ลงทุนกับเด็กเล็กในวันนี้ เพื่อผลตอบแทนที่คุ้มค่าในอนาคต

 

ลงทุนกับเด็กเล็กในวันนี้ เพื่อผลตอบแทนที่คุ้มค่าในอนาคต
 

 

การลงทุนกับเด็กเล็กควรใส่ใจตั้งแต่เริ่มต้น

การเลี้ยงดูเด็ก 1 คน คงเปรียบได้กับการเลี้ยงต้นไม้ 1 ต้น ที่ต้องคอยรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ดูแลให้ออกดอกออกผลสวยสะพรั่ง พร้อมส่งกลิ่นแจกความสดชื่นให้กับผู้ที่พบเห็น เช่นเดียวกับการใส่ใจในเด็กเล็ก ว่ากันว่า 5 ขวบแรกของชีวิตเป็นช่วงโอกาสทองของเด็ก ร่างกายและสมองจะเติบโตได้อย่างรวดเร็ว หากได้รับการดูแลที่เหมาะสมตามวัย เด็กจะมีทักษะการเคลื่อนไหว ความฉลาดทางสติปัญญา และความฉลาดทางอารมณ์ มีโอกาสประสบความสำเร็จด้านการศึกษา

James J. Heckman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ได้กล่าวไว้ว่า “การลงทุนในเด็กปฐมวัยเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และให้ผลตอบแทนกับสังคมดีที่สุดในระยะยาว โดยให้ผลตอบแทนกลับคืนมาในอนาคต 7-12 เท่า” เด็กในวัยนี้ถ้าเราวางรากฐาน วางแผนส่งเสริมพัฒนาการ มีสวัสดิการที่พร้อมพัฒนาเด็กได้อย่างทั่วถึง คงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุดก็ว่าได้

 

การลงทุนกับเด็กเล็กในแต่ละประเทศ

คำว่า “ลงทุน” คงหลีกเลี่ยงเกี่ยวกับเรื่องของเงินไปไม่ได้ แต่ในใจความเรื่องนี้พูดถึงการให้ความสำคัญการลงทุนกับประชากร ลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่คุ้มค่า กับสวัสดิการให้เงินอุดหนุนถ้วนหน้า ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกต่างให้ความสำคัญพร้อมขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ เพื่อมุ่งหน้าไปให้ถึงเป้าหมายกับการให้เงินอุดหนุน โดยขณะนี้มีประมาณ 30 ประเทศที่ให้เงินเด็กถ้วนหน้าแล้ว ยกตัวอย่างเช่น

  • เยอรมนี โครงการ Kindergeld ให้เงินเด็กทุกคนแบบทั่วถึง โดยไม่จำกัดว่าจะอยู่ในครอบครัวคนรวยคนจน ถึงจะไม่มีสัญชาติเยอรมัน หรือเป็นผู้ลี้ภัยก็มีสิทธิได้รับ และหากเด็กสัญชาติเยอรมันที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศก็มีโอกาสได้รับเงินเช่นกัน ซึ่งการให้เงินสนับสนุนเด็กมีอัตราที่ต่างกันไป หากเป็นลูกคนโต หรือคนที่ 2 จะได้รับเดือนละ 219 ยูโร (8,500 บาท) ลูกคนที่ 3 ได้เดือนละ 225 ยูโร (8,800 บาท) ส่วนลูกคนที่ 4 เป็นต้นไป ได้คนละ 250 ยูโร (9,700 บาท) ต่อเดือน
  • อังกฤษ โครงการ Child Benefit โดยถ้าเป็นลูกคนแรกจะได้รับเงินในอัตรา 21.15 ปอนด์ (980 บาท) ต่อสัปดาห์ และถ้าเป็นลูกคนที่ 2 เป็นต้นไป จะได้ 14 ปอนด์ (600 บาท) ต่อสัปดาห์ ซึ่งทางรัฐจะจ่ายให้เป็นรายเดือน ตั้งแต่แรกเกิดจนมีอายุครบ 16 ปี หลังจากนั้นถ้าเด็กยังคงเรียนหนังสืออยู่ก็มีสิทธิได้รับเงินไปจนถึงอายุ 20 ปี
  • มองโกเลีย โครงการ Child Money Program โดยในปัจจุบันให้เงินอุดหนุนอยู่ที่ 20,000 ทูกริก (235 บาทต่อเดือน) จ่ายให้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 18 ปี

โมเดลการพัฒนาของต่างประเทศนั้น โครงการต่าง ๆ ถูกจัดสรรตามบริบทจากรายได้ของประชากรเพื่อคัดกรองและครอบคลุมให้ทั่วถึงตามสิทธิที่ประชาชนควรได้รับการดูแล ซึ่งไทยเองก็ให้ความสำคัญ ภายใต้โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด หลาย ๆ ฝ่ายพยายามผลักดัน หาทางแก้ไขให้ความสำคัญต่อการลงทุนกับเด็กเล็กให้มากขึ้น และมีการพัฒนากันมาอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าอนาคตอันใกล้ไทยจะต้องไปถึงจุดที่สวัสดิการเข้าถึงเด็กทุกคน

 

ถ้าไม่ใช่ในรูปแบบของเงิน สามารถลงทุนกับเด็กเล็กในรูปแบบไหนได้บ้าง

“เงิน” อาจเป็นปัจจัยแรกที่เป็นตัวสำคัญสำหรับการใช้ชีวิต แต่หากมีส่วนอื่นที่เป็นตัวช่วยในการลงทุนกับเด็กเล็กได้ คงเป็นการส่งเสริมทักษะต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสู่การเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ต้องอาศัยความร่วมมือจากคนในครอบครัว พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู และที่ขาดไม่ได้คือ ครู ผู้ฝึกทักษะการเรียนรู้ และการเอาใจใส่ต่อพัฒนาการของเด็ก ซึ่งการลงทุนดังต่อไปนี้จะเป็นส่วนที่ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้มีทักษะเริ่มต้น พัฒนาต่อยอดจากตัวเองสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพ

 

1. ลงทุนกับเด็กเล็กส่งเสริมทักษะจำเป็นแห่งอนาคต ที่เหมาะกับช่วงปฐมวัย (0-5 ปี)

  • ความคิดเชิงสร้างสรรค์
  • ความอยากรู้อยากเห็น
  • การอ่านออก เขียนได้
  • ความเข้าใจ และการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล
  • ความสามารถทางกายภาพ การแก้ปัญหา การสื่อสาร

การพัฒนาช่วงวัยนี้ควรเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้สำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัว เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย มีมุมมองต่อโลกได้อย่างกว้างขวาง มีการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาทุกด้านพร้อมกัน ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม ควบคู่กับการพัฒนาผู้ปกครอง ผู้ดูแล และครูผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับวิธีการพัฒนาเด็กปฐมวัยโดยเฉพาะ

 

2. ลงทุนกับเด็กเล็กเตรียมพร้อมการรับมือ VUCA World

การเตรียมเด็กให้มีทักษะการอ่าน การเขียน การคิดแบบมีเหตุผล คิดเชิงคำนวณ และการแก้ปัญหาเป็นขั้นเป็นตอน ผ่านกระบวนการ Coding ทั้งหมดนี้เริ่มได้ตั้งแต่เด็กเล็ก สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามความเหมาะสมเพื่อฝึกทักษะพัฒนาการได้ตั้งแต่ในวัยเริ่มต้น เด็กที่เกิดมายุคนี้เผชิญกับ VUCA World อยู่ในโลกที่มีความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ โลกต้องการคนที่พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ และพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างสร้างสรรค์

 

3. ลงทุนกับเด็กเล็กด้วยการสอนแบบไฮสโคป (High Scope)

เป็นแนวทางการสอนอีกวิธีหนึ่งในรูปแบบ Active Learning ใช้กิจกรรมสร้างสรรค์ คิดเชื่อมโยงความรู้ได้อย่างรวดเร็ว พัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ แนวคิดนี้มาจากทฤษฎีของเพียเจต์ (Piaget’ s Theory) พัฒนาการทางสติปัญญาที่เน้นการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติจาก 3 ขั้นตอนสำคัญ การวางแผน (Plan) เด็กได้รู้จักกำหนดเป้าหมาย ทำงานอย่างเป็นระบบก่อนลงมือปฏิบัติ การลงมือปฏิบัติ (Do) ฝึกให้เด็กรู้จักสำรวจ สร้างสรรค์จินตนาการ รู้จักเข้าสังคม และทำงานเป็นกลุ่ม การนำเสนอ (Review) ทบทวนกิจกรรมที่ได้ลงมือปฏิบัติด้วยการนำเสนอหน้าชั้นเรียน ฝึกการสื่อสารจากการเล่าประสบการณ์ เด็กจะกล้าแสดงออก รู้จักคิด ตั้งคำถาม และเป็นผู้ฟังที่ดี การจัดการเรียนการสอนแบบไฮสโคปลงทุนน้อยแต่ให้ผลตอบแทนสูงสุด เด็กจะเรียนรู้จากการกระทำของตน การประเมินผลงานอย่างมีแบบแผน ช่วยให้เด็กเกิดความรู้ เรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง

ลงทุนกับเด็กเล็กในวันนี้ เพื่อผลตอบแทนในวันข้างหน้า เริ่มต้นได้กับเด็กปฐมวัยเป็นวัยทองของชีวิต ช่วงเวลาเดียวที่ควรค่าแก่การพัฒนาอย่างแท้จริง คงเห็นชัดแล้วว่าสังคมในปัจจุบันได้มองเห็นถึงความสำคัญกับเด็กมากขึ้น หากลงทุนในวันนี้ ผลอาจไม่เกิดในวันนี้ อาศัยโอกาส เวลา ประสบการณ์ อยากเห็นสังคมในอนาคตเป็นแบบไหน ควรลงทุนให้มากพอต่อเป้าหมายที่อยากให้เกิดขึ้นในอนาคต หากขาดความใส่ใจพากันละเลยตั้งแต่แรกเริ่ม อาจส่งผลต่อการพัฒนาไม่ทันการณ์กับโลกยุคต่อไป

 

อ้างอิง:
https://tdri.or.th/kids-welfare
https://kidforkids.org/child-benefits-abroad
https://www.unicef.org/education/early-childhood-education
https://www.bangkokbiznews.com/social/social_education/1024002

 
แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง