต่ที่สำคัญคือ เธอสังเกต ตั้งใจฟัง และใส่ใจในตัวเด็ก การใส่ใจในตัวเด็กช่วยสร้างความมั่นใจให้เด็กได้ เพราะทำให้เด็กคนนั้นรู้ว่าตัวเขามีค่าควรแก่การคิดถึง ถ้าปราศจากความใส่ใจเด็กอาจเชื่อว่ากิจกรรมที่เขาทำเป็นเพียงวิธีที่จะได้รับคำชม ไม่ใช่สิ่งสำคัญในตัวมันเอง

อ่านบทความเกี่ยวกับ สือการเรียนการสอน อื่นๆของ อจท. >> คลิก <<<
ค้นหาบทความอื่นๆ >>> คลิก <<<

ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก The Potential, คุณบุญชนก ธรรมวงศา

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท. อื่น ๆ ได้ที่      >>> คลิก <<<

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่น ๆ ได้ที่    >>> คลิก <<<

 
Share

Relate article