Collaborative Culture & Leadership in Education

 

Collaborative Culture & Leadership in Education

 

 

บันทึกจาก Eisenhower Fellowships #6

วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม 2558

มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา

 

 

วันนี้ผมมาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เพื่อพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญที่ทำการศึกษาวิจัยนโยบายการศึกษาระดับนานาชาติ Professor Pasi Sahlberg เพื่อหาแนวคิดว่าหากเราจะยกระดับการเรียนรู้ของเด็กไทย เราต้องเริ่มตรงไหนก่อน

 

ก่อนอื่นผมต้องให้บริบทว่า Professor Sahlberg เคยเป็นครู วิทยากรอบรมครู นักวิจัย และที่ปรึกษาด้านนโยบายการศึกษาของฟินแลนด์ (ซึ่งประเทศที่มีระบบการศึกษาที่น่าชื่นชมที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง) ท่านมีความสนใจในเรื่องการยกระดับการเรียนรู้ในโรงเรียน กระบวนการจัดการเรียนรู้ การบริหารโรงเรียน และนโยบายการศึกษาระดับประเทศ

 

ท่านเขียนหนังสือขายดีชื่อ “Finnish Lessons 2.0: What can the world learn from educational change in Finland” ปัจจุบันท่านเป็น Professor อยู่ที่ Graduate School of Education มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และได้รับเชิญไปเป็นวิทยากร และให้คำปรึกษาด้านนโยบายการศึกษาตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก

 

Professor Sahlberg ให้ความเห็นว่าในการยกระดับการเรียนรู้ นอกจากการยกระดับครูผู้สอนในโรงเรียนแล้ว ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือ (1) การสร้างวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันของครู และ (2) การยกระดับความสามารถของผู้นำโรงเรียน ผู้นำเขตพื้นที่การศึกษา และผู้นำนโยบาย

 

 

(1) เรื่องแรก Collaborative culture การสร้างวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันของครู 

Professor Sahlberg บอกว่าครูในระบบการศึกษาที่ประสบความสำเร็จ มีเวลาในการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนครูทั้งในโรงเรียน และนอกโรงเรียน ครูมีเวลาสะท้อนความคิดของตัวเองในการยกระดับการสอน และครูมีอิสรภาพในการจัดการเรียนการสอน

 

ในเรื่องของการสร้างให้ครูมีความรับผิดชอบ (accountability) ท่านเห็นว่าเราสามารถสร้างให้ครูมีความรับผิดชอบได้โดยไม่ต้องใช้มาตรวัดต่างๆ มากมาย (อย่างที่ไทยเราชอบทำ) ควรแค่ใช้มาตรวัดบ้างไม่ต้องมากแต่มี focus ที่ชัดเจน และใช้การทำงานร่วมกันเป็นทีมสร้างให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างสมาชิกในทีม

 

นอกจากนั้นท่านยังให้ความเห็นว่าเรายังสามารถสร้างการเรียนรู้ที่ดีให้แก่เด็กๆ ได้จากการทำงานร่วมกันของครูที่เรามีอยู่แล้วในระบบโดยไม่ต้องฝากความหวังจากครูรุ่นใหม่หรือรอให้มีครูเทวดามาจากไหน โดยมีตัวอย่างจากการสร้างทีมฟุตบอลที่ยอดเยี่ยมได้ จากนักเตะที่มีคุณภาพมาตรฐานโดยที่ไม่ต้องรอนักเตะเทวดาจากไหนมาบันดาลให้เกิดผลลัพธ์อันยอดเยี่ยม

 

 

(2) เรื่องที่สอง Leadership การยกระดับความสามารถของผู้นำ

Professor Sahlberg ให้ความเห็นว่าในระบบการศึกษาที่ดีต่างๆ ล้วนแต่มีผู้นำที่ดีในระดับโรงเรียน ระดับเขตพื้นที่การศึกษาและระดับนโยบาย โดยผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์ชัดเจนว่าจะสร้างบรรยากาศการเรียนรู้อย่างไรให้แก่เด็กๆ และทำให้ครูในโรงเรียนมองเห็นภาพความฝันนี้ร่วมกัน ผู้นำเหล่านี้ในทุกระดับต้องร่วมกันสร้างให้เกิดบรรยาการที่ดีในการทำงานร่วมกันของครู (ดังกล่าวข้างต้น) และผู้นำเหล่านี้ต้องเชื่อมั่นในครู ให้เกียรติ และให้อำนาจให้ครูเป็นผู้ตัดสินใจจัดการเรียนการสอนให้แก่นักเรียนของตนเอง

 

 

 

 

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
คุณคิดว่าบรรยากาศการทำงานร่วมกันเป็นทีมแบบนี้เหมาะสมกับบริบทโรงเรียนไทยแค่ไหน?
เราจะทำให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร?
ผู้นำในระบบโรงเรียนไทย (ทั้งในระดับโรงเรียน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับนโยบาย) เอื้อให้เกิดบรรยากาศการทำงานร่วมกันของครูมากน้อยเพียงใด?

ลองเขียนมาแลกเปลี่ยนความคิดกันดูครับ
 

Share

Relate article

No relate article