เรียนแบบปฐมวัย ต่างกันอย่างไร กับการเรียนในวัยอื่น ๆ
เรียนแบบปฐมวัย ต่างกันอย่างไร กับการเรียนในวัยอื่น ๆ
“การลงทุนพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าให้ผลตอบแทนแก่สังคมดีที่สุดในระยะยาว” โดยคืนผลตอบแทนกลับคืนมาในอนาคตมากถึง 7 เท่า!!
ศ.ดร.เจมส์เจ เฮกแมน จากมหาวิทยาลัยชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา
นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์
- ใคร ๆ ก็บอกว่าปฐมวัยสอนง่าย ความจริงแล้วมีความแตกต่างกับการเรียนของเด็กในระดับอื่น ๆ
- บทความนี้จะทำให้เข้าใจการเรียนของเด็กและครูปฐมวัย ที่มีความแตกต่างไม่เหมือนใคร ๆ
ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าการลงทุนโดยเริ่มต้นที่ “เด็กปฐมวัย” เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะเด็กปฐมวัยเป็นช่วงจังหวะทองของการสร้างเสริมพัฒนาการเด็ก เป็นการวางรากฐานของการพัฒนาความเจริญเติบโตทุกด้าน โดยเฉพาะทางด้านสมองเพราะสมองเติบโตและพัฒนาเร็วที่สุด ดังนั้นการอบรมเลี้ยงดูในช่วงระยะนี้มีผลต่อคุณภาพของคนตลอดชีวิต
แต่มีหลายความคิดที่มองว่าการเรียนของเด็กปฐมวัยเป็นการเรียนแบบง่าย ๆ ครูปฐมวัยไม่จำเป็นต้องสอนอะไรมาก แค่สอนเด็กขีด ๆ เขียน ๆ พูด 2-3 คำก็ให้เด็กกินนมและนอนกลับบ้าน แต่ความจริงแล้วการสอนเด็กปฐมวัย จำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้ในวิชาต่าง ๆ อาทิ ภาษาอังกฤษ คณิตฯ ไทย วิทยาศาสตร์ คัดลายมือ พลศึกษา ทักษะการเล่านิทาน รวมถึงต้องเก่งจิตวิทยาและแก้ปัญหาเฉพาะได้ดีอีกด้วย นั้นก็เพราะครูปฐมวัยต้องรับมือกับเด็ก ๆ ที่มาจากหลากหลายพื้นฐานครอบครัว ซึ่งเด็กแต่ละคนก็มีความแตกต่างกันไป เด็กบางคนร้องไห้ บางคนเอาแต่ใจตัวเอง บางคนก้าวร้าว ซุกซน ครูปฐมวัยจึงมีหน้าที่ที่จะต้องอบรม ดูแลพวกเขาให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ และนี่คือสิ่งที่เด็กปฐมวัยจำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อให้ได้ทักษะในศตวรรษที่ 21 และพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน อย่างสมวัย
มาทำความเข้าใจการเรียนของเด็กและครูปฐมวัย ที่ใคร ๆ ก็บอกว่าสอนง่าย ความจริงแล้วมีความแตกต่างกับการเรียนของเด็กในระดับอื่น ๆ
1. เน้นการจัดกิจกรรมแบบบูรณาการเสริมประสบการณ์
เด็กปฐมวัยต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จำเป็น ที่แตกต่างไปจากเด็กวัยอื่น ๆ ฉะนั้นการจัดการเรียนของเด็กปฐมวัยจึงเน้นการจัดกิจกรรมแบบบูรณาการเสริมประสบการณ์ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ในหลายทักษะ มากกว่าการเรียนแบบรายวิชา ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนทางเลือกเกิดขึ้นมากมาย ที่เน้นการจัดกิจกรรมแบบบูรณาการ เพื่อให้เด็กได้ฝึกทักษะ และกระบวนการคิด อาทิ แนวการเรียนรู้ภาษาอย่างธรรมชาติแบบองค์รวม แนวการสอนแบบพหุปัญญา แนวการสอนแบบProject Approach แนวคิดมอนเตสซอรี่ แนวคิดไฮสโคป แนวคิดวอลดอร์ฟ แนวคิดเรกจิโอ เอมิเลีย ฯลฯ (แนวการเรียนเหล่านี้ต้องสอดคล้องตามหลักสูตรปฐมวัย’60)
2.เรียนรู้ผ่านการเล่น ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ สอดคล้องกับพัฒนาการ 4 ด้าน
ลงลึกมาถึงการจัดการเรียนการสอน อย่างที่บอกมาข้างต้นว่าเด็กปฐมวัยเน้นการจัดกิจกรรมแบบบูรณาการ มากกว่าการเรียนการสอนแบบรายวิชา ซึ่งครูปฐมวัยจะรู้กันดีว่ามันเรียกว่า การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ โดยแต่ละวันเด็กจำเป็นต้องเรียนรู้ผ่านการเล่น ผ่านกิจกรรมหลัก ๆ 6 กิจกรรม คือ กิจกรรมเสริมประสบการณ์ กิจกรรมเคลื่อนไหว กิจกรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมเสรี กิจกรรมกลางแจ้ง กิจกรรมเกมการศึกษา เพื่อส่งเสริมพัฒนาการ 4 ด้านให้กับเด็ก ได้แก่ ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์-จิตใจ ด้านสังคมและด้านสติปัญญา และทุกครั้งครูต้องจัดการประเมินพัฒนาการให้เป็นกระบวนการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดประสบการณ์ พร้อมทั้งนำผลการประเมินมาพัฒนาเด็กอย่างต่อเนื่อง พ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้องควรมีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็ก
3.เนื้อหาการเรียนครอบคลุม 4 สาร
ไม่ได้เน้นวิชาใดวิชาหนึ่งเหมือนเด็กวัยอื่น แต่เป็นการเรียนแบบคลอบคลุม 4 สาระ ที่จำเป็นต่อพัฒนาการของเด็ก ซึ่งเด็กจำเป็นต้องเรียนรู้จากสิ่งใกล้ตัวเด็กไปสู่ไกลตัวเด็กนั้นคือ
1.สาระเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเด็ก
2.สาระเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลและสถานที่
3.สาระธรรมชาติรอบตัวเด็ก
4.สาระสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเด็ก
สิ่งสำคัญในการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัย คือ การยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง ในการจัดประสบการณ์ จะต้องจัดให้สอดคล้องเหมาะสมกับเด็กและสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น เพื่อที่เด็กจะได้ฝึกฝนตนเองให้เหมาะกับชุมชนหรือท้องถิ่นรอบ ๆ ตัวเด็ก นอกจากนี้จะต้องจัดประสบการณ์ให้สอดคล้องกับความแตกต่างระหว่างบุคคล เพื่อให้เด็ก ๆ ได้พัฒนาตนเองได้อย่างมีศักยภาพและความสามารถ ครูปฐมวัยจึงมีบทบาทสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กเป็นอย่างมาก
การลงทุนกับการศึกษาปฐมวัยไม่ใช่การบังคับให้เด็กนั่งเรียนอย่างจริงจัง หน้าติดแบบฝึกหัด มือจับดินสอตลอดเวลา เหมือนกับเด็กประถม เด็กมัธยม เพราะนั่นคือการทำร้ายพัฒนาการด้านต่าง ๆ แต่เป็นการฝึกพัฒนาการพื้นฐานทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เตรียมพร้อมสู่การเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นต่อไป
เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท. อื่น ๆ ได้ที่ >>> คลิก <<<
เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่น ๆ ได้ที่ >>> คลิก <<<
Relate article