สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมสำคัญอย่างไร?

สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมสำคัญอย่างไร?

 

สังคมศึกษา

 

ความสำเร็จของการเรียนสาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม คือ การที่ผู้เรียนเข้าใจ และนำมาใช้ในการดำเนินชีวิต ประจำวันได้ ให้เป็นชีวิตที่ดีงามและช่วยสร้างสรรค์สังคม ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนสังคมจึงเชื่อมโยงให้เด็กเรียนรู้การใช้ชีวิตที่ถูกต้อง อยู่อย่างมีความสุข โดยเรียนผ่านสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในห้องหรือในโรงเรียน หรือวิเคราะห์จากตัวอย่างสถานการณ์ที่เป็นจริงในสังคม เพื่อให้เด็กฝึกคิดวิเคราะห์ รู้ทันการเปลี่ยนแปลง รู้จักตัวเอง สามารถจัดการชีวิตของตัวเอง และมีวิถีชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

 

 

การเรียนการสอนสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมเป็นการศึกษาที่พัฒนาทั้ง 3 ด้านของชีวิตของเรา นั่นคือ

 

1.  ด้านพฤติกรรม (ศีล)     คือ

 

  • พฤติกรรมในความสัมพันธ์กับโลกแห่งวัตถุ     ได้แก่ การใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต มีประสิทธิ ภาพในการใช้งาน ให้ดูเป็น ฟังเป็น และการบริโภคปัจจัย 4 รวมถึงการใช้ประโยชน์จากวัตถุอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งเทคโน โลยีด้วยปัญญา มุ่งคุณค่าที่แท้จริง และส่งเสริมการพัฒนาชีวิต เรียกว่า กินเป็น บริโภคเป็น ใช้เป็น
  • พฤติกรรมในการสัมพันธ์กับโลกแห่งชีวิต    ได้แก่ การอยู่ร่วมสังคม โดยไม่เบียดเบียน ไม่ก่อความเดือดร้อน มีความ สัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนมนุษย์ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ดำรงตนอยู่ในขอบเขตแห่งศีล 5 รักษากติกาสังคม กฎเกณฑ์ กฎหมาย ระเบียบแบบแผน จรรยาบรรณต่างๆ มีการให้ เผื่อแผ่ แบ่งปัน ช่วยเหลือ ให้ความสุขกับเพื่อนมนุษย์ ส่งเสริมการสร้างสรรค์สิ่งดีงาม
  • พฤติกรรมในด้านอาชีพ   คือ ทำมาหาเลี้ยงชีพที่เป็นสัมมาชีพ ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น เป็นอาชีพที่เอื้อต่อการพัฒนาชีวิตของตน ไม่ทำให้เสื่อมจากคุณความดี

 

 

2.  ด้านจิตใจ (สมาธิ)    แยกได้ดังนี้

 

  • คุณภาพจิต    ได้แก่ คุณธรรมความดีงามต่างๆ เช่น เมตตา กรุณา กตัญญูกตเวที หิริโอตตัปปะ ฯลฯ ซึ่งจะหล่อเลี้ยงจิตใจให้งอกงาม และเป็นพื้นฐานของพฤติกรรมที่ดีงาม
  • สมรรถภาพจิต    ได้แก่ ความสามารถ เข้มแข็ง มั่นคง มีฉันทะ (ความใฝ่รู้ ใฝ่ดี ใฝ่ทำ) มีความเพียร (วิริยะ) ขยัน (อุตสาหะ) อดทน (ขันติ) มีสติ ควบคุมได้ สงบ มีสมาธิ ไม่ประมาท ทำให้ก้าวหน้ามั่นคงในพฤติกรรมที่ดีงามและพร้อมที่จะใช้ปัญญา
  • สุขภาพจิต    ได้แก่ สภาพจิตที่ปราศจากความขุ่นมัว เศร้าหมอง เป็นจิตที่สดชื่น ร่าเริง เบิกบาน ผ่อนคลาย ผ่องใส เป็นสุข ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพกาย และทำให้พฤติกรรมที่ดีงาม มีความมั่นคง

 

 

3.  ด้านปัญญา (ปัญญา)     มีการพัฒนาหลายด้าน หลายระดับ เช่น

 

  • ความรู้ความเข้าใจในการฟัง เล่าเรียน และรับข้อมูลข่าวสารอย่างมีประสิทธิภาพ
  • รับรู้ประสบการณ์และเรียนรู้สิ่งต่างๆอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง
  • คิดพิจารณาอย่างมีวิจารณญาณ ใช้ปัญญา
  • รู้จักมอง รู้จักคิด ที่จะให้เข้าถึงความจริง และได้คุณประโยชน์ มีโยนิโสมนสิการ ที่เรียกว่า มองเป็น คิดเป็น
  • รู้จักคิดจัดการ ดำเนินการ ทำกิจให้สำเร็จ ฉลาดในวิธีการที่จะนำไปสู่จุดหมาย
  • แสวงหา คัดเลือก นำความรู้ที่มีอยู่มาเชื่อมโยงสร้างเป็นความรู้ความคิดใหม่ๆ เพื่อใช้แก้ปัญหาและสร้างสรรค์
  • รู้เท่าทันธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย รู้แจ้งความจริงของโลกและชีวิต ทำให้วางใจถูกต้องต่อทุกสิ่งทุกอย่าง สามารถแก้ ปัญหาชีวิต ขจัดความทุกข์ในจิตใจของตนได้ หลุดพ้นจากความยึดติดถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย ดำเนินชีวิตด้วยปัญญาอย่างแท้จริง

 

 

เด็กจะได้รับประโยชน์อะไรจากสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม?

 

ในวัยประถมต้น (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3) เด็กๆจะได้ประโยชน์จากการเรียนรู้สาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ดังนี้

 

  • ได้เรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับตนเองและผู้ที่อยู่รอบข้าง ตลอดจนสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น ที่อยู่อาศัยและเชื่องโยงประสบ การณ์ไปสู่โลกกว้าง
  • ได้รับการพัฒนาให้มีทักษะกระบวนการ มีข้อมูลที่จำเป็นต่อการพัฒนาให้เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม ประพฤติปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนาที่ตนนับถือ มีความเป็นพลเมืองดี มีความรับผิดชอบ การอยู่ร่วมกัน และการทำงานกับผู้อื่น มีส่วนร่วมใน

 

กิจกรรมของห้องเรียน และได้ฝึกหัดในการตัดสินใจ

 

  • ได้ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับตนเอง ครอบครัว โรงเรียน และชุมชนในลักษณะบูรณาการ ได้เข้าใจแนวคิดเกี่ยวกับปัจจุบันและอดีต มีความรู้พื้นฐานทางเศรษฐกิจ ได้ข้อคิดเกี่ยวกับรายรับ-รายจ่ายของครอบครัว เข้าใจถึงการเป็นผู้ผลิต ผู้ บริโภค รู้จักการออมขั้นต้นและวิธีการเศรษฐกิจพอเพียง
  • ได้รับการพัฒนาแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม หน้าที่พลเมือง เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และภูมิปัญญา เพื่อเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจในขั้นที่สูงต่อไป

 

 

ครูสอนสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมให้ลูกอย่างไร?

 

มีเด็กหลายคนที่ไม่ชอบเรียนวิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม แต่ต้องเรียน เพราะหลักสูตรกำหนดให้เรียน และต้องใช้ผลการเรียนเพื่อศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ครูจึงต้องจัดการเรียนการสอนที่จะทำให้เด็กประสบผลสำเร็จในการเรียน เรียนอย่างมีความสุข สนุกกับการเรียน และสามารถเชื่อมโยงให้เด็กเรียนรู้การใช้ชีวิตที่ถูกต้องได้ ขอแนะนำตัวอย่างกิจ กรรมการเรียนการสอน ดังนี้

 

สอนด้วยการกระทำ     เรียนรู้วิชาการพร้อมกับการให้เด็กได้ปฏิบัติดูแลตนเองและช่วยเหลือผู้อื่น ได้แก่

 

  • กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ เรียนรู้การให้ เรียนรู้การทำหน้าที่ เช่น การทำหน่วยบริการต่างๆ
  • กิจกรรมเจริญสติ เรียนรู้จักตนเอง เพื่อที่จะเข้าใจผู้อื่น ด้วยกิจกรรมเจริญสติต่างๆ
  • กิจวัตรประจำวัน เรียนรู้หน้าที่รับผิดชอบในกิจวัตร เช่น การจัด-เก็บของเข้าที่ การดูแลรักษาสิ่งของเครื่องใช้ การช่วยเหลือผู้ใหญ่หรือคุณครู การเข้าร่วมกิจกรรมในวันสำคัญต่างๆ ฯลฯ

 

สอนด้วยสื่อ สอนจากของจริง สอนด้วยตัวอย่างที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน ได้แก่

 

  • สื่อภาพ เสียง วีดีโอ ซีดี เทป มัลติมีเดีย : นิทาน-เพลงคุณธรรม, พุทธประวัติ ข่าว ฯลฯ
  • เกมการศึกษา ครูเลือกเกมที่สนุก มีข้อคิดเตือนใจเด็กๆ ได้ประโยชน์จากการเล่นเกม

 

สอนด้วยวิธีคิดแบบอริยสัจ   (ตามหลักพุทธธรรม เรียกว่า วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ) โดยครูนำปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเด็กวัยนี้มาให้เด็กได้คิดแก้ปัญหา ด้วยการทำงานเป็นกลุ่ม ดังนี้

 

  • ให้เด็กแต่ละกลุ่มเริ่มต้นจากการกำหนดรู้และทำความเข้าใจกับปัญหาว่าปัญหานั้นคืออะไร (ทุกข์)
  • สืบค้นหาสาเหตุของปัญหา อะไรคืออุปสรรค ตัวติดขัด (สมุทัย)
  •   สภาพที่หมดปัญหาจะเป็นอย่างไร กำหนดเป้าหมายที่ต้องการให้ชัดเจนว่าคืออะไร (นิโรธ)
  • หาหนทางดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้หมดปัญหาหรือวิธีแก้ไขปัญหา วิธีการและรายละเอียดสิ่งที่จะต้องปฏิบัติ เพื่อเข้าถึงเป้าหมายที่ต้องการ (มรรค)
  • ให้เด็กๆบันทึกสิ่งที่ได้เรียนรู้ นำเสนอให้เพื่อนฟัง และให้เพื่อนแต่ละกลุ่มให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม จากนั้นครูและเด็กหาข้อสรุปร่วมกันและหาแนวปฏิบัติที่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง

 

 

เกร็ดความรู้เพื่อครู

 

วิธีที่จะช่วยให้การเรียนการสอนสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมประสบผลสำเร็จ มีข้อเสนอแนะ ดังนี้

 

  • เริ่มจากการดูแลชั้นเรียน ให้มีบรรยากาศของความสงบ เอื้อต่อการเรียนรู้ ครูอาจแบ่งกลุ่มให้แต่ละกลุ่มดูแลกันเอง เรียนเป็นฐานกิจกรรม โดยมีคำสั่งในแต่ละฐาน เสริมแรงด้วยรางวัล หรือใช้ตัดสิทธิ์ในประโยชน์บางประการที่เด็กพึงจะได้รับ เช่น งดกิจกรรมบางอย่างที่เพื่อนได้ทำ
  • ลีลาการสอนของครู ถ้าครูสังคมชอบสอนแบบบรรยาย แต่มีลีลาการสอนที่สนุก สามารถดึงความสนใจให้เด็กตั้งใจเรียน ตั้งใจฟังได้ตลอด ก็จะทำให้เนื้อหาของวิชาสังคมกลายเป็นเรื่องน่าสนใจ น่าติดตามขึ้นมาทันที และจะทำให้เด็กเข้าใจกว่าการอ่านด้วยตัวเองอีกด้วย
  • จัดกิจกรรมให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน เช่น แบ่งกลุ่มทำงาน อภิปรายเรื่องที่กำลังอยู่ในความสนใจของเด็ก แสดงบทบาทสมมุติ จัดนิทรรศการ ช่วยผลิตสื่อ เตรียมสื่อการสอน ฯลฯ
  • สร้างความสนใจในเรื่องที่จะเรียน ด้วยสื่อ เกม กิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เด็กๆกระตือรือร้น สนใจที่จะเรียน เช่น ดูภาพยนตร์ วิเคราะห์ข่าวจากหนังสือพิมพ์ พาไปทัศนศึกษา เป็นต้น
  • ควรสอนนอกห้องเรียนบ้าง เช่น สำรวจข้อมูลต่างๆ ให้นักเรียนสัมภาษณ์คนในโรงเรียนหรือในชุมชน ให้นักเรียนปฏิบัติจริง ด้วยการใช้บริการสหกรณ์ร้านค้า เลือกตั้งประธานนักเรียน ฯลฯ

 

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก :

  • http://taamkru.com/th

 

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท.    อื่นๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่นๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

Share

Relate article