สรุปให้รู้ตามทันโลก อนาคตการศึกษา ep.33 สำรวจหลักสูตรการศึกษา พาเปิดโลกบทเรียนสร้างสรรค์

 

 

  

สรุปให้รู้ตามทันโลก อนาคตการศึกษา  ep.33

สำรวจหลักสูตรการศึกษา พาเปิดโลกบทเรียนสร้างสรรค์

 

                      ในยุคที่การศึกษาเดินหน้าไปพร้อมกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 เทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ด้วยการประสาน AI หรือหลักคิดการเรียนรู้แบบ STEM คือหลักสูตรเด่น ๆ ที่ถูกพูดถึงและหยิบยกมาพัฒนาเป็นหลักสูตรการศึกษานอนาคตมากที่สุด แม้ว่าจะเห็นหลักสูตรเกี่ยวกับ AI และห้องเรียนอนาคตที่ถูกพัฒนาด้วยนวัตกรรมล้ำ ๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าวัฒนธรรมยังคงเป็นพื้นฐานสังคมที่มีอิทธิพลทางด้านความคิดและการเรียนรู้ของผู้คนอยู่ ทำให้ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยหลายแห่งยังมีวิชานอกหลักสูตรการเรียนรู้แปลกใหม่ที่อ้างอิงจากอิทธิพลของบุคคล สังคม และเทรนด์ใหม่ ๆ ของโลกเกิดขึ้น

 

ตัวอย่างเช่น หลักสูตร Taylor Swift[1] ที่ถูกเปิดสอนในมหาวิทยาลัยทั่วโลก เธอถือว่าเป็นหนึ่งในศิลปินที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของยุคนี้ เคยชนะรางวัลแกรมมี่ อวอร์ด (Grammy Awards) 14 ครั้ง ชนะรางวัลใหญ่อย่างอัลบั้มแห่งปี (Album of the Year) มากที่สุด ถึง 3 ครั้ง ชนะรางวัลอเมริกัน มิวสิค อวอร์ด (American Music Awards) สูงสุด 40 รางวัล เป็นศิลปินหญิงที่ชนะรางวัลบิลบอร์ด มิวสิค อวอร์ด (BillBoard Music Awards) มากที่สุดถึง 25 รางวัล และเป็นเจ้าของบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ (Guinness World Records) ในปี 2023 มากกว่า 109 รายการ[2] จึงไม่แปลกใจที่ความสำเร็จและผลงานของเธอจะถูกนำมาต่อยอดเป็นหลักสูตรการเรียนรู้ให้กับเยาวชนในยุคปัจจุบัน

 

หลักสูตรที่ถอดบทเรียนจากคนดังอย่างหลักสูตร Taylor Swift เคยเกิดขึ้นในปี 2022 ที่สถาบันไคลฟ์ เดวิด แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ซึ่งเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับดนตรีเป็นส่วนใหญ่ แต่ต่อมาในปี 2024 หลักสูตร Taylor Swift ได้ถูกต่อยอดกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับอาจารย์และนักศึกษาอีกมากมายจนถูกนำมาปรับใช้กับแนวคิดหลักสูตรใหม่ผ่านหลากหลายแง่มุม เช่น ด้านธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ การตลาด กฎหมาย จิตวิทยา และกวีนิพนธ์ และเปิดสอนให้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยทั่วโลก[3]

 

  • Harvard University กับหลักสูตร “Taylor Swift and Her World” กับภาควิชาภาษาอังกฤษที่วิเคราะห์เนื้อเพลงเพื่อเชื่อมโยงกับวรรณกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงอิทธิพลในหมู่แฟนคลับ ศิลปิน และสังคมโดยรวมของเธอ
  • University of California, Berkeley กับหลักสูตร “Artistry & Entrepreneurship: Taylor’s Version” กับการสอนเรื่องธุรกิจผ่านการเจาะลึกกลยุทธ์การตลาด เช่น การขาย การดึงดูดและสร้างฐานแฟนคลับ และการประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
  • New York University กับหลักสูตร “Topics In Recorded Music: Taylor Swift” กับการเรียนรู้สังคมและเหตุการณ์ต่าง ๆ ในวงการบันเทิงผ่านเรื่องราวที่เจาะลึกไปถึงประเด็นวัฒนธรรมและสังคม เช่น บทบาททางเพศ สื่อ ลิขสิทธิ์ และชาตินิยม เป็นต้น
  • Ghent University, Belgium กับหลักสูตร “Literature (Taylor’s Version)” กับการเรียนวรรณกรรมการเปรียบเทียบ วิเคราะห์การใช้ภาษา และโวหารจากเนื้อเพลงของเธอ

 

               ในหลาย ๆ มหาวิทยาลัยยังคงมีการนำบุคคลหรือบางสิ่งที่มีอิทธิพลทางสังคมมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างหลักสูตรการเรียนรู้ เช่น วิชาเดวิด เบ็คแฮมศึกษา (David Beckham Studies)[4] ที่ไม่ใช่แค่การเรียนรู้เรื่องฟุตบอลแต่เชื่อมโยงไปถึงการศึกษาด้านกีฬา การแพทย์ และวัฒนธรรม หรือหลักสูตรการศึกษาหนังฮีโร่สุดโด่งดังโดยการเชื่อมโยงเข้ากับ Physics และ Astronomy ด้วยแนวคิดว่าหากคนจริง ๆ เป็นฮีโร่ โลกและร่างกายของฮีโร่ต้องเป็นอย่างไร เป็นต้น นอกจากเรื่องเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมสิ่งที่คนในยุคศตวรรษที่ 21 ตระหนักถึงกันมาก ๆ ก็คือสิ่งแวดล้อม ทำให้ทักษะสีเขียวคือหนึ่งในหัวข้อที่ถูกนำมาพัฒนาหลักสูตรใหม่ ๆ ในห้องเรียนทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น

 

โรงเรียน International School of Lausanne (Lausanne, Switzerland) ได้ปรับวิชาเศรษฐศาสตร์ให้เข้ากับบริบทของการเรียนรู้ทักษะสีเขียว กับวิชาเศรษฐศาสตร์พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Economics) โดยนักเรียนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับแหล่งพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ จากธรรมชาติ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ เป็นต้น มาต่อยอดเรียนรู้ถึงวิธีการผลิตการจัดการพลังงานเหล่านี้ รวมถึงการวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ของการลงทุนในพลังงานสะอาด ฝึกวางแผนการใช้พลังงานในชุมชน การออกแบบระบบพลังงานที่ยั่งยืน และการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

 

หรือการหยิบยกปัญหายอดฮิตในหลายประเทศที่เจอกับภัยธรรมชาติจากภาวะโลกแปรปรวนจนกระทบความเป็นอยู่เพราะผังเมืองไม่เอื้ออำนวยมาสร้างหลักสูตรดี ๆ อย่างวิชานิเวศวิทยาเมืองและการออกแบบอย่างยั่งยืน (Urban Ecology and Sustainable Design) มีตัวอย่างโรงเรียนที่นำไปสอนจริงแล้วคือ Helsinki Design School (Helsinki, Finland) และ Singapore American School (Singapore) โดยในหลักสูตรจะให้เรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางการออกแบบเมืองเพื่อลดการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ การใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการสร้างพื้นที่สีเขียวในเมือง โดยศึกษาจากเมืองที่เป็นตัวอย่างของการออกแบบอย่างยั่งยืน เช่น เมืองในประเทศสแกนดิเนเวียที่เป็นผู้นำด้านการพัฒนาเมืองสีเขียว

         

รูป SymbioCity ตัวอย่างต้นแบบเมืองสีเขียว

 

 

อ่านมาถึงตรงนี้ก็อาจจะมีหลายคนที่เกิดคำถามขึ้นมาว่าแล้วเรียนเกี่ยวกับคนดังหรือวิชาตามเทรนด์เหล่านี้ให้ประโยชน์จริงหรือไม่

 

              

  

การมีหลักสูตรการศึกษาแปลกใหม่ช่วยอะไรการศึกษาได้บ้าง?

               วิชานอกหลักสูตรมักถูกมองว่าไม่สำคัญเท่ากับวิชาการหลักและอาจไม่จำเป็นต่อทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการ แต่อย่างไรก็ตามการเรียนรู้ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ยังคงมีประโยชน์แน่นอน จากมุมมองของดร.เจมส์ เบ็นเน็ตต์ (James Bennett)[1] จาก Royal Holloway, University of London มองว่าการศึกษาวัฒนธรรมสมัยนิยมจากเหล่าคนดังมีข้อดีและความสำคัญต่อการทำความเข้าใจโลก เพราะค่านิยมทางสังคม สื่อ วิธีเข้าใจการเมือง จนไปถึงสินค้าที่เป็นที่ต้องการต่างมีคนดังคอยขับเคลื่อนอยู่ และถึงแม้ว่าจะใช้ชื่อของคนดังเป็นหัวข้อหลักแต่มันไม่ใช่แค่การศึกษาชีวประวัติของตัวบุคคลแต่เป็นการเน้นไปที่ปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นจากพวกเขามากกว่า นอกจากนี้ในหลาย ๆ วิชานอกหลักสูตรมักเป็นการส่งเสริมเรื่องของการคิดวิพากษ์ (Critical Thinking) ที่เป็นทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 นี้ด้วย

 

หลักสูตรการศึกษาที่หลากหลายนอกจากวิชาการพื้นฐานให้ประโยชน์อะไรกับเด็ก ๆ ได้บ้าง?

 

ถึงแม้ว่าวิชานอกหลักสูตรเหล่านี้จะถูกมองว่าอาจจะไม่จำเป็นต้องเรียน แต่ในหลาย ๆ ครั้งมันยังถูกนำมาเป็นตัวตัดสินก้าวต่อไปของนักเรียนด้วย เช่น การสอบเข้าศึกษาต่อในอุดมศึกษามักมีคำถามเกี่ยวกับกิจกรรมนอกเวลาหรือวิชานอกหลักสูตรที่เด็ก ๆ สนใจเพื่อเป็นข้อมูลเชิงลึกว่าผู้สมัครที่ถูกรับเข้ามาจะมีส่วนร่วมในมหาวิทยาลัย มีแรงจูงใจ และทัศนคติอย่างไรบ้าง นอกจากเรื่องนี้การที่เด็ก ๆ ได้เรียนนอกหลักสูตรที่ตนเองสนใจยังมีประโยชน์อีกหลายด้าน[5] เช่น

 

  • ช่วยให้ผลการเรียนด้านวิชาการดีขึ้น จากข้อมูลของวารสารการศึกษาและวิจัยทางการแพทย์จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติและวารสารวิทยาศาสตร์แคนาดาได้วิเคราะห์ออกมาว่าการเรียนรู้นอกห้องเรียนมีความสัมพันธ์กับความสำเร็จทางวิชาการเนื่องจากสุขภาพจิตของเด็ก ๆ ดีขึ้น ประสบการณ์ทางจิตและอารมณ์เชิงบวกที่ดีจึงส่งผลถึงผลการเรียนที่ดีขึ้นด้วย
     
  • พัฒนาทักษะด้านการสื่อสารและเพิ่มโอกาสทางสังคมจากการได้รู้จักคนใหม่ ๆ ที่สนใจในสิ่งเดียวกัน ถือเป็นการเก็บประสบการณ์ด้านความสัมพันธ์กับผู้คนอื่น
     
  • เปิดโอกาสให้ได้สำรวจตนเองและเปิดมุมมองใหม่ ๆ นอกจากเรื่องที่เรียนในห้องเรียนเพื่อค้นคว้าสิ่งที่สนใจให้ลึกซึ้งขึ้น และข้อดีอีกอย่างคือทัศนคติที่ช่วยส่งผลต่อแนวคิดของทักษะเรียนรู้ตลอดชีวิต
     
  • ช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีให้กับเด็ก จากวิจัยของ Eva Oberle รองศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย พบว่าการมีเรียนรู้นอกจากหลักสูตรพื้นฐานในห้องเรียนช่วยลดความเครียด พัฒนาทักษะด้านอารมณ์ และช่วยให้เด็ก ๆ บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในเรื่องของการลดเวลาหน้าจอมาทุ่มเทกับบทเรียนที่ตนเองสนใจมากขึ้น

 

                               การอ่านแนวคิดหลักสูตรแปลกใหม่ทำให้เข้าถึงความคิดสร้างสรรค์ดี ๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับการสอนในห้องเรียนของไทยได้ เหมือนกับหลายมหาวิทยาลัยที่นำหลักสูตร Taylor Swift จากปี 2022 มาต่อยอดประเด็นการศึกษาออกมาเป็นหลักสูตรใหม่ ๆ ในปี 2024

               

            อักษรชวนคุณครูคิดตามว่าหากเปิดหลักสูตรสร้างสรรค์ของตนเอง คิดว่าประเด็นไหนน่าสนใจ

จะเอามาต่อยอดกับหลักสูตรการศึกษาพื้นฐานของไทยได้บ้าง อย่างหลักสูตร Taylor Swift หรือบทเรียนเกี่ยวกับทักษะสีเขียวเอามาต่อยอดยังไงได้บ้าง

ลองมาแลกเปลี่ยนไปด้วยกันกับอักษรครับ

      

 

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท. Active Learning อื่น ๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่น ๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

 
 

 

 

 

 

Share

Relate article