5 บทบาทที่ครูเลือกใช้ในห้องเรียนปัจจุบัน

ห้องเรียน

 

5 บทบาทที่ครูเลือกใช้ในห้องเรียนปัจจุบัน 

 

   เมื่อครูอยู่บนเวทีของการแสดงในบทครู การจัดการเรียนการสอนในแต่ละบท มีผลต่อบรรยากาศในการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นความตื่นเต้น ความสนุกที่อยากจะเรียนรู้  การมีส่วนร่วม และปฎิสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียน และท้ายที่สุดคือ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนนั้นมีความแตกต่างกันตามไปด้วย 

 

 

   ต่อไปนี้คือบทบาทของครูในรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างกัน 5 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทล้วนมีจุดเด่นและจุดด้อย รวมถึงความสอดคล้องกับยุคสมัยที่แตกต่างกัน ซึ่งควรที่จะพิจารณาในการนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม

 

ผู้มีอำนาจ

 

 ครูผู้สอนในฐานะผู้มีอำนาจ

   บทบาทของครูผู้สอนในลักษณะนี้ เป็นลักษณะที่พบเจอได้โดยทั่วไป ตั้งแต่ยุคอดีตจวบจนถึงยุคปัจจุบันก็ยังมีพบเห็นกันได้อยู่ ซึ่งครูผู้สอนลักษณะนี้จะเป็นผู้ควบคุมชั้นเรียนแบบเบ็ดเสร็จ โดยนักเรียนเป็นเพียงผู้ถูกควบคุม และไม่มีความเท่าเทียมกับครูผู้สอน ครูผู้สอนจึงไม่ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือในการเรียนรู้ แต่เป็นเพียงผู้ป้อนความรู้ให้กับนักเรียน ซึ่งข้อดีของการจัดการเรียนการสอนที่ครูผู้สอนมีบทบาทเช่นนี้ คือการที่นักเรียนได้รับความรู้โดยตรงจากครูผู้สอน เน้นให้นักเรียนท่องจำ โดยไม่จำเป็นต้องสนใจความคิดเห็นปลีกย่อยอื่น ๆ ทำให้นักเรียนจดจำสาระความรู้ต่าง ๆ ได้อย่างดี


   แต่อย่างไรก็ตาม บทบาทของครูผู้สอนเช่นนี้ ไม่ใช่บทบาทที่เหมาะสมสำหรับรูปแบบของการศึกษาสมัยใหม่ เพราะไม่ได้สร้างให้นักเรียนเกิดกระบวนการคิด ขาดความคิดสร้างสรรค์ ไม่สามารถเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ด้วยความห่างเหินของครูผู้สอนกับนักเรียน จึงทำให้นักเรียนขาดความมั่นใจในตัวเอง มีทัศนคติทางลบต่อการเรียน และขาดอิสระในการเรียนรู้อีกด้วย

 

ผู้สาธิต

 

ครูผู้สอนในฐานะผู้สาธิต

   เป็นบทบาทของครูผู้สอนที่มุ่งให้นักเรียนแสดงออกทางพฤติกรรมในรูปแบบที่กำหนด ผ่านการสาธิต ซึ่งมีทั้งที่ครูผู้สอนสาธิตด้วยตัวเอง หรือใช้สื่อการเรียนการสอน เช่น คลิปวีดีโอในสื่อมัลติมีเดียต่าง ๆ เป็นเครื่องในการสาธิต ซึ่งรูปแบบนี้ยังคงเป็นลักษณะของการที่ครูผู้สอนเป็นผู้ควบคุมอยู่ แต่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเรียนรู้จากการสังเกตและแสดงออกด้วยตัวเอง

   ครูผู้สอนในฐานะผู้สาธิตนั้น เหมาะสมอย่างมากสำหรับการเรียนการสอนที่เน้นให้นักเรียนเกิดทักษะและแสดงออกด้านพฤติกรรมที่ถูกต้อง เพราะบทบาทนี้จะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้และปฏิบัติตามขั้นตอนต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม เป็นขั้นเป็นตอน และลดข้อผิดพลาด แต่อย่างไรก็ดี บทบาทนี้มีข้อจำกัดในเรื่องของปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนที่มีการปฏิสัมพันธ์กันค่อนข้างน้อย

 

อำนวยความสะดวก

 

ครูผู้สอนในฐานะผู้อำนวยความสะดวก

   บทบาทของครูผู้สอนในฐานะผู้อำนวยความสะดวก จะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเรียนการสอน และในขณะเดียวกันก็ดำเนินการกระตุ้นกระบวนการเรียนรู้ โดยการสร้างสภาพแวดล้อมและสนับสนุนทางจิตวิทยาให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งเป็นรูปแบบที่อยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า นักเรียนมีความสามารถในการในการค้นหาคำตอบผ่านการสำรวจด้วยตัวเอง โดยครูผู้สอนช่วยในการกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์รวมไปถึงสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายและเป็นอิสระ เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเรียนรู้และรู้จักแก้ปัญหา

   บทบาทของครูผู้สอนในฐานะผู้อำนวยความสะดวกนี้ เป็นรูปแบบที่กำลังได้รับความนิยม และถูกยกย่องว่าเป็นรูปแบบที่เป็นผลดีต่อการศึกษายุคใหม่ เพราะเป็นบทบาทที่กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดองค์ความรู้ด้วยตัวเอง และเพื่อให้การสอนมีประสิทธิภาพสูงสุด ควรใช้เทคนิคนี้ในกลุ่มย่อย เพราะการที่ครูผู้สอนปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนเป็นรายบุคคลจะทำให้เขาเรียนรู้และมีความมั่นใจมากขึ้น

 

ตัวแทน

 

ครูผู้สอนในฐานะตัวแทน

   เป็นบทบาทที่ครูผู้สอนจะเป็นส่วนหนึ่งในทีมที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนในกิจกรรมต่าง ๆ และคอยสังเกตการณ์ ซึ่งเหมาะสมอย่างมากกับการทำงานกลุ่ม โดยข้อดีของกลยุทธ์การสอนนี้ คือนักเรียนจะรู้สึกว่าเป็นอิสระ มีอิสระในการเลือกด้วยตัวเอง โดยไม่โดนบังคับ

   แต่อย่างไรก็ดี การที่บทบาทนี้ นักเรียนจะไม่ถูกบังคับจากระบบการเรียนรู้หรือตัวครูผู้สอน แต่ในทางกลับกัน การที่นักเรียนไม่ได้ถูกบังคับนี้กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์พอสมควร เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่าอิทธิผลและอำนาจของครูผู้สอนนั้นไม่สำคัญและถูกตัดทอนลง

 

ผู้ควบคุมสื่อ

 

ครูผู้สอนในฐานะผู้ควบคุมสื่อ

   บทบาทของครูผู้สอนในฐานะผู้ควบคุมสื่อนั้น จะเน้นรูปแบบการเรียนรู้แบบผสมผสาน โดยใช้สื่อเทคโนโลยีดิจิตอลที่ทันสมัยเข้ามาผสมผสานกับเทคนิคการเรียนการสอนแบบดั้งเดิม ซึ่งทำให้การเรียนการสอนตามปกติมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับการเรียนเป็นกลุ่มใหญ่ เพราะสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการเข้าถึงนักเรียนจำนวนมากได้อย่างดี และช่วยให้นักเรียนสามารถเข้าถึงเนื้อหาหลักสูตรต่าง ๆ ในเวลาและสถานที่ที่สะดวกได้อีกด้วย

   บทบาทนี้แม้จะเป็นรูปแบบที่มุ่งสู่อนาคต แต่ในทางตรงกันข้ามกลับมีข้อโต้แย้งมากมายเกี่ยวกับวิธีการเรียนรู้เพราะมองว่าวิธีนี้ส่งผลกระทบทางลบต่อนักเรียนและครู ซึ่งนักเรียนบางคนอาจไม่สามารถเข้าถึงสื่อได้ทัดเทียมกับเพื่อน ทำให้วิธีนี้เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ของเขา ในขณะที่ครูผู้สอนอาจจำเป็นต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อที่จะพัฒนาเนื้อหลักสูตรให้เข้ากับความต้องการของนักเรียน

 

   ทั้งหมดนี้คือบทบาทของครูผู้สอนในการจัดการเรียนการสอนทั้ง 5 ประเภท ที่มีการนำมาประยุกต์ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแต่ละประเภทนั้นล้วนมีจุดเด่นจุดด้อยที่แตกต่างกัน จึงควรเลือกบทบาทให้เหมาะสมกับบริบทของนักเรียน สภาพแวดล้อม รวมถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเหมาะสม

 

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท.  อื่นๆ ได้ที่     >>> คลิก <<<

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่นๆ ได้ที่    >>> คลิก <<<

 

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

ข้อมูล :  ทรูปลูกปัญญา

แหล่งข้อมูล
The 5 Main Types of Teaching Styles. สืบค้นเมื่อ 4 มีนาคม 2563

แชร์

บทความที่เกี่ยวข้อง