ลดภาวะถดถอยของความรู้ “Summer Slide” ถอดความคิดครู เพิ่มโอกาสของการศึกษาไม่ให้หายไป
ลดภาวะถดถอยของความรู้ “Summer Slide”
ถอดความคิดครู เพิ่มโอกาสของการศึกษาไม่ให้หายไป
เลี่ยงไม่ได้ เมื่อการศึกษาไทยต้องรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 หลังจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติรับทราบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอการปรับการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563 โดยให้สถานศึกษาเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563 เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เมื่อต้องเลื่อนเปิดเทอม ผลกระทบที่ตามมาคืออาจทำให้เกิดภาวะถดถอยของความรู้ของนักเรียน การเรียนออนไลน์จึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งมาปรับใช้ แล้วเมื่อต้องปรับตัวมาเรียนออนไลน์ ครูเป็นอีกหนึ่งผู้ผลักดันให้กระบวนารเรียนรู้ของนักเรียนไม่หยุดนิ่ง และจะต้องเตรียมการสอนเปลี่ยนห้องเรียนออนไลน์ให้ตรงกับบริบทของนักเรียนและครอบครัวนั้น ๆ เป็นการทำงานที่ครูต้องเร่งเรียนรู้ไปพร้อมๆกับความจำเป็นในสถานการณ์วิกฤต และยังเป็นความท้าทายในความสามารถและความคิดของครูผู้สอน ที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด และรูปแบบการเรียนการสอน เลิกติดกรอบเดิม ปรับทัศนคติ มองหาวิธีการนำความรู้ ผนวกกับ เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ นำมาพิจารณาปรับใช้เพื่อให้เหมาะสมกับเด็กและสถานการณ์ปัจจุบัน
“Summer Slide” เมื่อความรู้ของนักเรียนถดถอย
การเลื่อนเปิดเทอมจากกลางเดือนพฤษภาคมไปเป็นต้นเดือนกรกฏาคม เพราะวิกฤต COVID-19 ทำให้ระยะเวลา ‘ปิดเทอม’ ของเด็กๆ เพิ่มจาก 1 เดือนครึ่งเป็น 4 เดือน แน่นอนว่าการตัดสินใจนี้เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ แต่สิ่งที่นักการศึกษาและผู้เกี่ยวข้องจำนวนหนึ่งรู้สึกเป็นห่วง ก็คือ “ปรากฎการณ์ Summer Slide” ปรากฎการณ์ Summer Slide คืออะไร ?มีคำอธิบายว่า คือการที่ความรู้ของเด็กนักเรียนหยุดชะงักหรือถดถอยในช่วงปิดเทอมใหญ่ช่วงฤดูร้อน
“ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค” จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้ข้อมูลว่า มีงานวิจัยที่ระบุว่าช่วงเวลาที่เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน 6 สัปดาห์จะทำให้ความรู้หายไปถึงครึ่งปีการศึกษา โดยปรากฎการณ์นี้จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น กับเด็กนักเรียนที่ด้อยโอกาส พิการ ต้องการการศึกษาแบบพิเศษ ยากจน ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ หรือมีสภาพแวดล้อมในบ้านมีปัญหา นอกจากคำว่า Summer Slide บางครั้งก็เรียกกันว่า Summer Setback หรือ Summer Learning Loss หากการปิดเทอม 6 สัปดาห์จะทำให้ความรู้ถอยหลังไปครึ่งปีการศึกษา แล้วการต้องหยุดเรียนถึง 4 เดือนจะทำให้ความรู้ถอยหลังไปขนาดไหน? เป็นคำถามที่ผู้เกี่ยวข้องต้องไปหาคำตอบและหาวิธีแก้ไขกันต่อไป
โจทย์ใหญ่สำหรับกระทรวงศึกษาธิการ จึงไม่ได้มีแค่ว่า เมื่อไรจะกลับมาเปิดโรงเรียนได้อีก หรือจะเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนออนไลน์อย่างไร แต่ยังรวมถึงว่า ในช่วงที่ปิดเทอมยาว ๆ นี้ จะทำอย่างไรให้ความรู้ที่เด็ก ๆ ได้มาก่อนนี้ไม่หายไป หรือถดถอยลงน้อยที่สุด
ในอดีตหลายโรงเรียนใช้วิธีเปิดเรียนภาคฤดูร้อน หรือให้การบ้านเด็ก ๆ กลับไปทบทวนความรู้ในช่วงปิดเทอม เพื่อลดภาวะ Summer Slide แต่ในช่วงเวลาเช่นนี้ จะแก้ปัญหานี้อย่างไร? การศึกษาจะหยุดรอโรงเรียนเปิดไม่ได้
ถอดความคิดครู เมื่อต้องเปลี่ยนการสอนมาเป็น “ห้องเรียนออนไลน์”
แม้ตอนนี้แต่ละโรงเรียนจะอยู่ในช่วงเตรียมความพร้อม แต่บางโรงเรียนก็เริ่มเข้าสู่ระบบการเรียนออนไลน์แล้ว อย่างที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครูแอม-นิธิ จันทรธนู ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิชาการและสื่อสารองค์กร และครูสอนวิชาการละคร เล่าให้ฟังว่า ตอนนี้โรงเรียนเริ่มการสอนออนไลน์ไปบ้างแล้ว เพราะโรงเรียนเปิด-ปิดเทอมตามมหาวิทยาลัย ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงเรียนของเด็กพอดี
ครูแอมเล่าย้อนไปตอนเดือนมีนาคมซึ่งเป็นช่วงที่การระบาดของโควิด-19 หนักขึ้น เป็นช่วงที่โรงเรียนสอบกลางภาคเสร็จพอดี นักเรียนกำลังหยุดพัก พอมีมาตรการให้คนกักตัว โรงเรียนตัดสินใจให้เด็กหยุดอยู่บ้าน ทีนี้โรงเรียนก็ต้องมาคุยกันว่าอีกครึ่งเทอมที่เหลือจะจัดการอย่างไร
“มันก็คือการเรียนทางไกล ซึ่งการเรียนทางไกลไม่จำเป็นต้องอินเทอร์เน็ตเท่านั้นนะ แต่โรงเรียนเราสำรวจนักเรียนเกือบทั้งหมดสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ เราเลยเลือกสอนแบบออนไลน์ ซึ่งการสำรวจทรัพยากรพื้นฐานของเด็กเป็นเรื่องที่สำคัญมากนะ บางโรงเรียนเด็กเข้าถึงออนไลน์ไม่ได้ 100% แน่นอน การเรียนทางไกลมันไม่ใช่อินเทอร์เน็ตอย่างเดียว มันมีช่องทางอื่นอีก เช่น วิทยุ ช่องโทรทัศน์”
เมื่อเลือกแล้วว่าจะเป็นระบบออนไลน์ งานแรกที่ต้องทำ คือ ให้ความรู้ครูเรื่องการสอนออนไลน์ว่าทำอย่างไร วางแผนว่าจะใช้แพลตฟอร์มอะไรสอนเด็ก โดยสำรวจของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พบว่า เขาใช้ Microsoft teams ซึ่งอีเมลของอาจารย์และนักเรียนที่โรงเรียนใช้ของ Microsoft อยู่แล้ว มีแอคเคาท์ มีแบนด์วิดท์ที่รองรับได้ครอบคลุม โรงเรียนจึงตัดสินใจเลือกใช้แพลตฟอร์มนี้เป็นแพลตฟอร์มหลัก ส่วนแพลตฟอร์มย่อยแล้วแต่วิชากำหนดเอง บางวิชาเด็กต้องทำโปรเจค อาจใช้ไลน์ (Line) หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ
“พอกำหนดวันเรียนเสร็จก็แจ้งผู้ปกครองต่อว่า โรงเรียนจะให้นักเรียนเรียนแบบออนไลน์ แต่เราบอกผู้ปกครองไว้ก่อนเลยนะว่าให้เด็กเป็นคนดูแลตัวเอง เพราะถ้าผู้ปกครองเข้ามามากเกินไปจะกลายเป็นเข้ามาควบคุม force ลูกตลอดเวลา ฉะนั้น เวลาจะส่งข่าวอะไรเด็กต้องรู้เป็นคนแรก เพราะเขาเป็นคนเรียน ถ้าผู้ปกครองรู้ก่อนจะกลายเป็นใช้อำนาจเหนือเด็ก เช่น ทำไมไม่ทำแบบนี้เพราะครูสั่งว่า…กลายเป็นอำนาจทับซ้อน เราก็เสนอว่าให้ผู้ปกครองอยู่ห่างๆ คอยดูแลเรื่องสำรับกับข้าว การบาลานซ์ในชีวิตลูก ส่วนเรื่องเรียนให้เด็กเป็นคนจัดการเอง ข้อดีคือโรงเรียนเราเป็นเด็กมัธยม ถ้าเด็กเล็กกว่านี้โจทย์อาจจะยากขึ้น”
ครูแอมเล่าต่อว่า ด้วยความที่โรงเรียนทดลองใช้ระบบออนไลน์ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม เริ่มเห็นว่ามีปัญหาอะไรบ้างที่ควรแก้ไข ถ้าสมมติต่อไปสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้อยู่ ต้องเข้าสู่การเรียนออนไลน์แบบเต็มรูปแบบ มี 3 เรื่องที่ต้องวางแผน คือ 1.การจัดเนื้อหาวิชา อะไรที่ไม่จำเป็น ต้องตัดออก 2.วิธีออกแบบภาระงานให้เด็กทำ และ 3.วิธีประเมินผล
“เรารู้สึกว่าการเรียนรู้ต้องมีระยะห่างมีช่องไฟที่พอดี ไม่งั้นอัดเด็กเกินไป ยิ่งเรียนออนไลน์ช่องไฟยิ่งต้องห่างไปอีก เพราะว่าเวลาให้งานเด็กเขาต้องมีเวลากำกับตัวเอง ไอเดียเบื้องต้นเราคิดว่าอาจจะเรียนเป็นบล็อก เช่น คอนเทนต์วิชานี้สอนและสอบให้เสร็จภายในหนึ่งอาทิตย์ อาจจะช่วยได้ เด็กจะได้โฟกัสไปเลยทีละวิชา เพราะทุกวันนี้เรียนวันละ 3-4 วิชา แล้วทุกวิชาจะมีงานให้เด็กทำหมดเลย มัน too much เกินไป แล้วการเรียนออนไลน์ไม่รู้ว่าจะทำให้ประสิทธิภาพการเรียนรู้ลดลงหรือเปล่าด้วย ทำให้แต่ละวิชาลดความคาดหวังลง วิธีประเมินผลเราไม่ใช้ข้อสอบให้เขียนงานตอบแทน สังเคราะห์งานจากคำถาม หรือวิชาอังกฤษสอบ speaking แทน”
ถือเป็นโจทย์สำคัญของการเรียนออนไลน์ การออกแบบจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนยังมีปฏิสัมพันธ์กับครูและเพื่อน ได้ลงมือปฎิบัติ นักเรียนสามารถเชื่อมโยงเนื้อหาที่เรียนเข้ากับชีวิตจริงได้
วิธีหนึ่ง คือ การจัดสัดส่วนวิชาให้บาลานซ์ ไม่หนักไปทางเนื้อหาอย่างเดียว ให้เด็กมีกิจกรรมอย่างอื่นทำ นอกเหนือจากการนั่งอยู่หน้าจออย่างเดียว ครูแอมบอกว่าเป็นสิ่งที่โรงเรียนกำลังทำอยู่ วิชาส่วนใหญ่จัดการเรียนให้ผสมกันระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ เขายกตัวอย่างวิชาศิลปะ เน้นให้เด็กลงมือปฎิบัติ ปลายเทอมมีโปรเจคให้เด็กทำ พอต้องเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์ เด็กยังคงทำโปรเจคเหมือนเดิม ซึ่งขึ้นกับตัวเด็กเองว่าอยากทำโปรเจคแบบไหน บางคนสร้างโมเดลโดยมีศิลปินที่ชื่นชอบเป็นต้นแบบ หรือบางคนออกแบบหนังสือ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไป คือ วิธีปรึกษาครู ทำผ่านออนไลน์แทน
“ถ้ามองว่ามันเป็นโอกาส ก็จะเป็นโอกาสดีที่ได้วิธีการเรียนรู้ใหม่ ๆ จริง ๆ มันก็ไม่ใหม่หรอก แต่เราแค่อย่าไปติดกับดักวิธีการ เราต้องกลับมาที่แก่นว่าจริง ๆ แล้วการศึกษามันมีไปเพื่ออะไร เรื่องที่เขาควรจะเรียนรู้คืออะไร ในสภาวะแบบนี้ เรื่องที่เกี่ยวกับการกลับมาสำรวจตัวเองหรือเปล่า วิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับโรคต่าง ๆ หรือเปล่าที่เขาควรเรียนรู้ ประวัติศาสตร์ในยุคต่าง ๆ เคยมีโรคระบาดอะไรบ้าง การเล่นกับคอนเทนต์แบบนี้ ทำยังไงให้มันน่าสนใจ” ครูแอมกล่าวทิ้งท้าย
ครูแต่ละคนมีวิธีรับมือที่ต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันพวกเขาคำนึงถึงนักเรียนเป็นหลัก การคิดแผนการสอนต้องสอดคล้องกับบริบทของเด็กและสถานการณ์ปัจจุบัน ในช่วงสภาวะแบบนี้เด็กควรเรียนรู้เรื่องอะไร และถึงแม้ว่าตอนนี้ออนไลน์จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้ มนุษย์สามารถหาความรู้ได้ด้วยตัวเอง แต่ก็ไม่สามารถปฎิเสธได้ว่า เด็ก ๆ ยังคงต้องการพื้นที่เรียนรู้ร่วมกับคนอื่น ๆ พวกเขายังต้องการคนที่มาช่วยวิเคราะห์ ช่วยหาเครื่องมือสำหรับเรียนรู้ที่เหมาะสม และซัพพอร์ตการเติบโตของเขา นั่นก็คือครู
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง บทความจาก The Potential https://thepotential.org/2020/04/17/teacher-deal-with-crisis-mode/
เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท. อื่น ๆ ได้ที่ >>> คลิก <<<
เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่น ๆ ได้ที่ >>> คลิก <<<
Relate article