IQ EQ และ MQ สำคัญอย่างไรต่อการพัฒนาความฉลาด
IQ EQ และ MQ สำคัญอย่างไรต่อการพัฒนาความฉลาด!
IQ EQ และ MQ คือความฉลาดด้านต่าง ๆ ที่ผู้เรียนจำเป็นต้องมีควบคู่กันไปทั้ง 3 ด้าน เพื่อให้ผู้เรียนใช้ชีวิตได้อย่างเหมาะสมตามบริบทสังคม และอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข
การวัดระดับความฉลาด เป็นเรื่องที่ถูกหยิบมาอธิบายความสามารถของมนุษย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการวัดความฉลาดนี้ เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้รู้ถึงความสามารถและศักยภาพผู้เรียนแต่ละคน เพื่อจะได้รู้ว่าควรส่งเสริมหรือพัฒนาในด้านใด
จึงมีการออกแบบข้อสอบเพื่อวัดระดับความสามารถ 11 ลักษณะคือ ข้อมูลทั่วไปที่เป็นคำถามเพื่อตรวจวัดความสนใจความรู้รอบตัว ความคิดความเข้าใจ การคิดคำนวณ ความคิดที่เป็นนามธรรม ความจำระยะสั้น ภาษาในส่วนของการใช้คำ การต่อภาพในส่วนที่ขาดหายไป การจับคู่โครงสร้าง การเรียงลำดับภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ การต่อภาพเป็นรูป และ การหาความสัมพันธ์ของตัวเลขและสัญลักษณ์ โดยข้อสอบในการวัดความสามารถทั้งหมดนี้เรียกว่า IQ Test (Intelligence Quotient Test) ซึ่งเป็นเครื่องมือวัดอย่างแรกที่มีการวัดออกมาเป็นตัวเลขและนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย
IQ (Intelligence Quotient) เป็นการวัดระดับความฉลาดทางสติปัญญาที่ได้รับความเชื่อถือมาก ซึ่งในการแบ่งระดับความฉลาดทางสติปัญญา สามารถแบ่งได้จากการประมวลผลคะแนน IQ Test ซึ่งมีช่วงของคะแนน ดังนี้
- ได้คะแนนต่ำกว่า 70 ปัญญาอ่อน (Mental Retardation)
- ได้คะแนน 70-79 คาบเส้นปัญญาอ่อน (Borderline Mental Retardation)
- ได้คะแนน 80-89 ต่ำกว่าปกติ (Low Average)
- ได้คะแนน 90-109 ฉลาดปานกลาง หรือระดับปกติ (Average)
- ได้คะแนน 110-119 ฉลาดกว่าระดับปกติ (Higher Average)
- ได้คะแนน 120-139 ฉลาดมาก (Superior)
- ได้คะแนน 140 ขึ้นไป อัจฉริยะ ฉลาดมากที่สุด (Very Superior)
นอกจาก IQ แล้ว ยังมีอีกหลายตัวแปรที่ใช้วัดความฉลาดในผู้เรียน เช่น
- EQ (Emotional Quotient) คือความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งเป็นผลจากงานวิจัยที่มองว่า IQ เพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ประสบความสำเร็จ และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ ซึ่งทักษะด้านความเข้าใจ และการควบคุมอารมณ์ตัวเอง ถือเป็นอีกตัวแปรที่สำคัญ ซึ่งมี 5 องค์ประกอบใหญ่ที่น่าสนใจคือ
1. การตระหนักรู้ในตนเอง (Self-Awareness) เป็นความสามารถในการรับรู้ความรู้สึกตัวเอง สามารถประเมินตนเองได้ รู้จุดเด่นจุดด้อยของตัวเอง
2. การบริหารจัดการกับอารมณ์ตนเอง (Managing Emotion) เป็นความสามารถในการจัดการอารมณ์อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์
3. การจูงใจตนเอง (Motivation one-self) มีความสามารถในการสร้างแรงจูงใจให้ตัวเอง
4. การรู้จักสังเกตความรู้สึกผู้อื่น (Empathy) เป็นความสามารถเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น เห็นอกเห็นใจผู้อื่น และเอาใจเขามาใส่ใจเรา
5. การดำเนินด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น (Handing Relationships) มีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น
- MQ (Moral Quotient) คือความฉลาดทางจริยธรรม หรือระดับสติปัญญาด้านศีลธรรม ที่แยกเรื่องของศีลธรรม ออกจาก EQ และ IQ ซึ่งมองว่า เรื่องของศีลธรรมเป็นผลจากการสั่งสมและขัดเกลา ไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมาแต่เกิด และไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ จึงเป็นความสามารถที่ต้องเกิดจากการฝึกฝน การอบรมสั่งสอน และสภาพแวดล้อมที่เติบโตขึ้นมา ซึ่งการพัฒนา MQ ต้องมีปัจจัย 3 ประการ คือ
1. การสอนศีลธรรมโดยตรงให้กับผู้เรียน
2. การถ่ายทอดทางศีลธรรมจากผู้ใหญ่ให้กับผู้เรียน
3. การให้ความรักและการสร้างวินัยให้กับผู้เรียน
เมื่อเอาการวัดความฉลาดทั้งสามด้านมาพิจารณาร่วมกันแล้ว จะเห็นว่าทั้งสามส่วนที่กล่าวมา จำเป็นต้องมีความสอดคล้องกันถึงจะทำให้ผู้เรียนใช้ชีวิตได้อย่างเหมาะสมและมีคุณภาพ จึงเป็นหน้าที่ของครูที่ต้องส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนให้มีความฉลาดครบทั้งสามด้าน ตามเจตนารมณ์ของชาติที่ต้องการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศต่อไป
ข้อมูลบางส่วนจาก : trueplookpanya
เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท. อื่น ๆ ได้ที่ >>> คลิก <<<
เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่น ๆ ได้ที่ >>> คลิก <<<
Relate article