พบกับความกล้า 3 ประการ ที่ครูต้องมีเพื่อ “กล้าที่จะสอนหนังสือ”

พบกับความกล้า 3 ประการ ที่ครูต้องมีเพื่อ “กล้าที่จะสอนหนังสือ

 

หลังจากอ่าน   “The Courage To Teach”    หรือชื่อฉบับภาษาไทย    “กล้าที่จะสอน”   ซึ่งเขียนโดย   ปาร์เกอร์ เจ.ปาล์มเมอร์   จบลง เราอยากชวนครูรวมถึงผู้ขุ่นข้องหมองใจทางการศึกษาหาค้อนมาทุบคำอุปมาที่บอกกล่าวกันมาแต่นมนานว่า   ‘ครูคือแม่พิมพ์ของชาติ’    ทิ้งเสีย แต่มันก็เป็นเพียงจินตภาพที่พยายามมีอารมณ์ขันหลังอ่านจบ

 

นอกจากเป็นหนังสือที่ว่าด้วยการศึกษา   ‘กล้าที่จะสอน’   ยังเผยให้เห็นแง่มุมความเป็นครูและแง่งามความเป็นคน หนังสือเล่มนี้ท้าทายอคติและมายาคติ ทำให้เห็นมุมมองใหม่บนภาพใบเดิม ครูไม่ควรเป็นแม่พิมพ์แต่เป็นคนที่หลงใหลในความรู้ และพร้อมที่จะสร้างชุมชนของผู้รักในการแสวงหาความรู้ไม่จบสิ้น

 

การเรียนการสอนไม่ใช่การถ่ายทอดข้อมูลจากจุด A ไปจุด B แต่คือประสบการณ์ของการไม่แบ่งแยกและปะทะสังสรรค์ระหว่างความจริงกับผู้เรียนรู้ ทั้งครู และนักเรียนไม่ควรเป็นศูนย์กลางของการเรียน แต่เป็นวิชาความรู้ที่เป็นศูนย์กลางรายล้อมด้วยครูและนักเรียนผู้หลงใหลในวิชาความรู้นั้น ฯลฯ

 

‘ตัวตน’   คือหัวข้อหลักของหนังสือเล่มนี้ แต่ผู้เขียนก็พาเราลัดเลาะเข้าไปใlนโครงสร้างทางการศึกษา ซึ่งมีลักษณะปิดกั้นตัวตนของทั้งผู้เรียนและผู้สอนจากสิ่งที่กำลังศึกษาเหมือนกันในแทบทุกวัฒนธรรม

 

ประโยคหนึ่งในหนังสือเล่มนี้บอกว่า   “เราไม่จำเป็นต้องปล่อยให้ชีวิตหยุดนิ่งขณะรอคอยให้มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง”    เมื่อไม่ต้องรอการเปลี่ยนแปลงจากด้านบน มันจึงมีความหมายในทีว่า การศึกษาเปลี่ยนจากด้านล่างได้ เปลี่ยนจากหน่วยย่อยที่สุดของระบบได้ กระนั้นก็จำเป็นต้องพึ่งพาความกล้าอย่างมีเหตุผลและเจือปนด้วยหลักคิดเช่นกัน

 

ด้วยเหตุนี้เราจึงชวนสำรวจความกล้า 3 ประการที่สัมพันธ์กับตัวตนของคนเป็นครู และอาจหมายรวมถึงครูที่เป็นคนด้วย

 

 

หนึ่ง: กล้าที่จะทำลาย

 

คำว่า   ‘แม่พิมพ์’    ชวนให้จินตนาการถึงความเป็นเบ้าหลอม แบบอย่างที่มีความเหมือนกัน ไม่แตกต่าง แต่ปาล์มเมอร์มองว่า หัวใจของการเป็นครูคือ   ‘อัตลักษณ์และความชื่อตรงในการสอน’    ซึ่งเป็นสิ่งเฉพาะในแต่ละคน หาใช่ความเหมือนกันราวกับออกมาจากแม่พิมพ์เดียวกัน

 

เวลาที่ปาล์มเมอร์พูดถึง   ‘อัตลักษณ์’ (Identity)    เขาหมายถึง ทั้งหมดที่ผ่านเข้ามาในความลี้ลับของชีวิตคนคนหนึ่ง เช่น พันธุกรรม เพศ วัฒนธรรมที่ห้อมล้อม ครอบครัว บาดแผลในชีวิต ความทรงจำ ความดี ความเลว ทั้งที่ตนเป็นฝ่ายกระทำและถูกกระทำ ความรักและความทุกข์ ทั้งที่ตนเป็นผู้ให้และผู้รับ สิ่งเหล่านี้คือสนามพลังที่ซับซ้อน คือบุคลิกภาพ คือทัศนคติ คือเข็มทิศการเดินทางของชีวิตคนคนหนึ่ง

 

เวลาที่ปาล์มเมอร์พูดถึง   ‘ความซื่อตรง’ (Integrity)   เขาหมายถึง ในความซับซ้อนของการประกอบเป็นอัตลักษณ์ของคนคนหนึ่ง มันได้ก่อรูปเป็นแบบแผนของชีวิตคนคนนั้น ความซื่อตรงที่ว่านี้คือข้อเรียกร้องของตนต่อการแยกแยะว่าอะไรคือส่วนสำคัญของชีวิตตน เลือกที่จะโอบรับหรือต่อต้านมัน เลือกที่จะเผชิญหน้าหรือกลัวมัน ความซื่อตรงคือการเผชิญหน้าและสำรวจตัวเอง เพื่อยกระดับให้ตน ‘เป็นจริง’ ยิ่งขึ้น โดยการยอมรับความเป็นทั้งหมดของตนเอง

 

อัตลักษณ์หรือตัวตนของคนคนหนึ่งไม่ใช่เสื้อโหลที่ผู้คนสามารถสวมได้พอดีตัวกันทั้งหมด การใคร่ครวญและสำรวจหาอัตลักษณ์และความซื่อตรงของตนจึงสำคัญในวิชาชีพครู

มีเรื่องเล่าของปาล์มเมอร์ว่าด้วยครู 2 คนที่ประสบความล้มเหลวในการเป็นครู เรื่องเล่านี้น่าจะช่วยสร้างรูปธรรมจากนามธรรมของคำว่า   ‘อัตลักษณ์และความชื่อตรงในการสอน’   ได้ชัดเจนขึ้น

 

 

ครูคนที่ 1

 

เขาเป็นเด็กชายจากชนบทผู้สนใจงานช่างฝีมือ งานช่างฝีมือทำให้เขามีความสุขุมรอบคอบ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ งานช่างได้หล่อหลอมตัวตนด้านนี้ของเขาขึ้นมา แต่เมื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำได้ เขาเข้ามาเรียนและพบกับความแตกต่างทางวัฒนธรรม เขาเจอเพื่อนต่างวัฒนธรรม และเริ่มกดข่มตนเอง เขามองว่าคนอื่นเหนือกว่าตนเสมอ จนก่อตัวตนใหม่ของเขาขึ้นมาคือตัวตนของการเอาชนะผู้อื่น

 

เขาฟังเพื่อหาจุดอ่อนของผู้พูด เขากลั่นแกล้งผู้อื่นเพื่อความก้าวหน้าทางวิชาชีพ กระทั่งเขากลายเป็นครูที่ไม่มีเมตตาต่อนักเรียน วิธีการสอนของเขาคือการไล่บี้สร้างความอับอายแก่นักศึกษาที่ตอบคำถามไม่ถูก แต่เมื่อเขากลับไปทำงานไม้ เขาค้นพบตัวตนเดิมของเขา นั่นคือความเอื้ออารี แต่ตัวตนเหล่านี้จะหายไปทันทีเมื่อเขากลับไปสอนที่มหาวิทยาลัย

 

ปาล์มเมอร์ มองว่า ครูคนนี้ไม่สามารถถักทอแก่นสารของเขา (ความรักในงานช่างงานไม้) เข้ากับวิชาชีพได้ (ความเป็นครู)   “อัตลักษณ์ของเขาถูกแบ่งแยกและต่อสู้กันเหมือนสงครามกลางเมือง เขาถ่ายทอดสมรภูมิภายในออกไปสู่โลกภายนอก การสอนของเขาจึงเป็นการสู้รบ”

 

 

ครูคนที่ 2

 

เขาเป็นครูที่สอนหนังสือมากว่า 20 ปี โดยยึดเอาครูที่เขาเทิดทูนเป็นแบบอย่างในการสอน แต่กลับไม่ประสบผลสำเร็จ นั่นเพราะ    “ทั้งเขาและครูของเขาแตกต่างกันมาก และการลอกเลียนแบบครูของเขาก็ทำให้อัตลักษณ์และความซื่อตรงของเขาบิดเบี้ยวไป เขาหลงอยู่กับอัตลักษณ์ที่ไม่ได้เป็นของเขา นี่เป็นความเข้าใจที่เจ็บปวดซึ่งต้องอาศัยความกล้าหาญในการยอมรับ แต่ก็เป็นสิ่งที่เปิดโอกาสให้การเติบโต”

 

‘อัตลักษณ์และความชื่อตรง’   ประหนึ่งการรู้จักตัวเอง การใคร่ครวญและสำรวจเพื่อรู้จักตัวเอง ยอมรับในความซับซ้อนที่อยู่ในตัวเรา ความกลัว ความเห็นแก่ตัว ความโกรธ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือความซับซ้อนที่มีอยู่ในตัวครู และมีอยู่ในนักเรียนด้วย ครูและนักเรียนต่างก็มี   ‘ความจริง’   ในแบบเฉพาะตัวด้วยกันทั้งนั้น การทุบทำลายสิ่งที่เป็นแม่พิมพ์หรือแบบแผนของความสัมพันธ์ที่แข็งตัวคือการเปิดโอกาสให้ความจริงที่หลากหลายและอ่อนโยนในตัวคนงอกงาม

 

ปาล์มเมอร์มองว่า   “เมื่อผมจดจำรำลึกถึงความเป็นตัวผมและสำนึกในวิชาชีพ หลังจากนั้นการสอนก็จะมาจากส่วนลึกของความจริงของผมเอง และความจริงในตัวนักเรียนของผมก็มีโอกาสสนองตอบลักษณะเดียวกัน”    การตอบสนองกันและกันของความจริงในตัวครูและนักเรียนมีชื่อเรียกว่า    ‘การเรียนรู้’

 

 

สอง: กล้าที่จะโง่

 

“การศึกษาเป็นกิจกรรมที่น่ากลัว”    นี่คือประสบการณ์รวบยอดกว่า 30 ปีกับการเป็นครูของปาล์มเมอร์

 

นักเรียนกลัวสอบตก กลัวจะไม่เข้าใจบทเรียน กลัวดูโง่ต่อหน้าเพื่อน กลัวอคติถูกท้าทาย กลัวไม่ได้รับการยอมรับ ฯลฯ ครูก็กลัวความเงียบในชั้นเรียน กลัวสถานการณ์ที่ไม่อาจควบคุมได้ กลัวที่จะสอนไม่ได้เรื่อง กลัวตกงาน กลัวเสียสถานภาพถ้าไม่ยอมทำตามกฎเกณฑ์หรือมาตรฐานทางวิชาการของระบบ ฯลฯ

 

ระบบการศึกษาช่วยเลี้ยงไข้ความกลัวนี้อย่างราบรื่น นักเรียนซ่อนตัวเองจากความกลัวหลังสมุดจดตามคำบรรยายของครู ครูซ่อนตัวเองจากความกลัวหลังแท่นบรรยายและอำนาจสถานะความเป็นครู

 

‘นักเรียนจากนรก’  คือปิศาจประจำห้องเรียนในสายตาครู

 

‘ครูผู้วางอำนาจเขื่อง’    คือปิศาจประจำห้องเรียนในสายตานักเรียน

 

พูดให้ชัดกว่านั้นคือ ครูและนักเรียนต่างพกความกลัวเข้าห้องเรียนด้วยกันทั้งสองฝ่าย

 

ความเงียบ ความเมินเฉย การเก็บตัว อาการเชิงลบของนักเรียนเหล่านี้ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับดีเอ็นเอของพวกเขา แต่เกิดจากปัจจัยแวดล้อมชีวิตของนักเรียนคนหนึ่งซึ่งเขาไม่สามารถควบคุมได้ (เช่นเดียวกับครู)

 

 

 

การเข้าใจความกลัวในหัวใจลูกศิษย์เป็นแนวทางกว้างๆ ที่วิธีการไม่มีสูตรสำเร็จ แต่มันยังไม่พอ ปาล์มเมอร์บอกว่า ครูต้องเข้าใจความกลัวของตนเองด้วย

 

ครูกลัวอะไร – เพื่อจะตอบคำถามนี้ ปาล์มเมอร์ขุดลึกลงไปในความทรงจำและประสบการณ์การสอนของตน จนพบว่า ความกลัวที่ซ่อนลึกอยู่ในหัวใจของครูอย่างเขาคือกลัวถูกนักเรียนตัดสินว่าโบราณ/ ตกยุค/ ไม่มีคุณค่า/ พูดในเรื่องไร้คุณค่า ครูจึงตีความอาการเงียบเฉยและเก็บตัวของนักเรียนว่า เป็นนักเรียนจากนรกผู้สร้างมลพิษในห้องเรียน แต่เมื่อกลับไปอ่านสัญญาณความเงียบนั้นใหม่ ปาล์มเมอร์พบว่านักเรียนเงียบเพราะกลัวครู พวกเขาปกป้องตนเองจากอำนาจของผู้ใหญ่ด้วยการเมินเฉย

 

ครูที่กลัวนักเรียนจะคิดถึงแต่ตัวเอง โดยกันตัวเองอยู่หลังคุณวุฒิและการบรรยายวิชาการหน้าชั้นเรียน แล้วโยนความล้มเหลวของการเรียนการสอนให้ตกแก่นักเรียนผู้เก็บตัว แต่การเข้าใจว่าครูก็มีความกลัวไม่ต่างจากนักเรียนแล้วเรียนรู้ที่จะถอดรหัสความกลัวของตัวเองและของนักเรียน เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์อันเป็นการเกื้อกูลกันและกัน ช่วยดึงให้นักเรียนเข้าสู่ความสัมพันธ์ที่ทำให้พวกเขาสามารถพูดความจริงของตัวเองได้ ครูก็สามารถที่จะพุดความจริงของตัวเองได้ เพื่อพัฒนาการสอนของเขา

 

มีตัวอย่างครูคนหนึ่งผู้กลัวว่าตนจะล้าสมัย เขาเป็นครูชั้นมัธยมสอนวิชาช่าง เขาถูกผู้อำนวยการโรงเรียนรบเร้าให้เขาไปอบรมหลักสูตรเรื่องเทคโนโลยี เพราะวิชาช่างของเขากำลังจะล้าสมัย แต่เขาปฏิเสธ นั่นทำให้ความสัมพันธ์ของเขากับผู้อำนวยการตึงเครียด

 

วันหนึ่งครูคนนี้เดินไปหาผู้อำนวยการเพื่อจะเผยความกลัวที่อยู่ในใจของเขา เหตุที่เขาไม่ยอมไปอบรมก็เพราะเขากลัวถูกมองว่าโง่และล้าสมัย ได้ยินดังนั้นผู้อำนวยการจึงบอกกับครูว่า เขาก็กลัวเหมือนกัน ทั้งสองคนเลยไปอบรมเรื่องเทคโนโลยีที่สถาบันทางเทคโนโลยีด้วยกัน

 

วิชาช่างของครูผู้นี้ถูกพัฒนาให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และความสัมพันธ์ของเขากับผู้อำนวยการก็กลับมาราบรื่น พวกเขาเข้าใจกันมากขึ้น

 

 

สาม: กล้าที่จะอับอาย

 

ท่ามกลางแบบจำลองการเรียนการสอนที่เรามี สังคมไทยโอบรับแนวคิด   ‘นักเรียนเป็นศูนย์กลาง’   มาเป็นหลักการการเรียนการสอน จากรูปแบบเดิมที่ ‘ครูเป็นศูนย์กลาง’ แต่ กล้าที่จะสอน เสนอทางเลือกว่า ‘สิ่งที่ศึกษาเป็นศูนย์กลาง’ ปาล์มเมอร์ นำประสบการณ์ของตนมาแสดงให้เห็นความแตกต่างของแนวคิดการเรียนการสอน

 

 

 

ในชั้นเรียนหนึ่ง เขาเคยถูกนักศึกษาทักท้วงถึงเนื้อหาที่กำลังสอนอยู่ สิ่งที่เขาพูดมีความขัดแย้งกันเอง นักศึกษาจึงทักท้วงถึงความผิดปกตินี้ ถ้าเป็นชั้นเรียนที่ครูเป็นศูนย์กลาง การโดนจับได้ว่าพูดแย้งกันเองเป็นเรื่องล้มเหลวของผู้สอน และถ้าโชคร้ายไปกว่านี้เขาอาจจะเบี่ยงเบนประเด็นจนนำไปสู่ความบิดเบือนทางวิชาการ แต่ในชั้นเรียนที่เอาสิ่งที่ศึกษาเป็นศูนย์กลาง และใส่ใจกับความจริงแท้ของความรู้ การถูกจับได้ว่าพูดขัดแย้งกันเองแสดงถึงความสำเร็จของครูผู้สอน เพราะความรู้ไม่ได้ถูกผูกขาดในการบอกกล่าวของครูผู้สอน นักเรียนเข้าถึงสิ่งที่ศึกษาและใช้ความรู้ท้าทายคำกล่าวอ้างของครู

 

แล้วครูจะทำหน้าที่อะไรในชั้นเรียนที่เอาการศึกษาเป็นศูนย์กลาง ปาล์มเมอร์บอกว่า หน้าที่หลักของครูคือการให้โอกาสแก่สิ่งประเสริฐได้พูดออกมา   “เป็นความสามารถที่จะพูดถึงความจริงของตัวเองที่ต่างไปจากของครูในภาษาที่นักเรียนจะได้ยินและเข้าใจ”

 

เราตีความคำว่า   ‘สิ่งประเสริฐ’    ของปาล์มเมอร์ ว่า คือความงามของความจริง ความงามของความรู้ ความงามของข้อค้นพบความจริงใหม่ๆ ที่ทำให้เราเข้าใจตัวเองและโลกมากขึ้น

 

ความหลงใหลในความรู้นี้จะเกิดขึ้นในห้องเรียนที่ครูและนักเรียนต่างมุ่งไปที่สิ่งประเสริฐที่กำลังศึกษากันอยู่ ทุกคนต่างขึ้นตรงต่อความจริง นักเรียนไม่ได้ขึ้นกับครู ครูสนับสนุนให้สิ่งประเสริฐถูกพูดออกมาจากความรู้ของนักเรียน แต่ทุกคนต้องขึ้นตรงต่อสิ่งที่กำลังเรียนรู้

 

 ปาล์มเมอร์ บอกว่า เพราะแง่งามของสิ่งประเสริฐมีชีวิตชีวามาก    “จนครูเปลี่ยนเป็นนักเรียนหรือนักเรียนเปลี่ยนเป็นครูได้ และทั้งสองฝ่ายต่างเรียกร้องกันในนามของสิ่งประเสริฐ”

 

กล่าวอย่างรวบยอด   ‘The Courage To Teach: กล้าที่จะสอน’    เป็นหนังสือที่อธิบายความกล้า 3 ประการ อันจะทำให้เราเติบโตและสมบูรณ์ขึ้น ไม่ว่าจะในฐานะครูหรือเป็นใคร

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก :
  • https://kruklasorn.org/2019/02/reading-the-courage-to-teach/

 

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท.  อื่นๆ ได้ที่     >>> คลิก <<<

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่นๆ ได้ที่     >>> คลิก <<<

Share

Relate article

No relate article