SLC (School as Learning Community : SLC) โรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้

SLC (School as Learning Community : SLC) โรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้

 

 

ที่หัวใจสำคัญของแนวคิดโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ (School as Learning Community : SLC)
ไม่ใช่เทคนิควิธีการสอน หรือกระบวนการในบริหารโรงเรียน แต่คือการสร้างวิสัยทัศน์ใหม่ร่วมกันของทุกคนในโรงเรียน สร้างวัฒนธรรมใหม่ในการเรียนรู้ เปลี่ยนโรงเรียนที่เดิมครูคือผู้สอน นักเรียนคือผู้เรียน ให้ทุกคนสามารถเรียนรู้จากกันและกันได้ตลอดเวลา

 

 

 

SLC คือวิสัยทัศน์ในการปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในโรงเรียนให้อยู่ในระนาบเดียวกัน

 

  • ผู้อำนวยการโรงเรียนเรียนรู้จากการเข้าสังเกตชั้นเรียน แลกเปลี่ยน สะท้อนคิดร่วมกันกับเพื่อนครูไม่จำกัดสาขาวิชา ช่วงวัย ทุกคนคือเพื่อนเรียนรู้ร่วมกัน

 

  • ครูทุกคนเปิดชั้นเรียนตนเองเพื่อชวนเพื่อนครู ผู้บริหาร เข้าร่วมเรียนรู้จากบทเรียนที่ได้พัฒนาร่วมกันมาล่วงหน้า ผ่านกระบวนการศึกษาบทเรียน (Lesson Study) เพื่อนคู่หูเรียนรู้ (Peer) ระบบพี่เลี้ยงและโค้ช (Mentoring and Coaching) โดยใช้แพลตฟอร์มของชุมชนการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) ในการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ สะท้อนคิด ว่าด้วยการเรียนรู้ของนักเรียนที่ช่วยให้ครูเองได้เรียนรู้จากชั้นเรียนของตนเอง

 

  • นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมพลัง (Collaborative Learning) ที่ไม่กำหนดบทบาทตายตัว แต่ดึงจุดแข็งของแต่ละคนในการเรียนรู้มาสนับสนุนเกื้อกูลกัน ชั้นเรียนของโรงเรียนที่ดำเนินการตามแนวทาง SLC จึงไม่ได้มุ่งแต่จะพัฒนา Active Learning แต่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ผ่านการร่วมมือร่วมพลัง (Collaboration) ในกิจกรรมการเรียนรู้ตามสภาพจริง (Authentic Learning) ที่เป็นการเรียนรู้อย่างมีความหมาย (Meaningful Learning)

 

      ทั้งหมดนี้ทำผ่านเครื่องมือที่หลากหลาย รวมทั้งกระบวนการเปิดชั้นเรียนเพื่อการเรียนรู้ (Open Classroom) ที่เปิดโอกาสให้ครูคนอื่น บุคลากรอื่นในโรงเรียน และต่างโรงเรียน รวมทั้งบุคคลภายนอก ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชั้นเรียนและสังเกตการชั้นเรียนเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันตามปรัชญาความเป็นสาธารณะที่ SLC กำหนดเป็น ๑ ใน ๓ ของปรัชญาหลักของแนวทางโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้

 

ปรัชญาของโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ (SLC)

 

  • ปรัชญาว่าด้วยความเป็นสาธารณะ (Public Philosophy)

ห้องเรียนและโรงเรียนคือพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันของทุกคน ไม่มีใครเป็นเจ้าของลำพัง การเรียนรู้เป็นไปเพื่อประโยชน์ร่วมกัน

 

  • ปรัชญาว่าด้วยประชาธิปไตย (Democracy Philosophy)

การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างเคารพ และเข้าอกเข้าใจ มีความสัมพันธ์แนวราบ การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แลไม่ทอดทิ้งใครแม้แต่คนเดียวให้อยู่ลำพังในชั้นเรียน

 

  • ปรัชญาว่าด้วยความเป็นเลิศ (Excellence Philosophy)

การตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคล มุ่งสู่ความเป็นเลิศที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่จำเป็นต้องมองให้ไกล เพื่อพัฒนาศักยภาพแห่งการเรียนรู้ให้ยอดเยี่ยมที่สุดทั้งครูและผู้เรียน

 

 

เหตุผลหลายประการที่ SLC ชนะใจคุณครูและนักเรียนในหลายประเทศของเอเซีย

 

1. SLC เป็นปรัชญาและวิสัยทัศน์ที่ทรงพลังที่สุดในการปฏิรูปโรงเรียน สามารถเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติของโรงเรียนตามขนบดั้งเดิมไปสู่โรงเรียนที่มีนวัตกรรมสอดคล้องกับศตวรรษที่ 21

 

2. SLC เป็นแนวทางที่มีหลักคิดเป็นเหตุเป็นผล ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีทางการศึกษาที่ได้รับการยอมรับอย่างสูง ทั้งมุมมองเชิงวิชาการ และงานวิจัยจากภาคปฏิบัติในหลายประเทศของเอเซีย

 

3. SLC เป็นทั้งปรัชญาและแนวปฏิบัติทื่ยืนหยัดที่จะปกป้องการจัดการศึกษาโดยรัฐที่ต้องจัดให้แก่สาธารณะ (public education) สร้างหลักประกันทั้งในเชิงคุณภาพและความเท่าเทียม ไม่ยอมจำนนต่อแนวนโยบายการศึกษาตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ ที่เน้นการแข่งขัน ซึ่งชี้นำการจัดการศึกษาของหลายประเทศในเอเชีย ตลอด 20 ปี ที่ผ่านมา

 

4. SLC ตั้งอยู่บนฐานความคิดแบบสังคมประชาธิปไตย (social democracy) ที่สนับสนุนให้พลเมือง และภาคประชาสังคมเคลื่อนไหวตามวิถีประชาธิปไตยในการต่อสู้ต่อรองกับภาคการเมือง ในหลายประเทศของเอเชีย ตลอด 20 ปี ที่ผ่านมา

 

การพัฒนาครูเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ตามแนวทางของ SLC อยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่า

"ชั้นเรียน" คือพื้นที่ที่ทรงพลังที่สุดในการพัฒนาครูให้เป็นมืออาชีพ ไม่ใช่การไปฝึกอบรมจากภายนอกโรงเรียน

 

    ชั้นเรียนที่ครูสอนอยู่ทุกวันจนบ่อยครั้งมองข้ามในรายละเอียด ชั้นเรียนของเพื่อนร่วมงานที่บางคนอาจจะสอนร่วมชั้นเรียนเดียวกัน แต่ไม่เคยได้เข้าสังเกตการสอน สังเกตการเรียนรู้ของนักเรียนในวิชาอื่น จนมองไม่เห็นศักยภาพของเด็ก ๆ อีกหลายคนที่อาจถูกบดบังไป รวมทั้งการมีเพื่อนร่วมงานมาร่วมสังเกตการสอน การจัดการเรียนรู้ ที่จะเป็นเสมือน "ตาคู่ที่สาม" ที่ช่วยสังเกตการเรียนรู้ของเด็ก เพื่อร่วมสะท้อนแง่มุม ให้รายละเอียดที่ระหว่างที่คุณครูสอนละเลย มองผ่านไป และถกเถียงเรียนร่วมกันในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพ

 

    ในที่นี้บุคคลสำคัญที่จะช่วยพัฒนาครูจึงไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ หรือบุคคลภายนอกในการจัดการอบรมให้ แต่กลับเป็นเพื่อนครูร่วมโรงเรียนเดียวกัน สอนชั้นเรียนเดียวกัน หรือระดับชั้นเดียวกัน เพราะพวกเขาคือคนที่เผชิญสถานการณืในการสอนในบริบทและสิ่งแวดล้อมของชั้นเรียน และโรงเรียนแบบเดียวกัน ย่อมเข้าใจโจทย์ และปัญหาที่ต่างเผชิญอยู่

 

    SLC ให้ความสำคัญกับการฟื้นคืน ปรับความสัมพันธ์ของคุณครูร่วมโรงเรียนเดียวกันให้มีความเป็นเพื่อนร่วมงานที่เกื้อกูลสนับสนุนกันด้วยความเคารพในประสบการณ์ ทักษะ ความชำนาญ และความเชื่อที่มีแตกต่างกัน แต่สามารถเรียนรู้จากกันและกันได้ อยู่ร่วมกันได้ตามวิถีประชาธิปไตย

 

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก :
  • เรียบเรียงโดย อรรถพล อนันตวรสกุล, คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • อ้างอิงข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ครุฯ จุฬาฯ

 

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท. อื่น ๆ ได้ที่  >>> คลิก <<<

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่น ๆ ได้ที่  >>> คลิก <<<

 
Share

Relate article

No relate article