เรียนแบบ ไฮสโคป ตอบโจทย์เด็กยุคใหม่

เรียนแบบ ไฮสโคป ตอบโจทย์เด็กยุคใหม่

 

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือสพฐ. ประกาศจะนำการศึกษาไฮสโคปมานำร่องในโรงเรียนในสังกัดกว่า 300 โรง และพร้อมจะขยายไปสู่โรงเรียนอนุบาลอื่นๆ แม่ๆ อาจจะเริ่มสงสัยแล้วว่า แล้วไฮสโคป (HighScope) เป็นการเรียนการสอนแบบไหน เป็นยังไง?

 

ดร.วรนาท รักสกุลไทย ผู้อำนวยการแผนกอนุบาล โรงเรียนเกษมพิทยา เป็นนักการศึกษาท่านแรกๆ ที่สนใจนำมาปรับประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนที่โรงเรียน จะมาบอกกับพ่อแม่ถึงความน่าสนใจของการเรียนการสอนแบบนี้ และการที่พ่อแม่สามารถนำหลักคิดไปประยุกต์ใช้สอนลูกในเรื่องต่างๆ ด้วย

 

รู้จักไฮสโคป

“สำหรับแนวการศึกษา ไฮสโคป (High Scope) จริงๆ แล้วในประเทศไทย เรารู้จักมาเป็นเวลามากกว่า 35 ปีแล้ว โดยที่ลักษณะเป็นการทดลองวิจัย เพื่อทำให้การศึกษาปฐมวัยของเราเข้มแข็งขึ้น ให้มีการจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองเด็กเป็นรายบุคคลมากขึ้น หรือที่เรารู้จักกันในชื่อภาษาอังกฤษว่า Child Centered

 

คนแรกที่คิดขึ้นมาคือ Prof. Dr.David Weikart เป็นนักจิตวิทยาการศึกษาชาวอเมริกัน โดยทำทดลองเปรียบเทียบเด็ก 3 กลุ่ม เรียกว่า Perry Preschool Project เปรียบเด็ก 3 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 คือกลุ่มที่เน้นในเรื่องของอ่านเขียนในเชิงของท่องจำ กลุ่มที่ 2 คือเป็นการเรียนการสอนแบบทั่วๆ ไป มีเพลง มีนิทาน และกลุ่มที่ 3 เป็นการเรียนหลักสูตรไฮสโคป ที่มีลักษณะของการกระตุ้นให้เด็กคิด และตอบสนองกับพัฒนาการวัย 3-6 ขวบเป็นที่ตั้ง ซึ่งหลังจากที่วิจัยพบว่าสามารถเพิ่มคะแนน IQ ของเด็กได้ถึง 19 จุด และเมื่อเด็กกลุ่มทดลองนี้ไปอยู่ถึงระดับมัธยม ก็ลดปัญหาของสังคมได้หลายอย่าง เช่น การประพฤติผิดทาง ลักเล็กขโมยน้อย หรือว่าการท้องก่อนแต่ง และเป็นงานวิจัยที่ติดตามเด็กนี้ไปจนกระทั่งถึงอายุ 25 ปี ซึ่งสรุปข้อมูลสำคัญมาว่า เด็กที่ได้เรียนในหลักสูตรไฮสโคปจะมีทักษะชีวิตที่ดี มีงานทำ มีบ้าน ไม่ต้องพึ่งพิงสวัสดิการสังคม หรือประกันสังคม ทำให้รัฐบาลอเมริกันหันมาสนใจการศึกษาไฮสโคปมากขึ้น”

 

ทำไมต้องไฮสโคป

“เพราะว่าองค์ประกอบที่สำคัญที่เรียกกันว่าวงล้อแห่งการเรียนรู้ ซึ่งจะประกอบด้วย 5 เรื่องด้วยกัน คือ 1.การเรียนรู้แบบ Active learning 2.เรื่องของการปฏิสัมพันธ์ทางบวก 3.เรื่องของการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อให้เอื้อต่อการเรียนรู้ 4.การจัดกิจวัตรประจำวัน ซึ่งประกอบไปด้วยเรื่องของการจัดกิจกรรมกลุ่มใหญ่ กลุ่มย่อย และการใช้กระบวนการวางแผน ลงมือปฏิบัติ และทบทวน รวมทั้ง 5.การประเมินพัฒนาการ

 

วงล้อแห่งการเรียนรู้ต้องพึ่งพิงซึ่งกันและกัน โดยขอสรุปคร่าวๆ Active learning คือการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ ส่วนเรื่องการปฏิสัมพันธ์เราเน้นว่าคนที่ต้องดูแลเด็กก็ต้องเข้าใจพัฒนาการเด็ก มีความรู้ ทางด้านจิตวิทยา การมีปฏิสัมพันธ์ทางบวก และสอนเด็กให้รู้จักการแก้ไขข้อขัดแย้ง เพราะสังคมต้องการคนที่มีทักษะ การประณีประนอม ทักษะของการอยู่ร่วมกัน ในขณะเดียวกัน สิ่งแวดล้อมเราไม่เน้น ลักษณะของสื่อที่เป็นแบบฝึกหัด เราต้องการเน้นให้เด็กลงมือปฏิบัติจริงจากของเล่นจริง

 

ในระยะหลังไฮสโคป เน้นการพัฒนาด้านสังคมและอารมณ์ และสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ เรื่องของการฝึกเด็กตั้งแต่ปฐมวัยให้รู้จักการแก้ไขข้อขัดแย้ง (Conflict resolution) ซึ่งถ้าเด็กถูกฝึกมาให้รู้จักวิธีทำตัวเองให้สงบ วิธีแยกแยะปัญหา สาเหตุของปัญหาคืออะไร ในขณะเดียวกันแนวทางในการแก้ปัญหามันมีหลายทางเลือก แต่เลือกวิธีที่ดีที่สุด ณ บริบทตรงนั้น มันจะทำให้เด็กคิดแก้ปัญหาเป็น จากงานวิจัยที่ต่อเนื่องกันมามากกว่า 30 ปี ยืนยันได้ว่า เด็กที่ผ่านการเรียนการสอนแบบไฮสโคปจะเป็นเด็กที่รู้คิด ปฏิบัติได้ และมีความสุขกับการเรียนรู้”

 

PDR (กระบวนการวางแผนปฏิบัติหรือทบทวน) จุดเด่นของไฮสโคป

เพราะการรู้จักวางแผน ลงมือทำ และประเมินผล เป็นกระบวนการที่ช่วยฝึกทักษะสำคัญที่ทำให้เด็กรู้จักคิด แก้ปัญหา และประสบความสำเร็จในอนาคต

 

“กระบวนการวางแผนปฏิบัติหรือทบทวน ที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า PDR จะสอนกระบวนการคิด และกำกับตัวเองว่า คุณวางแผนว่าคุณจะต้องทำอะไร คุณจะดำเนินการตามที่ตัวเองวางแผนไว้ได้ ที่สำคัญคือตรง Review ที่ทำให้เด็กได้สะท้อนความคิดของตัวเองว่าพอใจในผลงานที่ตัวเองทำไหม มีปัญหาและอุปสรรคยังไง และแก้ไขได้อย่างไรบ้าง รวมทั้งเปิดโอกาสให้เด็กรู้สึกว่า ถ้าต่อไปเขาจะเพิ่มเติมสิ่งที่เขาทำมีคุณภาพมากขึ้นได้อย่างไร

 

คนเราจะประสบความสำเร็จได้ ต้องมีการวางแผนว่าเรามีวัตถุประสงค์อะไร และให้มุ่งมั่นในแผน ไม่โลเล ไม่ว่าจะเผชิญปัญหาหรืออุปสรรคอะไรก็แก้ไขได้ PDR จึงเป็นลักษณะเด่นของไฮสโคป เพราะการฝึกเด็กให้วางแผนเป็น ลงมือทำตามที่วางแผน และคิดทบทวนในสิ่งที่ทำว่าพอใจหรือยัง หรือจะปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างไร”

 

Plan Do Review

Plan :    สำหรับเด็กวัย 3-4 ขวบ ให้วางแผนทีละกิจกรรม ส่วนวัย 4-5 ขวบ แนะนำให้วางแผนถึง 3 กิจกรรม

Do :  เมื่อการวางแผนแล้ว เด็กควรต้องทำตามแผนที่วางไว้ และไม่ควรให้เด็กเปลี่ยนแผน เพราะต้องการให้เด็กมุ่งมั่นในวิธีคิดของเขา และไม่เป็นคนที่โลเล ผู้ใหญ่ที่อยู่แวดล้อมจะมีบทบาทสำคัญที่เข้าไปช่วยหากเขาต้องการการสนับสนุน

Review :    เมื่อทำกิจกรรมเสร็จ ก็ถึงเวลารีวิว หรือทบทวนในสิ่งที่ทำไปว่าได้ทำอะไรก่อน-หลัง ได้ผลเป็นอย่างไร ชอบไหม แล้วควรจะทำอย่างไรให้ดีขึ้น ซึ่งหากอยู่ในคลาสก็จะเปิดโอกาสให้เพื่อนๆ ถามคำถามด้วย

 

ไฮสโคป ทำได้ง่ายๆ ที่บ้าน

เห็นแนวคิด วิธีการของไฮสโคปแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจคิดว่าเป็นเรื่องที่คนที่เป็นครูเท่านั้นจะทำได้ แต่จริงๆ แล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถเอาหลักไฮสโคปนี้ มาใช้ที่บ้าน โดยมีสิ่งสำคัญคือ หนึ่ง การเข้าใจการเรียนรู้ของลูกจะดีที่สุดคือผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ผ่านของเล่น และสำคัญอีกอย่างคือวิธีการ

 

“อย่างเช่น แป้งโดว์ เมื่อก่อนคุณพ่อคุณแม่อาจจะให้เขาเล่นไปโดยไม่มีการวางแผน แต่พอมาถึงลักษณะนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจจะคุยกับเขา เช่น วันนี้หนูอยากจะปั้นแป้งโดว์ ก็ถามต่อว่า หนูจะปั้นเป็นอะไรคะ ถ้าบอกว่าหนูจะปั้นหุ่นยนต์ ซักถามต่อว่าเป็นหุ่นยนต์ตัวไหน แล้วอยากจะใช้วัสดุอุปกรณ์อะไรประกอบหุ่นยนต์ของหนูบ้าง เช่น เอากล่องที่ไม่ใช้แล้ว ฝาขวดหรือท่อนไม้เล็กๆ เศษผ้า สำลี ของประกอบพวกนี้มันจะต่อเติมจินตนาการของเขา แต่ระวังสักนิด อย่าซักถามมากเกินไปจนลูกเบื่อ เพราะใจเขาต้องการเล่นแล้ว”

 

“วันนี้หนูจะทำกิจกรรมเดียว หรืออยากทำอย่างอื่นบ้างคะ”

เด็กอาจจะบอกว่า

“หนูอยากอ่านหนังสือนิทาน”

“หนูจะอ่านเล่มไหนคะ เราวางแผนกันมั้ยคะว่า หลังจากอ่านหนังสือเสร็จแล้ว เราจะทำกิจกรรมอะไร”

 

เราถามความคิดเห็นของเขาก่อน และพยายามให้เขาทำที่วางแผนไว้ หลังจากนั้นเราอาจใช้เวลา ขณะที่ทานของว่าง หรือที่โต๊ะอาหาร พูดคุยว่าวันนี้หนูทำตามที่หนูวางแผนใช่มั้ย หนูรู้สึกยังไง เด็กก็อาจจะบอกว่า หนูภูมิใจหรือหนูมีความสุข แล้วหนูคิดว่าวันพรุ่งนี้หนูจะทำอะไรเพิ่มเติมมั้ย

 

คุณพ่อคุณแม่สามารถวางแผนกิจกรรมร่วมกัน พยายามให้เขาคิดก่อนว่าอยากจะทำอะไร ที่สำคัญเราต้องเคารพการตัดสินใจของลูก ไม่ใช่ลูกบอกว่า หนูอยากปั้นแป้งโดว์ แล้วคุณแม่ก็พูดบอกว่าหนูปั้นแป้งโดว์มา 4-5 วันแล้วนะ แม่ว่าน่าเบื่อออก คำพูดแบบนี้มันเป็นทางลบมากๆ คุณต้องเคารพการตัดสินใจของเขา

 

เด็กๆ ถ้าเขาชอบนิทานเรื่องไหน เขาจะให้เราอ่านให้ฟังเป็นร้อยครั้ง เราต้องไม่เบื่อ เคารพการตัดสินใจของเขา จะสร้างแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ให้เกิดขึ้น หากคุณแม่รู้สึกว่าเขาน่าจะทำกิจกรรมที่หลากหลาย อาจจะบอกว่า แม่อยากจะให้หนูลองเปลี่ยนเป็นระบายสีไหมคะ แต่หลังจากที่หนูทำแป้งโดว์เสร็จแล้วก็ได้ มันจะต้องมีเงื่อนไขบอกกับเขา มีคำชมเชยที่จะชมกับเขา คือวันนี้แม่ดีใจที่หนูทำตามที่หนูวางแผนไว้ แสดงว่าหนูมีความรับผิดชอบ พรุ่งนี้เรามาเล่นวางแผนกันอีกดีไหมคะ มันก็จะทำให้เด็กเกิดความกระตือรือร้น และมีความรู็สึกว่าเล่นวางแผนก็สนุกนะ ที่สำคัญคือเจตคติของคุณพ่อคุณแม่ด้วย หาเวลาเล่นกับลูกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

อ.วรนาท ฝากย้ำคุณพ่อคุณแม่ทิ้งท้ายว่า อย่าไปกังวลว่าลูกจะไม่ได้เขียนอ่าน เพราะยังมีเวลาอีกเยอะ “อย่าเพิ่งห่วงว่าเรายังไม่ได้ให้ลูกมานั่งฝึกคัดเขียน ค่อยๆ พัฒนาเขาไปให้กล้ามเนื้อแข็งแรง เด็กคิดเป็นดีกว่าเด็กที่ลอกแบบอย่างเดียว”

 

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก :
  • https://www.mommymore.com

 

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท.  อื่นๆ ได้ที่     >>> คลิก <<<

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่นๆ ได้ที่    >>> คลิก <<<

Share

Relate article

No relate article