เสียงในห้องเรียนระดับไหนที่พอดีกับการสอนของครู?

เสียงในห้องเรียนระดับไหนที่พอดีกับการสอนของครู?

 
 
เสียงในห้องเรียนเกิดขึ้นเมื่อครูให้เวลากับการสร้างปฏิสัมพันธ์ของการเรียนรู้ ตอนเริ่มต้นเสียงอาจจะดังอึกทึกครึกโครมสักหน่อย แต่ถ้าครูพร้อมที่จะเรียนรู้พฤติกรรมใหม่ ๆ ของนักเรียนที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่เพียงแต่ศักยภาพของนักเรียนที่ครูช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ศักยภาพและเป้าหมายของครูผู้สอนนั้นจะประสบความสำเร็จเช่นกัน
 

เสียงสนทนาของนักเรียนอาจเคยทำให้ครูบางท่านรู้สึกโมโห หรือเสียงของเจ้าหนูจำไมประจำห้อง อาจทำให้ครูเวียนหัว หลายครั้งเลยเลือกที่จะใช้กลยุทธ์บางอย่างเพื่อทำให้นักเรียนในห้องสงบ จริงหรือไม่ครับ? แล้วเคยลองทบทวนหรือไม่ว่าผลลัพธ์ห้องเรียนที่สงบนั้น แท้จริงแล้วการสอนแบบนี้ทำให้ครูประสบความสำเร็จจริงหรือเปล่า?

เสียงที่ดังขึ้นเมื่อเริ่มเข้าชั้นเรียนมักจะดังมากกว่าปกติ ครูส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้เสียงที่ดังกว่า อย่างการตะโกนหรือเคาะโต๊ะให้ดังในขณะนั้นทำให้นักเรียนเงียบและหยุดการทำสิ่งต่าง ๆ และสนใจฟังครู แม้ว่าห้องเรียนที่เงียบสงบนั้นจะทำให้มีสมาธิในการตั้งใจฟังแต่กลับไม่ได้ส่งผลดีเสมอไปเพราะการสอนในรูปแบบนี้อาจส่งผลเสียต่อบรรยากาศในห้องเรียนได้ภายหลัง

 
 

ห้องเรียนที่ดีควรเสียงดังระดับไหน? ที่จะทำให้ผลลัพธ์การสอนไปในทางที่ดี

ในปัจจุบันรูปแบบการสอนส่วนมากนักเรียนได้มีสิทธิ์ออกเสียงแสดงความคิดเห็นมากขึ้น เพราะนักเรียนเป็นศูนย์กลาง เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ห้องเรียนของครูกลับมาเสียงดังขึ้นอีกครั้ง มีงานวิจัยของห้องเรียนแห่งหนึ่งสำรวจมาแล้วพบว่า หากนักเรียนกับครูมีปฏิสัมพันธ์สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันจะช่วยให้บรรยากาศในห้องเรียนดีขึ้น และสิ่งที่ตามมาคือการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพเพราะผู้เรียนให้ความสนใจ สนุกที่จะเรียนรู้ และยังสร้างการจดจำในห้องเรียนในคาบนั้น ๆ ได้ดีอีกด้วย

 
 

เมื่อครูให้เวลากับการสร้างปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียนเพิ่มเสียงของการเรียนรู้ให้ดังขึ้นเรื่อย ๆ ตอนเริ่มต้นเสียงอาจจะดังอึกทึกครึกโครมสักหน่อย แต่หากครูพร้อมที่จะเรียนรู้พฤติกรรมใหม่ ๆ ของนักเรียนที่จะเกิดขึ้นและปรับการสอนให้เข้ากับห้องเรียนอยู่เสมอ ไม่ใช่เพียงแค่ศักยภาพของนักเรียนที่มีครูช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ศักยภาพและเป้าหมายของครูผู้สอนก็จะประสบความสำเร็จด้วยเช่นกัน

เมื่อเสียงสนทนาเบาลง สมาธิของนักเรียนทุกคนจะเพิ่มขึ้นจริงหรือ?

จริงอยู่ที่เสียงเงียบทำให้มีสมาธิ จดจ่อ ฟังได้ชัด แต่กับนักเรียนบางคนอาจจะไม่ใช่ และครูเองก็ไม่อาจรู้ได้ว่านักเรียนคนไหนกำลังมีปัญหาในการเรียนรู้ครั้งนี้อยู่หรือเปล่าเพราะพวกเขาถูกจำกัดไม่ให้ส่งเสียง การให้เด็ก ๆ ได้คิดตาม แสดงความคิดเห็น และสอบถามสนทนากับเพื่อนข้าง ๆ บ้าง ทำให้พวกเขาเกิดการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ได้ง่ายสบายใจมากขึ้นจนสามารถออกมานำเสนอหน้าชั้นเรียนได้ นั่นถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับนักเรียนที่ไม่กล้าแสดงออก

 
 

แล้วการสอนด้วยวิธีแบบไหน จะช่วยให้นักเรียนส่งเสียงอยู่ในระดับที่พอดี?

ลองเริ่มจากการตั้งคำถามที่เข้าถึงได้ง่ายอย่างเช่น มื้อเช้านี้เดินทางมาเรียนด้วยวิธีไหน ระยะทางจากบ้านมาโรงเรียนไกลกี่กิโลเมตร หรือลองเพิ่มความท้าทายด้วยการให้เด็ก ๆ ลองคิดว่าหากต้องเดินทางมาถึงโรงเรียนตามเวลาที่กำหนด ด้วยระยะทาง วิธีการเดินทาง นักเรียนจะต้องเตรียมตัววางแผนอย่างไร วิธีแบบนี้จะช่วยให้เขาได้วางแผนการแก้ปัญหา เสริมตรรกะการคิดที่ดีได้อีกด้วย หรือจะครูจะลองให้นักเรียนสลับที่นั่งกันทุกสัปดาห์ก็ช่วยได้ เพื่อให้เขาสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนทุกคนในห้องเรียนวิธีนี้ก็จะช่วยให้ห้องเรียนของครูนั้นเกิดเสียงอยู่ในระดับที่ดังแบบพอประมาณ เพราะเมื่อนักเรียนไม่ได้นั่งกับเพื่อนซี้ เสียงเจี๊ยวจ๊าวก็จะไม่ดังมากจนรบกวนสมาธิเพื่อนในห้องหรือบางครั้งนักเรียนที่ชอบส่งสัญญาณหากันจนบางกระทบเพื่อนบางคนจนเสียสมาธิ วิธีแก้ที่ดีที่สุดนั้นคือการหยุดกิจกรรมในระหว่างที่สอนอยู่ พร้อมกับให้ทุกคนได้ผ่อนคลายกับการสอนอย่างเช่นการยกมือเหนือศีรษะ ปรบมือ หรือจะปล่อยให้นักเรียนได้ไปพักดื่มน้ำบ้างก็จะช่วยให้การกลับมาเรียนอีกครั้งมีสติมากยิ่งขึ้น

จากที่เล่ามานี้ห้องเรียนที่ไร้เสียงอึกทึกครึกโครมอาจไม่ได้เกิดผลลัพธ์ที่ดีเสมอไป และห้องเรียนที่เสียงดังเกินไปผลลัพธ์ก็อาจจะไม่ดีได้เช่นกัน ความดังของเสียงในแต่ละระดับนั้น ล้วนเกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์และรูปแบบการสอนที่ครูสร้างขึ้นเพื่อเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ที่ดีต่อผู้เรียนมากที่สุดดังนั้นนอกจากจะเลือกว่าเสียงระดับไหนถึงจะดี ผู้เรียนต่างหากที่เป็นจุดสำคัญของการเกิดเสียงนี้ครับ

 

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อจท. อื่น ๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

เรียนรู้เพิ่มเติม บทความการศึกษา อื่น ๆ ได้ที่   >>> คลิก <<<

 
 
Share

Relate article