สร้างการเรียนรู้จากการลงมือทำ แนวทางการสอน แบบ High/Scope

  • การจัดการเรียนการสอนสำหรับ  เด็กปฐมวัย  ไม่ใช่การถ่ายทอดความรู้ แต่เป็นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการอย่างเต็ม   ศักยภาพ ทั้งทางด้านสติปัญญา และจิตนิยมที่ดี
  • ไฮ/สโคป เน้นการสร้างความรู้จากการกระทำ ที่มีการร่วมกันคิดและทำตามแผนที่ได้กำหนดไว้ ผ่านมุมเล่นที่หลากหลายด้วยสื่อและกิจกรรมที่เหมาะสม
  • หลักปฏิบัติ 3 ประการตามแนวทางการสอนแบบไฮ/สโคป คือ การวางแผน (Plan) การปฏิบัติ (Do) การทบทวน (Review)

 

แนวการสอนแบบไฮ/สโคป  (High / Scope)

 

                  การสอนเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้พัฒนาคน   การเรียนรู้และการสอนทำให้มีการคิดเชื่อมโยงความรู้ได้อย่างรวดเร็ว   การศึกษาปฐมวัย จึงเป็นการศึกษาที่จัดให้แก่เด็ก  6 ขวบแรก  เป็นการจักการศึกษาเพื่อการดูแล  และสร้างเสริมเด็กให้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ  ด้วยการเรียนรู้ที่ถูกต้องแจ้งชัด  ลักษณะการจัดการเรียนการสอนจึงมุ่งจำเพาะไปที่พัฒนาเด็ก  ใจเด็ก  และอนาคตเด็ก

 

  การสอนเด็กปฐมวัยไม่ใช่การถ่ายทอดความรู้   แต่เป็นการจัดประสบการณ์อย่างมีรูปแบบเพื่อส่งเสริมพัฒนาการ  พัฒนาสมรรถนะทางปัญญา  และพัฒนาจิตนิยมที่ดี  การเรียนการสอนสำหรับปฐมวัย มีหลากหลายรูปแบบ  แต่สำหรับรูปแบบที่ผู้เขียนจะนำเสนอนั้นก็เป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่มีความน่าสนใจอีกรูปแบบหนึ่ง  รูปแบบการเรียนการสอนที่ว่านั้นก็คือ  รูปแบบการเรียนการสอนแบบไฮ/สโคป

 

ความเป็นมา 

 

    การเรียนการสอนแบบ   ไฮ/สโคป  เป็นแนวคิดการจัดการศึกษา  ที่พัฒนามาจากโครงการ   เพอรี่ พรีสคูล   (Perry Preschool Project)   เมืองยิปซีแลนติ (Ypsilanti) รัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 1960 โดย เดวิด ไวคาร์ด   (David Weikart)   และคณะ เป็นโปรแกรมการศึกษาที่มีหลักสูตรและการสอนเน้นการเรียนรู้  โดยใช้หลักการสร้างความรู้  (constructive process) จากการกระทำ ที่ต้องมีการร่วมกันคิดร่วมกันทำตามแผนที่กำหนด ซึ่งต่อมาได้มีผู้นำรูปแบบการศึกษาของไฮสโคปไปใช้อย่างแพร่หลาย รวมถึงการนำมาใช้กับการเรียนการสอนระดับปฐมวัยศึกษาด้วย

แนวคิดพื้นฐาน

 

    การสอนแบบ  ไฮ/สโคป มีพื้นฐานแนวคิดมาจากทฤษฎีของเพียเจท์ (Piage’s Theory)ว่าด้วยพัฒนาทางสติปัญญา ที่เน้นการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติที่เด็กสามารถสร้างความรู้ได้เอง โดยใช้กระบวนการสร้างสรรค์การเรียนรู้  (Constructive process of learning)  เด็กจะเรียนรู้จากการกระทำของตน การประเมินผลงานอย่างมีแบบแผน  ช่วยให้เด็กเกิดความรู้ขึ้น  เด็กสามารถสร้างความรู้ ได้จากประสบการณ์ที่มีความหมาย  ซึ่งจากแนวคิดนี้  ในการเรียนรู้  เด็กสามารถเลือกที่จะเรียนเลือกปฏิบัติจัดกระทำดำเนินการเรียนรู้  และประเมินผลงานของตนเอง  เด็กจะได้รับการกระตุ้นจากครู ให้คิดนำอุปกรณ์มากระทำหรือเล่นด้วยการวางแผนการทำงาน แล้วดำเนินตามแผนไว้ตามลำดับพร้อมแก้ปัญหา  และทบทวนงานที่ทำด้วยการทำงานร่วมกันกับเพื่อนเป็นกลุ่มเล็กๆ   โดยมีครูคอยให้กำลังใจ ถามคำถาม สนับสนุน และเพิ่มเติมสิ่งที่เด็กต้องเรียนรู้

 

แนวคิดสำคัญ

 

     แนวการสอนแบบ ไฮ/สโคป นั้นเน้นวิธีเรียนรู้แบบลงมือกระทำ  ผ่านมุมการเล่นที่หลากหลาย  ด้วยสื่อการสอน และกิจกรรมที่เหมาะสมกับการพัฒนาการของเด็ก  และการแก้ปัญหาอย่างกระตือรือร้น

 

การเรียนการสอน

 

       การเรียนการสอนแบบไฮ/สโคป เป็นการสร้างองค์ความรู้จากการที่เด็กได้ลงมือจัดกระทำกับอุปกรณ์ หรือสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นประสบการณ์ตรง โดยที่ครูจะเป็นคนเตรียมอุปกรณ์ให้กับเด็กและกระตุ้นให้เด็กพัฒนาและดำเนินกิจกรรม โดยใช้หลักปฏิบัติ 3 ประการ คือ

 

  •           การวางแผน (Plan)    เป็นการกำหนดแนวทางการปฏิบัติหรือดำเนินงานตามที่ได้รับมอบหมาย มีการสนทนาระหว่างเด็ก ว่าจะทำอะไร อย่างไร    การวางแผนกิจกรรมอาจจะใช้แสดงด้วยภาพหรือสัญลักษณ์ประจำตัวเด็ก เป็นกระบวนการที่เด็กมีโอกาสเลือก และตัดสินใจ
  •             การปฏิบัติ (Do)    คือการลงมือกระทำตามแผนที่วางไว้ เป็นส่วนที่เด็กได้ร่วมกันคิด แก้ปัญหา ตัดสินใจและทำด้วยตนเอง เป็นส่วนที่ให้นั้นเด็กได้มีการพัฒนาการพูดและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมสูง
  •             การทบทวน (Review)  เป็นช่วงที่ได้งานตามจุดประสงค์ ช่วงนี้จะมีการอภิปรายและเล่าถึงผลงานที่เด็กทำเพื่อทบทวนว่า เด็กสามารถปฏิบัติตามแผนที่วางไว้หรือไม่ มีการเปลี่ยนแปลงแผนอย่างไร และชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างแผนกับการปฏิบัติ และผลงานที่ทำ รวมถึงการเล่าประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้รับ

       การที่เด็กได้ลงมือทำงามหรือกิจกรรมด้วยความสนใจ จะทำให้เด็กสนุกกับการทกงาน การทำตามขั้นตอนอย่างเป็นระบบ ผลงานที่เกิดขึ้นนับเป็นความสำเร็จของเด็กในการลงมือทำกิจกรรมกับเพื่อนอย่างมีความสุข

 

สรุป

 

       การเรียนการสอนแบบ  ไฮ/สโคป  สามารถนำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ ได้ทุกกิจกรรม เพราะกระบวนการและวิธีการสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กเปิดกว้างมีการคิดการปฏิบัติตามวงจรของการวางแผน การปฏิบัติ และการทบทวน  ( plan-do-review cycle )  เมื่อทำกิจกรรมแล้ว  เด็กสามารถที่คิดกิจกรรมอื่นต่อเนื่องได้ตามความสนใจ จุดสำคัญอยู่ที่ประสบการณ์การเรียนรู้  ( Key experience )  ที่เด็กควรได้รับระหว่างกิจกรรม ซึ่งครูต้องมีปฏิสัมพันธ์และกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้จากกิจกรรมให้มากที่สุด

 

      การเรียนการสอนทุกรูปแบบต่างก็ส่งผลต่อเด็กในการเรียนรู้  แต่สิ่งที่มุ่งหวังให้เด็กได้รับอย่างน้อยต้องส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคมและสติปัญญา เพื่อการเรียนรู้ที่ดีและการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้มีความคิดอิสระสร้างสรรค์ ริเริ่ม ซึ่งรูปแบบการเรียนการสอนแต่ละรูปแบบจะมีจุดเน้นสำคัญของรูปแบบที่เป็นลักษณะเฉพาะของรูปแบบนั้นๆ

 

       ครู คือบุคคลที่จะช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ หากรูปแบบการเรียนการสอนที่มีความสอดคล้องภาวะการเรียนรู้ของเด็กและครูมีความเข้าใจในรูปแบบการเรียนการสอน ก็จะเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ที่ดีให้กับเด็กมากยิ่งขึ้น

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก:
  • เว็บไซต์ Learningdiscoverytoyou

 

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท.  อื่นๆ ได้ที่     >>> คลิก <<<

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่นๆ ได้ที่    >>> คลิก <<<

แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีบทความที่เกี่ยวข้อง