ทำความรู้จัก "แนวการสอนไฮสโคป" พัฒนาเด็กอนุบาลเน้นการลงมือทำ

ทำความรู้จัก "แนวการสอนไฮสโคป" พัฒนาเด็กอนุบาลเน้นการลงมือทำ

 

เมื่อเด็กถึงวัยที่ต้องเข้าโรงเรียน โรงเรียนอนุบาลจึงเป็นสิ่งสำคัญเพราะแนวการสอนแต่ละแห่งมักจะไม่เหมือนกัน โรงเรียนที่สอนตามแนวทาง ไฮสโคป (High Scope) ถือเป็นโรงเรียนทางเลือกแบบหนึ่ง เรามาดูกันว่า ไฮสโคป (High Scope) คืออะไร มีรูปแบบการเรียนการสอนอย่างไร และคุณครูจะได้อะไรจากการเรียนแบบนี้ อักษรมีคำตอบ

 

ไฮสโคป (High Scope) คืออะไร

 

ไฮสโคป (High Scope) เป็นการสอนที่เน้นการเรียนรู้แบบลงมือทำผ่านมุมเล่นที่หลากหลาย ด้วยสื่อและกิจกรรมที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก และการแก้ปัญหาอย่างกระตือรือร้น โดยการให้โอกาสเด็กเป็นผู้ริเริ่มการเล่นหรือกิจกรรมต่าง ๆ อย่างอิสระ ซึ่งตรงตามทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา (Cognitive Theory) ของเปียเจต์ (Piaget) นักการศึกษาที่สำคัญคนหนึ่งของโลก ความสำคัญในด้านพื้นฐานโดยเฉพาะการสร้างองค์ความรู้ของผู้เรียน จะเน้นการเรียนรู้แบบลงมือกระทำ (Active Learning) เพราะเด็กจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงทำให้เกิดความคิด ความรู้ ความเข้าใจ และรู้จักลงมือแก้ปัญหาด้วยตนอง

 

แนวการสอนแบบไฮสโคป (High Scope) เป็นอย่างไร

 

ไฮสโคป (High Scope) ใช้หลักปฏิบัติ 3 ประการ คือ

 

1. การวางแผน (Plan) เป็นการกำหนดแนวทางการปฏิบัติ หรือการดำเนินงานตามงานที่ได้รับมอบหมายหรือสิ่งที่สนใจด้วยการสนทนาร่วมกันระหว่างครูกับเด็ก และเด็กกับเด็ก ว่าจะทำอะไร อย่างไร การวางแผนกิจกรรมนี้เด็กอาจแสดงด้วยภาพหรือสัญลักษณ์ประจำตัวเด็กหรือบอกให้ครูบันทึก เป็นกระบวนการที่เด็กมีโอกาสเลือกและตัดสินใจ

 

2. การปฏิบัติ (Do) คือ การลงมือทำกิจกรรมตามแผนที่วางไว้ เป็นส่วนที่เด็กได้ร่วมกันคิด แก้ปัญหา ตัดสินใจ และทำงานด้วยตนเอง หรือร่วมกับเพื่อนอย่างอิสระตามเวลาที่กำหนดโดยมีครูเป็นผู้ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือในจังหวะที่เหมาะสม เป็นส่วนที่เด็กได้มีการพัฒนาการพูดและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมสูง

 

3. การทบทวน (Review) เด็ก ๆ จะเล่าถึงผลงานที่ตนเองได้ลงมือทำเพื่อทบทวนว่าตนเองนั้นได้ปฏิบัติงานตามแผนที่ได้วางไว้หรือไม่ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร การทบทวนจุดประสงค์ที่แท้จริงคือ ต้องการให้เด็กได้เชื่อมโยงแผนการปฏิบัติงานกับผลงานที่ทำ รวมถึงการเล่าประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้ลงมือทำด้วยตนเอง

 

จุดเด่นของแนวการสอนไฮสโคป (High Scope)

 

การจัดสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ ในเมื่อหลักการของแนวนี้คือให้เด็กริเริ่มกิจกรรมด้วยตนเอง ดังนั้น การจัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศก็จำเป็นต้องเอื้อต่อการเรียนรู้ มีการลื่นไหลของกิจกรรม และทำให้เด็กเกิดความรู้สึกกระตือรือร้น

 

1. พื้นที่ ต้องมีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม เพื่อให้เอื้อต่อการเรียนการสอนที่เน้นการเรียนแบบร่วมมือกระทำ มุมสำคัญที่ควรมี คือ มุมศิลปะ มุมหนังสือ มุมบ้าน มุมวิทยาศาสตร์ มุมบล็อก

 

2. วัสดุอุปกรณ์ สื่อการเรียนและอุปกรณ์ต้องมีมากพอและหลากหลาย เพื่อช่วยให้เด็กได้เรียนรู้พัฒนาแผนการทำงาน และดำเนินการตามแผน

 

3. การจัดเก็บ เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เกี่ยวกับวงจรการค้นหา-ใช้-เก็บคืน ดังนั้น การจัดวางสิ่งของในห้องเรียนก็ต้องเอื้อให้เด็กได้เรียนรู้ด้วนตนเอง ครูต้องจัดวางอุปกรณ์ให้เด็กสามารถค้นหาได้ง่าย สะดวก ปลอดภัย เด็กสามารถหยิบมาใช้และเก็บคืนได้เอง กระบวนการทั้งหมดนี้จะช่วยส่งเสริมให้เด็กรู้จัดสังเกต เปรียบเทียบ มีความรับผิดชอบและช่วยเหลือ

 

ประโยชน์ของแนวการสอนไฮสโคป (High Scope) ที่มีต่อเด็ก

 

1. สอนให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับผู้อื่น ซึ่งเริ่มต้นจากความไว้วางใจโยครูต้องเป็นผู้สร้างความไว้วางใจให้แก่เด็กเพื่อให้เด็กได้ลงมือทำกิจกรรมหรือชิ้นงานตามความสนใจของตนเองและมีความสนุกในการเรียนรู้ที่จะทำงาน

 

2. การลงมือทำงานฝึกให้เด็กวางแผนการทำงานอย่างเป็นขั้นตอน เป็นระบบ

 

3. เด็กได้ฝึกสมาธิทำให้เด็กเกิดปัญญา ฝึกความมีระเบียบวินัย ฝึกการคิดอย่างมีความหมาย ผลที่ตามมาคือ ความสำเร็จในการทำงานที่ได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ได้เรียนรู้และมีความสุขในการทำงานที่ตนสนใจ

 

การเรียนแบบ ไฮสโคป (High Scope) ถือเป็นแนวการเรียนการสอนที่น่าสนใจเพราะเน้นในการพัฒนาศักยภาพของเด็กอย่างแท้จริง และการที่เด็กได้ทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง ย่อมสร้างความภาคภูมิใจเมื่อทำสำเร็จ และฝึกให้พวกเขาเป็นคนกล้าคิดกล้า มีความคิดสร้างสรรค์ เรียนรู้การทำงานอย่างมีระบบ ขั้นตอน และเรียนรู้ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก :

  • https://th.theasianparent.com

 

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท.  อื่นๆ ได้ที่     >>> คลิก <<<

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่นๆ ได้ที่    >>> คลิก <<<

แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง