การส่งครูไปทางโทรทัศน์ช่วยยกระดับการเรียนรู้ได้จริงไหม?
การส่งครูไปทางโทรทัศน์ช่วยยกระดับการเรียนรู้ได้จริงไหม?
บันทึกจาก Eisenhower Fellowships #7
วันอังคารที่ 12 พฤษภาคม 2558
HarvardX มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา
ช่วงนี้ได้ยินนโยบายรัฐเรื่องการเรียนทางไกลโดยการบันทึกเทปการสอนของครูสอนพิเศษแล้วส่งไปให้เด็กๆ ทั่วประเทศดูโดยรัฐบาลสื่อสารออกมาเหมือนว่าเป็นไอเดียสุดยอดที่เป็นทางออกของประเทศไทยในด้านการศึกษาผมอยากรู้ว่าแนวคิดนี้จะช่วยยกระดับการเรียนรู้ได้จริงไหม วันนี้ผมจึงมาพูดคุยกับผู้บริหารและนักวิจัยด้านการเรียนการสอนที่ HarvardX เพื่อหาแนวคิดในเรื่องนี้
HarvardX เป็นหน่วยงานจัดการเรียนการสอนออนไลน์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด HarvardX ทำงานร่วมกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างคอร์ส MOOC (Massive Open Online Course) ให้กับนักศึกษาออนไลน์ซึ่งส่วนมากเป็นนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยหรือผู้ใหญ่วัยทำงาน หน่วยงานนี้มีพนักงานประจำประมาณ 50 คน (ไม่รวมอาจารย์ผู้สอนที่มาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด) ปัจจุบันมีสถานะเป็นแหล่งทดลองไอเดียใหม่ๆในการจัดการศึกษาออนไลน์
*** เขาแบ่งปันให้ฟังว่าจากงานวิจัยการเรียนการสอนของ HarvardX พบว่าการเรียนด้วยตนเองออนไลน์ (online self-learning) เหมาะเฉพาะกับเด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่มีระเบียบในตนเองสูง (ย้ำ! เฉพาะเด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่มีระเบียบในตนเองสูง) ซึ่งผู้เรียนเหล่านี้มักเป็นคนที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้วในการเรียนและต้องการมาหาความรู้เพื่อเติมเต็มเป็นเรื่องๆ ไปผู้ใหญ่ที่มีค่อยระเบียบในตนเองหรือเด็กๆ มักจะอยู่ในระบบไม่นานและจากไปโดยไม่ประสบผล โดยรวมอัตราที่ผู้ใช้คงอยู่ในระบบ (active user) อยู่ที่ไม่เกิน 5% ของผู้ลงทะเบียนเรียน (หมายเหตุ – นี่ขนาดคนที่มาลงทะเบียนเรียนเป็นผู้ใหญ่ที่มุ่งมั่นมาหาความรู้นะครับ) ***
|
กลับมามองที่รัฐบาลไทยเราคิดว่าการส่งครูไปทางโทรทัศน์เป็นการแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนครูผู้สอนเป็นการแก้ ปัญหาถูกประเด็นไหม
เราต้องแยกการขาดแคลนครูเป็น 2 ประเภท
แบบที่ 1 Qauntity ขาดแคลนจำนวนครู
การขาดแคลนประเภทนี้อาจจำเป็น (และจำใจ) ต้องแก้ไขโดยวิธีส่งครูไปทางโทรทัศน์ เพื่อให้อย่างน้อยเด็กๆ ได้เรียนได้ฟังอะไรบ้าง ถึงแม้ว่าจะไม่ค่อยได้ผลก็ตาม แต่ก็ดีกว่าไม่ได้เรียนอะไรเลย ปัญหาแบบนี้เกิดกับประเทศยากจนมากๆ ที่ขาดครูอย่างสาหัส แต่ทว่าไทยเราไม่ได้มีปัญหานี้ ไทยมีครู 580,000 คน มีนักเรียน 10.2 ล้านคน คิดเฉลี่ยเป็นครูหนึ่งคนต่อนักเรียน 18 คน ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่ขี้เหร่เลย
(หมายเหตุ อาจมีบางโรงเรียนในไทยที่ขาดแคลนจำนวนครู quantity แบบสาหัสในลักษณะนี้ แต่การวางนโยบายการศึกษาที่คิดว่าจะขยายวงการสอนทางโทรทัศน์ไปยังโรงเรียนที่ไม่ได้อยู่ในสภาวะขาดแคลนครูในรูปแบบนี้ อาจเป็นการแก้ไขไม่ถูกประเด็น)
แบบที่ 2 Quality ขาดแคลนครูคุณภาพ และ/หรือ ขาดแคลนการบริหารที่ดี
วิธีการแก้ไขของการขาดแคลน quality แบบนี้ คือต้องรีบพัฒนาครูที่มีอยู่ให้สามารถสอนได้ดี พัฒนาระบบการบริหารงานเพื่อเอื้อให้ครูผู้สอนที่มีอยู่มองเห็นวิสัยทัศน์ของห้องเรียนแบบใหม่ เห็นคุณค่าของตนเอง สามารถพัฒนาตนเองได้และช่วยเหลือกันสร้างวัฒนธรรมที่ดีในการทำงานร่วมกันในโรงเรียน
(ไม่ควรใช้การออกอากาศทางโทรทัศน์กระโดดข้ามครู ที่เป็นเจ้าของห้องเรียน ซึ่งเป็นการลดความสำคัญของครูที่เป็นเจ้าของห้องเรียน และจะอาจทำให้ผู้บริหารบ้านเมืองมองข้ามความสำคัญของการพัฒนาครู)
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
คุณคิดว่าประเทศไทยขาดแคลนครูในรูปแบบที่ 1 Quantity หรือ 2 Quality?
คุณคิดว่าการส่งครูไปทางโทรทัศน์จะช่วยยกระดับการเรียนรู้ในห้องเรียนได้ไหม?
ลองเขียนมาแลกเปลี่ยนความคิดกันครับ
Relate article
No relate article