ห้องเรียนไทยแห้งแล้ง ขาดแคลนสื่อการเรียนการสอน (Instructional Materials) ที่หลากหลาย เพราะสังคมไทยมีความเชื่อผิดๆ
ห้องเรียนไทยแห้งแล้ง ขาดแคลนสื่อการเรียนการสอน (Instructional Materials) ที่หลากหลาย
เพราะสังคมไทยมีความเชื่อผิดๆ
หากเราเดินเข้าไปในโรงเรียนรัฐบาลทั่วๆ ไปในประเทศไทย เราจะเห็นว่าห้องเรียนไทยนั้นแห้งแล้งเหลือเกินไม่มีสื่อการเรียนการสอนที่หลากหลายให้เด็กนักเรียนใช้ค้นคว้าหาความรู้ ขาดแคลนเครื่องมือหลากหลายที่จะช่วยให้ครูสามารถนำพานักเรียนไปสู่ประสบการณ์เรียนรู้ที่น่าตื่นเต้นและกระตุ้นให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น
วันนี้ผมมีข้อมูลที่น่าสนใจมาแบ่งปันครับ โรงเรียน Public Schools ในสหรัฐอเมริกาทุกโรงใช้เงินรวมกัน $12,000 ล้านดอลล่าร์ต่อปี (430,000 ล้านบาทต่อปี) ในการซื้อสื่อการเรียนการสอน Instructional materials สำหรับนักเรียน 50 ล้านคน คิดเป็น US$240 ดอลล่าร์ต่อหัวต่อปี (คิดเป็น 8,600 บาทต่อหัวต่อปี)
โรงเรียนรัฐในไทยเราใช้งบฯสนับสนุนค่าใช้จ่ายการศึกษา (หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “งบเรียนฟรีฯ”) ในการซื้อหนังสือเรียน 7,200 ล้านบาท + งบอื่นๆซื้อสื่อการเรียนการสอนอื่นๆอีกประมาณ 1,000 ล้านบาท รวม ~8,200 ล้านบาท สำหรับเด็กนักเรียน 10 ล้านคน คิดเป็น 820 บาทต่อหัวต่อปี
(สำหรับเพื่อนๆที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ — หากจะเทียบด้วย Purchasing Power Parity PPP ก็จะเทียบได้ดังนี้ ไทยใช้ 820 บาทต่อหัวต่อปี คิดเป็น US$66 ต่อหัวต่อปี คิดจากอัตรา PPP THB12.32 per US$1)
หากเราเทียบการลงทุนในสื่อการเรียนการสอนของไทยกับสหรัฐอเมริกา ก็จะเห็นว่าเรายังลงทุนน้อยนักในสื่อการเรียนการสอนซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยครูพัฒนาสติปัญญาของลูกหลานเรา
ถึงแม้สภาพจริงของห้องเรียนของไทยเราจะแห้งแล้งแบบนี้ แต่ว่าสังคมไทยเรามีการสื่อสารที่ผลักดันสังคมให้มุ่งคิดไปในทางลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา โดยออกมาตามช่องทางต่างๆ อยู่เสมอ เช่น
1. รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 52 ระบุว่า “พลเมืองย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันในการรับการศึกษาที่มีคุณภาพ และหลากหลายอย่างทั่วถึงตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษาสายสามัญและอาชีพโดย ***ไม่เสียค่าใช้จ่าย***” (ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วรัฐบาลไทยไม่มีงบประมาณมากพอที่จะจัดการศึกษาที่มีคุณภาพดีได้)
2. ท่านผู้นำประเทศก็ยังออกมาพูดให้สังคมเข้าใจผิดๆ เป็นเนืองนิจอีกว่าจะต้องลดค่าใช้จ่ายสำหรับการเรียนการสอน ผมขอคัดมาจากบทปาฐกถาของท่านบางส่วนดังนี้ “…อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีการเก็บค่าบำรุงการศึกษาหรือค่ากิจกรรม จึงจะต้องมีการพิจารณาว่ามีความเพียงพอและเหมาะสมหรือไม่อย่างไร เพราะรัฐบาลจัดให้เรียนฟรี แต่ผู้ปกครองยังจะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเหล่านี้อยู่ เช่นเดียวกับเรื่องหนังสือและตำราเรียน จึงขอให้กระทรวงศึกษาธิการไปพิจารณาว่าจะสามารถนำหนังสือเรียนกลับมาใช้ต่อได้หรือไม่ หรืออาจจะมีการปรับราคาหนังสือให้มีความเหมาะสม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ปกครอง…” (ทั้งๆ ที่จริงๆ หนังสือเรียนเล่มนึงราคาประมาณ 80-90 บาท ซึ่งถูกที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และถูกกว่าราคานิตยสารแฟชั่นที่วางอยู่บนแผงส่วนมาก)
3. นักข่าวก็ชอบไปซักถามผู้ใหญ่ในกระทรวงในประเด็นเรียนฟรี ไม่ฟรีจริง (ทั้งที่จริงๆ แล้วของดีที่ได้มาฟรีๆ ไม่มีอยู่ในโลก) หรือเรื่องราคาหนังสือเรียน (ทั้งๆ ที่หนังสือเรียนเราก็ราคาประมาณ 80-90 บาทต่อเล่ม ถูกกว่านิตยสารเล่มนึงอีก) เพราะประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่ถามง่าย ตีฆ้องให้ผู้ใหญ่ในกระทรวงเต้นได้ดี เป็นที่สนุกสนานของนักข่าว
หากสังคมไทยยังคงเข้าใจประเด็นผิดพลาดเกี่ยวกับการลงทุนในสื่อการเรียนการสอนเพื่อช่วยคุณครู ดังเช่นนี้แล้วและช่วยกันโหมสื่อสารโดยเน้นความคิดไปในเรื่องการลดเงินลงทุนด้านการศึกษา ความฝันที่เราอยากให้ห้องเรียนทั่วประเทศไทยมีแหล่งเรียนรู้หลากหลายที่กระตุ้นให้เด็กไทย มีความอยากรู้อยากเห็นและรักการเรียนรู้ไปตลอดชีวิตคงเป็นความฝันลมๆ แล้งๆ ที่ยากจะเดินไปถึง
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
คุณคิดว่าห้องเรียนในฝันเป็นอย่างไร
ในห้องเรียนมีสื่อการเรียนการสอนหลากหลายเพียงพอไหม
วันนี้ไทยเราลงทุนในสื่อการเรียนการสอนเพียงพอหรือยัง
ลองเขียนมาแลกเปลี่ยนความคิดกันครับ
หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลจาก
1. MDR’s National K-12 Education Market Database, Market Data Retrieval
2. U.S. Department of Education, Institute for Education Sciences
3. PPP THB12.32 per $1 จาก http://data.worldbank.org/indicator/PA.NUS.PPP
4. ปาฐกถาพิเศษของนายกรัฐมนตรี เรื่อง “ปฏิรูปการศึกษา …. สร้างอนาคตประเทศไทย” ในงานสัมมนาเรื่อง การปฏิรูปการศึกษาและพัฒนามนุษย์สู่อนาคต เมื่อวันพุธที่ 26 สิงหาคม 2558 ที่ห้องมัฆวานรังสรรค์
Relate article
No relate article