13 เทคนิคการสอนคณิตศาสตร์
13 เทคนิคการสอนคณิตศาสตร์
จากประสบการณ์ ที่ผู้เขียนได้พูดคุยกับนักเรียน ครู ผู้ปกครอง การสอนคณิตศาสตร์ให้เข้าใจ สนุก และต้องการให้เด็กมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน 13 เทคนิคดี ๆ นี้ เพื่อให้เด็ก ๆ ไม่กลัววิชานี้อีกต่อไป และช่วยสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนให้มีความสุขและสนุกไปด้วยกัน
1) เมื่อสอนแล้วเด็กไม่เข้าใจ อย่าเพิ่งดุเด็ก – ผมเจอผู้ใหญ่หลายคนที่เกลียดคณิตศาสตร์เพราะเคยถูกครูดุ จากนั้นก็ฝังใจคำพูดนั้นมาทั้งชีวิต ถ้าเราไม่อยากทำร้ายเด็กทั้งชีวิต ผู้สอนต้องใจเย็นๆ ต้องไม่พูดดูถูกเด็ก การที่เราเก่งคณิตศาสตร์ก็ใช่ว่าเราจะเก่งในทุกเรื่อง เด็กเองก็เช่นกัน
2) ถ้าอธิบายเด็กวิธีเดิมหลายครั้งแล้วยังไม่เข้าใจ เราต้องเปลี่ยนวิธีอธิบาย – มีผู้สอนบางท่านอธิบายเด็กด้วยวิธีเดียวกันหลายครั้ง ในการอธิบายครั้งหลังๆ มักจะอารมณ์เสียใส่เด็ก สิ่งที่ควรคิดคือ หากเราสอนด้วยวิธีหนึ่งไม่ได้ผล เราก็ควรอธิบายด้วยวิธีอื่น หรืออธิบายทีละขั้นและเช็คกว่านักเรียนไม่เข้าใจตรงจุดไหน
3) สอนให้นักเรียนเข้าใจจริงๆ ไม่เน้นการท่องจำหรือวิธีลัดมากเกินไป – ผู้สอนไม่ควรสอนเด็กโดยเน้นแต่การท่องสูตรและวิธีลัดเพื่อทำข้อสอบ วิธีนี้ไม่ดีกับเด็กในระยะยาว แต่ต้องสอนให้เด็กเข้าใจเนื้อหาจริงๆ เพื่อในอนาคตเขาจะได้นำไปประยุกต์ใช้กับเรื่องอื่นๆ ได้ และเมื่อเจอโจทย์ที่แตกต่างจากที่เคยเห็นเขาก็สามารถทำโจทย์ได้
4) อธิบายภาพรวมก่อนจะสอน – ก่อนจะสอนแต่ละเรื่อง ผู้สอนควรอธิบายภาพรวมก่อนว่าเด็กจะเรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง และมันเชื่อมโยงกับความรู้ที่เคยเรียนมาอย่างไร เขาจะได้จับประเด็นได้ดีขึ้น
5) มีการเล่าเรื่องที่น่าสนใจในห้องเรียนบ้าง – ผู้สอนอาจเล่าประวัตินักคณิตศาสตร์ที่น่าสนใจ เกมคณิตศาสตร์สนุกๆ เรื่องใกล้ตัวเด็ก หรือเรื่องตลก ถ้าเรื่องที่เล่าไม่เกี่ยวกับคณิตศาสตร์ มันควรจะให้เด็กตื่นตัว หายง่วง หรือหายเครียดได้
6) อธิบายถึงประโยชน์เรื่องที่สอน – เราควรบอกเด็กว่าการเรียนรู้แต่ละเรื่องนั้นมีประโยชน์ต่อชีวิตเขาอย่างไร เช่น การไปเรียนต่อระดับสูง และการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ผู้สอนสามารถนำข้อมูลในแฟนเพจนี้ไปใช้อธิบายได้ด้วย
7) ให้เด็กฝึกทำแบบฝึกหัดเป็นประจำ – การเรียนรู้คณิตศาสตร์ที่ดีทีสุดอย่างหนึ่งก็คือ การทำแบบฝึกหัด เราต้องกระตุ้นหรือสร้างแรงจูงใจให้ในการทำแบบฝึกหัดอยู่เสมอ เช่น การให้คะแนน การตรวจแบบฝึกหัดที่เด็กทำเป็นประจำ และไม่ลืมการชมเชยสิ่งที่เด็กทำได้ดีเพื่อเสริมแรง และอธิบายสิ่งที่เด็กทำผิดเพื่อให้เขาเข้าใจให้ถูกต้อง
8) ทำให้เด็กรู้ว่าเราอยากช่วยเหลือเขาจริงๆ – ทำให้เหมือนพ่อแม่ที่เด็กรู้สึกว่า ไม่ว่าเด็กจะเป็นอย่างไรเราก็รักเขาตลอด การที่เด็กรู้สึกดีกับผู้สอน จะทำให้เด็กรู้สึกดีกับวิชาที่เรียนไปพร้อมกัน
9) ถามเด็กบ้างว่าเขาอยากให้เราสอนอย่างไร – ผู้สอนอาจจะสอบถามจากเด็กโดยตรง และสอบถามผ่านแบบสอบถาม ซึ่งจะทำให้เราได้ข้อมูลที่น่าสนใจมากมาย ทั้งกำลังใจ และเรื่องที่เราควรปรับปรุงให้เหมาะกับเด็กมากขึ้น อย่างไรก็ตามผู้สอนที่ทำแบบประเมินต้องเป็นคนที่ใจกว้างในการรับฟังความเห็น ของผู้อื่น
10) สอนให้เด็กเข้าใจตัวเองว่า คนเราไม่จำเป็นต้องเก่งทุกเรื่อง – เรื่องนี้สำคัญมาก คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตส่วนใหญ่จะเก่งแค่เพียงบางเรื่อง การบอกเขาจะทำให้เขาไม่กดดันตัวเองเกินไป อย่างไรก็ตามควรแจ้งเขาว่าหากเขาเก่งคณิตศาสตร์ในระดับปานกลางขึ้นไป เขาจะมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตได้ง่ายและเร็วขึ้น
11) ให้เด็กมีโอกาสทำกิจกรรมการเรียนรู้บ้าง – ผู้สอนควรทำกิจกรรมการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์บ้าง ในโรงเรียนควรทำอย่างน้อยภาคการศึกษาละหนึ่งครั้ง เด็กทุกคนจะจำเรื่องที่เรียนผ่านกิจกรรมได้ดีกว่าการเรียนแบบบรรยาย
12) ให้เด็กได้เข้าค่ายคณิตศาสตร์ – ครูในโรงเรียนควรจัดกิจกรรมค่ายให้แก่เด็กๆ เพราะมันมีผลต่อทัศนคติของเด็กมาก ทั้งนี้ผู้ปกครองก็สามารถให้เด็กไปสมัครเข้าค่ายคณิตศาสตร์เช่นกัน
13) แนะนำแหล่งเรียนรู้ที่เด็กสามารถไปศึกษาต่อเองได้เอง – เด็กบางคนพร้อมและอยากที่จะเรียนรู้ เพียงแต่เราต้องแนะนำเขา ครูอาจแนะนำหนังสือดีๆ เว็บไซต์ และแหล่งเรียนรู้ให้เด็กไปศึกษาเอง ผมเองก็ดีใจที่ทราบจากคุณครูหลายท่านว่าท่านได้แนะนำแฟนเพจของผมให้เด็ก รู้จัก และก็มีเด็กติดตามเอาความรู้จากแฟนเพจนี้ไปใช้ต่อ จนคุณครูยังทึ่งความรู้ที่เด็กได้รับ
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก :
- Dr.Noom MathLover ดร.อติชาต เกตตะพันธุ์ (อ.หนุ่ม) อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- https://blog.eduzones.com
เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท. อื่นๆ ได้ที่ >>> คลิก <<<
เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่นๆ ได้ที่ >>> คลิก <<<
Relate article