การสอนแบบแก้ปัญหา

 

การสอนแบบแก้ปัญหา

 

 

วันนี้ผมมาดูห้องเรียนสมัยใหม่ ในวิชาสังคมศึกษา ระดับชั้น ป.4 ที่โรงเรียนจารุวัฒนานุกูล ห้องเรียนที่นี่ไม่ใช่ห้องเรียนเงียบๆ ที่เด็กๆ นั่งฟังอย่างเรียบร้อย แต่ในห้องเรียนนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังของการเรียนรู้ มีเสียงคุยกันตลอดเวลา เด็กนักเรียนปรึกษาหารือกันเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน โดยมีคุณครูเดินไปมาเป็นโค้ช คอยดูแล ถามไถ่ ช่วยเหลือแนะนำเด็กๆ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้

 

กระบวนการเรียนแบบใหม่นี้เป็นการสอนแบบแก้ปัญหา เป็นการสอนที่มุ่งให้นักเรียนได้ฝึกฝนและพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาที่นักเรียนจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันและในอนาคต

 

การสอนในห้องนี้เริ่มจากคุณครูพิมพร เบี้ยววงษ์ ให้เด็กนักเรียนทำแบบทดสอบก่อนเรียน จากนั้นคุณครูเล่าบริบทของเรื่องที่จะเรียนรู้ และตั้งปมปัญหาที่นักเรียนจะต้องร่วมกันแก้

 

ต่อจากนั้นเมื่อนักเรียนสามารถระบุปัญหาได้แล้ว นักเรียนก็จะเริ่ม สำรวจค้นหาสาเหตุ สำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูล

 

เมื่อรวบรวมข้อมูลได้แล้ว นักเรียนช่วยกันกำหนดทางเลือกและช่วยกันเลือกวิธีที่ดีที่สุด หลังจากนั้นเด็กๆ ช่วยกันออกแบบกำหนดแนวทางในการทำงานร่วมกันและร่วมกันแก้ปัญหา รวมทั้งการร่วมกันตรวจสอบว่าผลงานหรือวิธีที่กลุ่มร่วมกันทำนั้นน่าพอใจหรือไม่ หากไม่พอใจเด็กๆ ก็จะร่วมกันปรับปรุงและแก้ไขจนเป็นที่พอใจ

 

สุดท้ายเด็กๆ ออกมานำเสนอผลงาน วิธีคิดของกลุ่มตนเอง

 

จากกิจกรรมที่นักเรียนได้ลงมือทำนี้ ผมได้สังเกตุพบว่านักเรียนได้ทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการคิดแบบแก้ปัญหา การคิดอย่างมีวิจารณญาณการทำงานร่วมกับผู้อื่นทักษะการสื่อสารทั้งภายในกลุ่มและการนำเสนอผลงานกิจกรรมแบบนี้ช่วยให้เด็กมีทักษะติดตัวและมีความคิดที่จะช่วยพวกเขาเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในการดำรงชีวิตและการทำงาน

Share

Relate article

No relate article