พัฒนาการ 4 ด้าน เสริมได้ด้วยการลงมือทำ (Learning by Doing)
พัฒนาการ 4 ด้าน เสริมได้ด้วยการลงมือทำ (Learning by Doing)
การลงมือทำ หมายถึง ผู้เรียนได้กระทำสิ่งต่างๆด้วยตนเอง ผ่านการปฏิบัติการจริงคือ ผู้เรียนได้ฝึกในสภาพสิ่งแวดล้อมจริง ได้ฝึกคิดและลงมือทำสิ่งต่างๆด้วยตนเอง ทั้งนี้ การสนับสนุนให้เด็กได้พัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามวัยและได้ผลตามความคาดหวังของสังคมนั้น การจัดประสบการณ์จะให้ความสำคัญกับบทบาทการเรียนรู้ของเด็ก จึงได้มีการศึกษาแนว คิดที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้ การใช้แนวคิดที่เน้นให้ผู้เรียนเป็นผู้ลงมือกระทำหรือการปฏิบัติในสภาพจริง จึงเป็นที่สนใจและนำมาใช้ ดังที่ประเทศไทยได้กำหนดพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช 2542 เน้นให้มีแนวการจัดการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งกล่าวถึงการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติหรือลงมือกระทำ
การเรียนรู้โดยการลงมือทำคืออะไร?
การเรียนรู้โดยการลงมือทำเป็นแนวคิดหรือความเชื่อที่สนับสนุนให้คนเราปฏิบัติสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองตามความสนใจ ตามความถนัดและศักยภาพ ด้วยการศึกษา ค้นคว้า ฝึกปฏิบัติ ฝึกทักษะจนถึงการเรียนรู้ด้วยตนเอง เพราะเชื่อว่าหากคนเราได้กระทำจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นเป็นแรงจูงใจให้เกิดการใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ผู้เรียนจะสนุกสนานที่จะสืบค้นหาความรู้ต่อไป มีความสุขที่จะเรียน
การเรียนรู้โดยการลงมือทำมีลักษณะอย่างไร?
การจัดการเรียนรู้โดยลงมือกระทำมีลักษณะสำคัญดังนี้
- มีจุดมุ่งหมาย มุ่งให้ผู้เรียนนำประสบการณ์ที่ได้รับจากการแก้ปัญหาไปใช้ในการตัดสินใจ
- จัดการเรียนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ เน้นความถนัดและความสนใจ
- ครูมีลักษณะของการเป็นผู้รอบรู้และมีประสบการณ์ ยอมรับความแตกต่างของผู้เรียน
- ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางรับประสบการณ์จากการกระทำของตนเอง ผู้เรียนได้ทดลอง ทำปฏิบัติ สืบเสาะหาข้อมูล จัดระเบียบข้อมูล หาข้อสรุป และหาวิธีการกระบวนการด้วยตนเอง
- จัดหลักสูตรจะเน้นประสบการณ์ของผู้เรียน เป็นหลักสูตรกิจกรรม
การเรียนรู้โดยการลงมือทำมีประโยชน์ต่อเด็กอย่างไร?
การเรียนรู้โดยการลงมือทำ มีประโยชน์ต่อเด็กดังนี้
- เด็กจะเรียนรู้ที่จะเข้าใจตนเอง
- เด็กจะได้เคลื่อนไหวร่างกาย เป็นการพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ ได้แก่ ลำตัว แขน ขา และกล้ามเนื้อเล็กซึ่งได้แก่ นิ้วมือ
- เด็กจะได้ใช้ประสาทสัมผัสทำให้เกิดเป็นประสบการณ์
- เด็กได้รู้จักการสืบค้นหาความรู้เพื่อแก้ปัญหา
- เด็กจะได้เข้าใจธรรมชาติ
- เด็กจะเกิดความคิดสร้างสรรค์
- เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่างๆรอบตัว
- เด็กได้สร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น
- เด็กจะได้พัฒนาวุฒิภาวะทางด้านอารมณ์ รวมทั้งรับรู้ลักษณะอารมณ์แต่ละชนิด เช่น ชอบกลิ่นหอม แต่ไม่ชอบกลิ่นเหม็น ไม่ชอบเดินเท้าเปล่าเหยียบก้อนหินที่แข็งหยาบ แต่จะรู้สึกชอบเดินบนพรมที่อ่อนนุ่นสบายฝ่าเท้า ไม่ชอบเสียงดนตรีที่แผดเสียงดัง แต่ชอบเสียงดนตรีบรรเลงเพลงเบาๆ เป็นต้น
- เด็กจะได้พัฒนาการทางด้านสติปัญญา ได้คิดและเข้าใจความเป็นเหตุผล
สถานศึกษาใดที่จัดการเรียนรู้โดยการลงมือทำ
โรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ (โรงเรียนรัฐบาล) ทั่วประเทศ ดำเนินการสอนโดยใช้หลักสูตรสถานศึกษาที่พัฒนามาจาก หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยพุทธศักราช 2546 เป็นหลักสูตรที่มีพัฒนาขึ้นอย่างสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำหรับการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย ได้กำหนดหน่วยการจัดประสบการณ์การเรียนรู้หรือหน่วยการเรียนรู้ เน้นการบูรณาการสาระการเรียนรู้ ผ่านการผสมผสานเนื้อหาสาระภายในศาสตร์หรือสาขาวิชาหรือผสมผสานเนื้อหาระหว่างศาสตร์ เน้นกระ บวนการเรียนรู้มากกว่าผลผลิต เปิดโอกาสให้เด็กลงมือปฏิบัติ และพัฒนาการคิด การตัดสินใจ การทำงานร่วมกับคนอื่น สนับสนุนให้เด็กสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ลักษณะดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิดที่สนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียนโดยการลงมือปฏิบัติหรือการกระทำ และโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดเหล่านี้เปิดการสอนระดับประถมศึกษาปี่ที่ 1-6 การจัดกิจกรรมจะเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ กล่าวคือ ผู้เรียนมีโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์จริง มีการปฏิบัติ มุ่งให้เด็กได้คิดเป็น ทำเป็น ด้วยกระบวนการสืบค้น ฝึกทักษะการคิดตามความสนใจ มีครูเป็นผู้อำนวยความสะดวก มีผู้ปกครองและชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ ซึ่งสอดคล้องกับหมวด 4 แนวการจัดการศึกษา มาตรา 24 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติเป็นสำคัญ
เกร็ดความรู้เพื่อครู
การจัดการเรียนรู้โดยให้เด็กได้ลงมือกระทำนั้น สิ่งที่เป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการเรียนรู้ที่บังเกิดผลได้ตามความคาดหวังของหลัก สูตรการศึกษาปฐมวัยคือ เด็กเป็นผู้มีการพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญานั้น ครูจะต้องสนใจธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก และลักษณะของกิจกรรมซึ่งควรสอดคล้องกัน และพร้อมที่จะส่งเสริมให้เด็กได้ลงมือกระทำ เช่น การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยจะเรียนรู้จากรูปธรรมไปสู่นามธรรม ดังนั้น ครูควรจัดกิจกรรมที่มีสื่อวัตถุให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสหลายๆส่วน ได้เล่น ทดลอง บทบาทสมมติ เพลง เกม งานศิลปะ เป็นต้น
เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท. อื่นๆ ได้ที่ >>> คลิก <<<
เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่นๆ ได้ที่ >>> คลิก <<<
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก :
-
http://taamkru.com
บทความที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีบทความที่เกี่ยวข้อง