อะไรหนอที่ทำให้เด็กๆ คิดว่าตัวเองเกลียดคณิตศาสตร์

อะไรหนอที่ทำให้เด็กๆ คิดว่าตัวเองเกลียดคณิตศาสตร์

บทความคณิตศาสตร์

   บทความคณิตศาสตร์ : เป็นเหมือนกันรึเปล่า เวลาที่จะต้องคำนวณอะไร ไม่ว่าจะตั้งแต่เรื่องเล็กๆ เช่น การหารค่าข้าว คิดบิลหนี้สิน ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ เช่น การคำนวณฐานภาษี ลดหย่อนภาษี สำหรับใครหลายคน อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับคณิตศาสตร์ดูจะเป็น ยาขมเป็นสิ่งที่เราเลือกจะบอกตัวเองว่ามันไม่เวิร์กกับตัวเราหรอก และเลือกที่จะหลีกหนีไปเลย

   เราไม่ได้กลัวเลขอยู่คนเดียว ในต่างประเทศถึงขนาดมีคำเรียกเฉพาะว่าเป็น อาการกลัวเลข’ (Math Anxiety) เรียกได้ว่ากังวลจนถึงระดับที่เป็น อาการบางคนถึงขนาดกลัวเลข มือไม้สั่น เหงื่อแตก หน้ามืด ตาลาย คล้ายจะเป็นลม ฟังแล้วอาจจะดูเวอร์ แต่หากลองนึกย้อนไปในคาบเรียนเลข นึกถึงวินาทีที่คุณครูเรียกชื่อเราให้ตอบคำถามสมการคณิต ซวยไปกว่านั้นคือเรียกให้ออกไปแสดงวิธีทำ วินาทีนั้นเองที่เราเองอาจจะเผชิญกับอาการใจสั่น

   โอเค ความรุนแรงของความกลัวของแต่ละคนก็อาจจะมากน้อยไปตามแต่ละบุคคล เราอาจจะไม่ถึงกับออกอาการกลัวเลขเหมือนกับอาการแบบที่เราเจองู แต่ยอมรับเถอะว่าอาการกลัวเลขส่งผลกับการตัดสินใจสำคัญๆ ในชีวิต เรามักได้คำตอบที่บอกว่า เราเลือกเรียนทางนี้เพราะไม่มีวิชาเลข คิดดูว่าถ้าเราไม่กลัวเลขในระดับเดียวกันกับการกลัวงู มีหรือเราจะใช้เป็นตัวตัดสินใจสำคัญในการเลือกเส้นทางชีวิตที่เราจะเจอกับคณิตศาสตร์น้อยที่สุดขนาดการคำนวณเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน ถ้าเลือกได้ ยังไม่อยากจะทำเลย

   แน่นอนว่าคณิตศาสตร์เป็นศาสตร์พื้นฐาน เป็นรากฐานการคิดอย่างเป็นระบบ เป็นวิธีการฝึกทักษะสมองในเชิงคำนวณที่นำไปสู่การต่อยอดความรู้ที่ซับซ้อนต่างๆ ต่อไปในอนาคต นักการศึกษาและคนรักคณิตศาสตร์ต่างก็พยายามหาที่มาและวิธีแก้โรคกลัวเลข หลักๆ แล้วความกลัวเลขเกิดจากการที่วิชาเลขกลายเป็นมาตรวัดระดับ สติปัญญาเด็กเรียนเก่งมักต้องคิดเลขไว นักการศึกษาเลยชี้ว่าเนี่ย เพราะว่าผู้คนได้เจอกับประสบการณ์วิชาเลขที่ไม่ดี เลยกลายเป็นรากเหง้าความกลัวที่เกาะกุมจิตใจตั้งแต่วัยเยาว์

เรากลัวเลข เพราะเราคิดว่าเรา โง่เลข

   พูดกันตามตรง โดยเนื้อหาของวิชาเลขก็มีความยากและซับซ้อนในตัวเอง ทักษะทางคณิตศาสตร์นับเป็น ทักษะอย่างหนึ่งที่เป็นทั้งความถนัดส่วนบุคคล และในขณะเดียวกันก็เกี่ยวข้องกับการฝึกฝนทำบ่อยๆ อาการกลัวเลขจึงอาจนำไปสู่ วงจรคือ คิดว่าตัวเองไม่เก่งเลข>หลีกหนีการทำกิจกรรมทางคณิตศาสตร์>ไม่ได้ใช้ทักษะ เลยยิ่งไม่ได้รับการฝึกฝน วนเวียนไปไม่รู้จบ

   ทีนี้ นักการศึกษาเริ่มเพ่งเล็งว่า อะไรหนอที่ทำให้เด็กๆ คิดว่าตัวเองเกลียดเลข ห้องเรียนเลขของเรามันกำลังสร้างบรรยากาศที่ไม่ดีรึเปล่า ถ้าเราพอจำความรู้สึกได้ วิชาเลขเป็นวิชาที่เน้นสองเรื่องคือ ความถูกต้องและอีกด้านคือ ความรวดเร็วแถมวิชาเลขกลายเป็นหนึ่งในวิชาที่ใช้เพื่อวัดความ ฉลาดดังนั้น วิชาเลขจึงเป็นวิชาที่แสนจะเสี่ยงว่าเราจะ โชว์โง่รึเปล่า

   มีงานศึกษาในปี 2012 ศึกษานักเรียนระดับมัธยมจำนวน 495 คนพบว่า เมื่อเรียนไปหนึ่งปี เด็กๆ เหล่านั้นมีความกังวล ไม่มั่นใจกับทักษะและการเรียนคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า เรียกได้ว่า ยิ่งเรียนไปนานๆ ยิ่งไม่มั่นใจ ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเก่งขึ้นแต่อย่างใด ผลการศึกษานี้ดูจะสอดคล้องกับประสบการณ์ของเราพอสมควร ว่ายิ่งเรียนยิ่งกลัวเลข

   ทีนี้ ก็เป็นไปตามข้อสังเกตที่ว่า พอวิชาเลขกลายเป็นวิชาที่เต็มไปด้วยความถูกต้องแม่นยำ เด็กๆ ก็มักจะไปกังวลกับการหาคำตอบที่ถูกต้อง การจดจำสูตร วิธีการหาคำตอบที่ต้องเป็นไปตามกระบวนการแบบเป๊ะๆ จากรากฐานของคณิตศาสตร์ที่ควรจะเป็นเรื่องการแก้ปัญหา ควรจะเป็นการคิดได้อย่างมีอิสระ ก็เลยกลายเป็นวิชาที่น่ากลัวและเต็มไปด้วยระเบียบแบบแผนไปซะอย่างนั้น

คณิตศาสตร์กับการไขปริศนา

   จริงๆ คณิตศาสตร์เองอาจจะยาก และความยากนี้อาจจะมาบดบัง ความสนุกของคณิตศาสตร์ ซึ่งความสนุกของวิชาเลขก็คือความสุขที่เราสามารถแก้โจทย์หรือตอบคำถามบางอย่างได้

   พอพูดถึงความสนุกในการแก้โจทย์ แน่นอนว่าเราทุกคนล้วนชอบความท้าทายอยู่ในตัวเอง เราต่างชอบที่จะเล่นเกมตอบคำถาม ชอบมีส่วนร่วมในการไขคดี แก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งตรงนี้เองเป็นหัวใจและความสนุกสำคัญที่จะทำให้เรากลับไปสนุกกับการแก้โจทย์เลข ไปคิดบวกลบคูณหารกันอีกครั้งได้

   ในระดับมหาวิทยาลัยเอง แม้แต่มหาวิทยาลัยระดับโลกต่างก็ประสบปัญหานักศึกษาเกลียดเลข และเหล่านักการศึกษาก็พยายามหาทาแก้ไขปัญหาให้เด็กๆ กลับมารักเลขและสอน กระบวนการทักษะทางคณิตศาสตร์ให้นิสิตนักศึกษากันอีกครั้ง ในมหาวิทยาลัยเช่น Westfield State University มีการพัฒนาหลักสูตรและโครงการ Discovering the Art of Mathematics : Mathematical Inquiry in the Liberal Arts (DAoM) ซึ่งตามชื่อคือว่าด้วยการสอนคณิตศาสตร์ให้เด็กสายศิลป์กันอีกซักหน

   ในมหาวิทยาลัยไอวี่ลีกเช่น Cornell University ก็ประสบปัญหาเด็กเกลียดเลข ศาสตราจารย์ Steve Strogatz ศาสตราจารย์ทางคณิตศาสตร์ประยุกต์พูดถึงความพยายามในการสอนและทำให้นักศึกษารักเลขอีกครั้งกับทาง theatlantic.com โดยอาจารย์ประยุกต์การสอนโดยใช้สื่อการสอนจากโครงการ DAoM คือ ไม่ได้สอนสูตร เน้นคำตอบแบบการเรียนคณิตศาสตร์คลาสสิกอย่างที่เราคุ้นเคย

   ตัวอย่างหนึ่งที่แกเล่าถึงคือการให้โจทย์และข้อกำหนดเฉพาะไป ทำให้การสอนคณิตศาสตร์อ้างอิงกับเกมและการไขปัญหา (game and puzzle) เช่น ให้กระดาษที่มีรูปสามเหลี่ยมพร้อมกรรไกรหนึ่งเล่ม โจทย์คือให้ตัดได้แค่ครั้งเดียวโดยจะพับกระดาษอย่างไรก็ได้ ตรงนี้คล้ายๆ ปัญหาเชาวน์ซึ่งก็มักจะมีรากฐานกับวิธีคิดแบบคณิตศาสตร์พอสมควร(เช่น ตรรกะ การเทียบเคียง การคิดเชิงมิติ) Steve บอกว่าเมื่อมีการเฉลย และนักศึกษาได้มองเห็นกระบวนการไขปัญหา ตรงนั้นแหละคือ mathematic moment ฟังดูเป็น magical moment เป็นวินาทีที่เรามองเห็นและไข ความเป็นคณิตศาสตร์ที่ไม่ได้เป็นแค่สูตรตัวเลขและข้อจำกัดไปจนถึงเกรดบนกระดานอีกต่อไป

   ท้ายที่สุด เหมือนเรากลับไปสู่ประเด็นที่ว่า ความรู้ต่างๆ ก็ซ่อนตัวอยู่ในธรรมชาติ คณิตศาสตร์เองไม่ได้เป็นแค่องค์ความรู้ที่อยู่บนหน้ากระดาษ ไม่ได้สลักสำคัญแค่เรื่องสูตรที่ถูกต้อง การคิดคำนวนที่รวดเร็วไม่ได้เป็นไปเพื่อแสดงถึงความฉลาด แต่คณิตศาสตร์ว่ายเวียนอยู่รอบตัวเรา อยู่ในธรรมชาติ ในการเบ่งบานของดอกไม้ เขียนไปเขียนมาก็ฟังดูเวอร์ไปหน่อย แต่การกลับไปสู่ความสนุกของการไขโจทย์ก็เป็นความรู้สึกที่ดีจริงๆ นะ

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท.    อื่นๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

 เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่นๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

www.theatlantic.com

www.oxfordlearning.com

www.cne.psychol.cam.ac.uk

mathsanxietytrust.com

และขอบคุณเพจ The MATTER

แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง