“ละคร” แค่บทบาทสมมติหรือรูปแบบของการสร้างทักษะ
"ละคร" แค่บทบาทสมมติหรือรูปแบบของการสร้างทักษะ
กระบวนการสร้างละคร เป็นศิลปะในรูปแบบองค์รวมที่สามารถพัฒนาสมองและการเรียนรู้ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด สามารถนำมาผสมผสานกับรูปแบบการศึกษาอย่างเป็นองค์รวมจึงช่วยให้เด็ก ๆ เกิดความเข้าใจได้ดี สนุกสนาน และเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย
เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมตอนเด็ก ๆ เราถึงชอบเล่นละครบทบาทสมมติกัน โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงด้วยแล้วการจัดฉากตัวละครเพื่อแสดงเป็น พ่อ แม่ ลูก น่าจะเป็นฉากโปรดของเด็กทุกยุคทุกสมัย ไม่เพียงแต่ที่บ้านเท่านั้นแม้แต่ที่โรงเรียนเองก็ยังเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้มีเวทีของการแสดงละครแทรกอยู่ตลอด นั่นเป็นเพราะละครเป็นเรื่องน่าสนุกที่แม้แต่ผู้ใหญ่อย่างเราเองก็ยังปฏิเสธไม่ได้ การได้ลองเปลี่ยนคาแรคเตอร์ของตัวเองให้กลายเป็นอีกคน ได้ปลดปล่อยจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ก็คงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นอยู่ไม่ใช่น้อย แต่ละครเป็นเพียงการเล่นบทบาทสมมติเพื่อความสนุกสนานเท่านั้นจริงหรือ
การเล่นบทบาทสมมติ หรือ ละครนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว ในต่างประเทศก็มีการใช้ละครเพื่อเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ให้ก้บเด็กของเขา อาทิ ในอังกฤษมีการนำเอาละครเข้ามาสอดแทรกในการเรียนการสอนเพื่อใช้พัฒนาความคิดและสังคมเช่นกัน และแน่นอนวัตถุประสงค์หลักของการนำละครเข้าไปใช้ในโรงเรียนไม่ได้เป็นไปเพื่อสร้างความสุข สนุกสนานให้กับเด็กเท่านั้น แต่ยังเพื่อการเรียนรู้ในรูปแบบเล่นปนเรียน (Play & Learn) อีกด้วย ในสหรัฐอเมริกานักการศึกษาชื่อ จอห์น ดิวอี้ Dewey (1900) พยายามผลักดันให้เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง (Learning by doing) โดยเริ่มต้นจากการให้แสดงบทบาทสมมติและเรียนรู้จากการแสดงเป็นตัวละครดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการเล่นมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเรียนรู้ของเด็ก ด้วยบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในรูปแบบของการเล่นนั้นจะทำให้เขาสามารถเรียนรู้ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
แล้วละครสามารถช่วยพัฒนาการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างไร
ไม่เพียงแต่การสร้างบทบาทสมมติเท่านั้น ส่วนที่สำคัญของละครก็คือ “กระบวนการ” กระบวนการที่ว่านี้ หมายถึง กระบวนการในการสร้างละครขึ้นมาสักหนึ่งเรื่อง เริ่มตั้งแต่การวางโครงร่างของเนื้อเรื่อง การเขียนบท ไปจนกระทั่งถึงการออกแบบฉาก แสง สี เสียง ก่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านทักษะทั้งสิ้น เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ทำให้ “ก้าวข้ามสาระวิชา” ไปสู่การเรียนรู้เพื่อให้เกิดทักษะอื่น รู้จักวิธีการคิด และแสดงออกผ่านบทบาทสมมติ ผสมผสานกับการเรียนการสอนในรูปแบบละคร ส่งผลให้เกิดกระบวนทัศน์ใหม่ของการเรียนการสอน คือไม่ใช่การเรียนการสอนเพื่อมุ่งให้ได้ความรู้เพียงอย่างเดียว แต่ได้สร้างการคิดอย่างมีหลักการและเหตุผลให้แก่ผู้เรียนอีกด้วย เพราะโลกหลังจากนี้เป็นโลกที่ไม่อาจคาดเดา การเรียนรู้อยู่เสมอจะทำให้เด็กสามารถเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง รู้จักตัวเอง และครูจึงมีหน้าที่ในการเป็นผู้กระตุ้นการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักเรียนมากขึ้น (Self-Learning) เพื่อให้เกิดทักษะที่จำเป็นหรือที่เรียกว่า soft skill เป็นทักษะสากลที่ไม่มีในเนื้อหาบทเรียน แต่สามารถทำให้เด็ก ๆ เอาตัวรอดได้ในอนาคต ได้แก่ การคิดสร้างสรรค์ มีวิจารณญาณ การทำงานร่วมกันและการสื่อสาร หรือที่เรียกว่า 4Cs
4Cs ประกอบด้วย
- C ที่ 1: Creativity การคิดอย่างสร้างสรรค์
- C ที่ 2: Critical Thinking คิดอย่างมีวิจารณญาณและแก้ปัญหา
- C ที่ 3: Communication สื่อสารได้ถูกต้องเหมาะสม
- C ที่ 4: Collaboration การทำงานร่วมกับผู้อื่น
Creativity การคิดอย่างสร้างสรรค์
กระบวนการสร้างละคร ก่อให้เกิดกระบวนการในการใช้ความคิดอย่างสร้างสรรค์ เริ่มตั้งแต่การออกแบบการเล่าเรื่องของตัวละคร การเขียนบท การกำกับท่าทางการแสดง การออกแบบฉาก เหล่านี้สามารถนำมาพัฒนาเพื่อต่อยอดการเรียนรู้จากในบทเรียนหรือหนังสืออ่านนอกเวลาได้ การด้นสดในระหว่างการแสดงจะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ปลดปล่อยอย่างสร้างสรรค์ อีกทั้งยังส่งผลให้พวกเขามีความละเอียดอ่อน สร้างรสนิยมทางศิลปะทั้งทางตรงและทางอ้อมอีกด้วย
Critical Thinking คิดอย่างมีวิจารณญาณและแก้ปัญหา
สถานการณ์สมมติที่สร้างขึ้นในบทละครสามารถหยิบยกมาเป็นประเด็นเพื่อให้เด็ก ๆ ได้ลองวิเคราะห์จากสถานการณ์ได้ อาจให้พวกเขาได้ลองถกจากเนื้อหาสาระที่แฝงมากับบทละคร ประเด็นที่พาดพิงถึงการสะท้อนสังคม ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว จิตวิทยาที่ส่งผลต่อการกระทำของแต่ละตัวละคร และลองให้เด็ก ๆ ได้แบ่งปันถึงแนวทางในการแก้ปัญหาอย่าง ประนีประนอม เพื่อนำไปสู่จุดมุ่งหมายของแต่ละคนได้
Communication สื่อสารได้ถูกต้องเหมาะสม
ธรรมชาติของละครนอกจากต้องสื่อสารให้กับผู้ชมได้รับรู้แล้ว นักแสดงยังต้องเกิดการสื่อสารภายในตัวเอง เข้าใจตัวเองก่อนที่จะสวมบทบาทเป็นคนอื่น ทำให้เด็กมีโอกาสทบทวนและเห็นตัวเองผ่านตัวละครที่เขากำลังเล่นก่อนที่จะสื่อสารให้คนอื่นได้รับรู้ และหากเรามาวิเคราะห์การเล่นละครกับองค์ประกอบของการสื่อสาร จะประกอบไปด้วย
ผู้ส่งสาร(sender) คือผู้ที่จะนำเรื่องราวของในละครแสดงออกไป หรือคือนักแสดง
เนื้อสาร (message) เนื้อเรื่องหรือใจความสำคัญของการแสดง หรือบทละคร
ช่องทางการสื่อสาร (channel) ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งการแสดงออกทางสีหน้า แววตา ท่าทาง หรือ บริบท อุปกรณ์ประกอบฉากต่าง ๆ
และผู้รับสารผู้รับสาร(Receiver) คือ เพื่อนนักเรียนที่คอยฟังเรื่องราวจากผู้แสดง
ละครเป็นรูปแบบของการสื่อสารที่สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะละครเป็นสื่อเล่าเรื่องทำให้เด็กเกิดทักษะการเล่าเรื่องอย่างง่าย ๆ ( Story telling) สร้างทักษะการออกแบบเนื้อหาเรื่องที่จะเล่า เพื่อสื่อสารให้เพื่อนร่วมทีมฟัง อีกทั้งต้องสื่อสารให้ผู้รับสารฟัง ละครจึงเป็นเครื่องมือฝึกการสื่อสารที่ผสมผสานทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกัน
Collaboration การทำงานร่วมกับผู้อื่น
ละครเป็นกิจกรรมที่ต้องได้รับความร่วมมือจากหลาย ๆ ส่วน ทั้งตัวนักแสดงเอง เพื่อนร่วมแสดง ผู้ฟัง หรือแม้กระทั่งคุณครู ส่งผลให้เด็ก ๆ สร้างทักษะการทำงานเป็นทีม และทำงานร่วมกับผู้อื่น มีความเสียสละ เกิดความเชื่อในกลุ่มและความเชื่อมั่นในทีม
กระบวนการสร้างละครจึงเป็นศิลปะในรูปแบบองค์รวมที่สามารถพัฒนาสมองและการเรียนรู้ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด สร้างความฉลาดทางอารมณ์ เหตุผล และความสามารถในการจินตนาการได้อย่างกว้างไกล ดังนั้นการนำละครมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน โดยใช้ศาสตร์ของละครเป็นตัวผสมผสานกับรูปแบบการศึกษาอย่างเป็นองค์รวม จะช่วยให้เด็ก ๆ เกิดความเข้าใจได้ดี สนุกสนาน และเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย โดยรู้จักวิธีกระบวนการการคิด ปรับตัวในการทำงานร่วมกับผู้อื่น มีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ ด้วยเหตุผล เคารพในเพื่อนมนุษย์ และส่งผลให้เด็ก ๆ เติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ
กาญจนา แก้วเทพ (2552).สื่อเล็กๆที่น่าใช้ในงานพัฒนา.กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภาพพิมพ์
พรรัตน์ ดำรุง(2550), การละครสำหรับเยาวชน, พิมพ์ครั้งที่2.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท. อื่นๆ ได้ที่ >>> คลิก <<<
เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่นๆ ได้ที่ >>> คลิก <<<
Relate article